นามานุกรมธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดอุบลราชธานี

หัวหน้าโครงการ : เมชฌ สอดส่องกฤษ

ในจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากกลุ่มชนที่อยู่ติดแผ่นดินมาแต่โบราณอย่างกลุ่มไทยและลาวแล้ว ยังมีกลุ่มชนที่อพยพเข้ามาภายหลังอีกหลายกลุ่ม ได้แก่ บรู กูย เวียดนาม แขกและจีน ในบรรดากลุ่มที่อพยพดังกล่าวนี้ กลุ่มจีนเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด และตั้งถิ่นฐานครอบคลุมเมืองอุบลราชธานีมากที่สุด ทั้งยังเป็นกลุ่มที่ประกอบธุรกิจการค้า และเป็นกลุ่มชนที่กุมเศรษฐกิจในจังหวัดอุบลราชธานีมากที่สุดเช่นกัน แม้จะกลมกลืนกับชาวไทยลาวพื้นถิ่นด้วยภาษาและศาสนา แต่ด้วยความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมดั้งเดิม อำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ทำให้ชาติพันธุ์จีนที่อพยพเข้ามายังคงดำรงรักษาวัฒนธรรมของต้นไว้อย่างเหนียวแน่น ยิ่งไปกว่านั้นยังแทรกซึม เผยแพร่ และผสมผสาน แม้กระทั่งมีอำนาจเหนือวัฒนธรรมของชนพื้นถิ่นไปเสียแล้ว

name2 

วัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดอุบลราชธานี เช่น วัดจีน สุสานจีน ร้านธุรกิจการค้า การละเล่น มหรสพ ชาวจีน โรงเรียนจีนและเทศกาลต่าง ๆ ของจีน มีให้เห็นทั่วไป ชนิดที่แทบจะดูเป็นเมือง ๆ หนึ่งของประเทศจีนไปแล้วก็ว่าได้ ประกอบกับนโยบายการกระจายอำนาจทางภาษาที่รัฐบาลจีนพยายามกระตุ้น ส่งเสริมเพื่อให้ภาษาจีนเป็นภาษาสากลที่ครอบคลุมไปทั่วโลก ทำให้วัฒนธรรมทางภาษาของจีนยิ่งมีความเข็มแข็งมากขึ้นทุกขณะอย่างที่ไม่มีทางจะหยุดยั้งได้

name3

วัฒนธรรมทางภาษา ประกอบกับอุปนิสัยที่รักการประกอบธุรกิจการค้าของชาวจีนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ การตั้งชื่อร้านเป็นภาษาจีน จากการสังเกตเบื้องต้นพบว่า ป้ายชื่อร้านของชาวไทยเชื้อสายจีนจะประกอบด้วยสองส่วน คือ ชื่อร้านที่เขียนด้วยอักษรจีน และชื่อร้านที่เขียนด้วยภาษาไทย ป้ายชื้อร้านเป็นสิ่งหนึ่งที่เข้าของธุรกิจให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะชาวจีน เนื่องจากชื่อร้านเป็นสิ่งหลอมรวมปรัชญาความคิดของชาวจีนมากมาย เช่น การสืบทอดเชื้อสายวงศ์ตระกูล ความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ความสัมพันธ์กับเชื้อสายและเผ่าวงศ์พงศ์พันธุ์ นอกจากนี้ ยังต้องสื่อความหมายเกี่ยวกับธุรกิจ การดึงดูดใจ การบรรยายสินค้า การสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ซื้อ และยังต้องคำนึงถึงความเป็นมงคล การอวยพรให้การค้าขายเจริญรุ่งเรือง ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในแผ่นป้ายหน้าร้านด้วยตัวหนังสือจีนไม่กี่คำเท่านั้น สิ่งนี้เรียกว่า “นามาธุรกิจ” ดังนั้นการศึกษารหัสทางวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในนามาธุรกิจของชาวไทยเชื้อสานจีน จึงเป็นการศึกษาทางภาษา วัฒนธรรมมานุษยวิทยาที่จะละเลยมิได้

รายละเอียดเพิ่มเติม : นามานุกรมธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2555