การพัฒนาผลิตภัณฑ์บัวบกเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมบัวบก จังหวัดอุบลราชธานี

หัวหน้าโครงการ : วริษฎา ศิลาอ่อน

ใบบัวบก-ผลิตภัณฑ์

บัวบกเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่นำมาใช้อย่างกว้างขวางในการรักษาแผล ป้องกันการเกิดแผล ต้านการอักเสบและเพิ่มความจำ โดยในหลายพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานีมีการเพาะปลูกบัวบกเพื่อการบริโภคและใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ถึงแม้ว่า บัวบกจะมีคุณประโยชน์มากมาย แต่ข้อมูลการศึกษาการควบคุมคุณภาพและการทดสอบความคงตัวของผลิตภัณฑ์มีค่อนข้างจำกัด ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพและทดสอบความคงตัวของแคปซูลบรรจุผงบัวบก วิธีการดำเนินการวิจัย: นำบัวบกสดจากอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีมาล้างทำความสะอาดและอบให้แห้งที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียสนาน 72 ชั่วโมง จากนั้นนำมาบดลดขนาด ประเมินปริมาณความชื้นและความสามารถในการไหลของผงบัวบกนอกจากนี้ยังประเมินลักษณะของแคปซูลบรรจุผงบัวบก ได้แก่ ความสม่ำเสมอของน้ำหนักและระยะเวลาในการแตกตัว ทดสอบความคงตัวของแคปซูลโดยเก็บที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิห้อง (30 องศาเซลเซียส) และสภาวะเร่งที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส/ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ75เป็นเวลา 6 เดือน วิเคราะห์หาปริมาณคงเหลือของสารสำคัญ คือ เอเชียติโคไซด์และแมดิแคสโซไซด์ โดยใช้เทคนิค HPLC ผลการศึกษาวิจัย: ผงบัวบกมีความสามารถในการไหลที่ดีและมีปริมาณความชื้น 6.03% เมื่อเก็บแคปซูลที่อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียสพบว่ามีความสม่ำเสมอของน้ำหนักและระยะเวลาการแตกตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ในช่วงเริ่มต้นสารเอเชียติโคไซด์และแมดิแคสโซไซด์ มีปริมาณ 4.47 และ 2.51 มิลลิกรัม/กรัมของผงแห้ง ตามลำดับ หลังจากเก็บไว้นาน 6 เดือน พบว่าแคปซูลบัวบกที่เก็บไว้ใน 25-30 องศาเซลเซียสมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณสารสำคัญเล็กน้อยโดยมีปริมาณสารสำคัญอยู่ในช่วงร้อยละ 90-110 ของปริมาณเริ่มต้น สรุปผลการวิจัย: แคปซูลบรรจุผงบัวบกที่ได้จากจังหวัดอุบลราชธานีควรเก็บไว้ในอุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาปริมาณสารสำคัญไว้ อย่างไรก็ตามในอนาคตควรมีการศึกษาการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของแคปซูลบรรจุผงบัวบก

ใบบัวบก-ผลิตภัณฑ์

รายละเอียดเพิ่มเติม : การพัฒนาผลิตภัณฑ์บัวบกเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมบัวบก จังหวัดอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2558