ชุมชนคนทำเทียนพรรษาวัดพลแพน

ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดพลแพน อุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้การทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่สนับสนุนประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี

เทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ของวัดพลแพน ปี 2559 ผลงานของนายสุรชัย จันทร์ส่อง ผู้นำช่างทำเทียนพรรษา
เทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ของวัดพลแพน ปี 2559 ผลงานของนายสุรชัย จันทร์ส่อง ผู้นำช่างทำเทียนพรรษา

วัดพลแพน

วัดพลแพน อุบลราชธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2433 ภายในวิหารใหญ่วัดพลแพนเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่มิ่งมงคลอุบลเทพนิมิต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอุบลราชธานี ปัจจุบันมีพระครูอดุลธรรมประจักษ์ เป็นเจ้าอาวาส

เส้นลายลายติดพิมพ์เทียนพรรษาวัดพลแพน ปี 2559
เส้นลายลายติดพิมพ์เทียนพรรษาวัดพลแพน ปี 2559

เทียนพรรษาวัดพลแพน

เทียนพรรษาของวัดพลแพน ริเริ่มโดยพระนัฐพล ฉทธโก จากที่ไม่เคยมีความรู้ทางด้านทำเทียนเลย แต่มีญาติโยมมาปรึกษาเรื่องการทำลวดลายเทียน ท่านจึงศึกษาและทดลองรีดลายและแกะลายด้วยตนเองจนกระทั่งมีความรู้ความสามารถในการทำเทียนแบบติดพิมพ์ได้อย่างสวยงาม และเป็นผู้รับผิดชอบดูแลการทำเทียนพรรษามาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เทียนพรรษาของคุ้มวัดพลแพนเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองประเภทติดพิมพ์รุ่นเล็ก รางวัลประเภทศิลปินรุ่นใหม่รองชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัลประเภทศิลปินรุ่นใหม่ของชุมชน รองชนะเลิศอันดับ 2 ของทางจังหวัดอุบลราชธานี บางปีมีการจ้างช่างมาทำเทียน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ทางวัดตกลงใจว่าจะให้การทำเทียนเป็นกิจกรรมที่วัดและผู้คนหลายวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ภายในชุมชนได้มีโอกาสร่วมแรงร่วมใจทำเทียนพรรษาด้วยกัน ถึงแม้ชาวบ้านจะไม่มีประสบการณ์ในการทำเทียนก็จะมีวิธีการสอนวิธีการทำ ทางวัดตกแต่งเทียนพรรษาส่งประกวดทุกปีเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมกับทางจังหวัด แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงคือ เพื่อให้การทำเทียนพรรษาเป็นสิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงระหว่างวัดและชุมชนเข้าหากัน

เส้นลายลายติดพิมพ์เทียนพรรษาวัดพลแพน ปี 2559
เส้นลายลายติดพิมพ์เทียนพรรษาวัดพลแพน ปี 2559
เส้นลายลายติดพิมพ์เทียนพรรษาวัดพลแพน ปี 2559
เส้นลายลายติดพิมพ์เทียนพรรษาวัดพลแพน ปี 2559

เทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ของวัดพลแพน ปี 2559

ปี 2559 วัดพลแพนได้ดำเนินการจัดทำต้นเทียนพรรษาโดยการนำของพระครูอดุลธรรมประจักษ์ โดยนายสุรชัย จันทร์ส่อง เป็นหัวหน้าช่างควบคุมการทำเทียน องค์ประกอบและรายละเอียดของต้นเทียนพรรษาปีนี้ ประกอบด้วย

ส่วนหน้าของต้นเทียนจะเป็นรูปพญาครุฑ ซึ่งพญาครุฑนี้จะเป็นผู้ที่มีพละกำลังมหาศาล ไม่มีผู้ใดต้านทานได้ และยังเป็นพาหนะของพระวิษณุ พญาครุฑได้รับพรจากพระวิษณุให้เป็นอมตะไม่มีศาสตราวุธใดทำลายได้

ถัดลงมาจะเป็นเจ้าปู่พญาศรีสุทโธและเจ้าย่าศรีปทุมมา ซึ่งเจ้าปู่พญาศรีสุทโธนั้นเป็นพญานาคราชผู้เป็นใหญ่ในลุ่มน้ำโขง แผลงเศียรได้ 9 เศียร ส่วนองค์เจ้าย่าศรีปทุมมา แผลงศรได้ 5 เศียร ทั้งสององค์โปรดปรานการฟังธรรมจากพระอริยสงฆ์มาก และเนรมิตวรกายเป็นเศียรเดียวหรือมนุษย์ก็ได้

ต่อมาเป็นเรื่องสวรรณสามจากทศชาติชาดก ชาติที่ 3 กล่าวถึง พระเจ้ากบิลยักษ์ได้ออกล่าสัตว์มาจนถึงท่าน้ำที่สุวรรณสามตักน้ำอยู่ จึงจะสุ่มยิงสัตว์ที่ผ่านมากินน้ำ ขณะนั้นสุวรรณสามนำหม้อน้ำมาตักน้ำไปใช้ที่ศาลาดังเช่นเคย มีฝูงสัตว์เดินตามมาด้วยมากมาย พระเจ้ากบิลยักษ์ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงแปลกใจ สุวรรณสามเป็นมนุษย์หรือเทวดา เหตุใดจึงเดินมากับฝูงสัตว์ ครั้งจะเข้าไปถามก็เกรงว่าสุวรรณสามจะตกใจหนีไปก็จะไม่ได้ตัว จึงยิงด้วยธนูอาบยาพิษ

ต่อมาเป็นต้นเทียนพรรษาที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.40 เมตร ความสูงของลำต้นเทียน 2 เมตร ที่บรรจงติดลายอย่างสวยงาม

ส่วนท้ายเป็นเรื่องพุทธประวัติตอนอันเชิญเหล่าเทวดาหมื่นจักรวาลทูลอันเชิญเทพบุตรบรมโพธิสัตว์จากสวรรค์ชั้นดุสิตให้มาจุติยังโลกมนุษย์เป็นเจ้าชายสิทธัตถะเพื่อการแสวงหาหนทางหลุดพ้น ตรัสรู้ เผยแผ่พุทธศาสนาและเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

และส่วนท้ายที่สุดจัดทำเป็นรูปพระพรหม เพื่อเป็นฉากหลังประกอบต้นเทียนเพื่อความสวยงาม

ช่างสุรชัย จันทร์ส่องนั้น เป็นช่างฝีมือดีที่สั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้วยวิธีครูพักรักจำ เป็นหัวหน้าช่างเทียนมากกว่า 10 ปี มีจุดเด่น คือ ลวดลายที่วิจิตรอ่อนช้อยที่ได้จากการออกแบบลายเดิมแล้วพลิกแพลงให้มีความสวยงามแปลกใหม่ และหุ่นองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ได้สัดส่วนสมจริง

และด้วยความสวยงามวิจิตรตระการตาทำให้ปี 2559 นี้ ต้นเทียนพรรษาของวัดพลแพนได้รับ “รางวัลชนะเลิศประเภทต้นเทียนติดพิมพ์ขนาดใหญ่” ในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2559

ด้านหน้าของเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ของวัดพลแพน ปี 2559
ด้านหน้าของเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ของวัดพลแพน ปี 2559
ลายพิมพ์ขี้ผึ้งที่ใช้ในการทำเทียนพรรษาของวัดพลแพน
ลายพิมพ์ขี้ผึ้งที่ใช้ในการทำเทียนพรรษาของวัดพลแพน
เด็กและเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรมช่วยกันตัดดอกผึ้งสำหรับติดเทียนพรรษาของวัดพลแพน
เด็กและเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรมช่วยกันตัดดอกผึ้งสำหรับติดเทียนพรรษาของวัดพลแพน ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี

ที่ตั้ง ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดพลแพน

วัดพลแพน บ้านแสนตอ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดพลแพน

15.232335, 104.867634

บรรณานุกรม

คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมเยือนชุมชน ชมวิถีวัฒนธรรมในการตกแต่งต้นเทียน. (2559). แผนที่เส้นทางเยือนชุมชนคนทำเทียนอุบลราชธานี “เพลินหัตถศิลป์ถิ่นคนทำเทียน” ปี 2559 [แผ่นพับ].

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2553). ช่างทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์: นายสุรชัย จันทร์ส่อง, 22 สิงหาคม 2559. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/candlehandicraft.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง