แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง

แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ที่บ้านก้านเหลือง หมู่บ้านที่มีไม้ยืนต้นประเภทไม้เนื้อแข็งแก่นของลำต้นมีสีเหลืองขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีตสมัยก่อนที่จะมีตัวหนังสือใช้ในแถบนี้ มีอายุประมาณ 1500-2500 ปีมาแล้ว โดยสำรวจพบโบราณวัตถุเศษภาชนะดินเผาจำนวนมากกระจัดกระจายบนเนินดินด้านทิศตะวันออกของวัดบ้านก้านเหลือง และเมื่อขุดค้นทางโบราณคดีแล้ว ได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งโบราณคดีขึ้น เพื่อจัดแสดงเรื่องราวพฤติกรรมของมนุษย์และคติความเชื่อในการฝังศพสมัยโบราณ ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้

แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง
แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง ตั้งอยู่ในวัดก้านเหลือง จังหวัดอุบลราชธานี
การขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง จังหวัดอุบลราชธานี
การขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติการค้นพบแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง อุบลราชธานี

เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2534 เป็นต้นมา ได้ปรากฏข่าวการค้นพบโบราณวัตถุจากการขุดไถปรับพื้นที่เพื่อทำบ้านจัดสรรในบริเวณบ้านก้านเหลือง และเมื่อมีข่าวแพร่กระจายออกไป ได้มีกลุ่มชาวบ้านพากันมาขุดหาโบราณวัตถุเพื่อไปจำหน่าย จนหลักฐานต่าง ๆ ทางโบราณคดีถูกทำลายเสียหายเป็นจำนวนมาก

กรมศิลปากร จึงจัดทำโครงการเพื่อหางบประมาณมาทำการสำรวจ ศึกษา และเก็บข้อมูลทางวิชาการไว้ และในปี พ.ศ. 2535 หน่วยศิลปากรที่ 6 พิมาย กองโบราณคดีซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เขตอีสานล่างในขณะนั้น ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี ซึ่งได้ทำการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีและศึกษาหลักฐานต่าง ๆ พร้อมกับจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งโบราณคดี

เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบในแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง
เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบในแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง

การเก็บหลักฐานและข้อมูลวิชาการตามแนวทางโบราณคดีวิทยา ในแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง

กรมศิลปากร ได้วางแนวทางการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลืองไว้โดยการสำรวจหลักฐานที่พบบนผิวดินและเก็บข้อมูลวิชาการ เพื่อศึกษาวิเคราะห์ทางโบราณคดีจึงต้องขุดค้นหาหลักฐานที่อยู่ในชั้นดินที่ลึกลงไปกว่าชั้นดินปัจจุบัน โดยได้เลือกบริเวณที่ไม่ถูกรบกวนเป็นหลุมขุดค้นทางโบราณคดีขึ้น 2 หลุม ขุดลงไปทีละชั้นจนกระทั่งถึงชั้นดินที่ปราศจากการกระทำของมนุษย์

เศษเครื่องปั้นดินเผาที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง
เศษเครื่องปั้นดินเผาที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง

ความสำคัญของแหล่งโบราณคดรบ้านก้านเหลือง

ผลของการขุดค้นศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานต่าง ๆ สรุปได้ว่าบริเวณบ้านก้านเหลืองในอดีตมีคนเข้ามาใช้พื้นที่นี้ตั้งแต่เมื่อ 1500-2500 ปีมาแล้ว เป็นคนในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อกับระยะเริ่มต้นประวัติศาสตร์

หลักฐานที่พบในระดับลึกที่สุด จัดให้อยู่ในสมัยของคนก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (ยุคโลหะตอนปลาย) พบหลักฐานเครื่องมือเหล็ก ขี้แร่ที่เหลือจากการถลุง แกลบข้าว เศษภาชนะดินเผา เครื่องมือช่วยปั้นหม้อที่เรียกว่า หินดุ แท่งดินเผาไฟ เป็นต้น

หลักฐานที่สำคัญที่สุด คือ การค้นพบภาชนะบรรจุกระดูกขนาดใหญ่จำนวน 11 ใบ 7 แบบ โดยภาชนะในกลุ่มรูปทรงรีพบอยู่ในชั้นดินลึกที่สุด ต่อมาพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปทรงภาชนะเป็นทรงกลมแทน จึงได้พบรูปทรงกลมอยู่ในชั้นดินที่สูงกว่า ภาชนะทั้งสองทรงเป็นภาชนะที่มีฝาปิดเสมอ

bankanluang_03

แม้ในการขุดค้นภาชนะขนาดใหญ่ดังกล่าว จะไม่พบร่องรอบของชิ้นกระดูกอยู่ภายในเลยก็ตาม แต่ได้นำตัวอย่างดินที่พบในภาชนะนั้นไปให้นักวิทยาศาสตร์ของกรมศิลปากรวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของดิน พบว่าดินในภาชนะมีปริมาณของฟอสเฟตและแคลเซียมในปริมาณที่มากกว่าดินทั่วไป ทำให้เชื่อว่าน่าจะเกิดมาจากองค์ประกอบหลักทางเคมีของกระดูกที่อยู่ในรูปของฟอสเฟตและคาร์บอเนตของแคลเซียม ซึ่งถูกย่อยสลายไปหมดเนื่องจากความเป็นกรดของฝนซะในเวลานานหลายร้อยปี

เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แหล่งโบราณบ้านก้านเหลือง
เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แหล่งโบราณบ้านก้านเหลือง

ในภาคอีสานบริเวณลุ่มน้ำมูลและชี ได้ค้นพบภาชนะบรรจุกระดูกอยู่โดยทั่วไปด้วยเหมือนกัน ซึ่งส่วนใหญ่มีกระดูกหักรวมกันอยู่ภายในภาชนะดินเผา หรือที่เรียกกันว่าเป็นการฝังศพครั้งที่ 2 ภายหลังจากการทำศพครั้งแรกแล้วทิ้งระยะเวลาไปช่วงหนึ่ง จึงนำกระดูกมาใส่รวมกันในภาชนะมีเครื่องเซ่นศพฝังรวมกันไปด้วย ประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 ในภาชนะ พบว่ามีการแพร่กระจายเข้าไปดินแดนลาวที่เรียกว่าทุ่งไหหิน และในประเทศเวียดนามด้วย

แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลืองจึงอาจแสดงหลักฐานการฝังศพครั้งที่ 2 ของคนในสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อันเป็นสังคมที่รู้จักการเพาะปลูก (ข้าว) รู้จักการถลุงโลหะ และทำเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะเหล็กและสำริด รู้จักการปั้นภาชนะดินเผา อายุของชุมชนนี้อยู่ระหว่าง 1500 – 2500 ปีมาแล้ว

หลักฐานที่พบจากชั้นดินระดับบน ๆ น่าจะมีอายุอยู่ในระยะเริ่มต้นสมัยประวัติศาสตร์ หรือเรียกว่าวัฒนธรรมทวารวดี โบราณวัตถุที่พบมีพวยกาดินเผา แวดินเผา เศษเหล็ก ขี้แร่ แท่งดินเผา ลูกปัดดินเผา กระพรวนสำริด และขวานเหล็ก เปรียบเทียบอายุสมัยของโบราณวัตถุเหล่านี้ กับหลักฐานที่พบในแถบอีสานโดยทั่วไปมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-16

แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง
แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง

ที่ตั้ง แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง

วัดบ้านก้านเหลือง ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง

15.278417, 104.855316

บรรณานุกรม

นิทรรศการแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง. (2559).

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง