หลา

หลา หรือ ไน เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในกระบวนการทอผ้า ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม ลักษณะโครงสร้างของหลาประกอบด้วย กงล้อขนาดใหญ่ มีขา มีฐานยาวประมาณ 80-100 เซนติเมตร ที่จับสำหรับหมุนด้วยมือ เรียกว่า แขนหลา เพื่อให้กงล้อหมุนรอบตัวเอง กงล้อนี้มีสายพานโยงไปอีกด้านหนึ่ง เรียกว่า สายหลา ส่วนหัวหลาจะอยู่ด้านซ้ายของวงล้อ ที่หัวหลาจะมีแกนเหล็กเล็ก ๆ เรียก เหล็กไน ที่วางอยู่บนหูหลา เมื่อหมุนกงล้อ เหล็กไนก็จะหมุนตามอย่างเร็ว โครงสร้างของหลาจะทำจากไม้เนื้อแข็ง ส่วนวงล้อนั้นประกอบจากซี่ไม้ไผ่

การใช้งานหลามีหลายรูปแบบ ดังนี้

กรณีผ้าฝ้าย

1.จะใช้เพื่อเข็นหรือปั่นปุยฝ้ายให้เป็นเส้นฝ้าย

2.ใช้ปั่นเส้นฝ้ายเข้าหลอด เพื่อนำไปใส่กระสวย ทำเป็นเส้นพุ่งสำหรับทอผ้า

กรณีผ้าไหม

1.ใช้แกว่งไหม เพื่อเก็บขี้ไหมหรือปุ่มส่วนเกินออกจากเส้นไหม และปั่นเกลียวเส้นไหมทำให้เส้นไหมเรียบสม่ำเสมอ

2.ใช้เข็นหรือปั่นเส้นไหม 2 เส้นให้รวมกัน เรียกว่า เข็นรังกัน เข็นควบกัน หรือเข็นคุบกัน ถ้าเป็นเส้นไหมคนละสีเข็นรวมกัน เรียกว่า มับไม

3.ใช้ปั้นเส้นไหมเข้าหลอด

วิธีการเข็นหรือปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นนั้น เป็นภูมิปัญญาที่ต้องอาศัยฝีมือและความชำนาญจึงจะทำให้เส้นฝ้ายไม่ขาดระหว่างเข็น มีเส้นเรียบสวยและขนาดสม่ำเสมอ ซึ่งขั้นตอนการเข็นเริ่มจากมือข้างหนึ่งนำปลายม้วนฝ้ายที่ล้อไว้แล้วจ่อไปที่ไน ส่วนมืออีกข้างจับที่หมุนของหลาเพื่อให้ไนหมุนตาม ไนจะหมุนเอาม้วนฝ้ายเข้าไปตีเกลียว เมื่อดึงม้วนฝ้ายเข้าออกก็จะเป็นเส้นฝ้าย เมื่อผ่อนมือย้อนกลับ เส้นฝ้ายก็จะม้วนอยู่กับเหล็กใน เมื่อใกล้จะหมดม้วนฝ้าย ก็เอาม้วนฝ้ายอันใหม่ทำต่อเนื่องกับม้วนฝ้ายอันเดิมให้เป็นเส้นเดียวกัน จนเส้นฝ้ายเต็มเหล็กไน จึงค่อย ๆ คลายเส้นใยฝ้ายจากเหล็กในใส่ไม้เปียฝ้ายเพื่อนำไปใช้งานต่อไป


จำนวน : 1 ชิ้น


หลา จำลอง

ลักษณะ : ทำจากไม้เนื้ออ่อน วงล้อทำจากไม้ไผ่

ขนาด : ความสูง 48 เซนติเมตร ฐานกว้าง 45.5 เซนติเมตร กงล้อวงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 34 เซนติเมตร

ไน หลา ไน หลา ไน หลา ไน หลา


บรรณานุกรม :

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2546). พจนานุกรมหัตถกรรมเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ

สถาพร พันธุ์มณี, ทองเลี่ยม เวียงแก้ว และประทวน บุญปก. หลา (ไนปั่นด้าย) ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 14. กรุงเทพฯ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. หน้า 5049-5050

สิทธิชัย สมานชาติ. (2553). เอกสารประกอบการสอนรายวิชา 2007 108 มรดกสิ่งพิมพ์. อุบลราชธานี: คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.