สะพานเสรีประชาธิปไตย

สะพานเสรีประชาธิปไตย เริ่มการก่อสร้าง พ.ศ. 2496 ค่าก่อสร้างแปดล้านบาทเศษ จากงบประมาณแผ่นดิน โดยกรมโยธาเทศบาล (กรมโยธาธิการในปัจจุบัน) เป็นหน่วยงานออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง สะพานกว้าง 9.00 เมตร ยาว 450.00 เมตร เป็นสะพานยาวที่สุดในประเทศไทยสมัยนั้น วิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างสะพานแห่งนี้ชื่อ คุณประสิทธิ์ สุทัศน์กุล บริษัท กำจรก่อสร้าง เป็นผู้รับเหมาสร้างสะพานนี้

ด้วยโครงสร้างของสะพานข้ามแม่น้ำมูล ที่ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2496 – 2497 ไม่มีโครงเหล็กยึดโยงเชื่อมกัน ตอม่อสะพานเป็นเพียงเสา 3 ต้น ตั้งห่างกันเป็นระยะไม่น่าจะรับน้ำหนักตัวสะพานได้ ส่วน "คาน" ของสะพาน แทนที่จะเป็นแท่งคอนกรีตทึบ หนักแน่นมั่นคง ก็เป็นแค่คอนกรีตโปร่งรูปเหลี่ยม ลักษณะเหมือนลูกกรงระเบียงมากกว่าที่จะเป็นคานรับน้ำหนักของสะพาน ทางเดินเท้าก็ไม่มีเสารับ ยื่นออกจากตัวสะพานลอย ๆ การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูลแห่งนี้ เป็นลักษณะของสะพานข้ามคลองเล็กๆ มากกว่าจะเป็นสะพานข้ามแม่น้ำสายสำคัญ เหตุดังกล่าวจึงทำให้ชาวอุบลราชธานีต่างวิตกกังวลและวิจารณ์กันโดยทั่วไป แม้จะได้รับการชี้แจงว่า โครงสร้างของสะพาน เป็นการออกแบบตามหลักวิชาการสมัยใหม่แล้วก็ตาม

การตั้งชื่อสะพาน
เมื่อการก่อสร้างสะพานใกล้จะแล้วเสร็จ จะต้องตั้งชื่อสะพานแห่งนี้ ก่อนที่จะมีพิธีเปิดเป็นทางการ จึงให้ชาวเมืองอุบลราชธานี แสดงความคิดเห็นในการตั้งชื่อสะพาน เพื่อความมีส่วนร่วม ปรากฏว่าการตั้งชื่อสะพาน แยกความคิดเห็นเป็น 3 แนวทาง คือ
แนวทางที่ 1 กลุ่ม ส.ส. อุบลราชธานี สมัยนั้น มีนายยงยุทธ พึ่งพบ เป็นต้น ออกใบปลิวแจ้งว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างสะพานแห่งนี้คือ "พันเอกหลวงบูรกรรมโกวิท" อธิบดีกรมโยธาเทศบาล เป็นผู้สรรหางบประมาณมาก่อสร้าง ด้วยการแปรญัตติจากโครงการต่างๆ ควรตั้งชื่อสะพานนี้ว่า "บูรกรมโกวิท" หรือ "บูรกรมเนรมิต" แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล มิใช่ส่วนรวม

แนวทางที่ 2 กลุ่มข้าราชการบำนาญเมืองอุบลราชธานี ประกอบด้วย ขุนสาธก ศุภกิจ อดีตสรรพากรจังหวัด ขุนวรเวธวรรณกิจ อดีตศุภมาตราจังหวัด ขุนวรวาทพิสุทธิ์ อดีตศึกษาธิการจังหวัด ขุนอุทารระบิล อดีตปลัดเทศบาลเมืองอุบลฯ ขุนวิเลขกิจโกศล อดีตสมุหบัญชีเทศบาลเมืองอุบลราชธานี ชุดก่อตั้ง ได้แสดงความคิดเห็นว่า พระมหากษัตริย์ทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรม โดยนำชื่อจังหวัดต่างๆ มาตั้งพระนามบรรดาศักดิ์หรือราชทินนาม เช่น กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่ 7) กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระบรมราชชนกฯ) แต่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ เป็นหัวเมืองเอก มีชื่อว่า "ราชธานี" แห่งเดียวของประเทศ ยังไม่มีการนำชื่อจังหวัดอุบลราชธานี มาตั้งพระนามาบรรดาศักดิ์ หรือราชทินนาม พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดเลย แต่ชาวเมืองอุบลราชธานี ภาคภูมิใจที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงตั้งพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกว่า "อุบลรัตน์ราชกัญญาฯ" จึงสมควรขอพระราชทานนาม "อุบลรัตน์" มาเป็นชื่อสะพานแห่งนี้ เพื่อเป็นสิริมงคลตลอดไป (แม้ว่าพระนาม "อุบลรัตน์" จะมิได้เป็นชื่อของสะพาน ตามความมุ่งหวังของหลักชัยไม้เท้าชาวอุบลฯ แต่อีก 12 ปีต่อมา (พ.ศ. 2509) ชาวอุบลฯ ทั้งหลายก็ปลาบปลื้มใจ ที่ได้รับพระราชทานนาม "วัดศรีอุบลรัตนาราม" แทนวัดศรีทองเดิม สมควรปรารถนาตามเจตนารมย์ทุกประการ)

แนวทางที่ 3 กลุ่มคณะกรรมการหาทุนสร้างอนุสาวรีย์ "พระวอ-พระตา" และแนวร่วมต่างๆ แสดงความคิดเห็นว่า ควรตั้งชื่อสะพานนี้ว่า "สะพานพระวอ-พระตา" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้สร้างเมืองอุบลฯ เช่นเดียวกับ สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์" สร้างเพื่อเทอดพระเกียรติสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระผู้สร้างกรุงเทพมหานคร

แนวทางตั้งชื่อสะพานทั้ง 3 แนวทาง ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเต็มที่ แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ กำหนดการจะเปิดสะพานก็ใกล้เข้ามาทุกที จังหวัดจึงรวบรวมความเห็นทั้ง 3 แนวทาง ให้รัฐบาลตัดสินชี้ขาด รัฐบาลสมัยนั้น มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี กำลังต่อสู้กับลัทธิคอมมูนิสต์ ซึ่งเป็นการปกครองระบอบเผด็จการ แต่เขาเรียกลัทธิของเขาว่า ประชาธิปไตย อีกแบบหนึ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงรณรงค์ให้โลกรู้ว่า การปกครองของไทย เป็นการปกครองแบบ "เสรีประชาธิปไตย" (Free -Democracy) ทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศไทย จะต้องเป็นเสรีประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการของคอมมูนิสต์
แม้แต่ชื่อสะพานก็เป็น "สะพานเสรีประชาธิปโตย" การสร้างสะพานแห่งนี้ ดูเหมือนจะไม่มั่นคงแข็งแรง แต่ก็ดำรงคงอยู่คู่เมืองอุบลราชธานีเป็นเวลา 36 ปี จึงหมดอายุการใช้งาน จึงได้สร้างสะพานชื่อเดิมแต่สร้างใหม่ ณ สถานที่เดิม เปิดใช้ปี 2535 ซึ่งเป็นปีที่อุบลราชธานีอายุครบ 200 ปี คู่ขนานกับ "สะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี" จังหวัดอุบลราชธานี

ข้อมูลโดย…สุวิชช คูณผล

saree_bridge_18 saree_bridge_07

saree_bridge_02saree_bridge_17

saree_bridge_16saree_bridge_13

saree_bridge_12saree_bridge_11saree_bridge_10saree_bridge_09

saree_bridge_08saree_bridge_06

saree_bridge_05saree_bridge_01

saree_bridge_15saree_bridge_14

saree-bridge saree-bridge2

saree-bridge3 saree-bridge4

saree-bridge5 saree-bridge6

saree-bridge7 saree-bridge8

saree-bridge9