การศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับประดิษฐกรรมทางเทคโนโลยีสิ่งของเครื่องใช้ในอดีตภาคอีสานตอนล่าง

หัวหน้าโครงการ : อุทัย สุขสิงห์

คณะทำงาน : อิศว ปัทมธรรมกุล, วีระพันธ์ ศรีสม, เกรียงศักดิ์ ขุนไชย, ฤกษ์ชัย ศรีวรมาศ, กฤษณ์ ศรีวรมาศ และ ปัญญา แพงเหล่า

เทคโนโลยีเครื่องมือและเครื่องใช้ของชาวอีสานในอดีต บรรพบุรุษของชาวอีสานได้พยายามประดิษฐ์คิดค้นสร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต เช่น เครื่องมือสร้างบ้านเรือนอาศัย เครื่องมือการประกอบอาชีพ เครื่องใช้ภายในบ้าน รวมถึงเครื่องเล่นของเด็กอีสานสมัยก่อนและดนตรีความบันเทิงต่าง ๆ ในกิจกรรมงานเทศกาลประเพณีที่สำคัญ หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว เครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ แสดงถึงวิถีชีวิตและเอกลักษณ์ชาวอีสานที่เป็นอยู่ในช่วงเวลานั้น

เครื่องมือและเครื่องใช้ของชาวอีสานในอดีต ส่วนมากวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ทำเป็นวัสดุจากท้องถิ่น ซึ่งถือว่าได้คนอีสานได้ใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในขณะนั้น มาพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น และมีการใช้งานมาหลายชั่วอายุคน เครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างได้เป็นมรดกตกทอดถึงยุคปัจจุบัน

ปัจจุบันมีหลายสิ่งหลายอย่างได้สูญหายไปตามกาลเวลา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้เครื่องมือและเครื่องใช้ของชาวอีสานในอดีต ทางทีมงานได้พยายามรวบรวมเครื่องมือและเครื่องใช้ที่สำคัญ และได้นำเสนอในรูปแบบของภาพเขียนประกอบการประยุกต์ใช้ต่าง ๆ

ตัวอย่างเครื่องมือเครื่องใช้

isan-stuff

อู่นอนผ้าขาวม้า

สมัยก่อนอู่มีความจำเป็นมากสำหรับใช้กับเด็กแรกเกิด อู่นอนเด็กสมัยก่อนทำจากผ้าขาวม้า 1 ผืน ใช้เชือกผูกหัวและท้าย โยงกับเสา 2 ต้น อาจเป็นเสาบ้านหรือต้นไม้ที่พอเหมาะ ซึ่งเป็นการจำลองให้เด็กนอนอยู่สภาพคล้ายกับอยู่ในท้องของแม่หรืออยู่ในที่เป็นถุงนอนที่สบาย ปกติครอบครัวของชาวอีสานเมื่อเสร็จจากงานต่าง ๆ แล้วจะอยู่รวมกัน พ่อ แม่ ลูก ซึ่งแต่ละคนจะมีกิจกรรมที่แตกต่างกัน เช่น พ่อสานกระบุงหรือตะกร้าไว้ใช้ แม่กวย (ไกว) อู่ให้น้องน้อยนอนและเคี้ยวหมาก (กินหมาก) ส่วนลูก ๆ ก็เล่นของเล่นสมัยก่อน เช่น ลูกเก็บ เป็นต้น ซึ่งเป็นครอบครัวที่มีความสุข

isan-stuff5

การวิดน้ำด้วยปีบ

บรรพบุรุษอีสานได้คิดค้นเทคโนโลยีการวิดน้ำจากที่ต่ำมาก ๆ เช่น สระน้ำ บ่อน้ำ โดยใช้ปีบเจาะรูข้างละ 4 รู ใช้เชือกร้อยใช้ 2 คนทำงาน อยู่คนละด้าน หย่อนเชือกให้ปีกไปตักน้ำในบ่อหรือสระให้ด้นปีบสูงขึ้นแล้วให้ปากปีบต่ำลงตักเอาน้ำ แล้วยกปากปีบให้สูง นำไปที่ต้องการส่งน้ำไป เมื่อจะเทน้ำออกจากปีบ ต้องการยกทางกันปีกให้สูงขึ้น

isan-stuff6

หลี่ดักปลา

เป็นระบบจับปลาที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งที่คนอีสานโบราณได้ช่วยกันคิดประดิษฐ์ขึ้น กรณีที่มีร่องน้ำลำธารหรือลำห้วยที่น้ำไหลแรง เวลาหน้าน้ำมีน้ำไหลปลาจะมาตามน้ำ ชาวบ้านจะทำหลี่ดักปลาทั้งหมดที่มาตามน้ำ ลักษณะหลี่ด้านหน้าจะต่ำ ด้านหลังจะสูงขึ้นหรือระดับน้ำ ตรงท้ายหลี่จะมีที่ใส่ปลาขนาดใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไหลมากับน้ำจะผ่านหลี่ทั้งหมด

โครงสร้างของหลี่ได้ถูกออกแบบให้ทนต่อแรงการไหลของน้ำ ซึ่งมีแรงปะทะของน้ำมาก หลี่จะมีประสิทธิภาพสูงจะต้องเป็นที่มีน้ำไหลแรงมาก ๆ ปลาไม่สามารถว่ายทวนน้ำได้ ปลาจะถูกน้ำดันไปรวมกันในตุ้มเก็บปลาตรงท้ายหลี่ ถ้าน้ำไหลไม่แรงปลาสามารถว่ายทวนน้ำออกไปได้หลี่ก็ใช้ไม่ได้ผล

 

รายละเอียดเพิ่มเติม : การศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับประดิษฐกรรมทางเทคโนโลยีสิ่งของเครื่องใช้ในอดีตภาคอีสานตอนล่าง รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2555