การสำรวจผ้าซิ่นหมี่หัวจกดาว เอกลักษณ์เมืองอุบลเพื่อสืบสานและเป็นฐานข้อมูลในการจัดการเรียนการสอนสาขาสิ่งทอและแฟชั่น

หัวหน้าโครงการ : สิทธิชัย สมานชาติ

เทคนิคการทอจก

คำว่า จก นั้นในภาษาไทยท้องถิ่น หมายถึง การควัก ล้วง ขุด คุ้ย ลักษณะของกระบวนการทอผ้าจก คือ จะต้องใช้การควัก ล้วง ดึง เส้น-ด้าย-พุ่งเศษขึ้นลง-เพื่อสร้างลวดลาย ชื่อของผ้าจึงอาจเรียกกิริยาท่าทางของการทอผ้าชนิดนี้ก็ได้

จก เป็นเทคนิคการทำลวดลายบนผืนผ้าด้วยวิธีการเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกัน ตลอดหน้ากว้างของผ้า โดยใช้ไม้หรือขนเม่นหรือนิ้วมือยกหรือจกด้ายเส้นยืนขึ้น แล้วสอดใส่ด้ายพุ่งพิเศษเข้าไป (ทะนงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล และ แพทรีเซีย ซีสแมน 2553: 25) จึงสามารถออกแบบลวดลายและสีสันของผ้าจกได้ซับซ้อน และเพิ่มสีสันในลวดลายได้หลากหลายตลอดหน้ากว้างของผ้า แตกต่างจากผ้าลายขิดที่มีข้อจำกัดในการเพิ่มสีสันของเส้นพุ่งพิเศษตลอดหน้ากว้างของผ้าได้เพียงสีเดียว

หัวจกดาว-ผ้าทอพื้นเมืองอีสาน-อุบลราชธานี

วิธีการจกแต่ละแห่งอาจจะไม่เหมือนกัน บางแห่งทอจกลายทางด้านหน้าผ้าโดยใช้ขนเม่นนับเส้นยืน และควักเส้นไหมพุ่งขึ้น เพื่อให้เกิดลวดลายหรือดึงด้ายจากข้างล่างสอดสลับไปตามความต้องการ ซึ่งการควักเส้นไหมนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีความชำนาญจะทำได้รวดเร็ว คล้ายอาการฉก ของงู คำว่า จก จึงอาจเพี้ยนมาจากคำว่า ฉก ก็ได้ (เพยาว์ อุ่นศิริ และคณะ, 2531: 18) ส่วนการทอจกของชาวภูไทหรือผู้ไทย จะใช้นิ้วก้อยเป็นดั่งอุปกรณ์ในการควักล้วงเว้นไหม เพื่อเสริมเส้นพุ่งพิเศษในการสร้างลวดลายบนผ้าแพรวา ผ้าแพรมน และผ้าตุ๊ม

หัวซิ่นจกของเจ้านานชั้นสูง มักจะนิยมทำหัวซิ่น “จกดาว” คือ ทำเป็นลายลักษณะคล้ายลายดอกประจำยาม แต่เรียกกันว่า “จกดาว” หรือ “ลายดาว” ซึ่งเป็นลายหัวซิ่นจกที่ใช้แสดงสถานภาพทางสังคมได้อย่างหนึ่ง เพราะทำได้ยากต้องใช้เวลาและความอดทนมากพอสมควร

หัวจกดาว-ผ้าทอพื้นเมืองอีสาน-อุบลราชธานี

ส่วนหัวซิ่นจกของชาวบ้านทั่วไปส่วนใหญ่มักจะทำเป็นสีพื้นธรรมดาหรือไม่ก็จะเก็บขิดเป็นลวดลายขนาดเล็ก ๆสีเดียว แต่ทั้งนี้ก็มีชาวบ้านบางคนทำหัวซิ่นลายจกดาวใช้กันบ้างเหมือนกันในวิถีชีวิตดั้งเดิมนั้น นิยมนุ่งผ้าซิ่นตีนจกเฉพาะในโอกาสสำคัญ ๆ อาทิ งานแต่งงาน และงานบุญประเพณี ผู้ทอผ้าจึงนิยมทอลวดลายสวยงาม ซับซ้อน เพื่ออวดฝีมือให้ผู้อื่นได้ชื่นชม การที่หญิงสาวสามารถทอผ้าจกที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าการทอผ้าเทคนิคพื้นฐานอื่น ๆ ก็ได้รับการยอมรับว่าก้าวผ่านสภาวะของเด็กหญิงเข้าสู่สภาวะของหญิงสาวที่สมบูรณ์ มีคุณสมบัติของกุลสตรีพร้อมที่จะเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี

รายละเอียดเพิ่มเติม : การสำรวจผ้าซิ่นหมี่หัวจกดาว เอกลักษณ์เมืองอุบลเพื่อสืบสานและเป็นฐานข้อมูลในการจัดการเรียนการสอนสาขาสิ่งทอและแฟชั่น รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2553