การเมืองการปกครองเมืองอุบลราชธานี

เมืองอุบลราชธานีระยะแรกก่อนการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น มีฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราชขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร การปกครองบ้านเมืองคงยึดหลักจารีตประเพณีโบราณที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่ครั้งนครหลวงพระบางและเวียงจันทน์ยังเป็นราชธานี ผู้ปกครองสูงสุดของเมืองคือ คณะอาญาสี่ หรือ อาชญาสี่ อันประกอบด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร รวม 4 ตำแหน่ง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 กอง ตามตำแหน่งและประกาศให้ราษฎรมาขึ้นสำมะโนครัวในกองใดกองหนึ่งตามความสนใจ

ปี พ.ศ.2434 โปรดเกล้าฯ ให้รวมหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกและหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเป็น “หัวเมืองลาวกาว” (หรือมณฑลอีสานในเวลาต่อมา) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่ผู้แทนพระองค์ขึ้นไปปฏิรูปการปกครองโดยทรงมีบัญชาการอยู่ ณ เมืองอุบลราชธานี ข้าหลวงใหญ่ที่ทรงรับสั่งไปจัดการปกครองหัวเมืองลาวกาว ทรงมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองด้วยทรงพระราชทานอาญาสิทธิ์ให้สามารถลงโทษตัดสินประหารชีวิตผู้กระทำผิดก่อนกราบบังคมทูลและถวายรายงานให้ทราบภายหลัง จึงเห็นว่า เมืองอุบลราชธานีกลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของหัวเมืองลาวกาวและมีความเจริญรุ่งเรืองโดยลำดับ ขณะเดียวกันได้ทรงจัดระเบียบการปกครองใหม่ โดยยกเลิกกองเจ้าเมือง กองอุปราช กองราชวงศ์ และกองราชบุตรที่ปกครองสืบกันมาแต่เดิม

ปี พ.ศ. 2436 โปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ย้ายจากมณฑลลาวกาวมาทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ผู้แทนพระองค์สำเร็จราชการมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ ท่านได้เริ่มใช้ระบบเทศาภิบาลในการปกครอง โดยแบ่งส่วนการปกครองหัวเมืองออกเป็นมณฑล จัดระบบงานราชการเช่นเดียวกับกระทรวงในพระนคร ข้าหลวงสำเร็จราชการมณฑล หรือข้าหลวงใหญ่ตามทำเนียบที่ได้ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ และเปลี่ยนมาเป็น “สมุหเทศาภิบาล”

การปกครองระหว่าง พ.ศ. 2440-2442 ได้ทรงตั้งทำเนียบข้าราชการหัวเมืองขึ้นสำหรับผู้สืบสายสกุลของเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง โดยให้มีตำแหน่งอยู่ในราชการของเมืองแต่เดิมไปก่อน เมื่อจัดทำเนียบแล้วเสร็จก็ทรงคัดเลือกเอาผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ ซื่อตรงต่อราชการมาช้านานอยู่ในตำแหน่งปกครอง และได้ทรงยกเลิกคณะอาญาสี่ นับเป็นการรวมอำนาจการบริหารทั้งมวลเข้าเป็นของรัฐบาลกลางโดยเด็ดขาด และเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์และฐานะของผู้สืบเชื้อสายเจ้าเมืองหรือเจ้านคร จึงทรงพิจารณาตัวบุคคลจากคณะอาญาสี่ตามหลักการข้างต้นเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ในระบบเทศาภิบาล คือ ผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมือง ยกบัตรเมือง ผู้ช่วยราชการเมืองทุกหัวเมือง

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกมณฑลอีสานออกเป็น 2 มณฑล คือ มณฑลร้อยเอ็ดกับมณฑลอุบล ใน พ.ศ. 2455 โปรดเกล้าฯ ให้ย้าย “พระยาศรีธรรมาศกราช” (ปิ๋ว บุนนาค) เมื่อครั้งเป็น “พระยาวิเศษสิงหนาท” ปลัดมณฑลประจำจังหวัด ขุขันธ์ มาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุบล

พ.ศ. 2456 มีพระราชโองการให้รวมมณฑลอุดร มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ดเป็นภาค  เรียกว่า “ภาคอีสาน” ตั้งที่บัญชาการมณฑลภาคที่เมืองอุดรธานี ให้พระยาราชนุกิจวิบูลย์ภักดี (อวบ  เปาวโลหิต) ดำรงตำแหน่งอุปราชภาคอีสาน และสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรอีกตำแหน่งหนึ่ง

พ.ศ. 2459 ทรงพระกรุณาให้เปลี่ยนชื่อเรียกเมืองศูนย์กลางที่มีอำนาจมาสังกัดอยู่นั้นเป็น “จังหวัด” ทั้งหมด ส่วนผู้ว่าราชการเมืองก็เปลี่ยนเป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เมืองอุบลราชธานีจึงกลายมาเป็น “จังหวัดอุบลราชธานี” ในที่สุด

         pichit_prechakorn

sapasit_03  sapasit_01sapasit_02

wipakpotjanakit

tad_grirerk

sin_grirerk

pew_boonnak

dhun

ubondet_pracharak

ubonsak_prachaban