วัดมงคลโกวิทาราม

วัดมงคลโกวิทาราม หรือชื่อเดิม “วัดบ้านปากห้วยวังนอง” เป็นวัดสำคัญและโดดเด่นในจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของชลประทานห้วยวังนอง บ้านปทุม ตำบลปทุม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วัดแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ในปี 2568 วัดนี้ถูกกล่าวถึงว่าเป็น “วัดสวยริมห้วยวังนอง” และเป็นสถานที่เที่ยวใหม่ในอุบลฯ หรือวัดสวยศักดิ์สิทธิ์แห่งใหม่ รวมถึงเป็นสถานที่สายมูที่ต้องไม่พลาด 

วัดมงคลโกวิทาราม
ประตูทางเข้าวัดมงคลโกวิทาราม

ประวัติวัดมงคลโกวิทาราม

จากเอกสารบันทึกด้วยลายมือของพระครูสังฆรักษ์บุญ จตฺตสลฺโล (เดชบุญ) เจ้าอาวาสรูปแรกที่ได้มาอยู่ประจำวัดนี้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2500 ความว่า

แต่เดิมบริเวณนี้เป็นสวนของวัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) เริ่มสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2488-2489 โดยหลวงพ่อพระครูนวกรรมโกวิท (หลวงปู่นาค) เจ้าอาวาสวัดมหาวนารามในสมัยนั้น ท่านได้พาพระภิกษุสามเณรและเด็กวัดมาถากถางทำเป็นสวน ปลูกอ้อย ปลูกกล้วย ปลูกมะพร้าว อุทิศให้เป็นสวนของวัดมหาวนาราม และได้นำเงินของวัดมหาวนาราม จำนวน 5000 บาท มาซื้ออาหารเลี้ยงพระเณรและเด็กวัด เพราะในสมัยนั้นไม่มีญาติโยมมากเหมือนสมัยนี้ ในวัน 7 ค่ำ 15 ค่ำ จะมาฉันเพลที่วัดนี้ ส่วนที่ดินนั้นพ่อใหญ่จารย์ครูสิงห์ บุญประดับ ได้มีศรัทธามอบถวายให้สร้างวัด มีเนื้อที่ 56 ไร่ ในปี พ.ศ. 2509 ได้ทำการแบ่งขายไปจำนวน 17 ไร่ คงเหลือ 39 ไร่ 80 วา เงินที่ได้จากการขายที่ จำนวน 100,000 บาท ได้นำมาสร้างศาลา กว้าง 16 เมตร ยาว 32 เมตร โดยมีนายชม บุญสุข เป็นประธานการก่อสร้าง แต่เงินหมดก่อนที่จะสร้างแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ เดิมที พระครูสังฆรักษ์บุญ จตฺตสลฺโล (เดชบุญ) จำพรรษาอยู่ที่วัดมหาวนาราม ต่อมาในปี พ.ศ.2500 หลวงพ่อพระครูนวกรรมโกวิท เจ้าอาวาสวัดมหาวนารามได้ส่งพระครูสังฆรักษ์บุญ จตฺตสลฺโล (เดชบุญ) ให้มาจำพรรษาที่วัดบ้านปากห้วยวังนอง โดยมีพ่อใหญ่สิงห์ บุญประดับ เป็นผู้ไปนิมนต์ ในพรรษาแรกนั้นมีพระสงฆ์ 2 รูป สามเณร 2 รูป และเมื่อพระครูสังฆรักษ์บุญ จตฺตสลฺโล(เดชบุญ) มาจำพรรษาก็ได้เริ่มลงมือสร้างวัดด้วยกำลังศรัทธาและกำลังทรัพย์ส่วนตัว พร้อมด้วยความเพียรหมั่นขยันขุดหลักขุดตอดายหญ้า เวลานั้นอายุเพียง 36 ปี พรรษา 15 เท่านั้น และได้ก่อร่างสร้างวัดนี้มาโดยตลอด โดยมีโยมพ่อใหญ่สิงห์ บุญประดับ พ่อใหญ่อ่อนสา บุญสุข สองตระกูลนี้ให้การอุปถัมภ์วัด และมีหลวงพ่อพระครูนวกรรมโกวิทเป็นประธานในการสร้างวัด

พ.ศ.2510 ได้รับอนุญาตให้สร้างวัด โดยนายพัฒน์ บุณยรัตพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในสมัยนั้น  

พ.ศ.2516 ได้รับอนุญาตให้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดมงคลโกวิทาราม” ตามชื่อของพระครูนวกรรมโกวิท ผู้ตั้งวัดคนแรก

พ.ศ.2517 ซึ่งตรงกับตรงกับช่วงที่นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้แต่งตั้งพระอธิการบุญ จตฺตสลฺโล เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก  

วัดมงคลโกวิทาราม
อุโบสถวัดมงคลโกวิทาราม

เจ้าอาวาสและพระสงฆ์สำคัญ

  • พระครูนวกรรมโกวิท (หลวงปู่นาค) อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาวนาราม ผู้เริ่มต้นทำสวนในพื้นที่วัดมงคลโกวิทาราม และเป็นผู้ที่วัดได้รับชื่อตามท่าน
  • พระครูสังฆรักษ์บุญ จตฺตสลฺโล (เดชบุญ) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดมงคลโกวิทาราม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 ท่านลาสิกขาบทในปี พ.ศ.2536 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 สิริอายุ 83 ปี
  • พระครูสิริสุตวิมล ดร. (สมคิด เทวธมฺโม): ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมงคลโกวิทารามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในราชทินนามที่ “พระครูสิริสุตวิมล” ในปี พ.ศ. 2542 และเลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นพิเศษในปี พ.ศ.2551 ท่านมีวิทยฐานะสูง จบปริญญาเอก (Ph.D.) สาขาสังคมวิทยา จากมหาวิทยาลัยมคธ ประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ.2545 ท่านเป็นพระนักพัฒนาที่ทำให้วัดได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย และท่านได้มรณภาพลงเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2567 เวลา 06.00 น. ด้วยโรคหัวใจ (หัวใจวายเฉียบพลัน) รวมสิริอายุ 75 ปี
วัดมงคลโกวิทาราม
พระครูสิริสุตวิมล ดร. (สมคิด เทวธมฺโม)

พระพุทธศรีสัตตนาคา อริยะวิสุทธาธิบดี ตรีโลกนาถ (พระเจ้าใหญ่สามภพ) 

พระพุทธศรีสัตตนาคา อริยะวิสุทธาธิบดี ตรีโลกนาถ เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดใหญ่ที่โดดเด่นและเป็นสัญลักษณ์ของวัด สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความสูง 36 เมตร ซึ่งหมายถึง สวรรค์ 36 ชั้นฟ้า และหน้าตักกว้าง 9.9 เมตร

วัดมงคลโกวิทาราม
พระพุทธศรีสัตตนาคา อริยะวิสุทธาธิบดี ตรีโลกนาถ (พระเจ้าใหญ่สามภพ)

