เวียดนามในอุบลราชธานี

หมูยอ กวยจั๊บ เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมและขึ้นชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี โดยชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดอุบลราชธานีเป็นผู้นำวัฒนธรรมการกินและการทำอาหารนี้มาเผยแพร่และสร้างความโดดเด่นขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับ สามารถประกอบเป็นอาชีพและฐานะได้อย่างมั่นคง นอกจากนั้นแล้ว ฝีมือเชิงช่างญวนที่ฝากไว้ในงานสถาปัตยกรรมของศาสนาคารก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน

หมูยอ
หมูยอ ของกิน ของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี
กวยจั๊บ อุบลราชธานี
กวยจั๊บ อาหารที่ห้ามพลาดเมื่อมาเยี่ยมเยือนจังหวัดอุบลราชธานี

ชาวเวียดนามอพยพเข้ามาในจังหวัดอุบลราชธานี

อุบลวรรณ รัตนวีรเมธีกุล (2550) ได้อ้างถึง อมรา พงศาพิชญ์ (2545: 167-174) ว่า คนเวียดนามที่อพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานีนั้นจะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อฝรั่งเศสยึดครองเวียดนามได้ทั้งหมด ได้มีชาวเวียดนามอพยพเข้ามาในประเทศไทยเรื่อย ๆ จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพบว่ามีชาวเวียดนามอาศัยอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ นครพนม สกลนคร เลย อุบลราชธานี หนองคาย สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ซึ่งสาเหตุของการอพยพเข้ามานั้นก็เพื่ออพยพเพื่อลี้ภัยทางการเมืองและศาสนา และถูกกวาดต้อนเข้ามาในฐานะเชลยสงคราม

ชาวเวียดนาม หรือ ที่ชาวอีสานเรียกว่า “แกว”จะมีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ เมื่ออพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้วก็ยังคงยึดถือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวเวียดนามสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง ทำมาหากินด้วยการประกอบอาชีพหลากหลาย ทั้งเกษตรกรรม งานช่าง ค้าขาย โดยเฉพาะการทำร้านอาหารจะมีความโดดเด่นมาก เป็นการนำเอาวัฒนธรรมการบริโภคของชนชาติตนเองที่ติดตัวมาพัฒนาให้เป็นอาชีพได้และทำให้อาหารเวียดนามเป็นที่นิยมและสร้างชื่อเสียงแก่หลาย ๆ จังหวัดในภาคอีสาน เช่น ก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บ เมี่ยงสด เมี่ยงทอด หมูยอ 

เมี่ยงทอด
เมี่ยงทอด อาหารเวียดนาม

ชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามารุ่นแรกส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ที่นิคมสายกลางหรือคุ้มท่าวังหิน ต่อมาจึงได้มีการขยับขยายไปอยู่ทั่วเขตเทศบาล และอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นบริเวณโรงเรียนจีน ประกอบอาชีพปลูกผัก และรับจ้างทั่วไป แต่ภายหลังรัฐบาลไทยได้ให้การอุปการะช่วยเหลือและยินยอมให้ทำมาหากินได้โดยอิสระเสรี ด้วยอุปนิสัยและอัตลักษณ์ของชาวเวียดนามที่เป็นคนขยัน อดทน และสู้งาน จึงทำให้ชาวเวียดนามประกอบอาชีพเกือบทุกประเภทและมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และประสบความสำเร็จมากที่สุดกับธุรกิจร้านอาหารซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนในท้องถิ่นและเป็นธุรกิจที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันมีร้านจำหน่ายอาหารเวียดนามทั้งในตลาดสดและเปิดเป็นร้านจำหน่ายกว่า 30 ร้าน ได้แก่ ร้านจำหน่ายแหนมเนือง ปอเปี๊ยสด ขนมจีนทรงเครื่อง ร้านจำหน่ายหมูยอ แหนม ขนมปากหม้อญวน ขนมเบื้อง ข้าวเปียกเส้น หมูย่าง เลือดแปลง ไส้อั่วเวียดนาม เป็นต้น และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงชาติพันธุ์ของชาวเวียดนามที่ชัดเจนมาก

แหนมเนือง
แหนมเนือง อาหารเวียดนาม
ยำหัวปลี
ยำหัวปลี อาหารเวียดนาม
หมูหนาว
หมูหนาว อาหารเวียดนาม

ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมฝีมือเชิงช่างญวนในศาสนาคาร

การอพยพเข้ามาประเทศไทยชองชาวเวียดนามนอกจากจะนำวัฒนธรรมอาหารเข้ามาด้วยแล้ว ยังมีความโดดเด่นในฝีมือเชิงช่างงานสถาปัตยกรรมอีกด้วย โดยนำเทคนิควิธีการ ศิลปกรรมเข้ามาผสมผสานกับงานของสกุลช่างพื้นถิ่นและช่างอื่นที่ปรากฏในศาสนาคารต่าง ๆ โดยเฉพาะการสร้างสิม ที่ติ๊ก แสนบุญ (2560) กล่าวไว้ว่า การสร้างสิมจะใช้กลุ่มช่างญวนเป็นนายช่างในการก่อรูป และจะใช้ช่างพื้นถิ่นในการทำงานไม้แกะสลักบานประตู หน้าต่าง คันทวย เครื่องลำยอง หรืองานตกแต่งอย่างฮูปแต้ม

วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ อุบลราชธานี
ธรรมมาสสิงห์เทินบุศบก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ในระยะแรกกลุ่มช่างญวนมักเนินรูปทรงและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมง่าย ๆ แต่ก็มีบางแห่งที่ให้ช่างได้แสดงผลงานเชิงศิลปะญวนอย่างเต็มที่ดังปรากฎให้เห็นในรูปลวดลายประดับ เช่น สิมและหอแจกวัดอันตรมัคคาราม วัดราษฎร์ประดิษฐ์ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ธรรมมาสน์และหอแจกวัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก จังหวัดอุบลราชธานี ในจังหวัดอุบลราชธานีและในแถบอีสานใต้ มีนายช่างที่มีชื่อเสียงและผลงานโดดเด่นมาก คือ องนา เวียงสมศรี ลักษณะงานช่างมีทั้งงานศิลปะแบบไทย แบบญวนผสมตะวันตก

วัดอันตรมัคคาราม อุบลราชธานี
สิมวัดอันตรมัคคาราม อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
วัดราษฎร์ประดิษฐ์ อุบลราชธานี
หอแจกวัดราษฎร์ประดิษฐ์ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
วัดธรรมละ อุบลราชธานี
ธรรมมาสวัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก๊ก จังหวัดอุบลราชธานี

ชวลิต อธิปัตยกุล (2557) ให้ข้อมูลว่า ช่วง พ.ศ.2434-2450 เป็นช่วงเริ่มต้นในการนำรูปแบบสิมญวนเข้ามาผสมกับรูปแบบพื้นถิ่น และเริ่มต้นแบบฝีมือช่างญวน โดยมีปัจจัยในการก่อสร้างที่ได้มาจากเจ้าเมืองในช่วงนั้นเป็นผู้อุปถัมภ์ และทางวัดได้จ้างช่างเข้ามาช่วยในการตกแต่งเฉพาะบางส่วน รูปแบบของสิมญวนมีความชัดเจนขึ้น คือ ระหว่าง พ.ศ.2443-2510 ถือได้ว่าเป็นรูปแบบงานศิลปะสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะของตนเองที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน

วัดศรีไค อุบลราชธานี
อุโบสถวัดบ้านศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ผลงานการสร้างของช่างนา เวียงสมศรี

สิ่งประดับตกแต่งในสิมแบบฝีมือช่างญวน คือ คติของคนญวนได้ถ่ายทอดให้กับสิมในภาคอีสานโดยเฉพาะ ลวดลายที่ใช้ในการประดับตกแต่ง เช่น มังกร หงส์ รูปบุคคลยืนเฝ้าประตูทางเข้า ค้างคาว ดอกโบตั๋น ลายลู่อี้ มังกรที่ราวบันได ซึ่งเป็นแบบสัญลักษณ์ที่มีความหมายในทางที่ดี

เทคนิคและวิธีการเชิงช่างญวนที่ใช้ในการก่อสร้างสิม เริ่มที่ผังพื้นแปลนที่อาจจะไม่แตกต่างจากช่างพื้นถิ่นเท่าใดนัก เช่น แบบมีมุขหน้า 3 ช่วงเสาทางด้านข้าว ไม่รวมมุขหน้า แต่มีสิ่งที่ต่างกันบ้างแต่ไม่มาก คือ แปลนของสิมทรงโรง ช่างญวนจะใช้วิธีการก่อผนังให้มีความหนามากกว่าปกติเพื่อรองรับโครงสร้างหลังคาแทนการใช้เสาแบบช่างพื้นถิ่น มีการสร้างบันไดทางขึ้นแบบที่ด้านหน้าผายออกเสมอตามแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากช่างฝรั่งเศส มีการตกแต่งเสาของราวบันไดและที่ราวบันไดนิยมเจาะช้องวงรีทางตั้ง และแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมซี่ ๆ เสมอ ภายหลังจึงมีการปั้นเป็นรูปมังกรหรือพญานาคที่คิ้วบัวที่ราวบันไดด้วย การประดับตกแต่งส่วนบริเวณมุขด้านหน้าจะใช้เทคนิคก่อผนังไปจบด้วยมุมจั่ว ตกแต่งด้วยรูปปั้นนูนต่ำ และสร้างซุ้มวงโค้ง ซึ่งเป็นความโดดเด่นและเป็นเทคนิคทางช่างญวนที่ได้สร้างความแตกต่างไว้อย่างชัดเจนในสิมอีสาน

วัดค้อแขม อุบลราชธานี
สิมวัดค้อแขม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ศิลปสถาปัตยกรรมญวนที่สมบูรณ์ที่สุดของอำเภอวารินชำราบ

บรรณานุกรม

ชวลิต อธิปัตยกุล. (2557). รูปแบบสิมญวนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับพัฒนาการทางงานช่าง. ดำรงวิชาการ. วารสารรวมบทความทางวิชาการ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร 13(2),  หน้า 148-182

ติ๊ก แสนบุญ. (2560). “สิมอีสาน” ในยุคประชาธิปไตยและความเป็นไทย ช่วง พ.ศ. 2475-2500. เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.silpa-mag.com/history/article_13602

ติ๊ก แสนบุญ. (2562). “พุทธศิลป์อีสาน” พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลง ทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม.  เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566, http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=4645&filename=index

นัทธ์หทัย วนาเฉลิม. (2563). ลัดเลาะริมโขง ชมเชิงช่างญวน แกะรอยสถาปัตยกรรมสิมโบสถ์ที่สร้างโดยช่างญวน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566, https://readthecloud.co/sim-isan-thailand/

ลลิดา บุญมี. (2559). ความสำคัญของการตั้งถิ่นฐานของชาวเวียดนามในอุบลราชธานีต่อพื้นที่ประวัติศาสตร์เมืองอุบล. การประชุทวิชาการทางสถาปัตยกรรม “สรรค์สาระสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม ประจำปี 2559 วันที่ 24 มิถุนายน 2559. ขอนแก่น : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

อุบลวรรณ รัตนวีรเมธีกุล. (2550). การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวเวียดนามในจังหวัดอุบลราชธานี : กรณีศึกษาในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

 

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง