หอไตรหนองขุหลุ หอไตรกลางน้ำ สถาปัตยกรรมท้องถิ่น

หอไตรหนองขุหลุ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอาคารหอไม้งานสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นอีสาน ใช้สำหรับเป็นที่เก็บหนังสือใบลานและตำราทางพระพุทธศาสนาของวัดศรีโพธิ์ชัย ตั้งอยู่ในหนองขุหลุเพื่อป้องกันปลวกและแมลงกัดกินหนังสือใบลาน ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้วและอยู่ในสภาพทรุดโทรม

hortri_nongkhulhu_7

หนองขุหลุ หนองน้ำในตำนานพื้นบ้านอีสาน

คำว่า “ขุหลุ” “ขุ”มาจากคำว่า “คุ” ในภาษาอีสาน หมายถึง ถังสำหรับตักน้ำหรือใส่ของ ส่วน “หลุ” แปลว่า ทะลุ ขุหลุนั้นมีความเกี่ยวข้องกับตำนานเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเรื่อง คันธนาม เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า คันธนามและแม่ได้หาบทองคำมาจากขุมคำ จนมาถึงหนองน้ำแห่งหนึ่งเป็นหนองใหญ่ มีน้ำใสสะอาด ทั้งสองจึงได้พักผ่อนเอาแรง คันธนามได้บอกแม่ให้ไปตักน้ำหนองนั้นมาดื่ม นางได้เททองคำออก แล้วนำคุไปตักน้ำ คุได้หลุดออกจากไม้คาน นางจึงได้เอาไม้คานลงควานหาคุ หัวไม้คานไปโดนก้นคุหลุ (ทะลุ) ภายหลังจึงเรียกหนองน้ำนั้นว่า หนองคุหลู และเพี้ยนมาเป็น หนองขุหลุ (ตำนานคันธนาม)

อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ในอดีตกาลมีเจ้าขุนเมืองท่านหนึ่งเดินทางผ่านมาทางอำเภอตระการพืชผล โดยเอาทองใส่คุหาบมาด้วย พอมาถึงที่บริเวณนี้คุที่ใส่ทองเอาไว้ได้ทะลุ ทำให้ทองหล่นลง จนทำให้ดินแถวนั้นยุบลงกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านในสมัยนั้นเลยเรียกหนองน้ำแห่งนี้ว่า หนองขุหลุ

หอไตรหนองขุหลุ

หอไตรหนองขุหลุ เป็นหอไตรกลางน้ำที่คงเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นของเมืองอุบลราชธานี และเป็นหอไตรกลางน้ำที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย หอไตรนี้ตั้งอยู่ในหนองขุหลุ สร้างขึ้นในราว พ.ศ.2459-2461 โดยหลวงปู่สิงห์ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย และหลวงราษฎร์บริหาร (สด กมุทมาศ) นายอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานีในสมัยนั้น ท่านได้ปรึกษาหารือกันเรื่องตู้คัมภีร์ใบลานและตำราทางพุทธศาสนาของวัดศรีโพธิ์ชัย ซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้ปลวกและแมลงกัดแทะจนตำราขาดเสียหาย จึงคิดที่จะหาที่เก็บแห่งใหม่ และเห็นร่วมกันว่าควรสร้างหอไตรกลางน้ำขึ้น ซึ่งจะเป็นวิธีการที่จะป้องกันปลวกและแมลงได้ และได้เลือกหนองขุหลุเป็นสถานที่ก่อสร้างหอไตร เพราะเห็นว่าหนองขุหลุเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม จากนั้นจึงได้บอกกล่าวชาวบ้านให้หาไม้และวัสดุอื่น ๆ มาช่วยกันก่อสร้างหอไตรจนแล้วเสร็จ

หลังคาหอไตรหนองขุหลุ
หลังคาหอไตรหนองขุหลุ
หลังคาหอไตรหนองขุหลุ
หลังคาหอไตรหนองขุหลุ

ตัวอาคารหอไตรหนองขุหลุ เป็นสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นอีสานที่มีความงามเรียบง่าย โดยฝีมือช่างในท้องถิ่น ซึ่งมีส่วนประกอบไปด้วย อาคารไม้ยกพื้นสูง รองรับด้วยเสาไม้ 25 ต้น ทำจากไม้พรรณชาติเรียงเป็นแถว 5 แถว แถวละ 5 ต้น ตัวอาคารเป็นเรือนไม้แบบเครื่องสับ หลังคามีสองส่วน คือ ส่วนบนเป็นทรงจั่ว ส่วนชั้นล่างทำเป็นหลังคาปีกนก (พะไร) ปัจจุบันมุงกระเบื้องดินเผา ส่วนประดับหลังคา คือ ตัวเหงาไม้แกะสลักรูปนาค ช่อฟ้า (โหง่) รวยระกา และคันทวย แกะสลักเป็นลายก้านขด คล้ายเลข 1 ไทยซ้อนกันและหันหัวแย้งกันสามชั้น โดยรอบอาคารตีไม้เข้าลิ้นในแนวตั้ง ทรวดทรงอาคารแผ่กว้าง หลังคาสูงทิ้งชายคาลาดต่ำ ให้ความรู้สึกสงบนิ่งและสมดุล

ภายในเป็นห้องทึบสำหรับเก็บคัมภีร์ใบลาน มีประตูทางเข้าทางด้านทิศใต้ทางเดียว ส่วนที่ใช้ประดับตกแต่งที่เป็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวย ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย แสดงถึงฝีมือช่างพื้นถิ่นในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี และเดิมทีจะไม่มีสะพานเชื่อมติดต่อ เมื่อก่อนพระต้องพายเรือเข้าไป จนกระทั่งปี พ.ศ.2517 ฟ้าผ่าเสาแถวแรกด้านทิศตะวันตกสุด ทางวัดศรีโพธิ์ชัยจึงได้จัดงบประมาณเพื่อมาเปลี่ยนเสาในปีนั้นเลย ต่อมาในปี พ.ศ.2519 ได้สร้างสะพานไม้เข้าชมหอไตร และปี พ.ศ.2524 ฟ้าได้ผ่าเสาแถวแรกด้านทิศตะวันออกสุดในเวลากลางคืนอีกจนเกิดไฟลุกไหม้ แต่ฝนตกหนักจึงทำให้ไฟดับลง วันต่อมาทางวัดก็เปลี่ยนเสาต้นที่ถูกฟ้าผ่าเสียหายนั้นออกจนแล้วเสร็จ ต่อมาสะพานไม้ที่เชื่อมหอไตรได้ชำรุดทรุดโทรม ทางราชการและชาวบ้านจึงได้สร้างสะพานใหม่ในปี พ.ศ. 2544 จนสามารถเดินเข้าชมหอไตรกลางน้ำได้อย่างสะดวกขึ้นกว่าเดิม

คันทวยไม้แกะสลักของหอไตรหนองขุหลุ
คันทวยไม้แกะสลักของหอไตรหนองขุหลุ
คันทวยไม้แกะสลักของหอไตรหนองขุหลุ
คันทวยไม้แกะสลักของหอไตรหนองขุหลุ

สำหรับตัวอาคารหอไตร ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์สืบต่อกันมา ครั้งล่าสุด คือ ในปี พ.ศ.2542 บูรณะและดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี กรมศิลปากร สำหรับคัมภีร์โบราณและหีบพระธรรมได้ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่อุโบสถวัดศรีโพธิ์ชัย ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอตระการพืชผล

หอไตรหนองขุหลุ นอกจากจะเป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่งดงามแล้ว ยังนับเป็นปูชนียสถานที่เรียกกันว่า “ธรรมเจดีย์” ในปี 2547 หอไตรหนองขุหลุ ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น จากกรมศิลปากร

สะพานข้ามไปยังหอไตรหนองขุหลุ
สะพานข้ามไปยังหอไตรหนองขุหลุ

ที่ตั้ง หอไตรหนองขุหลุ

สวนสาธารณะหนองขุหลุ บ้านขุหลุ ตำบลขุหลุ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ หอไตรหนองขุหลุ

15.616476, 105.019832

บรรณานุกรม

กิตติภณ เรืองแสน. (2557). หอไตรหนองขุหลุปูชนียสถานแหล่งโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย, 13 มีนาคม 2560. http://e-shann.com/?p=6124

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย ชุมชนทำเทียนพรรษา ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด บ้านชีทวน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง