วัดขุมคำ นิทานตำนานพื้นบ้านท้าวคันธนาม

วัดขุมคำ อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี ที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่ขุมคำ พระพุทธเจ้าศักดิ์สิทธิ์ให้พรสมหวังเรื่องความรัก ตั้งอยู่บนบริเวณที่เป็นต้นกำเนิดของนิทานตำนาน เรื่อง ท้าวคันธนาม วรรณกรรมพื้นบ้านที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ปรากฏเป็นชื่อสถานที่ต่าง ๆ

ประวัติวัดขุมคำ อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติของวัดขุมคำ อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีการบันทึกไว้นั้น เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 15 ไร่ อาคารเสนสนะประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ กว้าง 12 เมตร เป็นอาคารไม้ กุฏิสงฆ์ จํานวน 4 หลัง เป็นอาคารไม้ และศาลาบําเพ็ญ จํานวน 1 หลัง

วัดขุมคำมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ ชื่อว่า พระเจ้าใหญ่ขุมคำ หรือ พระพุทธมหิทธาดล  ขนาดหน้าตักกว้าง 11  เมตร ความสูงจากพื้นดินถึงเกศ 22 เมตร เป็นแท่นพระ 6 เมตร องค์พระ 16  เมตร ก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2508  ปีมะเส็ง ตรงกับวันจันทร์ขึ้น 3 ค่ำ และถือเอาวันนี้เป็นวันจัดงานบุญประจำปีของวัด  ว่ากันว่าถ้าหากหนุ่มสาวอยากพบรักให้มากราบไหว้ขอพรจากพระเจ้าใหญ่ขุมคำแล้วจะสมหวัง และหากคู่รักแต่งงานกันไปแล้วถ้ามีบุตรยากก็ให้ไปกราบไหว้ขอพรจากพระเจ้าใหญ่ขุมคำก็จะมีบุตรได้ นอกจากนั้นยังมีคนแก่เล่าเพิ่มเติมว่า เมื่อก่อนถ้ามาเที่ยวงานบุญประจำปีของวัด พอกราบไหว้พระเจ้าใหญ่ขุมคำเสร็จแล้ว จะต้องไปกราบไหว้หินแกะสลักรูปอวัยวะโดยมีลักษณะเป็นลึงค์ และโยนีที่อยู่ภายในวัดด้วย เพื่อขอให้พบกับคนรักที่มาเที่ยวงานในคืนเดียวกัน และก็มักจะสมหวังดังที่ขอกันทุกคน

อุโบสถวัดขุมคำ
อุโบสถวัดขุมคำ
พระเจ้าใหญ่ขุมคำ หรือ พระพุทธมหิทธาดล วัดขุมคำ
พระเจ้าใหญ่ขุมคำ หรือ พระพุทธมหิทธาดล วัดขุมคำ

สภาพพื้นที่ภายในวัดเป็นลานหินและมีแหล่งหินทรายสีเขียว และมีหลุมที่เกิดจากการกระทำของน้ำ คล้ายเป็นโพรงหรือถ้ำเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังค้นพบหรือขุดพบวัตถุโบราณในบริเวณวัดอีกด้วย เช่น

  1. ดาบโบราณ ที่ทำจากหิน ไม่ทราบอายุ
  2. หินแกะสลักคล้ายคลึงรูปอวัยวะเพศ โดยมีลักษณะเป็นลึงค์ (อวัยวะเพศชาย) และโยนี (อวัยวะเพศหญิง) ไม่ทราบอายุ
  3. แหล่งหินทรายสีเขียว ซึ่งประชาชนเข้าใจว่ามีการนำหินมาจัดเรียงคล้ายกำแพง อันเรียกกันว่า กำแพงโบราณนั้น เมื่อพิจารณาจากสภาพพื้นที่แล้ว พบว่าเป็นแหล่งหินทรายสีเขียวซึ่งมีร่องรอยการตัด แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากการกระทำตามธรรมชาติหรือว่าจากการกระทำของมนุษย์  และยังมีหินลักษณะประหลาดและสวยงามที่ขุดพบภายในวัดตั้งแต่ก่อตั้งวัดในปี พ.ศ.2507
  4. พบร่องรอยต่าง ๆ  เช่น หินกระดูกงูซวง จำนวน 13 ชิ้น
  5. พบเห็นรอยพญานาค  รอยพญาช้างสาร (ตามตำนาน) หลุมมันแซง
  6. บางอย่างค้นพบในเวลาต่อมา เช่น
  • หินหัวงูซวงค้นพบเมื่อ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557 โดยหลวงปู่ที่วัดขุมคำ
  • รอยเท้าแม่ย่ายักษ์ ค้นพบ 24 กรกฎาคม 2557 โดยหลวงปู่ที่วัดขุมคำ
  • ดาบหินที่ใหญ่และสวยงามค้นพบเมื่อ 20 สิงหาคม 2557 โดยหลวงปู่สิง

ภายในวัดแห่งนี้ยังมีสัตว์นานาพันธ์ุ เช่น นกยูงกว่า  30 ตัว ไก่ป่า 1,000 ตัว และสัตว์อื่น ๆ อีกมากมาย

พระพุทธรูปภายในบริเวณวัดขุมคำ
พระพุทธรูปภายในบริเวณวัดขุมคำ
ร่องรอยต่าง ๆ ที่พบภายในบริเวณวัดขุมคำ
ร่องรอยต่าง ๆ ที่พบภายในบริเวณวัดขุมคำ
ร่องรอยต่าง ๆ ที่พบภายในบริเวณวัดขุมคำ
ร่องรอยต่าง ๆ ที่พบภายในบริเวณวัดขุมคำ
ร่องรอยต่าง ๆ ที่พบภายในบริเวณวัดขุมคำ
ร่องรอยต่าง ๆ ที่พบภายในบริเวณวัดขุมคำ
ร่องรอยต่าง ๆ ที่พบภายในบริเวณวัดขุมคำ
ร่องรอยต่าง ๆ ที่พบภายในบริเวณวัดขุมคำ
ร่องรอยต่าง ๆ ที่พบภายในบริเวณวัดขุมคำ
ร่องรอยต่าง ๆ ที่พบภายในบริเวณวัดขุมคำ

และเมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2557 ได้มีการขุดพบมีดกริชโบราณ ภายในบริเวณวัดขุมคำ ค้นพบโดย โดยพระอาจารย์บุญศรี  อนุตตโร โดยทางวัดได้ขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ขณะขุดได้พบมีดกริชโบราณคล้ายกับทองสัมฤทธิ์ สภาพยังสมบูรณ์ มีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ซึ่งทางวัดได้นำขึ้นมาเก็บรักษาไว้ภายในวัด โดยชาวบ้านและคนแก่คนเฒ่าในหมู่บ้านขุมคำ ต่างเชื่อกันว่ามีดกริชที่พบนี้น่าจะเป็นของท้าวคันธนาม ตามตำนานและนิทานที่เล่าต่อกันมาว่า ณ  ที่แห่งนี้มีถ้ำสมบัติที่มีนางยักษ์และงูใหญ่เฝ้าสมบัติอยู่หน้าถ้ำ ต่อมามีท้าวคันธนามทราบเรื่องจะเข้าไปเอาสมบัติ เกิดมีการต่อสู้กับงูใหญ่และนางยักษ์ที่เฝ้าอยู่ปากถ้ำ ท้าวคันธนามได้ใช้กริชตัดงูออกเป็นท่อน ๆ และฆ่านางยักษ์ได้สำเร็จ จึงเข้าไปเอาสมบัติคือทองคำในถ้ำไปได้ ทางวัดได้นำมีดกริชขึ้นมาให้ชาวบ้านเข้ามากราบไหว้ขอพร ขอโชคลาภอยู่เป็นระยะ ๆ  ซึ่งในปัจจุบันนี้ หลักฐานที่เชื่อว่า เป็นหลุมทรัพย์หรือบ่อทองคำ  ก็ยังคงหลงเหลืออยู่บริเวณของวัดแห่งนี้ ทำให้กับผู้มาเยือนได้เห็นและทราบความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับตำนานที่มีมาแต่ในอดีต

พระเจ้าใหญ่ขุมคำ หรือ พระพุทธมหิทธาดล วัดขุมคำ
พระเจ้าใหญ่ขุมคำ หรือ พระพุทธมหิทธาดล วัดขุมคำ

คำแนะนำสำหรับผู้ที่เข้าไปท่องเที่ยวในวัดขุมคำ

  1. กราบพระเจ้าใหญ่ขุมคำขอพรหรือบนบานศาลกล่าวศักดิ์สิทธิ์นักแล
  2. ศึกษาแหล่งเรียนรู้ ตำนานประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง ท้าวคันธนาม ซึ่งจะได้พบกับขุมคำ รอยพญาช้างสาร รอยเข่านางยักขินี ถ้ำงูซวง กระดูกงูซวง สัญลักษณ์ชี้ขุมคำโบราณ รอยคันธนาม รอยเสือโคร่ง และบ่อขุดค้นพบดาบของคันธนาม
  3. ศึกษาธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า เช่น นกยูงกว่า 20 ตัว ปลาหลากหลายพันธุ์ ไก่ป่ากว่า 1000 ตัว พันธุ์ไม้กว่า 2000 ชนิด
  4. เดินตามเส้นทางเดินป่าเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1-2 ชั่วโมง (ค่ามัคคุเทศก์ 100 บาท/รอบ)
  5. ทำบุญ 2 วัดบ้าน 7 วัดป่าบนยอดภู (รวม 9 วัด) ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง (ค่ารถและมัคคุเทศก์ 500 บาท)

wat_kumkam7

วรรณกรรมเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง ท้าวคันธนาม

วรรณกรรมเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง ท้าวคันธนาม ซึ่งสอดคล้องกับชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในท้องถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานี เช่น ห้วยที บ้านหนองเอาะ บ้านคอนสาย หนองขุหลุ ท่าบ่อแบง แจระแม เป็นต้น เรื่องท้าวคันธนาม มีอยู่ว่า

ในอดีตกาล แม่อัมลา เป็นชาวเมืองสีสาเกษในอดีตเชื่อกันว่า น่าจะเป็นเมืองขุฃันธ์หรือเมืองษีไคล (เมืองคง) ซึ่งเป็นอาณาเขตของจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน แม่อัมลาเป็นหญิงหม้าย ผัวของนางตายตอนที่นางยังอายุยังสาวเพราะเหตุที่นางเป็นคนดี มีมารยาทเรียบร้อย มีอาชีพเป็นช่างตัดเย็บจึงทำให้ชาวบ้านรักใคร่ชอบพอนางมาก ปกตินางไม่มีไร่นาสาโทเลย ชาวบ้านเกิดความสงสารจึงพากันแบ่งที่นาให้แก่นาง ครั้นถึงฤดูกาลทำนาชาวบ้านก็จัดแจงแบ่งพันธุ์ข้าวให้

ที่นาของแม่อัมลาอยู่ตรงกลาง ซึ่งมีที่นาของชาวบ้านอยู่ล้อมรอบ เมื่อทำการหว่านกล้าและปักดำเสร็จ ปรากฏว่าข้าวกล้าในนาของแม่อัมลางอกงามกว่าของชาวบ้าน นางได้ออกไปดูแลข้าวกล้าในนาทุกวัน อยู่มาคืนหนึ่งพระอินทร์บนสรวงสวรรค์ได้แปลงกายเป็นช้างเผือกสง่างามลงมาเหยียบย่ำข้าวกล้าในนาของนางจนแตกกระจายเป็นผุยผง ตื่นเช้ามานางก็ออกไปดูแลข้าวกล้าในนาเหมือนที่เคยปฏิบัติมาเช่นทุกวัน เมื่อได้เห็นข้าวกล้าถูกช้างเหยียบย่ำจนเสียหาย ก็เกิดความเสียใจคร่ำครวญบอกเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ชาวบ้านฟัง ชาวบ้านเกิดความเห็นใจนาง และได้ปรึกษาหารือกันไปต่าง ๆ นานา สุดท้ายก็ตกลงกันว่า จะพากันตามฆ่าช้าง ว่าแล้วก็ออกเดินทางตามรอยช้างไปเรื่อย ๆ จนมาถึงป่าดงหนา ซึ่งมีสายน้ำลำธารและโขดหินที่สวยงาม สถานที่ดังกล่าวก็ได้แก่ดินแดนที่เป็นขุมคำในปัจจุบันนั่นเอง ทุกคนได้พบรอยช้างที่พระอินทร์เนรมิตเหยียบให้เป็นหลุมแล้วเยี่ยวใส่ไว้จนเต็ม เพราะความหิวกระหาย ทุกคนก็ดีใจที่เห็นน้ำในรอยเท้าช้างและก็ได้ดื่มน้ำเยี่ยวช้างจนเต็ม เมื่อดื่มแล้วทุกคนต่างก็มีเรี่ยวแรงเดินทางกลับเมืองสีสาเกษ หลังจากกลับถึงบ้านของตนแล้วปรากฏว่าแม่อัมลาได้ตั้งท้อง เพราะดื่มน้ำจากรอยเท้าช้างนั้นเอง 10 เดือนต่อมา นางก็ได้คลอดลูกออกมาเป็นชาย มีหน้าตาหล่อเหลาเอาการแถมยังมีดาบกายสิทธิ์ติดตัวมาด้วย ทำให้นางดีใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ตั้งชื่อ ดาบกายสิทธิ์นั้นว่า ดาบคันไชย แล้วตั้งชื่อลูกว่า คันธนาม เมื่อคันธนามอายุได้ 4-5 ขวบ ได้ไปวิ่งเล่นกับเพื่อนบ้าน เพื่อนทั้งหลายก็พูดหยอกล้อว่า “ไอ้ลูกช้างมึงมาเล่นกับกูทำไม ทำไมมึงไม่ไปกินหญ้าอยู่บนภูเขากับพ่อมึงโน่น” เพื่อน ๆ ชาวบ้านได้พูดหยอกล้ออย่างนั้นทุกวัน คันธนามน้อยใจวิ่งไปถามแม่ว่า “แม่จ๋าแม่ พ่อของฉันเป็นใคร พ่อของลูกอยู่ที่ไหน ” เพราะนางมีความรักต่อลูกมากจึงได้บอกลูกตามความจริงทุกอย่าง ต่อมาเมื่อคันธนามอายุได้ 7-8 ขวบ จึงถามแม่อีกครั้งว่า “แม่จ๋า แม่เคยบอกว่าแม่ได้กินน้ำในรอยเท้าช้างแล้วแม่ตั้งท้องนั้น ขอให้แม่พาลูกไปดูรอยเท้าช้างนั้นด้วย ลูกอยากเห็นว่ามันเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน” นางอัมลาจึงพาลูกออกเดินทางดั้นด้นป่าดงดอนจนมาถึงดินแดนประวัติศาสตร์ คือ ขุมคำ ในปัจจุบัน เมื่อพาลูกดูรอยเท้าช้างแล้วก็พาลูกมานั่งพักผ่อนตามโขดหิน เพื่อจะเอาแรงเดินต่อ แม่อัมลาได้มองเห็นเครือมันแซง นางจึงขุดมันแซงเผาให้ลูกกิน ส่วนตัวนางก็ขุดมันไปเรื่อย ๆ ควันไฟได้พวยพุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้า พวกยักษา (ยักษ์) ที่อาศัยอยู่ในถ้ำบนภูดาววีหรือภูถ้ำวิ่ง (ปัจจุบันเรียกว่า ภูผักหวาน) ได้มองเห็นควันไฟ ก็เกิดความโกรธย่างแรง จึงส่งงูใหญ่ (งูซวง) ที่เป็นบริวารมาดูว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น บรรดางูที่เป็นบริวารของยักษ์นั้นครั้นมาถึงระหว่างทางบางตัวก็แปลงกายเป็นคน บางตัวก็เป็นงูเหมือนเดิม พอมาเห็นคันธนามกำลังเผามันกิน ส่วนแม่อัมลาก็ตั้งหน้าตั้งตาขุดมันแซงอยู่เรื่อยไป งูที่เป็นคนก็ชี้หน้าด่าคันธนาม ที่เป็นงูก็ตั้งวงล้อมแม่อัมลาที่อยู่ในหลุม พอนางมองเห็นงูตกวงล้อมก็ตกใจกลัว เพราะตัวเองไม่สามารถขึ้นจากหลุมได้ จึงได้ร้องบอกคันธนามว่า “ลูกเอ๋ย ตอนนี้งูมันตกวงล้อมแม่แล้ว ขึ้นจากหลุมไม่ได้ ขอให้ลูกหลบหนีเอาตัวให้รอดเถิด เดี๋ยวงูมันจะกัดเอา ปล่อยให้แม่ตายในหลุมเพียงคนเดียวเถิด” เมื่อคันธนามมองเห็นแม่กำลังเสียท่าให้แก่งู ก็รับชักดาบคันไชยออกมาฟาดฟันงูซวงจนตายเกลื่อน งูที่แปลงกายเป็นคนเมื่อถูกคันธนามฟันตายแล้วก็กลับกลายร่างเป็นงูเหมือนกันหมด ส่วนงูที่ไม่ถูกฟันก็รีบหลบหนีไปบอกเจ้านายของตน คือพวกยักษ์ที่อยู่ในถ้ำบนภูดาววี เมื่อรู้ว่ามีคนรุกล้ำเขตแดนและฆ่าบริวารของตนเอง ยักษาก็ได้เหาะเหินมาดูอย่างเร็วไว เมื่อเห็นจริงดังว่า ก็เกิดความโกรธอย่างหนัก จึงถลาเข้าไปจับมวยผมของแม่อัมลา พร้อมทั้งตวาดด่าคันธนามว่า “ไอ้เด็กน้อยสามหาว เขาว่าเจ้านั้นเก่งนักหนา เราจะฆ่าเจ้าให้ตายเดี๋ยวนี้”

คันธนามมองเห็นแม่เสียทีให้กับยักษ์ ก็ได้แตะอัดเข้าท้องยักษ์อย่างแรง เล่นเอายักษ์ตกกระเด็นไปไกลประมาณ 20 วา มีการต่อสู้กันนาน ในที่สุดยักษ์ก็ยอมแพ้ขอชีวิตกับคันธนามว่า “ขอได้โปรดไว้ชีวิตข้าด้วยเถิด ถ้าท่านปล่อยให้ข้าเป็นอิสระ ข้าจะขอเป็นทาสรับใช้ท่านตลอดไป และข้าจะให้ทองคำจำนวนหนึ่งเป็นของกำนัลแก่ท่านด้วย” ว่าแล้วยักษ์ก็เดินไปเปิดแผ่นหินที่ปิดขุมคำออก แล้วยกทองคำในขุมนั้นให้แก่คันธนามและแม่ คันธนามกับแม่ก็ได้หาบเอาทองคำทั้งหมด กลับไปเมืองสีสาเกษไปถึงหนองน้ำแห่งหนึ่ง สองแม่ลูกก็พากันเอาะคำ (คือหลอมทองคำให้เป็นแท่ง) ณ ที่ตรงนั้นปัจจุบัน เรียกว่า บ้านหนองเอาะ จากนั้นสองแม่ลูกก็ได้เดินทางต่อไปถึงลำห้วยแห่งหนึ่งมีน้ำใสไหลเย็น จึงพากันพักเหนื่อยดื่มน้ำเอาแรง และได้นำเอาคำออกมาทีดู (นับดู) ปรากฎว่า คันธนามสามารถนำเอาทองคำไปได้ 3 แสน 4 หมื่น ส่วนแม่อัมลานำไปได้ 5 พัน ห้วยน้ำตรงที่คันธนามและแม่ทีคำนั้น ต่อมาเรียกว่า บ้านห้วยที

ต่อมาเปลี่ยนเป็นเมืองเกษมสีมา ปัจจุบันเรียกว่า บ้านเกษม พอหาบเดินต่อไปอีกสักระยะหนึ่งสายคุ (ถังน้ำ) ที่บรรจุคำด้านหนึ่งขาด แม่อัมลาจึงได้คอนเอา ปัจจุบันเรียกที่ตั้งนั้นว่า บ้านคอนสาย สองแม่ลูกพากันหาบคำต่อไปเรื่อย ๆ จนมาถึงหนองน้ำแห่งหนึ่งเป็นหนองใหญ่ มีน้ำใสสะอาด ทั้งสองจึงพักผ่อนเอาแรง คันธนามได้บอกแม่ให้ไปตักน้ำหนองนั้นมาดื่ม นางได้เทคำออกเอาคุไปตักน้ำ คุได้หลุดออกจากไม้คาน แม่อัมลาจึงได้เอาไม้คานลงควานหาคุ หัวไม้คานไปโดนก้นคุหลุ (ทะลุ) ภายหลังคนจึงเรียกหนองน้ำนั้นว่า หนองคุหลู ปัจจุบันเรียกว่า หนองขุหลุ จากนั้นสองแม่ลูกก็หาบคำเดินหน้าต่อไป จนถึงท่าน้ำแห่งนี้ มีสาว ๆ ต้มเกลืออยู่มากมาย สาว ๆ เห็นคันธนามน่ารักก็พากันพูดหยอกล้อ ส่วนคันธนามมองเห็นเกลือที่สาว ๆ กองเอาไว้จึงได้ออกปากขอแจดู (ชิมดู) สาว ๆ ก็บอกว่า  แจระแม ข้าบ่แพง (ชิมได้ฉันไม่หวง) ที่ตรงนั้น คือ ท่าบอแบง ในปัจจุบัน ต่อจากนั้นสองแม่ลูกก็พากันหาบคำดั้นด้นไปถึงลำห้วยอีกแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกดงอู่ผึ้ง ในห้วยนั้นมีน้ำใสสะอาด จึงพักผ่อนดื่มน้ำเอาแรง ในขณะนั้นคันธนามคิดถึงคำสาว ๆ ต้มเกลือ บอกให้ชิมเกลือว่า แจระแม ข้าบ่แพง เลยตั้งชื่อลำห้วยนั้นว่า ห้วยแจระแม อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองอุบลราชธานีในปัจจุบันนั่นเอง

ขุมคำ ที่มาของชื่อวัด
ขุมคำ ที่มาของชื่อวัด
ขุมคำ ที่มาของชื่อวัด
ขุมคำ ที่มาของชื่อวัด

ที่ตั้ง วัดขุมคำ

บ้านขุมคํา หมู่ที่ 9 ตําบลแก้งเค็ง อําเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี (ริมถนนสายตระการพืชผล-เขมราฐ)

พิกัดภูมิศาสตร์  วัดขุมคำ

15.804505 105.139950415

บรรณานุกรม

เรื่องย่อวรรณกรรมเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง ท้าวคันธนาม. (ป้ายประชาสัมพันธ์)

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 28 กุมภาพันธ์  2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple

หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. (2558). ปีใหม่ กราบไหว้ขอพรพระเจ้าใหญ่ขุมคำ เที่ยวชมศิลปะวัฒนธรรม วัตถุโบราณอันล้ำค่า, 28 กุมภาพันธ์ 2560. http://www.banmuang.co.th/news/region/35861

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง