ข้องลอย

พิชญ์ สมพอง กล่าวว่า ข้องลอยเป็นข้องชนิดหนึ่งที่สานด้วยไม้ไผ่ มีทุ่นผูกติดไว้ 2 ข้าง เพื่อให้ลอยน้ำได้ มีลักษณะเหมือนเป็ดลอยน้ำ บางท้องถิ่นจึงเรียก “ข้องเป็ด”

ส่วนประกอบของข้องลอย

  • ตัวข้อง สานด้วยไม้ไผ่ สานเป็นลายขัดธรรมดา ตอกตั้งให้ห่างกันหน่อย ส่วนตอกสานนั้นสานให้ชิดติดกันสานให้มีรูปร่างลักษณะคล้ายเป็ด ส่วนบนตัวข้องนิยมใช้ไม้เพื่อผูกมือจับได้ง่าย
  • คอข้อง ถือเป็นด้านหัวและคอของเป็ด สานขึ้นเป็นรูปทรงกระบอก ที่ขอบปากเข้าขอบด้วยไม้ไผ่หรือไม้ข่อย มัดขอบปากด้วยหวายหรือเครือซูด (เถาวัลย์ชิดหนึ่ง) ปัจจุบันนี้นิยมใช้ลวดเพราะสะดวกทนทานกว่า
  • งาข้อง สานด้วยตอกไม้ไผ่เหลาให้บางและนุ่มสานเป็นรูปกรวยด้านเรียวเล็กลึกลงไปในตัวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ปลากระโดดออกได้ ด้านปากงาให้มีขนาดพอดีกับคอข้อง เพื่อเปิด-ปิดสะดวก และมีเชือกเส้นเล็ก ๆ ผูกงาข้องกับตัวข้องติดกันไว้ เวลาเปิดออกงาข้องจะได้ไม่หลุดหายไป
  • ทุ่นลอย ทำด้วยไม้โสนหรือไม้อื่นที่เบาและไม่จมน้ำ ปัจจุบันใช้โฟมหรือฟองน้ำ ผูกติดไว้ 2 ข้าง หรือผูกรอบข้องก็ได้ ผูกด้วยหวาย หรือเครือซูด หรือลวด
  • มือจับ ถักด้วยหวายหรือเครือซูดก็ได้ แต่ปัจจุบันนิยมถักด้วยเชือกพลาสติก เพื่อผูกติดกับไม้ปิดส่วนบนของตัวข้อง

ประโยชน์ใช้สอย

ข้องลอยหรือข้องเป็ด เป็นข้องที่สามารถลอยน้ำได้ ใช้ใส่ปลาหรือขังปลาเป็น เพราะส่วนก้นของข้องเป็นสามารถลอยอยู่ในน้ำได้ ความสะดวกอีกอย่างหนึ่ง คือ คนหาปลานิยมผูกติดกับเอวด้วยเชือก เวลาทอดแหและงมแห ข้องลอยก็จะลอยอยู่เหนือน้ำ เมื่อจับปลาได้ก็สามารถใส่ลงในข้องเป็ดได้สะดวกรวดเร็วไม่ต้องเสียเวลานำมาใส่ข้องบนบก

ประทับใจ สิขา ได้นำเสนอขั้นตอนการสานข้องลอยหรือข้องเป็ด ไว้ว่า

  1. วิธีสานจะเหมือนกับข้อง คือ สานส่วนก้นข้องด้วยลายสองขัดบีเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ข้องจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ขึ้นอยู่กับจำนวนเส้นตอก โดยคำนึงถึงสูตรการเพิ่มหรือลดจำนวนตอก ใช้ไม้คัดก้นสองอันเป็นรูปกากบาท
  2. ใช้ตอกกลมสานขัดตอก สายลายกลมสาม สานตอกครั้งละสองเส้น ยกและข่มห่างกันสองช่วงตอก นำตอกกลมสี่เส้นสานขัดต่อจากตัวข้อง โดยใช้รูปแบบลายกลมสี่ เพื่อช่วยยึดเส้นตอกยั้งให้มั่นคงก่อนถูกบังคับให้เป็นส่วนประกอบของคอที่คอดลง
  3. นำตอกกลมสานสามเส้นสานขัดต่อจากลายกลมสี่ ให้รูปแบบการสายลายกลมสาม เพื่อช่วยยึดให้เกิดความแข็งแรง ทนทาน นำตอกกลมสองเส้นสานลายกาวพร้อมกัน บังคับเส้นตอกทั้งสองแนวรัด คือทำให้คดคอดและส่วนปากผายออก ลักษณะข้องที่ได้จะเหมือนเป็ด
  4. นำไม้ไผ่เหลาเป็นแผ่นบางดัดเป็นวงกลมขนาดเล็กใหญ่สองวง นำมาทำขอบปากด้านนอกและด้านใน ประกบให้ลายสานอยู่ตรงกลาง นำเส้นตอกกลมขนาดใหญ่มาทำไม้ขอบปากถักหวาย ยึดขอบปากเป็นระยะโดยรอบ ถักหูข้องสำหรับร้อยเชือกสะพาย หลังจากนั้นจึงสานงาข้อง ใส่ขาตั้งหรือตีนทั้งสี่ด้าน

จำนวน : 1 ชิ้น

ขนาด : ความกว้าง 8 เซนติเมตร ความยาว 11 เซนติเมตร ความสูงจากฐานถึงปาก 11 เซนติเมตร ความสูงจากฐานถึงหลังเป็ด 9 เซนติเมตร  เส้นผ่าศูนย์กลางของปากข้อง 5.5 เซนติเมตร งาเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 4.5 เซนติเมตร ลึก 3.5 เซนติเมตร

บริจาคโดย : ประทับใจ สิกขา

ข้องเป็ด-ข้องลอย-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ข้องเป็ด-ข้องลอย-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ข้องเป็ด-ข้องลอย-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ข้องเป็ด-ข้องลอย-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ข้องเป็ด-ข้องลอย-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง


บรรณานุกรม : 

ประทับใจ สิกขา. (2546). รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมโครงการรวบรวมข้อมูลงานหัตถกรรมเครื่องจักสานไม้ไผ่และหวาย. อุบลราชธานี : คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ.

พิชญ์ สมพอง. (2542). ข้องลอย: ภาชนะใส่ปลา ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 447-448