พระพุทธศรีสัตตนาคา อริยะวิสุทธาธิบดี ศรีโลกนาถ หรือ “พระเจ้าใหญสามภพ” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในโลกทั้งสาม คือ สวรรค์ มนุษย์โลก และบาดาล คำว่า “ศรีสัตตนาคา” หมายถึง ชั้นบาดาล มีความเป็นมาจากตำนานของพญาสัตตนาคา ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า กลุ่มพญานาค 7 ตน เป็นนาคระดับภุมมเทวา โดยในอดีตชาติตอนเป็นมนุษย์ เป็นกลุ่มช่างก่อสร้าง 7 คน ที่ได้รับจ้างไปบูรณะพระอารามแห่งหนึ่ง โดยทำด้วยจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา เเต่มักหาเวลาว่างมาตั้งวงดื่มเหล้ากัน ในช่วงบั้นปลายของชีวีตก็ได้ไปฟังธรรม ซึ่งพระได้เเสดงธรรมเรื่อง อริยทรัพย์ 7 และท่านให้จำคนละข้อ เพราะ 7 คนจำได้ไม่หมดทุกข้อ เเละได้ตั้งชื่อใหม่ในทางธรรม โดยเรียกเป็นชื่อตามหัวข้อธรรมะ เมื่อตายไปชายทั้ง 7 ได้ไปเกิดเป็นเทวดา ซึ่งก็ไม่จำเป็นแล้วที่จะต้องมาคลุกคลีกับมนุษย์ แต่เนื่องจากตั้งใจที่จะบำเพ็ญกุศล เพราะมีเศษกรรมจากสุราติดมาจากตอนเป็นมนุษย์ จึงทำให้เกิดเป็นพญานาคระดับ ภุมมเทวา เป็นพญาสัตตนาคา มีพระนามเป็นมงคลตามอริยทรัพย์ตามลำดับว่า พญาสัทโทนาโค (เป็นหัวหน้า) มีรัศมีสีกายเป็นสีน้ำเงิน พญาศิลวุฒนาโค มีรัศมีกายเป็นสีเขียวเข้ม พญาหิริวุฒนาโค มีรัศมีกายเป็นสีเขียวอ่อน พญาโอตตัปปะวุฒนาโค มีรัศมีกายเป็นสีเหลือง พญาสัจจาวุฒนาโคมีรัศมีกายเป็นสีชมพู พญาจาคะวุฒนาโค มีรัศมีกายเป็นสีส้ม, และพญาปัญญาเตชะนาโค มีรัศมีกายเป็นสีขาว ทั้งหมดเป็นผู้อารักขาและพิทักษ์พระศาสนาตลอดไป นาคราช เป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขและความอุดมสมบูรณ์

วัดมงคลโกวิทาราม

“พระครูสิริสุตวิมล”  ได้กล่าวถึงความเป็นมาของ “พระเจ้าใหญ่สามภพ” ว่า

เมื่อข้าพเจ้ามาพำนักอยู่ที่วัดมงคลโกวิทาราม หรือ วัดบ้านปากห้วยวังนองได้ประมาณ 1 เดือน ได้นิมิตเห็นตาผ้าขาวเดินออกจากประตูวัดมงคลโกวิทารามลงไปทางท่าน้ำ หลังจากนั้นได้นิมิตเห็นพญานาคในลำห้วยวังนองกำลังเล่นน้ำ อยู่ด้วยกัน 3 ตัว ความรู้สึกว่าเป็นพ่อแม่ลูกกัน ตัวใหญ่กว่าลำตาล ต้นตาล จึงไปเล่าเหตุการณ์ที่มีนิมิตทั้ง 2 อย่างให้พระเดชพระคุณพระเทพกิตติมุนีฟัง ท่านแก้นิมิตว่า “ให้สร้างพระพุทธรูปไว้สัก 1 องค์”

ข้าพเจ้ากลับมาปรึกษาหารือกับชาวบ้านประมาณ 10 กว่าคน ที่จำได้มีพ่อใหญ่อุดร บัวใหญ่, พ่อใหญ่หนูซ่วน อ้วนผิว, พ่อใหญ่ทวง มากดี, พ่อใหญ่คำดี ตระจิการ, พ่อใหญ่หนูนาย มุ่งสิน และพ่อใหญ่วันทา เวชคง เป็นต้น ชาวบ้านเห็นด้วยกับข้อเสนอของท่าน จึงได้ไปกราบเรียนให้พระเดชพระคุณทราบว่า “ชาวบ้านเห็นด้วยกับข้อเสนอของท่าน”

ต่อมา ได้นำชาวบ้านไปขอคำปรึกษากับท่านอีกว่า “จะสร้างพระพุทธรูปปางอะไรดี?” ท่านถามว่า “ท่านเกิดวันอะไร” ข้าพเจ้าตอบว่า “เกิดวันเสาร์” ท่านบอกว่า “ให้สร้างพระพุทธรูปปางวันเกิดของวันเสาร์ เพื่อเป็นสิริมงคลสืบไป” ดังนั้นจึงได้มีโครงการก่อสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก ซึ่งเป็นพระประจำวันเกิดวันเสาร์ นี่คือความเป็นมาของพระเจ้าใหญ่สามภพ(ปางนาคปรก 7 เศียร) คำว่า “สามภพ” คือ ภพบาดาล (ที่อยู่ของนาค), ภพมนุษย์ (ที่อยู่ของมนุษย์), ภพสวรรค์ (ที่อยู่ของเหล่าเทพทั้งหลาย)

หลังจากนั้น ได้ประชุมคณะกรรมการวัดพร้อมกับชาวบ้านไปหาต้นไม้มาปลูกให้เต็มทั้งวัด เพื่อเป็นร่มเงาไว้พักผ่อนหย่อนใจ โดยการแนะนำของ “พระเดชพระคุณพระพรหม มังคลาจารย์” (หลวงพ่อปัญญานันทะ) ที่ท่านได้มาเยี่ยมข้าพเจ้า ซึ่งก่อนนั้นได้พำนักอยู่กับ หลวงพ่อปัญญาฯ (วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จังหวัดนนทบุรี) มาหลายสิบปี หลวงพ่อพระเทพกิตติมุนี จึงได้ขอข้าพเจ้าจากหลวงพ่อปัญญาให้มาอยู่จังหวัดอุบลราชธานี

ในปี พ.ศ. 2539 ได้เขียนแผนผังภายในวัด เพื่อจัดสัดส่วนในการก่อสร้างภายในวัดให้เป็นรูปแบบที่สวยงาม พระเดชพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)ได้มีเมตตามาเยี่ยมที่วัดมงคลโกวิทาราม ข้าพเจ้าได้นำเดินชมแผนผังภายในวัด ท่านบอกว่า “ทุกวัดควรทำแผนผังภายในวัด เพื่อสะดวกในการก่อสร้างเสนาสนะ”

ในปี พ.ศ. 2549 พล.ท.นรินทร์ มุทุกันต์ พร้อมภรรยาและ พ.ต.อ.(พิเศษ)วิชาญ  จำปีศรี มาถวายภัตตาหารเพล ข้าพเจ้าได้นำเดินชมแผนผังภายในวัดและได้เสนอว่า “มีโครงการสร้างพระพุทธรูปไว้ภายในวัดตามแผนผัง” ท่านได้รับไปพิจารณา ขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งพันเอกพิเศษ ต่อมาท่านได้นำซินแส (อาจารย์หม่อม นิรนามไตรภูมิ) และเพื่อน ๆ มี ดร.บุญเพ็ง สืบภา เป็นต้น มาดูสถานที่ก่อสร้างพระพุทธรูปและได้กำหนดจุดที่จะก่อสร้างพระพุทธรูปในสถานที่ทางทิศตะวันออกของวัดมงคลโกวิทาราม พร้อมกำหนดชื่อองค์พระพุทธรูปว่า พระพุทธศรีสัตตนาคา อริยะวิสุทธาธิบดี ตรีโลกนาถ (พระเจ้าใหญ่สามภพ) ข้าพเจ้าและคณะกรรมการบริหารวัดพร้อมกับชาวบ้านตำบลปทุม และ คณะ พล.ท.นรินทร์ มุทุกันต์ ได้ร่วมปรึกษาหารือกันอย่างกว้างขวาง ดูถึงความเหมาะสมทุกอย่างตามข้อเสนอของหลวงพ่อพระเทพกิตติมุนี ที่ประชุมเห็นด้วย เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของชาวตำบลปทุมและเป็นสง่าราศีของจังหวัดอุบลราชธานีสืบไป

ในการจัดหาทุนก่อสร้างพระเจ้าใหญ่สามภพที่สำคัญอีกช่วงหนึ่ง ได้แก่ ทางวัดและคณะกรรมการร่วมพัฒนาวัดมงคลโกวิทาราม ได้รับการประสานงานจากนายบัวพันธุ์ กอสุวรรณ(พ่อแอ๋ง) นำพระครูสิริสุตวิมล เจ้าอาวาสวัดมงคลโกวิทาราม เข้าพบ พ.ต.อ.สามารถ แก้วเนตร รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น) เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดหาทุนก่อสร้างองค์พระ จึงมีโอกาสได้เข้าพบ พล.ต.ต.ธนิตศักดิ์ ศิริพัฒน์ธนภาค ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีโดยท่านมีความยินดีที่จะร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อจัดหาทุนพร้อมทั้งเป็นผู้ดูแลการดำเนินการก่อสร้างและประสานเชิญชวนเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจชาวมาเลเซีย คือ นายเตียว วุย ฮวด (Teow Wooi Huat) มาร่วมทำบุญ  ซึ่งท่านได้มีจิตศรัทธาอุปถัมภ์สร้างองค์พระเจ้าใหญ่สามภพต่อเนื่อง รวมเป็นเงิน 11 ล้านบาทเศษ

 

การก่อสร้างพระพุทธศรีสัตตนาคา อริยะวิสุทธาธิบดี ตรีโลกนาถ (พระเจ้าใหญ่สามภพ) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดใหญ่ คอนกรีตเสริมเหล็ก ความสูง 36 เมตร หน้าตักกว้าง 9.9 เมตร มีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 21 ธันวาคม 2550 โดยพระเดชพระคุณพระพรหมวชิรญาณ (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร มาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ ปลัดกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) มาเป็นประธานฝ่ายฆราวาส จากนั้นได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึง ปี พ.ศ.2562 จึงได้แล้วเสร็จ ด้วยเงินที่คณะกรรมการฯ ทุกคณะได้ระดมจัดหาทุนในการก่อสร้าง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 80 ล้านบาทเศษ มีการจัดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและสมโภชขึ้นเมื่อวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2562 โดยได้ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพร้อมมวลสารเข้าประดิษฐานในองค์พระ และฉลองสมโภชให้ก่อเกิดพลานุภาพและเป็นสิริมงคลแก่สาธุชนที่ศรัทธาเลื่อมใสสืบไป

วัดมงคลโกวิทาราม
พระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานภายในองค์พระพุทธศรีสัตตนาคา อริยะวิสุทธาธิบดี ตรีโลกนาถ

คำกล่าวบูชาพระบรมสารีริกธาตุ 

(ตั้งนะโม 3 จบ)

อะหัง วันทามิ ธาตุโย มวลปวงข้าขอนมัสการพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น  อะหัง วันทามิ สัพพะโส ข้าขอนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น โดยประการทั้งปวง สาธุ สาธุ สาธุ

วัดมงคลโกวิทาราม

คํากล่าวบูชาพระเจ้าใหญ่สามภพ แต่งโดย พระเทพวราจารย์  ดังนี้

โย โส พุทฺโธ วิสุทฺโธ จ มหาเตโช มหิทฺธิโก โลเก อนุตฺตโร สตฺถา โลกเชฏฺโฐ ตถาคโต มงฺคลโกวิทาราเม นามีธ สุปติฏฺฐิโต ชนานํ ปูชโก นาโถ โลกานํ อนุกมฺปโก อหํ วนฺทามิ สมฺพุทฺธํ อุตฺตมํ วิสุทฺธํ วรํ เอเตน สจฺจวชฺเชน สุวตฺถิ โหตุ สพฺพทา รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา อโรโค สุขิโต โหมิ นิทฺทุกฺโข โหมิ สพฺพทาติฯ

วัดมงคลโกวิทาราม
ภาพจิตรกรรมคำสอนภายในองค์พระพุทธศรีสัตตนาคา อริยะวิสุทธาธิบดี ตรีโลกนาถ
วัดมงคลโกวิทาราม
ภาพจิตรกรรมคำสอนภายในองค์พระพุทธศรีสัตตนาคา อริยะวิสุทธาธิบดี ตรีโลกนาถ

เสนาสนะและศาสนาคาร

ภายในวัดมงคลโกวิทาราม มีเสนาสนะและศาสนาคาร ประกอบด้วย

  • อุโบสถ: สร้างขึ้นปี พ.ศ.2520 และบูรณะในปี พ.ศ. 2550 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา
  • ศาลาการเปรียญ: ใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศล มีพระพุทธรูปและภาพวาดเกี่ยวกับมหาเวสสันดรชาดกเพื่อการศึกษา
  • กุฏิเทวธรรมานุสรณ์: อาคาร 2 ชั้น ที่พักสำหรับพระภิกษุสามเณร
  • กุฏิและสำนักงานเจ้าอาวาส: มีห้องสมุดและห้องบันทึกเสียงเพื่อเผยแผ่ธรรมะ
  • สำนักงานส่งเสริมจริยธรรมและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตำบลปทุม: ห้องหนังสือและเทปธรรมะ
  • ลานธรรมลานใจ: ลานหินโค้งกลางแจ้งพร้อมพระพุทธรูป ใช้สำหรับพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเช้า-เพล ทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น และพุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม
  • ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์: สถานที่เรียนธรรมะสำหรับเยาวชน
  • ฌาปนสถาน (เมรุ): บริการชุมชน จัดงานศพแบบ “3 ป.” คือ ประหยัด ประโยชน์ และปัญญา พร้อมมีการแสดงปาฐกถาธรรมก่อนฌาปนกิจ
  • ศาลาอเนกประสงค์และโรงครัว: สำหรับต้อนรับพุทธบริษัทและกิจกรรมทางศาสนา
  • เรือนรับรอง: 5 ห้องนอน สำหรับต้อนรับพระเถรานุเถระ
  • หอระฆัง: บอกเวลาในการทำกิจวัตรของพระภิกษุสามเณร
  • พิพิธภัณฑ์พระครูนวกรรมโกวิท หลวงปู่นาค: จัดแสดงรูปเหมือนของหลวงปู่นาค ผู้ก่อตั้งวัด
  • ห้องสมุดเด็กและครอบครัวตำบลปทุม: ห้องสมุดสำหรับเด็กและครอบครัวในพื้นที่
  • ศาลาปทุมธรรมธารา: ศาลาทรงไทยจัตุรมุขยื่นลงไปในน้ำ ใช้เป็นสถานที่ประชุม พักผ่อน และเลี้ยงปลา
วัดมงคลโกวิทาราม
ณ ริมปากห้วยวังนอง

วัดมงคลโกวิทารามมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและสังคมของชุมชน ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย:

  • กิจกรรมประจำวัน/ประจำสัปดาห์: ทำวัตรเช้า (04.00 น.) และเย็น (19.00 น.) สำหรับพระภิกษุสามเณร
  • ทุกวันพระ (8 ค่ำ 15 ค่ำ) มีพุทธศาสนิกชนมาร่วมทำบุญ ทำวัตรสวดมนต์ สมาทานศีล
  • ทุกวันอาทิตย์ มีอุโบสถปฏิบัติธรรม ฟังธรรม ทำวัตรแปล และพักค้างคืนในศาลา 1 คืน มีนักเรียนในชุมชนมาเรียนวิชาพระพุทธศาสนา และโครงการ “ครอบครัวคุณธรรมนำสังคมเข้มแข็ง เทิดไท้องค์ราชัน (พาลูกจูงหลานไปวัด)”
  • ทุกวันจันทร์ (18.30-19.30 น.) มีญาติโยมร่วมสวดมนต์แปลในโครงการ “ทำความดีถวายในหลวง”
  • กิจกรรมประจำเดือน: มีการปฏิบัติธรรม “บวชเนกขัมมบารมี” ใช้เวลา 2 คืน 3 วัน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • งานบุญประเพณีประจำปี:งานบุญมหาชาติ: มีการแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง, แห่กัณฑ์หลอนเพื่อสมทบทุนวัด, และการแสดงธรรมเรื่องมหาเวสสันดรชาดก
  • งานทำบุญลอยกระทง: จัดอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี ดึงดูดประชาชนจำนวนมากเนื่องจากสถานที่ริมน้ำที่สวยงาม
  • บทบาททางสังคม: วัดได้รับความร่วมมืออย่างดีจากชุมชนและผู้ศรัทธาในการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองและเป็นที่พึ่งทางจิตใจ โดยยึดหลัก “สะอาด สงบ สว่าง สร้างสุข”

รางวัลและการยกย่องวัดมงคลโกวิทาราม

วัดมงคลโกวิทารามได้รับการยอมรับและรางวัลมากมายในระดับภูมิภาคและระดับชาติ สะท้อนถึงการเป็น “วัดพัฒนาตัวอย่าง” และมีผลงานดีเด่น ดังนี้

  • พ.ศ. 2550 และ 2555: รางวัล “วัดพัฒนาตัวอย่าง” และ “วัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น” จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2552:
    • รางวัล “วัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ” จากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
    • คัดเลือกเป็น “วัดต้นแบบความดี” ของจังหวัดอุบลราชธานี
    • คัดเลือกเป็น “วัดที่มีอาคารสถานที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุ” จากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2553: 
    • รางวัล “เสมาธรรมจักรทองคำ สาขาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศ” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
    • รางวัล “สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น” จากสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
    • รางวัล “องค์กรดีเด่น สาขาพัฒนาเยาวชน บำเพ็ญประโยชน์” ของศูนย์พัฒนาคุณธรรมจังหวัดอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2557: รางวัล “เมรุปลอดมลพิษ” ประจำจังหวัดอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2561: รางวัล “วัดส่งเสริมสุขภาพระดับยั่งยืน” จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  • พ.ศ. 2548 (และต่อเนื่อง): คัดเลือกเป็น “วัดที่จัดอุทยานการศึกษาในวัด” และเข้าร่วมโครงการ “คนรักษ์วัด”
วัดมงคลโกวิทาราม
พญานาคาธิบดีศรีปทุมสัตตนาคราช (พ่อปู่ศรีปทุม) และพญานาคีศรีปทุมมา (แม่ย่าศรีปทุมมา)

วัดมงคลโกวิทาราม

วัดมงคลโกวิทารามเป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนาที่สวยงามและศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และปฏิบัติธรรม และเป็นแหล่งรวมกิจกรรมทางสังคมที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้เป็น “สถานที่สายมูที่ต้องไม่พลาด” และ “วัดสวยศักดิ์สิทธิ์แห่งใหม่” ที่น่าเยี่ยมชม

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดมงคลโกวิทาราม

บรรณานุกรม

กิตติภณ เรืองแสง. (2566). อุบลราชธานี-วัดมงคลโกวิทาราม วัดพัฒนาตัวอย่าง หลายสมัย แห่งเมืองอุบลฯ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568, https://www.siameagle.com/80512/

บ้านเมือง. (2566).ไปกราบไหวขอพร “พระเจ้าใหญ่สามภพ” ที่วัดมงคลโกวิทาราม จ.อุบลฯ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568, https://www.banmuang.co.th/news/region/325756

บ้านเมือง. (2566). ไปเที่ยวชม วัดมงคลโกวิทาราม วัดพัฒนาตัวอย่าง แห่งเมืองอุบลฯ. เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568, https://www.banmuang.co.th/news/region/330062

บ้านเมือง. (2567). เศร้า! สิ้นแล้วพระนักพัฒนาตัวอย่างเมืองอุบลฯ พระครูสิริสุตวิมล ดร.(สมคิด เทวธมฺโม). บ้านเมือง. เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568, https://www.banmuang.co.th/news/region/402404

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี. (2566). อุบลฯ ฉลองสมโภชพระเจ้าใหญ่ 3 ภพ บุญมหาชาติ และร่วมมุทิตาสักการะทำบุญอายุวัฒนมงคลครบ 6 รอบ พระครูสิริสุตวิมล เจ้าอาวาสวัดมงคลโกวิทาราม. สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี. เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568, https://ubonratchathani.prd.go.th/th/content/category/detail/id/33/iid/164104

 

 

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง