ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร “ลวงปลา” ในพื้นที่ระหว่างกลางแม่น้ำโขงระหว่างไทย-ลาว กรณีศึกษาหมู่บ้านริมฝั่งโขง จังหวัดอุบลราชธานี

หัวหน้าโครงการ : สมหมาย นาคชิน

ลวงปลา คือ ผืนน้ำที่มีการจับจองไว้ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ขอบเขตพื้นที่มีลักษณะคล้ายกับการจับจองที่ดิน และรู้กันในหมู่ชาวบ้านว่าบริเวณไหนเป็นของใคร ลวงปลาจึงเป็นผืนนาอีกแปลงหนึ่งในลำน้ำโขงที่เป็นแหล่งทำมาหากินส่วนบุคคล และรับสังคมหมู่บ้านในอดีตมีการกันเขตสายน้ำบางชาวงเอาไว้เพื่อให้เป็นที่สาธารณะ ซึ่งใครก็สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์วางอวน จมไซ ใส่เบ็ดได้ ตามกำลังความขยันของแต่ละคนและถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน ชาวบ้านเรียกพื้นที่แห่งนั้นว่า “ลวงเหมา”

สำหรับลวงปลาในความหมายของชาวบ้านนั้น มีความหมายทั้งในแง่ที่เป็นสถานที่ หรือ แหล่งจับปลา หรือ แหล่งที่มีปลาอาศัยอยู่อย่างชุกชุม และยังแฝงไปด้วยนัยของเครื่องมือและภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ดังนั้น ลวงปลา จึงมีหลากหลายประเภทตามระบบนิเวศของแม่น้ำโขงรวมทั้งฤดูกาล

ในมุมมองของชาวบ้านคันท่าเกวียน “ลวงปลา” คือ การแบ่งพื้นที่บนผืนน้ำหรือโฉนดที่ดินบนผืนน้ำสืบทอดได้ หากินได้ พื้นที่ลวงปลา จะเป็นลักษณะระบบนิเวศแบบเวิน เป็นระบบนิเวศที่มีกระแสน้ำตีขึ้น ทำให้มีกระแสน้ำวนเวียนอยู่บริเวณนั้น ทำให้ปลาแต่ละชนิดไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ลวงปลา-พื้นที่หาปลา-แม่น้ำโขง

การครอบครองลวงปลาในแม่น้ำโขงนั้น เป็นระบบกรรมสิทธิ์ (rights) ซึ่งมีทั้งกรรมสิทธิ์ส่วนตัว – ลวงส่วนตัว (private rights) และกรรมสิทธิ์ร่วม – ลวงสาธารณะ (common rights) กล่าวคือ กรณีที่เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว-ลวงส่วนตัว ผู้ที่ครอบครองหรือเป็นเจ้าของลวงปลาจะได้รับการตกทอดมาจากบรรพบุรุษหรือที่เรียกในภาษาชาวบ้านว่า “มูนมัง” (มรดก) ทำให้ระบบการจัดการลวงปลาเป็นที่รับรู้กันในชุมชนว่าลวงต่าง ๆ เหล่านั้น เจ้าของเป็นใครและอยู่ที่ใดบ้าง ขณะที่กรรมสิทธิ์ร่วม-ลวงสาธารณะ จะเป็นพื้นที่เปิด หรือ ลวงเปิด ที่ชาวประมงทุกคนสามารถเข้าไปจับปลาในบริเวณนั้นได้ แต่ทั้งนี้ลวงเปิดนี้ก็มีลักษณะของกรรมสิทธิ์เชิงซ้อน (complexity rights) อยู่ด้วย กล่าวคือ ถ้าหากมีพรานปลารายใดได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากลวงเปิดก่อนแล้ว พรานปลาคนอื่น ๆ ก็ต้องเคารพสิทธิ์การใช้ของพรานปลาที่กำลังหาปลาอยู่ก่อน เพราะถือว่าลวงปิดนั้น ได้เปลี่ยนกรรมสิทธิ์ชั่วคราวเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว-ลวงส่วนตัวของพรานที่กำลังหาปลาอยู่ โดนถ้าพรานปลาคนอื่น ๆ ต้องการจะหาปลาบริเวณดังกล่าว ก็จะต้องรอจนกว่าพรานปลาที่หาปลาอยู่บริเวณดังกล่าวยุติการหาปลา หรืออนุญาตให้เข้าร่วมหาปลาบริเวณดังกล่าวด้วยกัน

ดังนั้นการถือครองในการใช้ประโยชน์จากลวงปลา จะไม่มีเอกสารในการอ้างสิทธิ์ใด ๆ แต่ชาวบ้านจะรู้กันเอง ทั้งนี้สิทธิ์ในการใช้ลวงปลาของชาวบ้านจะมีการสืบทอดกันตามสายตระกูลของชุมชนคนในตระกูลเดียวกันสามารถใช้ลวงปลาร่วมกันได้ หรือถ้าเป็นคนอื่นหรือชาวบ้านต้องการใช้ประโยชน์จากบริเวณลวงปลานั้นจะต้องซื้อกรรมสิทธิ์ในการใช้พื้นที่ลวงปลาจากเจ้าของลวงเดิม ราคาจะขึ้นอยู่กับจำนวนปลาและชนิดที่จับได้ประจำลวงปลานั้น ๆ ในขณะที่ลวงปลาสาธารณะชาวบ้านทั้งในชุมชนฝั่งไทยและฝั่งลาว สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในการจับปลาได้เช่นกัน

ลวงปลา-พื้นที่หาปลา-แม่น้ำโขง

รายละเอียดเพิ่มเติม : ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร "ลวงปลา" ในพื้นที่ระหว่างกลางแม่น้ำโขงระหว่างไทย-ลาว กรณีศึกษาหมู่บ้านริมฝั่งโขง จังหวัดอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2555