การศึกษาวัฒนธรรมการบริโภคส้มตำในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

หัวหน้าโครงการ : รัชดาภรณ์ จันทาศรี

วัฒนธรรมการบริโภคส้มตำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ทุกจังหวัดจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ นิยมทานส้มตำไปพร้อมกับการกินอาหารหลักในมื้อนั้น ๆ และทุกมื้อจะมีส้มตำเป็นตัวประกอบเสมอ อาจจะทั้ง 3 มื้อ หรือ 2 มื้อ โดยเฉพาะในถิ่นชนบทของภาคอีสาน

การทานส้มตำถือเป็นอาหารหลักเลยก็ว่าได้ ซึ่งจะนิยมรับประทานส้มตำไปพร้อมกับข้าวเหนียว แกงหน่อไม้ หรือ แกงเห็ด (ฤดูฝน) หอยขมลวก ปลาย่าง หรือไข่ต้ม ซึ่งหาได้จากแม่น้ำตามธรรมชาติ ไข่ได้จากไก่/เป็ด ที่เลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้าน ในขณะที่การทานส้มตำของคนในเมือง จะมีทั้งกินพร้อมอาหารมื้อหลัก และทานเป็นอาหารว่างระหว่างวัน แก้ง่วง หรือ ทานควบคุมน้ำหนัก การทานส้มตำของคนเมืองจะทานได้ทั้งกับข้าวเหนียว และข้าวสวย และมักทานส้มตำในมื้อเที่ยงวัน หรือมื้อเย็น อาหารเคียงคู่ของส้มตำมื้อเที่ยง จะเป็นไก่ย่าง ข้าวเหนียว เป็นส่วนมาก นอกจากนั้นจะมี แหนมหมู แคบหมู ไก่ทอด ไข่ข้าว ผัดหมี่ ผักสด และขนมจีนเป็นส่วนประกอบเสมอ

 somtam

จะเห็นว่าอาหารเคียงส้มตำของคนในเมืองจะมีหลากหลายชนิดมากกว่าคนในชนบท และคนในเมืองนิยมทานผักสดที่ทานร่วมส้มตำน้อย ในขณะที่คนชนบทเน้นผักที่หลากหลายชนิดที่เก็บได้ในท้องถิ่น เช่น กระถิน ผักพาย ผักบุ้ง ทูล กระเฉด เป็นต้น ส่วนผักยอดฮิตของคนในเมืองเมื่อทานส้มตำ มีเพียง 2 ชนิด คือ ผักบุ้ง และผักกะหล่ำปี ทุกร้านจะต้องมีผัก 2 ชนิดนี้เสมอ เนื่องจากหาง่ายและราคาถูกในสมัยก่อนส้มตำไม่ค่อยมีหลากหลายชนิดเท่าปัจจุบัน

somtam3

การซื้อ-ขาย ส้มตำจึงพบเห็นได้น้อย และส้มตำสามารถทำได้เองภายในบ้าน ซึ่งสะดวกมากกว่าการซื้อข้างนอก ชนิดของส้มตำสมัยก่อน เช่น ตำลาว ตำไทย ตำปลาร้า เป็นต้น สมัยปัจจุบันมีการเกิดคิดค้นสูตรของส้มตำแปลก ๆ มากขึ้นทำให้การซื้อ-ขายส้มตำเพิ่มขึ้นจะเห็นได้ว่า ร้านค้าส้มตำผุดขึ้นอย่างดอกเห็ด ทั้งร้านเล็ก-ใหญ่ สามารถขายส้มตำได้ทั้งนั้นและมีผู้บริโภคได้ทั้งนั้น และมีผู้บริโภคใช้บริการเยอะโดยเฉพาะในชุมชนที่มีตั้งแต่ 50 ครัวเรือนขึ้นไป สามารถเปิดร้านขายส้มตำได้

somtam5

รายละเอียดเพิ่มเติม : การศึกษาวัฒนธรรมการบริโภคส้มตำในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2550