ธีระ โกมลศรี ครูภูมิปัญญาไทยดนตรีพื้นบ้านอีสาน

ครูธีระ โกมลศรี ชาวอุบลราชธานี ได้รับการยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรม (ดนตรีพื้นบ้าน) ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน มีผลงานการก่อตั้งวงดนตรีพื้นบ้านหรือวงโปงลางในสถานศึกษาและชุมชนหลายแห่งในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง เป็นผู้สืบสานและสร้างสรรค์งานดนตรีจนได้รับการยกย่องให้เป็น “ครูใหญ่” แห่งวงการดนตรีพื้นบ้านอีสาน

ครูธีระ โกมลศรี ครูใหญ่แห่งวงการดนตรีพื้นบ้านอีสาน
ครูธีระ โกมลศรี ครูใหญ่แห่งวงการดนตรีพื้นบ้านอีสาน

ประวัติครูธีระ โกมลศรี

ครูธีระ โกมลศรี เป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานีที่คลุกคลีอยู่กับเสียงดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะที่บ้านจะเป็นสถานที่ฝึกซ้อมของวงแตรวงประจำอำเภอ ทำให้ซึมซับความรู้สึกอยากลองอยากรู้ตามประสาเด็ก และด้วยความอัจฉริยะทางดนตรี ทำให้สามารถจดจำเนื้อร้อง ทำนองได้ทุกเพลง ทำให้เกิดความรัก ความผูกพันกับงานดนตรีมาโดยตลอด และได้เรียนรู้จริงจัง ในโรงเรียนฝึกหัดครูอุบลราชธานี เมื่อจบการศึกษาเข้ารับราชการได้ทำหน้าที่ครูสอนดนตรีไทยและพื้นบ้านเป็นหลัก มีผลงานการจัดตั้งวงดนตรีประจำสถานศึกษาหน่วยงาน และชุมชนหลายแห่ง นอกจากนี้ยังนำความรู้สอนและถ่ายทอดงานดนตรีให้แก่นักเรียน นักศึกษา เยาวชน ประชาชนและข้าราชการ เป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

การที่ครูธีระ โกมลศรี นำความรู้ด้านดนตรีพื้นบ้าน ที่ตนเองศึกษา ค้นคว้า ค้นพบ ทดลอง จนประสบผลสำเร็จแล้วเผยแพร่ โดยการสอนและถ่ายทอดให้รูปแบบต่าง ๆ ให้ผู้อื่นได้เรียนรู้นำไปปฏิบัติเพื่ออนุรักษ์ และสืบสานงานดนตรีพื้นบ้าน เป็นประโยชน์โดยรวมแก่สังคม จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรีให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ด้านศิลปกรรม (ดนตรีพื้นบ้าน) ประจำปีพุทธศักราช 2545

ครูธีระ โกมลศรี ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำแห่งดนตรีพื้นบ้านอีสาน เป็นผู้สืบสานและสร้างสรรค์งานดนตรี โดยอนุรักษ์และเผยแพร่ให้ดนตรีพื้นบ้านให้ซึมซาบเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของคนอีสานคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนไทยในแต่ละท้องถิ่น และเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของคนอีสาน ผลงานของการก่อตั้งวงดนตรีพื้นบ้านในสถานศึกษา หน่วยงานทางการศึกษา และชุมชนหลายแห่ง ในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ทำให้สังคมยกย่องให้เป็น “ครูใหญ่” แห่ง วงการดนตรีพื้นบ้านอีสาน

ครูธีระ โกมลศรี กับบทบาทการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านดนตรีพื้นบ้านให้กับเด็กและเยาวชน
ครูธีระ โกมลศรี กับบทบาทการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านดนตรีพื้นบ้านให้กับเด็กและเยาวชน

การถ่ายทอดความรู้ของครูธีระ โกมลศรี

ความรู้ของครูธีระที่นำไปถ่ายทอดให้แก่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์ และประชาชนโดยทั่วไปนั้น ครูธีระจะถ่ายทอดเนื้อหาในเรื่อง ประวัติความเป็นมาของดนตรีพื้นบ้าน ความหมายของดนตรีพื้นบ้าน ประเภทของดนตรีพื้นบ้าน วิธีการเล่นและการบำรุงรักษา และการแสดงบนเวทีและการแข่งขัน ให้แก่ผู้เรียนอย่างใกล้ชิด โดยมีวิธีการถ่ายทอด คือ

  • ให้ความรู้พื้นฐานและติดตามอย่างใกล้ชิด ถ้าผู้เรียนปฏิบัติไม่ถูกต้องรีบแก้ไขทันที
  • สอนจากง่ายไปหายาก
  • ทำซ้ำบ่อย ๆ ดนตรีทุกชิ้นจำเป็นต้องฝึกบ่อย ๆ
  • สอนโดยใช้สื่อ เช่น ชาร์ทบันทึกตัวโน้ต และแถบบันทึกเสียง
  • ให้ผู้เรียนได้ดูรูปแบบของการแสดงจริงและจากวิดีทัศน์
  • ฝึกการจำเพลง ต้องฝึกจำทีละน้อยไปหามาก
  • ก่อนจบการเรียนแต่ละครั้ง ต้องทดสอบเพื่อผู้เรียนจะได้ภูมิใจ มีกำลังใจมาก คำชมของครู จากข้อแนะนำ ส่วนที่ยังบกพร่องเพื่อแก้ไข – ปรับปรุงต่อไป
ครูธีระ โกมลศรี ครูใหญ่ของครูดนตรีพื้นบ้านอีสาน
ครูธีระ โกมลศรี ครูใหญ่ของครูดนตรีพื้นบ้านอีสาน

ประสบการณ์และเกียรติคุณของครูธีระ โกมลศรี   

  • พ.ศ. 2535 ประกาศเกียรติคุณ ครูผู้สอนดนตรีพื้นเมืองดีเด่น จากสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2535 ประกาศเกียรติคุณ ครูผู้สอนดนตรีไทยดีเด่น จากสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2535 เกียรติบัตรศิษย์เก่าดีเด่น สาขาผู้สอนสหวิทยาลัยอีสานใต้ในโอกาสครบ 100 ปี การฝึกหัดครูไทย จากกรมการฝึกหัดครู
  • พ.ศ. 2535 เกียรติบัตรครูผู้สอนกลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัยดีเด่นการดนตรีไทย จากกระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2536 โล่เกียรติคุณ ผู้ปฏิบัติงานดีเด่นสาขาวัฒนธรรม จากมูลนิธิเวียนินี่ ลาโวรี่เวียนีนี่ไทย
  • พ.ศ.2537 เกียรติบัตรเป็นผู้ส่งเสริมกิจกรรมค่านิยมไทยและเอกลักษณ์ไทยในโรงเรียนประถมศึกษา ในฐานะครูสอนดนตรีไทย จากสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2540 โล่เกียรติคุณสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 14 ประเภทสื่อพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ประเภทบุคคล
  • พ.ศ.2542 ศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี ประเภทศิลปะการแสดง จากสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2544 รางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชนครั้งที่ 19 ประเภทสื่อพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ประเภทคณะบุคคล
  • พ.ศ. 2545  ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ด้านศิลปกรรม (ดนตรีพื้นบ้าน) จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  สำนักนายกรัฐมนตรี
ครูธีระ โกมลศรี พร้อมลูกศิษย์ผู้สืบสานงานดนตรีพื้นบ้านอีสาน
ครูธีระ โกมลศรี พร้อมลูกศิษย์ผู้สืบสานงานดนตรีพื้นบ้านอีสาน

ที่อยู่ ของครูธีระ โกมลศรี 

เลขที่ 13 ซอยสุขาอุปถัมภ์ 13 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ ของครูธีระ โกมลศรี 

15.251023, 104.833279

บรรณานุกรม

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2545). ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง