ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดพระธาตุหนองบัว

ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดพระธาตุหนองบัว อุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้การทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่สนับสนุนประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีทุกปี และเทียนพรรษาของวัดพระธาตุหนองบัวนั้นได้รับรางวัลและการยกย่องว่ามีความงดงามมาโดยตลอด

ลวดลายแกะสลักเทียนพรรษาของวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559
ลวดลายแกะสลักเทียนพรรษาของวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559

วัดพระธาตุหนองบัว

วัดพระธาตุหนองบัว จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดราษฎร์ สร้างขึ้นเมื่อปี 2500 โดยนายฟอง สิทธิธรรม ได้มอบที่ดินให้ประมาณ 30 ไร่เศษ โดยบริเวณนั้นใกล้เคียงกับหนองน้ำขนาดใหญ่ และมีกอบัวหลากหลายสีสันขึ้นเต็มหนองบัว ตลอดจนคนในชุมชนละแวกนั้นมักนิยมมาจับสัตว์น้ำเพื่อนำไปเป็นอาหาร ต่อมาชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดหนองบัว

วัดพระธาตุหนองบัวมีพระบรมธาตุที่สวยงาม มีพระเจดีย์พุทธคยาซึ่งจำลองมาจากประเทศอินเดียต้นกำเนิดแห่งพุทธศาสนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และบริเวณวัดหนองบัวยังมีป่าอันอุดมสมบูรณ์ เงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง

พระธาตุหนองบัว อุบลราชธานี
พระธาตุหนองบัว อุบลราชธานี

เทียนพรรษาวัดพระธาตุหนองบัว

วัดพระธาตุหนองบัว ได้มีการจัดทำต้นเทียนประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ส่งเข้าประกวดในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีทุกปีตั้งแต่ปี 2531 และได้รับรางวัลแทบทุกปี โดยมีพระครูกิตติวัณโณบล เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองบัวและช่างฝีมือทางด้านแกะสลักเทียนพรรษา เป็นหัวหน้าผู้ควบคุม กำกับดูแล และอำนวยความสะดวกให้แก่ทีมช่างฝีมือดี รวมทั้งชาวบ้านและนักเรียนจากโรงเรียนในชุมชนก็ให้ความร่วมมือร่วมใจในการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดีและต่อเนื่อง จึงทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศชุมชนคนทำเทียนไปด้วย นอกจากนี้ช่วงนอกเทศกาลเข้าพรรษานักท่องเที่ยวก็สามารถเข้ามาชมเทียนพรรษาจำลองที่ทางวัดได้สร้างไว้ได้อีกด้วย ซึ่งเทียนพรรษาจำลองนี้คือเทียนพรรษาของวัดพระธาตุหนองบัวเคยได้รับรางวัล

รางวัลต่าง ๆ ที่เทียนพรรษาของวัดพระธาตุหนองบัวได้รับ
รางวัลต่าง ๆ ที่เทียนพรรษาของวัดพระธาตุหนองบัวได้รับ

เทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559

ในปี 2559 วัดพระธาตุหนองบัว ได้นายสุดสาคร หวังดี ช่างแกะสลักเทียนพรรษาฝีมือดี เป็นหัวหน้าช่างควบคุมการทำเทียนพรรษาซึ่งเป็นเทียนประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ มีพระครูอมรธรรมสโรช เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองบัว เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงาน โดยมีรายละเอียดและองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้

ฐานด้านหน้า แกะสลักเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ พระนารายณ์เป็นเทพองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์ ว่ากันว่าถูกพระอิศวรสร้างขึ้นโดยพระหัตถ์ซ้ายลูบพระหัตถ์ขวาบังเกิดเป็นพระนารายณ์ ครุฑเป็นสัตว์กึ่งเทพกายสิทธิ์ขนาดใหญ่ ได้รับพรให้เป็นอมตะมีวิชาผาดโผนพิสดาร มีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล เหมือนชาวจังหวัดอุบลราชธานีรวมพลังสร้างความสามัคคีจัดทำเทียนพรรษาสืบสารศิลปะพื้นบ้านอีสานสร้างพุทธศิลป์ให้คงอยู่กับชาวอุบลราชธานี

ด้านหน้าของเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559
ด้านหน้าของเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559

ถัดมาแกะสลักลวดลายแห่งพระพุทธประวัติหยิบยกเอาเรื่องราวตอนพระเวสสันดรโพธิสัตว์เสด็จไปบังเกิดเป็นสันดุสิตเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิตเมื่อก่อนพุทธกาล หมู่เทวดาสวรรค์ชั้นฟ้าประชุมปรึกษากันว่า ใครจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่างก็เล็งเห็นว่า พระโพธิสัตว์สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจึงได้กราบบังคมทูลจุติยังโลกมนุษย์ ประกอบกับลายกนกคาบนาค กนกหัวนาค และตัวมักกะระอื่น ๆ อีกมากมายอย่างสวยงามวิจิตตระการตา

อมนุษย์ส่วนประกอบของเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559
อมนุษย์ส่วนประกอบของเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559
ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดพระธาตุหนองบัว
ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดพระธาตุหนองบัว
องค์ประกอบของเทียนพรรษาที่ยังไม่ถูกแกะสลัก
องค์ประกอบของเทียนพรรษาที่ยังไม่ถูกแกะสลัก

ฐานรองรับต้นเทียน แกะสลักเป็นเทพกินรี รูปลักษณะครึ่งเทวดาครึ่งนกมีถิ่นอาศัยแถบเชิงเขาไกรลาศ ป่าหิมพานต์ ท่าทีสวยงาม งดงาม เพื่อรองรับต้นเทียนพรรษาเป็นพุทธศิลป์ที่ในปรากฏในวรรณคดีไทย

ลำต้น เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.70 เซนติเมตร สูง 2.90 เซนติเมตร แกะสลักเรื่องราวพระเวสสันดรชาดก ทรงได้ทานสองโอรสและพระนางมัทรี ต่างก็ยินดีอนุโมทนาเพื่อร่วมทานบารมีให้สำเร็จพระสัมโพธิญาณในกาลภายภาคหน้าซึ่งเป็นชาติที่ 10 ก่อนจะเสด็จอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าในกาลต่อมา ประกอบกับลายกนกเปลว เครือเถาว์ และลายบัวกลุ่มอ่อนช้อย สวยงาม

ส่วนยอดแกะเป็นกลีบบัว 5 ชั้น อันเป็นสัญลักษณ์เมืองดอกบัวงามของจังหวัดอุบลราชธานี

ส่วนยอดของต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559
ส่วนยอดของต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559

ฐานด้านหลัง เป็นภาพพระนางสิริมหามายากำลังบรรทมหลับสนิทในพระแท่นแก้ว ทรงสุบินนิมิตว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่งชูดอกบัวขาวลงมาจากภูเขาเงินภูเขาทองร้องบันลือลั่นเข้ามายังปราสาท ทำประทักษิณเวียนขวาสามรอบ แล้วเข้าสู่อุทรเบื้องขวาของพระนาง ถัดมาพระนางประทับใต้ต้นสาละทรงยืนเหนี่ยวกิ่งสาละ ณ วันวิสาขปุรณมีดิถีเพ็ญเดือน 6 แห่งปีก่อนพุทธศก 80 เวลาสายใกล้เที่ยง เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร ก็ได้ประสูติจากครรภ์พระมารดา ทรงเพียบพร้อมด้วยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ก้าวพระบาทออกไปได้ 7 ก้าว พร้อมกับกล่าววาจา ประกาศความสูงสุดว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายภพใหม่ของเราจะไม่มีอีกแล้ว” เปรียบเสมือนงานแห่เทียนพรรษาของชาวอุบลราชธานีจะรักษาซึ่งประเพณีวัฒนธรรมสืบสานศิลปะพื้นบ้านอีสานสร้างพุทธศิลป์ให้คงอยู่กับเราชาวอุบลราชธานีให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน

ส่วนท้ายของเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559
ส่วนท้ายของเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559
องค์ประกอบที่เหมือนจริงของเทียนประเภทแกะสลักวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559
องค์ประกอบที่เหมือนจริงของเทียนประเภทแกะสลักวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559
องค์ประกอบของเทียนประเภทแกะสลักวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559
องค์ประกอบของเทียนประเภทแกะสลักวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559
ลวดลายแกะสลักต้นเทียนพรรษาวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559
ลวดลายแกะสลักต้นเทียนพรรษาวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559
การเตรียมองค์ประกอบของเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก วัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559
การเตรียมองค์ประกอบของเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก วัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559

ที่ตั้ง ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดพระธาตุหนองบัว

วัดพระธาตุหนองบัว ถนนธรรมวิถี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดพระธาตุหนองบัว

15.264093, 104.840185

บรรณานุกรม 

คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมเยือนชุมชน ชมวิถีวัฒนธรรมในการตกแต่งต้นเทียน. (2559). แผนที่เส้นทางเยือนชุมชนคนทำเทียนอุบลราชธานี “เพลินหัตถศิลป์ถิ่นคนทำเทียน” ปี 2559 [แผ่นพับ].

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง