การจัดสร้างฐานข้อมูลและเผยแพร่ประเพณีการดำรงชีวิตของชาวไทยอีสานบน Web site

หัวหน้าโครงการ : อรทัย เลียงจินดาถาวร

รายงานได้นำเสนอเนื้อหาของประเพณีการดำรงชีวิตของชาวไทยอีสาน 4 ประเพณี ได้แก่ พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด พิธีกรรมเกี่ยวกับการบวช พิธีกรรมเกี่ยวกับการแต่งงาน และพิธีกรรมเกี่ยวกับการตาย

ส่วนหนึ่งของรายงานได้กล่าวถึง การอยู่กรรมหรืออยู่ไฟ หลังคลอด ในวิถีชีวิตของชาวอีสานนั้น มีขั้นตอนต่าง ๆ คือ

เมื่อจะอยู่ไฟ ต้องมีการทำพิธีดับพิษไฟเสียก่อน โดยเสกข้าวสารกับเกลือ ด้วยคาถา " พุทโธ โลกนาโถ โมคัลลาโน อคคีสยายมม" เรียกคาถาบทนี้ว่า พระโมคัลลาน์ดับไฟนรก เสกคาถาแล้วเคี้ยวข้าวสารกับเกลือ พ่นที่ท้องของผู้ที่อยู่ไฟ 3 ครั้ง ที่หลัง 3 ครั้ง ที่เตาไฟ 3 ครั้ง จัดหาข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน พร้อมทั้งกระทงสังเวย ประกอบด้วยกุ้งพล่า ปลายำ เป็นการเซ่นสังเวยแม่ก้อนเส้าเตาไฟ และขอขมาลาโทษต่อพระเพลิง ธูป เทียนนั้นจะใช้อย่างละ 4 ปักที่ 4 มุมเตา ก่อนขึ้นนอนบนกระดานไฟต้องทำเข้าขื่อเสียก่อน คือ นอนตะแคงให้หมอตำแยเหยียบตะโพกซึ่งครากจากการคลอด ให้ตะโพกเข้าที่เสียก่อนแล้ว จึงขึ้นนอนบนกระดานไฟได้ ก่อนขึ้นนอนก็ต้องกราบขอขมาเตาไฟด้วย จึงจะขึ้นนอนได้ นอกจากนั้นแล้ว หมอตำแยจะเสก ขมิ้น ปูนแดงและเหล้าขาวทาที่ท้อง และหลังของผู้ที่อยู่ไฟด้วยเพื่อเป็นการดับพิษร้อน
born3

การอยู่ไฟหรือการอยู่กรรมนั้นก็เพื่อย่างตัวและในขณะที่อยู่ไฟ ต้องกินน้ำร้อน หม้อน้ำร้อน เรียกว่า หม้อกรรม อาจจะผสมสมุนไพรลงไปด้วยก็ได้ หม้อน้ำร้อนจะตั้งไว้ใกล้ ๆ กับผู้ที่อยู่ไฟ เพื่อให้สะดวกเวลาตักกินการกินน้ำร้อนเพื่อทำให้ร่างกายขับเหงื่อ ขับปัสสาวะออกมาก็เป็นการขับพิษออกจากร่างกายได้อีกวิธีหนึ่ง ถ้าเป็นแม่ใหม่ต้องอยู่ไฟอย่างน้อย 15 วัน แม่เก่า 7 – 8 วัน ถ้าเห็นว่าจะปลอดภัยจะอยู่น้อยกว่านั้นก็ได้ สำหรับอาหารการกิน ผู้อยู่ไฟจะต้องคะลำ (เว้นของที่แสลง) ในระหว่างที่อยู่ไฟนั้น จะมีญาติพี่น้องนำอาหารการกิน กล้วย อ้อย มาฝากไม่ขาด แม้จะไม่มีอะไรมาฝากก็มาเยี่ยมถามสารทุกข์สุกดิบเป็นการแสดงออกซึ่งไมตรีจิตของพี่น้องประการหนึ่ง

born1

รายละเอียดเพิ่มเติม : โครงการจัดสร้างฐานข้อมูลและเผยแพร่ประเพณีการดำรงชีวิตของชาวไทยอีสานบน Web site รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2542