สมคิด สอนอาจ

ครูสมคิด สอนอาจ เป็นช่างและครูภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรมที่มีผลงานโดดเด่นด้านการทำต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี และเชี่ยวชาญการทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ มีผลงานได้รับการรางวัลและได้รับการยกย่องตลอดมา  ท่านเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เทียนพรรษาศรีประดู่ขึ้น เพื่อให้เป็นสถานที่ถ่ายทอดและเรียนรู้เรื่องการทำต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้องค์ความรู้การทำต้นเทียนพรรษานี้คงอยู่สืบไป

ครูสมคิด สอนอาจ ครูภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรม
ครูสมคิด สอนอาจ ครูภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรม

ประวัติครูสมคิด สอนอาจ ผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปกรรม

นายสมคิด สอนอาจ จบการศึกษาขั้นสูงสุดครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) วิชาเอกศิลปศึกษา จากวิทยาลัยครูอุบลราชธานี และประกอบอาชีพรับราชการครู

หลังจากการศึกษาเล่าเรียนจากโรงเรียนและสถานศึกษาต่าง ๆ แล้ว ครูสมคิด สอนอาจ ได้ศึกษางานช่างเทียนพรรษา ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี ในการสร้างองค์ความรู้ให้กับตนเอง เริ่มต้นจากการนำความรู้ และประสบการณ์ทางด้านการช่างฝีมือที่ได้รับการถ่ายทอดจากบิดา คือ นายทองดี สอนอาจ ผสมผสานกับความรู้ทางด้านศิลปะจากครู คือ นายมานะ ทองสอดแสง มาสู่การเป็นช่างฝีมือด้านศิลปะ สาขาช่างเทียน

ครูสมคิด สอนอาจ ได้ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ทั้งหมด ทุ่มเทให้กับการทำต้นเทียนพรรษา จากการลองผิดลองถูก และพยายามศึกษา ค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติมพัฒนาตนเองอยู่เสมอ จนกระทั่งสามารถค้นพบเอกลักษณ์ของตนเอง และยึดเป็นหลักในการทำงานจนสามารถเป็นช่างเทียน ประเภทติดพิมพ์ จนได้รับการยกย่องและยอมรับในระดับสูงสุดของจังหวัดอุบลราชธานีจนถึงปัจจุบัน

ครูสมคิด สอนอาจ ผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปกรรม
ครูสมคิด สอนอาจ ผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปกรรม

ผลงานและการเผยแพร่องค์ความรู้ของครูสมคิด สอนอาจ

ครูสมคิด สอนอาจ สั่งสมประสบการณ์ในการจัดทำต้นเทียนพรรษา มีภูมิปัญญา และองค์ความรู้ เพียงพอที่จะถ่ายทอดให้กับคนรุ่นต่อไป จึงได้เริ่มต้นถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดเป็นการ มอบมรดก-ทุนทางสายเลือด ให้กับลูกทั้ง 4 คน โดยเฉพาะลูกชายทั้งสองคน คือ นายชาญณรงค์ และ นายศุภกฤต สอนอาจ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการทำต้นเทียนพรรษา ที่มีฝีมือคนหนึ่ง สามารถทำงานแทนครูสมคิด สอนอาจได้เป็นอย่างดี

ในส่วนของผู้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำต้นเทียนพรรษาทั้งประเภทแกะสลักและติดพิมพ์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามเครือข่ายในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ แบ่งได้ 6 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มที่ 1 การถ่ายทอดสายตรงจากพ่อ สู่ลูก คือ ลูกชาย 2 คน และลูกสาว 2 คน ถือเป็นการมอบมรดกทางภูมิปัญญาที่มีคุณค่า เป็นทุนทางสายเลือดที่ถ่ายทอดให้กับลูกทั้ง 4 คน
  • กลุ่มที่ 2 การถ่ายทอดสายตรง ตามภารกิจหน้าที่การงานให้กับนักเรียนที่เป็นลูกศิษย์ในโรงเรียนที่ทำการสอนทุกโรงเรียน โดยเฉพาะขณะที่เป็นอาจารย์ 2 ระดับ 7 โรงเรียนบ้านโนนบ่อหวายดินดำ ได้ทำการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในระดับชั้นที่ทำการสอย และจัดทำเป็นโครงงานให้กับนักเรียนที่สนใจทุกคน
  • กลุ่มที่ 3 การถ่ายทอดให้กับกลุ่มคณะช่างที่มีความสนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการทำต้นเทียนคุ้มวัดศรีประดู่ จากปี พ.ศ. 2511 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนหลายร้อนคนและมีการสืบทอดกันมาหลายรุ่น ทำให้ปัจจุบันคณะช่างเทียนคุ้มวัดศรีประดู่ มีจำนวน 35 คน ล้วนแต่เป็นลูกหลายชาวบ้านดู่ทั้งสิ้น
  • กลุ่มที่ 4 การถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชนที่สนใจสมัครเข้ารับการอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนแกะสลักติดพิมพ์เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี (ศูนย์เรียนรู้ในชุมชน) ในบริเวณบ้านพัก โดยเริ่มต้นอบรมรุ่นที่ 1 จำนวน 20 คน เมื่อปี พ.ศ. 2543 และมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
  • กลุ่มที่ 5 การถ่ายทอดให้กับประชาชนผู้สนใจทั่วไป ที่มาเยี่ยมชม ศึกษาดูงาน การทำต้นเทียนของคุ้มวัดศรีประดู่เป็นประจำทุกปี โดยจะมีการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทแผ่นพับแนะนำประวัติของการทำเทียนพรรษาแต่ละต้นในแต่ละปีเผยแพร่ให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนผู้สนใจทั่วไปเป็นประจำทุกปี
  • กลุ่มที่ 6 การถ่ายทอดให้กับกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ด้วยวิธีการและรูปแบบอื่น ๆ ผ่านสื่อสารมวลชนประเภทต่าง ๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ ผู้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ การทำต้นเทียนพรรษาจากปี พ.ศ. 2509 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนมากมายหลายกลุ่ม ในอนาคตจะเป็นผู้สืบสานการทำต้นเทียนพรรษา เป็นภูมิปัญญาอยู่คู่กับจังหวัดอุบลราชธานี สืบไป
ศูนย์การเรียนรู้เทียนพรรษาศรีประดู่ ที่ก่อตั้งโดยครูสมคิด สอนอาจ
ศูนย์การเรียนรู้เทียนพรรษาศรีประดู่ ที่ก่อตั้งโดยครูสมคิด สอนอาจ

เกียรติคุณ รางวัลเกียรติยศ ที่ครูสมคิด สอนอาจ ได้รับ

  • พ.ศ. 2536 ครูผู้สอนศิลปศึกษาดีเด่น กลุ่มโรงเรียนกุดลาดกระโสบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2537 บุคคลดีเด่น ประเภทผู้สอน สำนักงานการประถมศึกษา อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2538  ผู้สอนดีเด่น สำนักงานคุรุสภาอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2542 สมาชิกคุรุสภาดีเด่น ประเภทครูผู้มีคุณธรรมจริยธรรมดีเด่น จังหวัดอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2542 ศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี สาขาการช่างฝีมือ (ช่างทำต้นเทียน) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2546 ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 3 ด้านศิลปกรรม จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) สำนักนายกรัฐมนตรี
  • พ.ศ. 2548 ศิลปินร่วมสมัยจังหวัดอุบลราชธานี สาขาทัศนศิลป์ ด้านประติมากรรมจากสถาบันวัฒนธรรมราชมงคลเฉลิมพระเกียรติ
  • พ.ศ. 2549 รางวัลคุรุสดุดี สำนักงานเลขานุการคุรุสภา กรุงเทพมหานคร
  • พ.ศ. 2550 ผู้มีผลงานด้านนันทนาการดีเด่นระดับประเทศ สาขา ศิลปหัตถกรรม จากสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  • พ.ศ. 2557 ได้รับยกย่องเชิดชูเป็นมูนมังเมืองอุบลราชธานี สาขาศิลปกรรม (การทำเทียน)
  • พ.ศ. 2559 ได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลครูศิลป์ของแผ่นดิน ประเภทเทียนพรรษา(ประเภทติดพิมพ์) จังหวัดอุบลราชธานี
ผลงานเทียนติดพิมพ์ สมคิด สอนอาจ
ขบวนต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ของวัดศรีประดู่ ผลงานการสร้างสรรค์ของครูสมคิด สอนอาจ (ภาพจาก GuodUbon.com)

รางวัลชนะเลิศ การประกวดต้นเทียนพรรษา ในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ผลงานการสร้างสรรค์ของครูสมคิด สอนอาจ

  • พ.ศ. 2532 รางวัลชนะเลิศพิเศษ
  • พ.ศ. 2540 เกียรติบัตรรางวัลชนะเลิศ ประเภทติดพิมพ์ งานประเพณี “60 ปีเทียนพรรษา” รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • พ.ศ. 2542 เกียรติบัตรรางวัลชนะเลิศ ประเภทติดพิมพ์ งานประเพณีแห่งเทียน“เฉลิมหล้า 6 รอบมหาราชินี” ถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • พ.ศ. 2543  ถ้วยพระราชทานรางวัลชนะเลิศ ประเภทติดพิมพ์ ในงานประเพณีแห่เทียน “หลอมบูชา ถวายไท้นวมินทร์” ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • พ.ศ. 2545 ถ้วยพระราชทานรางวัลชนะเลิศ การประกวดต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่ ประเภทติดพิมพ์ งานประเพณีแห่เทียนพรรษา “โรจน์เรืองเมืองศิลป์” พร้อมโล่รางวัล
  • พ.ศ. 2547 ถ้วยพระราชทานรางวัลชนะเลิศการประกวดต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่ ประเภทติดพิมพ์ “เทิดไท้ 72 พรรษามหาราชินี”
  • พ.ศ. 2550 ถ้วยพระราชทานรางวัลชนะเลิศการประกวดต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่ ประเภทติดพิมพ์ “ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม เลิศล้ำเทียนพรรษา ปวงประชาพอเพียง”

ที่อยู่ ครูสมคิด สอนอาจ

ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

บรรณานุกรม

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี.( 2552). อุบลราชธานี เมืองนักปราชญ์. อุบลราชธานี: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง