ไซ

ทวี กองศรีมา กล่าวว่า ไซ เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำ มีใช้ทั่วไปในภาคอีสานใช้ดักปลาตามทางน้ำไหล หรือตามหนองน้ำทั่วไป บางครั้งมีการใส่เหยื่อในไซด้วย เช่น รำข้าว (รำคลุกกับดินเหนียวปั้นเป็นก้อนใส่ไว้ในไซ) เหยื่อไส้เดือน เป็นต้น ไซมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์จะใช้ดักจับปลาขนาดเล็กหรือใหญ่ หากเป็นไซขนาดใหญ่จะสานให้มีตาขนาดใหญ่ ส่วนไซขนาดเล็กใช้จับปลาขนาดเล็ก ต้องสานตาเล็กและถี่ด้วย นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการสานไซขนาดเล็ก เพื่อนำไปทำเครื่องลางของขลัง มีความเชื่อว่าจะช่วยดักทรัพย์สิน และโชคลาภได้

การเตรียมงานและขั้นตอนการถักไซ

1.การจักตอกและการเหลาตอก ไม้ไผ่ที่นิยมใช้ในการสานไซควรมีอายุระหว่าง 1.5-2.0 ปี ปล้องยาว ลำต้นตรง มีตาและมีข้อคิ้วเล็ก นำไม้ไผ่มาตัดเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 1.50 เมตร ส่วนปลายที่เหลือเป็นท่อนสั้นไว้จักตอกสานงาไซ นำไม้ไผ่ที่ตัดแล้วมาผ่าและจักเป็นตอกเส้นเล็กขนาดตรงกลาง 2.0-2.5 มิลลิเมตร นำตอกที่จักแล้วไปดึงเอียดหรือเหลากับฝากระป๋องนมหรือสังกะสีให้กลม ปลายตอกทั้ง 2 ข้างเหลาแต่งให้เรียว ทั้งนี้เพราะเวลาถักไปถึงส่วนปากหรือส่วนก้นไซจะได้เรียวสอบลงตามที่ต้องการ ไม้ไผ่ท่อนใหญ่ 1 ท่อน จะจักได้ประมาณ 110-130 เส้น ซึ่งจะสานไซได้ 1 ลูก ไม้ไผ่ 1 ลำ ตัดได้ 6-7 ท่อน

2.การเตรียมไม้โขนง ไซมีรูปทรงยาว จึงสานโดยผูกรัดเส้นตอกเป็นระยะ ๆ เพื่อยึดให้คงรูปทรงและกันตอกรวน สิ่งที่ใช้ยึดเรียกว่า ไม้โขนง ไม้โขนงนี้ต้องเตรียมไว้ล่วงหน้าให้มากพอ

ไม้โขนงแต่ละคู่มี 2 วง มีเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับขนาดของไซ ประมาณ 6-8 นิ้ว เรียกไม้โขนงนอกและไม้โขนงใน ไซหนึ่งลูกใช้ไม้โขนง 5-7 คู่ แล้วแต่ขนาดของไซ และความต้องการให้แข็งแรงใช้งานได้นาน นิยมทำไม้โขนงด้วยเนื้อไม้เหนียวและอ่อน เช่น ไม้ข่อย ไม้ส่าเหล้า หรือไม้ปรึก เพราะหาง่าย เหลากลึงได้สวย ดัดง่าย ถ้าไม่มีไม้ข่อยจะใช้ไม้ไผ่แทนก็ได้ เหลาไม้ให้ด้านหนึ่งแบนแล้วดัดให้โค้งเป็นวง ให้ส่วนแบนอยู่ด้านใน มัดให้แน่นตากแดดให้แห้งพร้อมจะใช้งานได้

3.การถักหรือสานไซ การถักไซเริ่มจากนำตอกยืนที่เหลาไว้เป็นซี่ ๆ มาถักช่วงกลางของตอกด้วยเชือกไนล่อนให้ต่อกันให้ได้จำนวน 117-123 เส้น เมื่อถักเสร็จแล้วนำมามัดติดกับโขนงปลายตอกทั้ง 2 ข้างรวมมัดติดกัน

4.การสานปากไซ เมื่อใส่โขนงกลางเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มถักลงมาทางปากไซก่อน โดยใช้เชือกไนลอนถักไขว้กันไปมาคล้ายเลข 8 เป็นช่วง ๆ ห่างกันประมาณ 5-6 เซนติเมตร ถักไปได้ 4 ช่วง จะใส่โขนงรัดครั้งหนึ่งเมื่อสานไปใกล้ปากประมาณ 30 เซนติเมตร ตอกส่วนปากก็จะเริ่มเรียวลงตามที่เหลาตอกเรียวไว้แล้วจะนำตอกแบนหนา 1 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร มาสานปากด้วยลายสอง โดยจับเส้นยืนรวมเป็นชุด ๆ ละ 3 เส้น และมีไม้ทำหุ่นปาก เมื่อสานไปได้ยาวประมาณ 1 ฝ่ามือ หรือประมาณ 15 เซนติเมตร ก็จะใช้ตอกเส้นสุดท้ายที่เหลาเรียวมาสานเก็บ แล้วม้วนพับปลายตอกเก็บให้เรียบร้อย มัดแต่งด้วยเชือกไนล่อน

5.การสานก้นไซ การถักหรือการสานก้นไซ ใช้วิธีการถักแบบเดียวกับการถักปากไซ คือ ตอกจะเรียวไปรวมกันเป็นมัด ช่างจะพันพับซี่เส้นยืนม้วนกลับมาสอดรวมแล้วมัดไว้ ในช่วงก้นไซนี้จะใช้โขนงประมาณ 3-5 คู่

6.การสานงาไซ งาไซเป็นทางที่ปลาผ่านเข้าไปติดไซ ส่วนใหญ่จะมี 1 งา แต่จะมีบ้างที่ทำไซมี 2 งา คือ งาขึ้น ใช้ดักปลาที่ขึ้นทวนน้ำ ใส่ถัดจากไม้โขนงกลางไปก้นไซ 20 เซนติเมตร และงาลง ใช้ดักปลาที่ลงตามน้ำ ใส่เหนือไม้โขนงกลางไปทางปากไซ 20 เซนติเมตร มีวิธีใส่เหมือนกันคือจะใช้มีดตอกปาดตอกเส้นยืนของริ้วไซให้ขาดเป็นช่องกว้างเท่า ๆ กับปากงา สอดตะแคงให้งาขึ้นหันปากไซไปหาก้นไซ และงาลงหันปากไปทางปากไซ และให้งาทั้งสองอยู่เยื้องกัน ขยับให้เข้าที่แล้วใช้ตอกสานรัดกับตอกยืน ขนาดของงาขึ้นอยู่กับขนาดเล็ก-ใหญ่ของไซ

จำนวน : 6 ชิ้น


1.ไซ จำลอง

ขนาด : ความยาว 16.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางปากกว้าง 2 เซนติเมตร. ความยาวจากปาก-งา 5 เซนติเมตร ความยาวจากก้น-งา  11.5 เซนติเมตร ความกว้างของปากงา 1.5 เซนติเมตร มีงา 1 อัน ปากไซมีใยมะพร้าวปั้นเป็นก้อนกลมอุดไว้

ไซ-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ไซ-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ไซ-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ไซ-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง


 2. ไซ จำลอง

ขนาด : ความยาว 15.5 เซนติเมตร ความยาวจากก้นถึงงา 11 เซนติเมตร ความกว้างของงา 11 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของปาก 2.5เซนติเมตร

ไซ-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ไซ-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง


3. ไซ จำลอง

ขนาด : ความยาว 14.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของปาก 1.5 เซนติเมตร ความยาวจากก้นถึงงา 10.5 เซนติเมตร ความกว้างของงา 1.5 เซนติเมตร

ไซ-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ไซ-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ไซ-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ไซ-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง


4. ไซปลา

ขนาด : ความยาว 54.5 เซนติเมตร ความยาวจากปากถึงงา 20 เซนติเมตร ปากงากว้าง 7 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางปากกว้าง 6 เซนติเมตร  โครงทำด้วยลวด

ไซ-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ไซ-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ไซ-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง ไซ-เครื่องจักสาน-เครื่องมือประมง


5.ไซปลา

ลักษณะ : ทรงกระบอก สานด้วยไม้ไผ่เหลากลม ขนาด 0.3-0.4 เซนติเมตร ขอบปากและโครงทำด้วยเครือไม้ ร้อยด้วยไนล่อน ด้านหนึ่งเป็นช่องปาก อีกด้านหนึ่งเป็นงา

ขนาด : ความสูง 110 เซนติเมตร ปากกลมมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 9.5 เซนติเมตร ปากงากลมมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 16 เซนติเมตร

ไซปลา ไซปลา ไซปลา ไซปลา ไซปลา


6.ไซดักกุ้ง ใช้ดักกุ้งด้วยการวางไซให้ติดผิวดิน โดยวางไซขวางช่องทางน้ำไหล ใช้เฝือกหรือแนวดินกั้นเว้นช่องไว้เฉพาะช่องงา ตรงปากไซจะใช้ต้นหญ้าหรือหางอุดเพื่อไม่ให้กุ้งออก เมื่อวางไซแล้วใช้หญ้าหรือโคลยกลบบางส่วน เพื่อพรางให้กุ้งเข้าไปหลบในไซเหมือนหลบอยู่ตามซอกไม้

ลักษณะ : ทำด้วยไม้ไผ่ ทรงกระบอก ปากกลม คอคอดเหมือนคอขวด ก้นแหลม ปากไม่มีงา แต่มีงาอยู่ด้านข้างของไซ 2 อัน หันปากงาตรงข้ามกัน มีโครงด้านในเฉพาะบริเวณที่ติดงา

ขนาด : ความสูง 122 เซนติเมตร ปากงากว้าง 8.5 และ  9 เซนติเมตร ขนาดซี่ประมาณ 0.1-0.2 เซนติเมตร

ไซกุ้ง ไซกุ้ง ไซกุ้ง ไซกุ้ง ไซกุ้ง ไซกุ้ง


บรรณานุกรม :

ทวี กองศรีมา. (2542).ไซ, วิธีทำ ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 1248-1250

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2558). พจนานุกรมหัตถกรรมเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