ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ อีสานใต้ ซึ่งเต็มไปด้วยมรดกทางปัญญาและภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ไม่ว่าจะเป็น งานหัตถกรรม การทอผ้า การแพทย์แผนไทย รวมถึงศิลปะการแสดง ล้วนสะท้อนถึงอัตลักษณ์และความเป็นอยู่ของชาวอีสานใต้ในอดีต
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ภูมิปัญญาเหล่านี้ค่อย ๆ เลือนหายไป คนรุ่นใหม่มีโอกาสน้อยลงที่จะได้เรียนรู้และสืบสานองค์ความรู้ดั้งเดิม วิดีทัศน์นี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อ บันทึกและเผยแพร่เรื่องราวของภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานใต้ ให้คงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และเพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้ชมถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และส่งต่อภูมิปัญญาเหล่านี้ให้คนรุ่นต่อไป
จากความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ทำการรวบรวมและเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน ใน 7 จังหวัด คือ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ มุกดาหาร นครพนม โดยนำเสนอในรูปแบบวิดีทัศน์ เพื่ออนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเพื่อตอบสนองภารกิจของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
วิดีทัศน์ที่เผยแพร่นี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนให้ดำเนินโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จำนวน 2 โครงการ คือ
- โครงการวีดีทัศน์รวบรวมและเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน ปีงบประมาณ 2554
- โครงการวีดีทัศน์รวบรวมและเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดมุกดาหาร ปีงบประมาณ 2555
ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานใต้
อาหารแปรรูป: ปลาที่หาได้จากแม่น้ำโขง นำมาปรุงที่ถูกสุขลักษณะและมีรสชาติตามแบบฉบับการถนอมอาหารของคนอีสาน มีการพัฒนาทั้งคุณภาพและผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน เช่น แหนมปลากราย ไส้กรอกปลา ปลาแห้ง ปลาร้า
เครื่องประดับจากหินแม่น้ำโขง: หินแม่น้ำโขง หินที่มีสีหลากหลายและดูเหมือนจะไร้ค่า นำมาเจียระไนและประกอบตัวเรือนเป็นเครื่องประดับ เช่น แหวน กำไล จี้ สร้างเป็นหินเอกลักษณ์ของมุกดาหาร เชื่อว่าใส่แล้วจะเย็นกายเย็นใจ
ผลิตภัณฑ์ขนมไทย: การพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมไทยที่คงรสชาติแบบโบราณ เช่น ขนมหม้อแกง ขนมชั้น สังขยาฟักทอง ผลิตภัณฑ์ระดับ 5 ดาว ที่ขายทั้งในประเทศและนอกประเทศที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน
มวยนึ่งข้าวเหนียว: ผลิตภัณฑ์มวยนึ่งข้าวเหนียวบ้านโนนผึ้ง ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากครอบครัวสู่ชมุชน ที่เป็นทั้งการสืบสานภูมิปัญญาและสร้างรายได้ในระหว่างฤดูกาลทำนา
>ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่: เช่น โคมไฟตั้งพื้นจากตอไม้ไผ่ที่เหลือจากการนำมาทำเครื่องจักสาน แจกันไม้ไผ่ ที่พัฒนาให้มีความแข็งแรงทนทานและทนต่อการทำลายของมอด ใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่งสถานที่ สร้างรายได้ให้กับชุมชน
เครื่องประดับจากไม้: โดยการนำเศษไม้มาดัดแปลงเป็นเครื่องประดับตกแต่งหลายประเภทหลายรูปแบบ เช่น แหวน กำไล ต่างหู เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้จากของวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น
ดอกไม้ประดิษฐ์จากเศษผ้า: การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ดอกไม้ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติเหลือใช้ เช่น เศษผ้าไหม เศษผ้าฝ้ายที่เหลือจากการตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือใช้ของชาวบ้านปลาค้าว ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน
เครื่องจักสานไม้ไผ่: ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่และหวาย บ้านโนนสว่าง พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีลวดลายสวยงามโดยการนำลวดลายผ้าไหมมัดหมี่และลายของหมอนขิดมาปรับใช้เป็นลายของเครื่องจักสานได้อย่างสวยงาม
ไข่เค็มดินจอมปลวก: ผลิตภัณฑ์ไข่เค็มพอกเสริมไอโอดีนของบ้านด่านมน โดยการเลี้ยงเป็ดพันธุ์ไข่ตามธรรมชาติและแปรรูปเป็นไข่เค็มที่มีเอกลักษณ์คือการพอกด้วยดินจอมปลวกที่มีอยู่ในชุมชน บรรจุภัณฑ์ด้วยชะลอมไม้ไผ่ ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ระดับ 4 ดาว
กระเป๋าผ้าฝ้าย: การผลิตกระเป๋าบ้านคำพระ เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยผ้าฝ้ายลายขิด และลวดลายอื่น ๆ ผ้าทอภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน เป็นการสร้างรายได้ระหว่างฤดูกาลทำนา
>กระบวยสารภี: ผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านกระบวย เป็นสินค้าที่ผลิตมาจากลูกกระทิงหรือลูกสารภี ภาคอีสานเรียกว่า บักนอ วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นที่นำมาสร้างสรรค์เป็นพวงกุญแจ ของฝากของที่ระลึก
ข้าวกล้องงอกอินทรีย์: การพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว ด้วยการแปรรูปเป็นข้าวกล้องงอกอินทรีย์ ที่นอกจากการปลูกจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ข้าวกล้องงอกยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นที่ต้องการของตลาด เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
โคมไฟไม้ไผ่: การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ตงมาฉลุลายทำเป็นโคมไฟและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีความคงทนและไม่ถูกทำลายด้วยมอด ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์
แจ่วบอง: ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารจากปลาแม่น้ำโขง เพื่อถนอมอาหารและสร้างรายได้แก่ชุมชนบ้านด่านใหม่
เชี่ยนหมากแกะสลักไม้ติดลายลงรัก: อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นงานหัตถกรรมทำไม้แกะสลักติดพิมพ์จากไม้ขนุน ปัจจุบัน ณ สถานที่แห่งนี้ไม่มีการผลิตแล้ว
การทำเทียนหอม: สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์โดยการนำลวดลายเลียนแบบธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ใบหญ้า มาจัดทำผลิตภัณฑ์ที่มีสีสันสดใสและหอมหวานด้วยศิลปะการจัดวางที่ลงตัว เพื่อใช้สำหรับประดับตกแต่ง เป็นของฝากของที่ระลึก
ประติมากรรมกระดาษนูนต่ำ: การใช้กระดาษสร้างสรรค์งานประติมากรรมแทนปูนปั้น ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักเบา ผลิตเป็นเครื่องประดับตกแต่งสถานที่ ของฝากของที่ระลึก
การผลิตผ้าไหมกาบบัว: โดยชาวบ้านโนนสวาง ที่มีการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้าไหมมาจากบรรพบุรุษ พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมอยู่ในระดับ 5 ดาว
การผลิตผ้าไหมมัดหมี่: บ้านลาดสมดีมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเองเพื่อสร้างสรรค์งานหัตถกรรมการทอผ้าไหมแบบดั้งเดิมออกสู่ตลาดโลกเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน
การทำลูกประคบสมุนไพรพื้นบ้านแบบแห้ง: ช่วยลดอาการปวดเมื่อย คลายกล้ามเนื้อ โดยใช้วัตถุดิบธรรมชาติที่อยู่ในชุมชน
การทำเสื่อจากกกและผือ: จากการทำใช้ในครัวเรือน กลายเป็นการทำเครื่องจักสานจากกกและผือหลายหลายรูปแบบสร้างรายได้ให้ชุมชน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
การเจียระไนพลอย: การทำชุดอัญมณีเงินแท้ของชาวบ้านสร้างมิ่ง อำภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี