ธรรมมาสน์ หอแจก ศิลปะช่างญวน วัดธรรมละ

วัดธรรมละ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ผสมผสานศิลปกรรมแบบญวนและจีน ที่ออกแบบและสร้างสรรค์โดยช่างญวนที่มีฝีมือในการก่ออิฐถือปูนในสมัยนั้น จนทำให้หอแจกหรือศาลาการเปรียญ และธรรมาสน์ของวัดมีความสวยงาม โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจและยังคงเหลือไว้ให้ศึกษาเรียนรู้ วัดธรรมละตั้งอยู่ในอำเภอเหล่าเสือโก๊ก จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติวัดธรรมละ

วัดธรรมละ ตำบลโพนเมือง อำเภอเหล่าเสือโก้ก จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2328 ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2335 ปัจจุบันมีพระครูโชติธรรมานุรักษ์ เป็นเจ้าอาวาส ภายในวัดมีศาสนคารที่สำคัญได้แก่

วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก

หอแจกหรือศาลาการเปรียญ วัดธรรมละ

หอแจกหรือศาลาการเปรียญ ของวัดธรรมละ ตั้งอยู่หน้าศาลาการเปรียญหลังใหม่ เป็นอาคารที่มีรูปทรงแปลกตากว่าหอแจกทั่วไป มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ต่อเติมด้านบนด้วยไม้ เพื่อให้หลังคาและเพดานของโถงด้านในสูงขึ้น ทำให้เห็นว่าเหมือนมีสองชั้น หลังคาชั้นบนเป็นลักษณะจั่วมุงสังกะสี ประดับเชิงชายเป็นไม้ฉลุ ใบระกาและหางหงส์เป็นไม้ หน้าบันเป็นลายตาเวน (ดวงอาทิตย์ส่องแสง) ประกอบกับลายลูกฟัก และประดับให้สวยงามด้วยกระจกวงกลมเล็ก ๆ ตัวเรือนมีช่องหน้าต่าง มีรูปช่องคล้ายหน้าต่าง

วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก  วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก

ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ลักษณะงานช่างแบบญวน ปีกหลังคามุงด้วยสังกะสี ประดับเชิงชายด้วยไม้ฉลุ มีประตูทางเข้า 3 ช่อง ทำด้วยไม้ลูกฟักแบบบานพับคู่ มีหน้าต่างรอบด้านทั้งหมด 15 ช่องทำด้วยไม้ลูกฟักแบบบานพับคู่เช่นกัน จุดเด่นของหอแจกนี้ คือ มีภาพเขียนสีที่ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างทุกบาน มีทั้งรูปมนุษย์ อมนุษย์ สัตว์ และต้นไม้ อาทิ พระพุทธเจ้า พระสงฆ์ เต่า หงส์ เสือ มังกร สิงห์ ม้า ปลา กวาง ราหู ลักษณะศิลปกรรมแบบญวน หย่องหน้าต่างเป็นปูนปั้นนูนต่ำขาสิงห์ประกอบลายดอก ลายเครือเถา ฐานของหอแจกโดยรอบประดับด้วยปูนปั้นนูนต่ำลายกลีบบัว เสาที่เป็นผนังของหอแจกประดับด้วยปูนปั้นนูนต่ำลายประจำยาม บัวหัวเสาเป็นรูปบัวแวง

วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้กวัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก

ภายในเป็นห้องโถงหลังคาสูง มีเสาไม้ทรงกลมขนาดใหญ่ 8 ต้น ปัจจุบันหอแจกนี้อาจจะไม่ถูกใช้งานแล้ว ชั้นบนอยู่ในสภาพที่ไม้ผุพังและทรุดโทรมมาก ส่วนที่ก่ออิฐถือปูนนั้นมีการบำรุงรักษาโดยการทาสีใหม่ แต่สภาพโดยรวมถือว่ายังขาดการดูแลรักษา มีนกพิราบมาอาศัยอยู่ ทำให้มีมูลนกมากมายภายในอาคาร

ภาพเขียนนูนต่ำและหย่องประตูและหน้าต่าง ศาลาการเปรียญวัดธรรมละ

ธรรมาสน์วัดธรรมละ

ธรรมาสน์วัดธรรมละ เป็นธรรมาสน์เก่าแก่อายุมากกว่า 80 ปี ตั้งอยู่ถาวรภายในหอแจก ลักษณะเป็นธรรมาสน์ก่ออิฐถือปูนฝีมือข่างญวน รูปทรงสี่เหลี่ยม ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ฐานที่รองรับตัวเรือน ตัวเรือน และยอด เขียนลวดลายต่าง ๆ ด้วยสีน้ำเงิน สีเหลือง สีเขียว สีน้ำตาล สีดำและสีขาว

วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก

ส่วนฐานที่รองรับตัวเรือน ก่ออิฐถือปูนเป็นฐานทึบที่ประดับมุมทั้ง 4 ด้วยปั้นปูนเป็นรูปสิงโต ต่อด้วยขาสิงห์เลียนแบบเครื่องไม้ มีบันไดสำหรับขึ้นธรรมาสน์ 5 ขั้น มีการจารึกอักษรไทยไว้ที่ฐาน ว่า “ส,ร,ป, พ,ศ,๒๔๗๘” “ช่าง นา เป็น พู้ ขอ ช่าง ไม่ ให้ บาย ที่ น้ำ สี แต้ม”

วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก

ส่วนตัวเรือนธรรมาสน์ ก่ออิฐถือปูน ตัวเรือนมีขนาดเล็กกว่าฐาน มีเสากลมอยู่ในลักษณะค้ำระหว่างฐานกับยอดไว้ทั้ง 4 มุม มีช่องหน้าต่างเป็นรูปวงกลม ตกแต่งด้วยลวดลายเขียนสีแบบศิลปะจีน ลายดอก ลายกอบัว กรอบประตูทางเขียนรูปค้างคาว ด้านในมีอักษรจารึกด้วยภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ว่า “SIAM 2478 ” “ไท, พ,ศ,๒๔๗๘”

วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้กวัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก

ส่วนยอด ก่ออิฐถือปูนตกแต่งเป็นชั้นหลังคาลดหลั่นกันขึ้นไป แบบบัวเหลี่ยมอีสาน ยอดสูงสุดปั้นเป็นรูปดอกบัว ตกแต่งด้วยเครื่องลำยองและหางหงส์เป็นรูปมังกรและนาค ส่วนหลังคาประดับด้วยลวดลายปูนปั้นนูนต่ำรูปราหู รูปสิงห์ ลายดอก ลายกระจัง ซึ่งเป็นศิลปกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะญวนแบบจีนกับศิลปะพื้นบ้านอีสาน

วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก

สภาพปัจจุบันของธรรมาสน์ พบว่า ส่วนประกอบและลวดลายต่าง ๆ ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่อาจจะไม่ได้ถูกใช้งานและดูแลรักษาเช่นเดียวกับหอแจก จึงเขรอะไปด้วยฝุ่น หยากไย่ และมูลนก

สถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างในวัดธรรมละนี้ หากทำนุบำรุงและดูแลรักษาเป็นอย่างดี จะเป็นสถานที่หนึ่งสำหรับการเรียนรู้งานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งในปัจจุบันนับวันที่จะหาดูได้ยาก

วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก
บริเวณวัดประดับตกแต่งด้วยรูปปั้นเปรตที่มีกรรมจากการกระทำความผิดแบบต่าง ๆ

ที่ตั้ง วัดธรรมละ

ตำบลโพนเมือง อำเภอเหล่าเสือโก้ก จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดธรรมละ

15.473838, 104.869352

บรรณานุกรม

สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี. (2558). วัดธรรมละ บ.โพนเมือง อ.เหล่าเสือโก้ก จ.อุบลราชธานี. เข้าถึงเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562, https://www.facebook.com/pg/ubtba/photos/?tab=album&album_id=1029168710482833

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง