ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี

ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของทุ่งศรีเมือง ลักษณะเป็นเสาไม้ราชพฤกษ์ยอดดอกบัวตูม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดศาลหลักเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2519 และทุกวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี เทศบาลเมืองนครอุบลราชธานีร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จะร่วมกันเซ่นสรวงสักการะหลักเมืองเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี
ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี
ศาลหลักเมืองอุบลราชธานีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเคารพศรัทธาของชาวเมืองอุบลราชธานี
ศาลหลักเมืองอุบลราชธานีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเคารพศรัทธาของชาวเมืองอุบลราชธานี

ประวัติความเป็นมาของการสร้างศาลหลักเมืองอุบลราชธานี

แต่เดิมนับตั้งแต่สร้างเมืองอุบลราชธานีมา ยังไม่มีการตั้งศาลหลักเมือง จนมาถึงสมัยพลตำรวจตรีวิเชียร ศรีมันตร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีโอกาสกราบนมัสการเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่สมเด็จท่านเป็น พระสงฆ์ผู้ใหญ่ชาวอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่เคารพโดยทั่วไป เพื่อปรึกษาหารือว่า “จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดใหญ่หัวเมืองเอกมาตั้งแต่อดีตกาล มีชื่อ “ราชธานี” เพียงแห่งเดียว มีความเจริญรุ่งเรืองมานาน แต่ยังไม่มีการยกเสาหลักเมืองให้เป็นมิ่งขวัญแก่ประชาราษฎร สำหรับยึดถือเป็นหลักชัยทางจิตใจ ให้มีความมั่นคง จึงเห็นสมควรสร้างศาลหลักเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ณ ที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ กลางเมืองอุบลราชธานี”

เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พิจารณาแล้วก็ไม่ขัดข้อง แต่อยากให้สอบถามชาวอุบลส่วนใหญ่ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกันในภายหลัง เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ พร้อมแล้ว จึงเลือกตำแหน่งที่ตั้งเสาหลักเมือง ให้อยู่ด้านทิศใต้ของทุ่งศรีเมือง และด้านทิศเหนือของศาลากลางจังหวัด (ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี) กำหนดวันวางศิลาฤกษ์ศาลหลักเมือง วันที่ 27 สิงหาคม 2515 โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นผู้ให้ฤกษ์และเป็นเดินทางมาเป็นประธานในพิธี ส่วนเสาหลักเมืองนั้น กรมศิลปากร ได้ออกแบบเป็นยอดบัวตูม โดยใช้ไม้ราชพฤกษ์ เมื่อการก่อสร้างศาลหลักเมืองอุบลราชธานีเสร็จสมบูรณ์แล์ว นายเดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดศาลหลักเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2519

อนุสาวรีย์พระอุบาลีคุณูปมาจาย์ (สิริจนฺโท จันทร์) ที่ตั้งอยู่ในบริเวณศาลหลักเมืองอุบลราชธานี
อนุสาวรีย์พระอุบาลีคุณูปมาจาย์ (สิริจนฺโท จันทร์) ที่ตั้งอยู่ในบริเวณศาลหลักเมืองอุบลราชธานี
สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (ติสโส อ้วน) ที่ตั้งอยู่ในบริเวณศาลหลักเมืองอุบลราชธานี
สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (ติสโส อ้วน) ที่ตั้งอยู่ในบริเวณศาลหลักเมืองอุบลราชธานี

ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี เทศบาลเมืองนครอุบลราชธานีร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จะร่วมกันเซ่นสรวงสักการะหลักเมืองเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน มีคนทรงของมเหสักข์หลักเมืองจังหวัดต่าง ๆ มาร่วมพิธีมากมาย สำหรับเครื่องบูชาที่ชาวเมืองอุบลราชธานีนิยมนำมากราบไหว้ศาลหลักเมือง คือ ดอกไม้ เช่น ดอกกล้วยไม้ ดอกดาวเรือง ธูปเทียน พวงมาลัย แผ่นทอง ผ้า 3 สี 5 สี 7 สี

ภายหลังศาลหลักเมืองได้มีการบูรณะใหม่เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบจตุมุขของภาคกลาง เหมือนกับศาลหลักเมืองทั่วไป บริเวณโดยรอบใช้เป็นสถานที่จัดงานพิธีการต่าง ๆ ที่ออกกำลังกาย และที่พักผ่อนหย่อนกายของชาวเมืองอุบลราชธานี

ศาลหลักเมือง สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองอุบลราชธานี
ศาลหลักเมือง สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองอุบลราชธานี

san-lak-muang_7

ที่ตั้ง ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี  

ถนนศรีณรงค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี

15.228341, 104.857725

บรรณานุกรม

สุวิชช คูณผล. (2545). ศาลหลักเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ,วันที่ 20 มีนาคม 2559. http://guideubon.com/

ฮักอุบล. (2557). ศาลหลักเมืองจังหวัดอุบลราชธานี, วันที่ 10 สิงหาคม 2559. http://www.hugubon.com

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง