วัดหลวง วัดเจ้าเมืองอุบลฯ ในความทรงจำของคุณตาบำเพ็ญ ณ อุบล 

วิหารวัดหลวง อุบลราชธานี ศาสนสถาปัตยกรรมที่สร้างสรรค์จากช่างพื้นเมืองจากเวียงจันทน์ที่อพยพมาสร้างบ้านสร้างเมืองพร้อมเจ้าคำผง และสร้างวัดหลวง วัดแรกของเมืองอุบล ความงดงามที่อยู่ในความทรงจำของคุณตาบำเพ็ญ ณ อุบล นักปราชญ์เมืองอุบลฯ ผู้ที่คลุกคลีและผูกพันกับวัดหลวงมาตลอดชีวิต

แบบจำลองวิหารวัดหลวง
แบบจำลองวิหารวัดหลวง แสดง ณ หออุบลนิทัศน์

เมื่อปี พ.ศ. 2547 งานข้อมูลท้องถิ่น ได้มีโอกาสลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากความทรงจำของคุณตาบำเพ็ญ ณ อุบล ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ของจังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในเรื่องราวที่น่าสนใจคือ วัดหลวง จึงได้รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหาเกี่ยวกับวัดหลวงจากคำบอกเล่าของคุณตาบำเพ็ญ ณ อุบลไว้ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต่อไป

วัดหลวงเป็นวัดที่สร้างขึ้นโดยเจ้าพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งคุณตาบำเพ็ญนั้นมีความคุ้นเคยกับวัดหลวงเป็นอย่างดี เพราะเคยอาศัยอยู่กับตาและยายในชุมชนใกล้กับวัดหลวงและได้เรียนหนังสือและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในวัดหลวงนี้ จนเกิดความผูกพันและความคุ้นเคยกับวัด พระสงฆ์ และพิธีการต่าง ๆ ของวัด สังเกตและจดจำสถาปัตยกรรมของวัดได้อย่างขึ้นใจ ซึ่งในปัจจุบันสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างที่เคยเห็นนั้นได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว

หุ่นจำลองเจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์
หุ่นจำลองเจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ตั้งอยู่ด้านหน้าวิหารพระเจ้าใหญ่องค์หลวง

วัดหลวงสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2334 โดยเจ้าพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ได้ให้พระสงฆ์และช่างที่อพยพมาจากเวียงจันทน์พร้อมด้วยท่านอุปราช ราชบุตร ราชวงศ์ ท่านท้าวเพี้ย กรรมการน้อยใหญ่ ร่วมกันก่อสร้างขึ้น ผลงานการออกแบบและก่อสร้างจึงได้รับอิทธิพลและถ่ายทอดศิลปสถาปัตยกรรมในแบบช่างพื้นเมืองเวียงจันทน์ หลังจากสร้างวัดเสร็จแล้วจึงมีการสร้างวิหาร สร้างพระเจ้าใหญ่องค์หลวงเป็นพระประธาน สร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ หอไตร หอกลอง หอโปง หอระฆัง เป็นสังฆาวาสที่สวยงาม ให้ชื่อวัดว่า “วัดหลวง” ตามชื่อของเจ้าพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ซึ่งประชาชนโดยทั่วไปเรียกท่านว่า “เจ้าองค์หลวง” หรือ “อาชญาหลวงเฒ่า” วัดหลวงตั้งติดกับคุ้มของเจ้าหลวง หรือ พื้นที่บริเวณตลาดใหญ่ของเมืองอุบลราชธานีในปัจจุบัน (ตลาดราชพัสดุ)

ที่ตั้งของวัดหลวง

  • ทิศเหนือ จรดตลาดใหญ่เมืองอุบลราชธานี
  • ทิศใต้ จรดวัดกลาง วัดใต้เทิงและบ้านเรือนประชาชน
  • ทิศตะวันออก จรดถนนพรหมราช
  • ทิศตะวันตก จรดริมแม่น้ำมูล
ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณที่ตั้งของหวัดหลวง
ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณที่ตั้งของหวัดหลวง ถ่ายโดยทหารอเมริกันที่มาตั้งฐานทัพที่อุบลราชธานี ระหว่างปี 2507-2517 ที่มาภาพ : Air Ubon, www.guideubon.com

ศาสนสถาปัตยกรรมภายในวัดหลวง

แผนผังวัดหลวง
แผนผังวัดหลวงในอดีต

รั้ววัดหลวง 

ลักษณะของรั้ววัดจะมีเสาไม้แก่นตั้งคู่กัน มีไม้คานวางพาดเรียงกันเป็นช่องทางเข้า ด้านข้างเป็นแผ่นไม้ตีประกบ (รั้วไม้ระแนง) ช่องประตูจะมีอยู่ด้านทิศตะวันออก 1 ช่อง และด้านทิศตะวันตก 1 ช่อง เสารั้วที่ช่องประตูทุกต้นจะถูกเจาะรู เพื่อให้ไม้คานสอดเข้าไปได้ หัวเสาทำเป็นรูปดอกบัวตูม มีการซ่อมแซมหัวเสาใหม่เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2445   

ประตู วัดหลวง 

ประตูวัดนั้นจะไม่มีบานประตู สมัยนั้นจะเรียกว่า “ใต้วัด” คือมีเสาใหญ่ 2 เสา มีเสาและมีตงหรือคาน 2 อัน แล้วบากสองข้างเป็นไม้ง่าม มีไม้กระดานบากเสาค้ำไม้ท่อนเป็น 3 ท่อนวางพาดอยู่  เหมือนเป็นธรณีประตู 3 ชั้น ชั้นที่ 1 ติดพื้นดิน ชั้นที่ 2 วางถัดขึ้นมาและชั้นที่ 3 ก็วางถัดขึ้นมาอีก ไม่มีบานประตูเปิดปิด ไม้ทั้ง 3 ท่อนสามารถยกออกได้ 

รั้ววัดหลวง
ภาพวาดรั้วและประตูทางเข้า-ออกวัดหลวง

หอแจก วัดหลวง

หอแจก ในบางท้องถิ่นเรียก “หัวแจก” หรือ “โฮงธรรม” หรือศาลาการเปรียญของภาคกลาง ใช้เป็นสถานที่เพื่อประกอบศาสนพิธีต่าง ๆ ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่บำเพ็ญบุญกุศลอุทิศแก่บรรพบุรุษด้วย ที่เรียกว่า “บุญแจกข้าว” หรือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย เช่น บุญครบรอบเจ็ดวัน บุญร้อยวัน หรือบุญเก็บกระดูก

หอแจกของวัดหลวงจะสร้างฐานด้วยอิฐและโครงสร้างเครื่องบนเป็นไม้ กล่าวคือ ก่ออิฐขึ้นมาระดับหนึ่ง แล้วใช้ไม้ระแนงตีเป็นริ้วรอบอาคาร โดยไม่มีการเว้นช่องหน้าต่าง อาศัยความสว่างและลมพัดผ่านทางช่องไม้ระแนงแทน มีทางขึ้นสองทาง คือ มีประตูเข้าด้านละสองประตู ประตูทางเข้าก็ตีด้วยไม้ระแนงเช่นเดียวกัน ภายในหอแจกจะมีทั้งหมด 5 ช่วงเสา มีธรรมาสน์เทศน์ตั้งอยู่ตรงกลางทางด้านหน้า เอาไว้สำหรับพระเทศน์มหาชาติตอนงานบุญมหาชาติหรือบุญผะเหวด ธรรมมาสน์มีลักษณะทรงสูง ส่วนการเทศน์ในวันธรรมดาจะใช้ธรรมมาสน์เล็ก ๆ ทรงเตี้ย พระสงฆ์แต่ละรูปจะมีหน้าที่สับเปลี่ยนกันมาเทศน์ให้โยมฟังในเวลาประมาณ 15.00-16.00 น. โดยเทศน์จากคัมภีร์ใบลานซึ่งจารเป็นอักษรธรรม อักษรไทน้อย หรืออักษรขอม ด้านทิศตะวันตกของหอแจกจะเป็นโรงครัว ซึ่งสร้างติดกับหอแจกใช้เป็นที่ประกอบอาหารของชาวบ้านก่อนจะนำขึ้นมาถวายพระสงฆ์   ปัจจุบันหอแจกนี้ถูกรื้อไปแล้ว

แบบจำลองหอแจกวัดหลวง
แบบจำลองหอแจกของวัดหลวง แสดง ณ หออุบลนิทัศน์
พระเจ้าใหญ่องค์หลวง
วิหารพระเจ้าใหญ่องค์หลวงในปัจจุบัน

วิหาร วัดหลวง 

หลายคนอาจจะเคยเห็นภาพถ่ายวิหารของวัดหลวงมาแล้ว วิหารวัดหลวงนั้นได้ชื่อว่าเป็นวิหารที่สวยสง่างามแห่งหนึ่ง เป็นงานสถาปัตยกรรมที่สร้างเลียนแบบวิหารของวัดเชียงทอง ที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2324 ถูกรื้อ พ.ศ.2492

วิหารวัดหลวง
ภาพวิหารวัดหลวง ถูกถ่ายไว้เป็นที่ระลึกก่อนจะมีการรื้อถอน

วิหาร หรือในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “อาฮาม” เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่องค์หลวง พระประธาน ใช้สำหรับสวดมนต์ไหว้พระของคฤหัสถ์ ลักษณะของวิหารเป็นหลังคาทรงไทย 2 ชั้น มีปีกนก โถงทึบที่ประกอบด้วย 3 โถง เสาเป็นเสาปูนใหญ่แบบโบราณ ด้านในสุดเป็นแท่นพระพุทธรูป ข้างแท่นจะมีบันไดหิน ญาติโยมจะใช้ประตูทางเข้าด้านหน้า  ส่วนพระสงฆ์จะใช้ประตูด้านข้าง   รายละเอียดส่วนประกอบของวิหาร มีดังนี้ 

หลังคา วิหารวัดหลวง 

ลักษณะเป็นหลังคาทรงจั่วสองชั้น มีป้านลมที่อ่อนช้อยลดหลั่นกัน มีชายคาปีกนกศิลปะแบบล้านช้าง มุงด้วยกระเบื้องดินขอที่เผาเอง ขอบปลายมน ด้านข้างมุงด้วยแป้นไม้ หน้าจั่วตกแต่งด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ มีนาคสะดุ้งและลำยองแต่ไม่มีหางนาค 

หลังคาวัดหลวง
ช่อฟ้าและหลังคาวัดหลวง
หน้าบัน วิหารวัดหลวง

หน้าบัน หรือสีหน้า ลักษณะของหน้าบันจะอยู่ในกรอบรูปสามเหลี่ยมปิดอยู่ที่ด้านตัดของหลังคา มีลวดลายประดับประกอบเข้ากับช่อฟ้า  ใบระกา และหางหงส์ การประดับลวดลายหน้าบันเข้าใจว่าแรกเริ่มคงเป็นหน้าจั่วแบบบ้านเรือนโบราณ คือ ตีเป็นช่อง ๆ แบบที่เรียกว่า จั่วพรหมพักตร์ ต่อมาจึงประดิษฐ์ให้มีลวดลายด้วยภาพต่าง ๆ เพื่อให้งดงามกว่าบ้านเรือนทั่วไป ลวดลายหน้าบันของวิหารวัดหลวงจะกรุด้วยไม้ลูกฟัก หน้าพรหมสาหร่ายลายรดน้ำสีทองบนพื้นสีดำ

หน้าบันวัดหลวง
หน้าบันวิหารวัดหลวง
ช่อฟ้า วิหารวัดหลวง

ช่อฟ้าเป็นเครื่องไม้สูงประดับอยู่บนอกไก่ตรงบริเวณที่นาคสำรวยมาบรรจบกัน หากเป็นบ้านเรือนจะเรียกว่ายอดของปั้นลม เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้กรอบของหน้าบัน หรือเครื่องลำยอง มีความสมบูรณ์ ช่อฟ้าของวิหารวัดหลวงทำด้วยไม้และปิดทอง

ใบระกา วิหารวัดหลวง

มีลักษณะเป็นไม้ประดับอยู่บนนาคสำรวยหรือตัวสำรวย บ้างก็ว่าคล้ายกับเป็นเกล็ดนาค บ้างก็ว่าคล้ายขนปีกของครุฑ หรือเป็นสายรุ้ง สายฝน 

หางหงส์ วิหารวัดหลวง

หางหงส์เป็นส่วนปลายสุดของเครื่องลำยอง บนบ้านเรือนทั่วไปจะหมายถึงตัวเหงาของปั้นลมในบ้านทรงไทย ตั้งอยู่ระหว่างแปหัวเสากับหัวไม้เชิงกลอน มีรูปคล้ายหัวนาคเรียงซ้อนกัน หรือรูปตัวเหงาของกนกสามตัว หางหงส์ของวิหารวัดหลวงจะทำเป็นรูปนาคสามเศียร

คันทวยหรือทวย วิหารวัดหลวง

คันทวย หมายถึง ตัวค้ำยัน ตามแนวเฉียงระหว่างเสาปลายสุดของชายคา เพื่อประโยชน์ในการรับน้ำหนักชายคาที่ยื่นยาวออกมา ชื่อที่ใช้เรียกแต่เฉพาะอาคารที่สร้างอย่างวัด วัง ส่วนในบ้านเรือนไทยสามัญชน มักจะเรียกท้าวแขน หรือแขนนาง หรือค้ำยัน ทางเหนือเรียกว่าหูช้าง  คันทวยของวัดหลวงจะเป็นแบบของเมืองอุบลโดยแท้ตรงฐานจะเว้า (วาดภาพ) มารับกัน จะไม่มีเอว สัดส่วนขนาดหน้าตักประมาณ 1 วา ยาวประมาณเกือบ 2 วา ทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปหูช้าง  ร่องไม้จะเจาะเป็นกลมๆ ให้นูนขึ้น  โดยถากแผ่นไม้ออกมาให้เป็นสันนูนขึ้นมา แกะตรงกลางแล้วเอากระจกสีขาวมาติด เป็นกระจกแผ่นน้อย ๆ หลาย ๆ อัน มองมาแล้วสีทองกับกระจกจะวาว ๆ ลายข้างบนเป็นพื้นแดง แล้วตรงกลางเป็นกระจกสีขาว คือกระจกสีที่เขาประดับตามโบสถ์ การที่เราใส่กระจกเป็นการเลียนแบบมาจากหลวงพระบาง วัดเชียงทองเขาจะใช้กระจกตัดเป็นรูป กระจกแบบนั้นสมัยก่อนข้างในจะเคลือบตะกั่ว ข้างนอกเป็นกระจกทำให้เราตัดได้ ดัดได้ แต่สมัยเดี๋ยวนี้ไม่ทราบว่าเป็นยังไง จะมีเฉพาะตรงกลางที่เป็นกระจกส่วนลายข้างนอกเป็นสีทอง แผ่นกระจกมีแค่เกสรดอกเท่านั้น เพื่อให้ดูแวววาว จะติดอยู่ที่เสาทุกต้นด้านนอกของวิหาร

คันทวยวัดหลวง
คันทวยวหารวัดหลวง
ประตู วิหารวัดหลวง

ประตูวิหาร มีทั้งหมด 6 ช่อง ประกอบด้วย ด้านหน้า 1 ช่อง ด้านหลัง 1 ช่อง และด้านข้าง ๆ ละ 2 ช่อง เป็นประตูเรียบทาสีแดงวาดลวดลายดอกประจำยาม ประตูด้านหน้าลงรักดำมีลวดลายสีทอง ประตูด้านหลังโค้งทำด้วยไม้แล้วก่ออิฐทับ เหนือประตูขึ้นไปเป็นดอกประจำยามแบบตราพัดยศพระครูสัญญาบัตร ลวดลลายคล้ายกงจักรลักษณะเหมือนกับที่วัดธาตุหลวงของลาว

ประตูวัดหลวง
ประตูวิหารวัดหลวง
รวงผึ้ง วิหารวัดหลวง  

รวงผึ้งจะอยู่ใต้หน้าบันระหว่างช่วงเสาด้านหน้าของวิหาร ทำด้วยไม้แกะสลักลายโก่งคิ้วหรือรวงผึ้ง เป็นแบบพื้นถิ่นอีสานที่ได้รับอิทธิพลมาจากหลวงพระบางเป็นศิลปะแบบล้านช้าง ส่วนโค้งของรวงผึ้งประดับด้วยกระจก ซึ่งกระจกนั้นได้มาจากฝาตลับน้ำหอมที่นำเข้ามาจากเมืองจีน

วิหารวัดหลวง
ด้านหน้าวิหารวัดหลวง
หน้าต่าง วิหารวัดหลวง

หน้าต่างวิหาร มีลักษณะเป็นช่องสี่เหลี่ยมทำด้วยไม้ ติดลูกกรงแก้วประกอบลูกมะหวดที่น่าจะทำมาจากไม้แคน ลักษณะลูกกรงจะบากไม้เป็นเหลี่ยมขึ้นมา บานหนึ่งจะมีลูกกรง 5 ซี่  ลูกกรงทั้งหมดทาข้างนอกด้วยสีแดง มีดอกประจำยามสีทอง เป็นลายรดน้ำดอกพิกุล 5 ดอก อยู่ตรงกลางจะเป็นลายเต็มดอก ส่วนที่อยู่ข้างบนและล่างจะเป็นลายประจำยามเพียงครึ่งดอก ตรงขอบไม่มีลวดลายแต่จะนูนเป็นสันสี่เหลี่ยมขึ้นมา ขอบปูนฉาบด้วยปูนขาวปิดทอง ลงรักแดงเขียนลายทอง บานหน้าต่างเป็นแผ่นไม้ทาสีแดงไม่มีลวดลาย เปิดเข้าข้างใน มีเดือยไว้สำหรับลงสลักเวลาปิด

หน้าต่างลูกมะหวดวิหารวัดหลวง
หน้าต่างลูกมะหวดวิหารวัดหลวง
เสา วิหารวัดหลวง

เสาภายในวิหาร มีทั้งหมด 16 ต้น คือ อยู่รอบนอกบริเวณผนัง 4 คู่ และภายในโถง 4 คู่  เป็นเสา 12 เหลี่ยมขนาดใหญ่เท่า 2 คนโอบ  เสาแต่ละต้นตั้งห่างกันประมาณ 2 เมตร  มีบัวปลายเสา มีขื่อพาดบนดอกบัว ประดับกระจกสีตรงใจกลางดอก ลงรักปิดทอง ไม่มีคันทวยติดที่เสา เสาหน้าวิหารมีทั้งหมด 4 ต้น แต่ละเสาจะมีบัวคลุม ระหว่างตัวเสากับผิวข้างนอกจะมีคันทวยแบบอุบลทุกต้นทำด้วยแผ่นไม้ลงรักปิดทองทึบ ตัวเสาจะลงรักปิดทองลวดลายดอกประจำยามไว้อย่างสวยงาม ตั้งแต่หัวถึงโคนเสา

เสาวิหารวัดหลวง
เสาวิหารวัดหลวง
ฝ้าเพดาน วิหารวัดหลวง

ฝ้าเพดานในวิหาร เป็นฝ้าไม้ไผ่สานลายคุบ กรุด้วยผ้าเขียนลายไทย กรอบเพดานจะต่อจากยอดเสาขึ้นไป ตรงข้างนอกไม่มีเพดาน เอาผ้ามาขึงให้เรียบตึงแล้วเขียนลวดลาย ประกอบด้วยลายประจำยามอยู่เป็นช่วง ๆ ลายเถา ในเถาจะมีรูปนก กระรอก กระแต นกบิน นกจับกิ่งไม้ ตรงกลางเป็นลายเครือ กรอบลายพระบฏ ระหว่างเส้นนี่จะมีลายกาบอ้อย ลายก้านขด (ลายพระบฏสามารถดูได้ที่พิพิธภัณฑสถานอุบลราชธานี) เพดานเป็นลายเครือ กรอบเหมือนลายพระบฏ ข้างหลังวิหารพระประธาน เป็นภาพพระบฏใหญ่

พื้นวิหารวัดหลวง

พื้นวิหารเป็นพื้นปูนตลอดทั้งหลัง

ฐานวิหารวัดหลวง

ส่วนฐานของวิหาร มีเอวขันธ์แบบปากพาน 5 ชั้น มีบันไดขึ้นมาทำเป็นเฉลียง ตัวอาคารและฐานถือปูนด้านหลังเป็นพื้นเรียบไม่มีลวดลาย ฐานของวิหารเป็นบัวคว่ำและบัวแก้ว ตัววิหารตั้งบนบัวแก้ว

ฐานวิหารวัดหลวง
ฐานวิหารวัดหลวง
ภายในวิหารวัดหลวง

ภายในวิหารจะเป็นห้องโถงโล่งมีเสากลาง 2 แถว ตั้งแต่หน้าพระประธานจนถึงประตูรุ้ง มีพระเจ้าใหญ่องค์หลวง เป็นพระประธานองค์ใหญ่ ซึ่งสร้างแบบก่ออิฐถือปูนและลงรักปิดทอง พระพักตร์กลมรูปไข่ พระเมาลีทรงสูงแบบพระลาว เป็นฝีมือช่างจากเวียงจันทน์ ตั้งอยู่บนฐานชุกชีที่ไม่มีลวดลาย และเป็นพระประธานที่ประดิษฐานมาจนถึงปัจจุบัน

แผนผังวิหารวัดหลวง
แผนผังภายในวิหารวัดหลวง

สิมวัดหลวง

สิมของวัดหลวงเป็นสิมบก ฐานก่ออิฐถือปูน โครงสร้างข้างบนเป็นไม้ รวมถึงหลังคาด้วย มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า 3 ขั้น มีระเบียง และภายในสิมจะผนังทึบไม่มีหน้าต่าง มีพระพุทธรูปตั้งอยู่บนฐานชุกชี เป็นสถานที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ เช่น การบวช การลงปาฏิโมกข์ คฤหัสถ์ไม่สามารถล่วงล้ำเข้าไปข้างในได้ ปัจจุบันไม่มีสิมนี้แล้ว

หอไตรวัดหลวง

หอไตร สร้างด้วยไม้มีรูปทรงคล้ายโถหรืออูป หลังคามีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ครอบกันสองชั้น ใต้ถุนสูง มีระเบียงหรือชานซึ่งยื่นมาจนติดกับระเบียงของหอคำ เป็นส่วนที่สร้างขึ้นสำหรับเก็บพระคัมภีร์ธรรม ปัจจุบันไม่มีแล้ว

หอคำวัดหลวง

หอคำเป็นที่พำนักของเจ้าอาวาส ตั้งแต่เจ้าอาวาสรูปแรก คือ พระมหาราชครูเจ้าหอแก้ว และเป็นที่เก็บพระพุทธรูปที่สำคัญ เช่น พระแก้ว พระบาง พระพุทธรูปยืนห้ามญาติ และสิ่งของสำคัญ เช่น รางสรงน้ำ (โฮงฮด) เก้าอี้พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) หอคำจะสร้างด้วยไม้ ใต้ถุนสูง มีหลังคาทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ครอบกัน 3 ชั้น ข้างบนสุดของหลังคาเป็นรูปนพสูรย์ ซึ่งเป็นอาวุธของพระอิศวร อยู่บนเขาพระสุเมธ ถือเป็นของสูง อุปมาว่าหอคำเป็นเขาพระสุเมธ ฝาผนังจะเป็นไม้กระดานลงรักปิดทองทั้งหลัง ติดกับหอคำคือหอฉัน เป็นเรือนแฝดทรงสูง หลังคาเป็นโถ ใช้ระเบียงเดียวกับหอคำ

กุฏิขวางใหญ่ วัดหลวง

กุฏิขวางใหญ่เป็นเรือนแฝดทรงสูง มีช่อฟ้าใบระกา เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์และเก็บหนังสือสำคัญ ตอนนี้ไม่มีแล้ว

กุฏิขวางเล็ก วัดหลวง

กุฏิขวางเล็กเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ ตำแหน่งรองเจ้าอาวาส

กุฏิเขียว วัดหลวง

กุฏิเขียวเป็นที่พำนักของพระสงฆ์และสามเณร

ธาตุเจ้ามหาราชครู วัดหลวง

ธาตุเจ้ามหาราชครูเป็นที่เก็บอัฐิของพระมหาราชครูเจ้าหอแก้ว เจ้าอาวาสท่านแรกของวัดหลวง ซึ่งท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถมแตกฉานในพระไตรปิฎกเป็นอย่างมาก และเป็นประธานสงฆ์ในการอำนวยการศึกษาของเมืองอุบลฯ ในสมัยนั้น

หอโปง หอกลอง วัดหลวง

หอกลองเป็นอาคารสำหรับแขวนกลอง โครงสร้างของหอกลองโดยทั่วไปจะมีทั้งที่เป็นไม้และก่ออิฐถือปูน หลังคามีหลายแบบ เช่น จัตุรมุข แบบมณฑป ฯลฯ การติดตั้งเครื่องตีบอกสัญญาณบางแห่งจะทำตามคตินิยมการแขวนดังนี้ ระฆังจะแขวนบนชั้นสูงสุด ชั้นถัดลงมาจะแขวนกลอง บางแห่งนิยมสร้างสามชั้น จึงนิยมแขวงโปงไว้ชั้นล่างสุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าโปงขุดด้วยไม้เนื้อแข็ง มีน้ำหนักมาก การตีกลองที่วัดหลวงจะมี 4 ช่วงเวลา คือ

  • ตีกลองแลง จะตีตอนเวลาประมาณ 16.00 น.เพื่อให้ชาวบ้านในละแวกนั้นเตรียมตัวออกไปฟังเทศน์ กลองแลงจะตีเป็นชุด ประมาณ 3-4 ชุด
  • ตีกลองเวลา 22.00 น. เรียกว่า ตีเข้าครองเพื่อให้พระเข้าจำวัด ให้สัญญาณว่าเข้านอนได้แล้วนะ
  • ตีกลองดึก จะตีประมาณ 04.00 น. เพื่อปลุกพระสงฆ์ให้ลุกขึ้นมาสวดมนต์ เตรียมตัวอาบน้ำอาบท่า และออกไปบิณฑบาตรและเพื่อให้สัญญาณแก่ชาวบ้านให้ตื่นมานึ่งข้าวเพื่อใส่บาตรเช่นกัน
  • ตีกลองในเวลา 06.00 น.เพื่อให้พระสงฆ์ออกไปบิณฑบาต

หอรถศพ วัดหลวง

หอรถศพ เป็นสถานที่เก็บรถที่ใช้สำหรับลากศพ

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวัดหลวง

หลังจากสร้างวัดหลวงแล้วเสร็จผ่านมาจนถึงปี พ.ศ.2454 สิ่งก่อสร้างศาสนาคารต่าง ๆ ของวัดซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้เริ่มชำรุดทรุดโทรม วัดหลวงจึงได้ทำการปฏิสังขรณ์ซ่อมสิ่งก่อสร้างครั้งใหญ่ที่มีอยู่ในวัด เช่น วิหาร กุฏิ ศาลาการเปรียญ หอไตร หอกลอง หอโปง หอระฆัง เป็นต้น

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2492 วิหารของวัดหลวงได้เกิดการชำรุดและผุพังอย่างมาก ทางวัดจึงได้ทำการปฏิสังขรณ์ครั้งที่ 2 ขึ้น โดยได้ทำการรื้อวิหารหลังเดิมออกแล้วสร้างเป็นหอแจกหลังปัจจุบันแทนที่ ก่อนรื้อถอนได้มีการถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก ปัจจุบันจึงมีแค่ภาพถ่ายนั้นที่เหลือไว้ให้เราได้ศึกษาเรียนรู้

พ.ศ.2474-2475 มีพ่อค้าในเมืองอุบลฯ ไปของเช่าที่บริเวณหน้าวัดหลวงเพื่อสร้างห้องแถวไม้ เจ้าอาวาสก็ยินดีให้เช่า จึงได้รื้อรั้วไม้ออกแล้วสร้างห้องแถวไม้ตลอดแนว

พ.ศ.2486-2488 อยู่ในช่วงการเกิดสงครามอินโดจีน ในระยะนั้นผ้าต่าง ๆ มีราคาแพง จึงมีคนมาเอาผ้าห่อคัมภีร์พระไตรปิฎกหรือผ้าห่อใบลานของวัดไปขาย คัมภีร์ต่าง ๆ จึงถูกกองไว้เกะกะและแตกผูก ภายหลังทางวัดได้นำไปบรรจุกระสอบแล้วผังดิน ทำให้คัมภีร์หรือหนังสือ เช่น สารตราตั้งเจ้าเมือง ระเบียบประเพณีต่าง ๆ ที่จารึกไว้บนใบลานสูญสลายไป

พ.ศ.2497 วัดหลวงได้ทำการปฏิสังขรณ์พระเจ้าใหญ่องค์หลวงใหม่ เนื่องจากตอนรื้อวิหารออกแล้ว มีเพียงหลังคามุงสังกะสี ไม่มีฝาผนังที่บังฝนบังแดดให้พระเจ้าใหญ่องค์หลวงที่ตั้งอยู่บนฐานชุกชี เมื่อเวลาฝนตกไอฝนและไอแดดสาดส่องเข้าไปถูกองค์พระที่ลงรักแตกระแหง และหลุดลอกออก จึงได้ปฏิสังขรณ์พระเจ้าใหญ่องค์หลวงโดยทำการขูดผิวนอกออกจนบางลงไปตั้ง 5 นิ้ว หากสังเกตจะเห็นว่าพระพักตร์ของพระเจ้าใหญ่องค์หลวงนั้นจะยาว ๆ ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่มีพระพักตร์เป็นรูปไข่ พระเมาลีทรงสูงแบบพระลาว
พ.ศ. 2503 เกิดไฟไหม้เมืองอุบลราชธานี โดยไฟได้ไหม้ตั้งแต่ตลาดจนถึงแม่น้ำมูล และลามมาไหม้กุฏิขวางใหญ่ด้วย จึงได้รื้อกุฏิขวางใหญ่ออก และสร้างเป็นพระอุโบสถขึ้น โดยดำริของพระครูสงฆรักษ์ (เส็ง) เจ้าอาวาส ให้สร้างอุโบสถในบริเวณที่ตั้งของเจดีย์อัฐิธาตุของเจ้ามหาราชครู เจ้าอาวาสท่านแรก ซึ่งชำรุดเป็นซากผุพังเนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศ

ความสำคัญของวัดหลวงในอดีต

1.วัดหลวงเป็นวัดแรกและเป็นวัดประจำของเจ้าเมืองอุบลราชธานี นั่นคือ เจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง)  และเป็นสถานที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของเจ้าเมือง ขุนนาง และกรมการในสมัยเริ่มแรกของการปกครอง ภายหลังเมื่อมีวัดธรรมยุติสร้างขึ้นในเมืองอุบลราชธานี จึงได้เปลี่ยนไปประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยากันที่วัดศรีอุบลรัตนารามและวัดสุปัฏนารามวรวิหาร

 2.เป็นศูนย์กลางการศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาและพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์สามเณร ในสมัยเริ่มต้นของการแผ่ขยายของศาสนาพุทธในภาคอีสาน ตั้งแต่แรกสร้างวัดจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเรียนจากหนังสือใบลานที่จารด้วยอักษรธรรม อักษรไทยน้อย และอักษรขอม

 3.เป็นที่จำวัดอยู่ของสังฆปาโมกข์ผู้เป็นประมุขสงฆ์ของเมืองอุบลราชธานีหรือเจ้าคณะจังหวัด ทำหน้าที่บริหารงานศาสนาตามระเบียบการปกครองคณะสงฆ์คองลาวแบบเวียงจันทน์  ซึ่งก็คือ พระมหาราชครูเจ้าหอแก้ว  เจ้าอาวาสองค์แรกที่จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ ซึ่งท่านเป็นหลานชายของพระประทุมราชสุริยวงศ์ ที่ได้อุปสมบทที่วัดหลวงและเป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกอย่างยิ่ง เมื่อมรณภาพแล้วชาวเมืองก็ได้ก่อสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้ที่วัดหลวงแห่งนี้ด้วย

คุณตาบำเพ็ญ ณ อุบล ปัจจุบันท่านได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2553 รวมอายุได้ 86 ปี เหลือไว้แค่เพียงเรื่องราวบอกเล่าที่ได้บันทึกไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ศึกษาต่อไป

รายละเอียดเพิ่มเติม

ที่ตั้ง วัดหลวง

เลขที่ 95 ถนนพรหมเทพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดหลวง

15.224909, 104.860374

บรรณานุกรม

บำเพ็ญ ณ อุบล, สัมภาษณ์ 26 เมษายน 2546

บำเพ็ญ ณ อุบล, สัมภาษณ์ 15 กรกฎาคม 2547

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง