วัดพระธาตุหนองบัว

วัดพระธาตุหนองบัว จังหวัดอุบลราชธานี วัดที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ หรือพระธาตุหนองบัว เจดีย์ธาตุขนาดใหญ่ที่จำลองแบบมาจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษของพุทธศาสนา ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ให้ประชาชนได้สักการะบูชา

ซุ้มประตูวัดพระธาตุหนองบัว
ซุ้มประตูวัดพระธาตุหนองบัว

ประวัติวัดพระธาตุหนองบัว อุบลราชธานี

วัดพระธาตุหนองบัว  สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2498 โดย นายฟอง สิทธิธรรม อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรซึ่งเป็นชาวอุบลราชธานีได้มีความเลื่อมใสศรัทธาสร้างวัดขึ้นในที่นาของท่าน เพื่อให้เป็นที่ปฏิบัติธรรมฝ่ายวิปัสนาธุระของท่านพระอาจารย์ดี พระอาจารย์สิงห์ ขันทยาคโม หรือเจ้าคุณเทพญาณวิสิทธิ์ มีพื้นที่ มีเนื้อที่ทั้งหมด 50 ไร่เศษ

มูลเหตุการสร้างวัดพระธาตุหนองบัว เริ่มต้นจากกลุ่มพุทธศาสนิกชนผู้ยึดมั่นในการปฏิบัติธรรมกลุ่มหนึ่งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการสร้างวัดให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และเป็นที่ระลึกเนื่องในวาระมงคลกึ่งพุทธกาล พุทธศตวรรษ 2500 กำหนดแผนการก่อสร้างวัดเริ่มแรกในที่ดินของนายฟอง สิทธิธรรม ซึ่งในขณะนั้นถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานี ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏภายใน ผู้ทำหน้าที่ติดต่อขอที่ดินสร้างวัดประกอบด้วย นายทองพูน ยุวมิตร และ นายอุ่น ไวยหงษ์ เป็นผู้นำ ได้พาคณะเดินทางไปหานายฟองที่เรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานี โดย นายทอง พูลยุวมิตร ได้เล่าเรื่องราวที่เลื่อมใสศรัทธาให้นายฟอง สิทธิธรรม ฟังโดยละเอียด และขอทราบว่าที่ดินแปลงนี้จะถวายหรือจะขายให้ทางคณะศรัทธาได้ไหม เมื่อนายฟอง สิทธิธรรม ได้ฟังแล้วก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีความปรารถนาอยู่แล้วว่าอยากถวายที่ดินแปลงนี้ให้สร้างวัด แม้จะถูกกักขังอยู่ในเรือนจำก็ไหว้พระสวดมนต์เป็นประจำและได้ตั้งสัจจะอธิษฐานขอให้มีสัตบุรุษมาขอที่ดินแปลงนี้สร้างวัด ดังนั้น เมื่อสมดังความประสงค์ที่ตั้งใจแล้วก็ปิติยินดีเป็นล้นพ้น เมื่อทราบความประสงค์แล้วคณะกรรมการที่สร้างวัด จึงกำหนดวันมอบถวายที่ดินแปลงขึ้น เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2498 จึงจารึกไว้ว่าที่ดินสำหรับสร้างวัดพระธาตุหนองบัวนี้ได้รับการบริจาคจาก นายฟอง-นางจันทร์มี สิทธิธรรม มีเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ เมื่อเวลา 14.00-15.00 น.มีคณะผู้ริเริ่ม อุบาสก อุบาสิการ่วมกับฝ่ายเจ้าหน้าที่และเจ้าของที่ประมาณ 60 คน เป็นพยาน

วันที่ 26 ตุลาคม 2498 ซึ่งตรงกับวันพุธ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 12 ปีมะแม เป็นวันขุดโค่นถากถางเป็นปฐมฤกษ์ จึงได้บอกกล่าวบอกหมู่คณะให้เตรียมอุปกรณ์การถางพร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียนเพื่อเคารพต่อเทพเจ้าก่อนลงมือ มีคณะทำงานที่มาช่วยกันประมาณ 20 คน สำหรับการลงมือที่แรกนี้อาจารย์จันทร์ประไพ ได้ล่วงหน้าไปนอนค้างคืนก่อนอยู่หนึ่งคืน เพื่อนั่งสมาธิวิปัสสนาและแจ้งแก่เทวดาอารักษ์ ในคืนนั้นท่านได้ปรากฏนิมิต(ฝัน)ว่า ในอาณาเขตที่จะสร้างวัด มีผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่ได้พากันอพยพโยกย้ายอุ้มลูกจูงหลานพร้อมทั้งขนข้าวของ และสัตว์เลี้ยงของตนออกเดินทางไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือต่างก็โจษขานกันว่าที่แห่งนี้อุบาสกอุบาสิกาเขาจะสร้างวัด พุทธศาสนาพวกเราจงพากันหนีไปอยู่ที่อื่นเพื่ออนุโมทนาสาธุการ และปรากฏว่าเขาไปย้านอยู่ทางดงก้านเหลือง ซึ่งปัจจุบันได้ถูกสร้างเป็นสวน “วนารมย์” ครั้นรุ่งขึ้นจึงได้เล่านิมิตให้พรรคพวกฟัง แล้วทุกคนต่างก็มีความยินดีต่อนิมิตนี้

สิ่งก่อสร้างสำคัญสมัยแรกสร้างวัดนั้นมีจำนวนไม่มากและไม่มั่นคงเท่าไหร่นัก ประกอบด้วย ศาลาโรงธรรมและกุฏิชั่วคราว 5 หลัง แต่ละหลังมุงหญ้ากั้นฝาขัดแตะ ปูพื้นกระดานเฉพาะศาลาโรงธรรม หลังคามุงด้วยสังกะสี แต่ในปัจจุบันนี้สิ่งเหล่านั้นได้รื้อทิ้งหมดแล้วและสร้างใหม่ให้มีความแข็งแรง ศาสนาคารที่สำคัญ คือ พระบรมธาตุเจดีย์ศรีพระมหาโพธิ์ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญกาญจนาภิเษก กุฏิที่สร้างแบบถาวรอีก 10 กว่าหลัง และสถานที่พยาบาลประจำ (อนามัย)

พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ หรือพระธาตุหนองบัว อุบลราชธานี

พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ หรือที่ชาวอุบลเรียกกันว่า “พระธาตุหนองบัว” สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษของพุทธศาสนา  พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์นี้ได้จำลองแบบมาจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ พระธาตุหนองบัว
พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ หรือ พระธาตุหนองบัว อุบลราชธานี

พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์นี้  เดิมมีความกว้างด้านละ 6 เมตร องค์พระธาตุทั้ง 4 ด้านแกะสลักพระประจำวันเกิด และกลีบบัวประดับ ฐานล่างแกะรูปพระพุทธเจ้าปางประสูติ ตรัสรู้ปฐมเทศนา และปรินิพพาน

ต่อมาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานยังองค์พระบรมธาตุ และได้ทำการก่อสร้างพระธาตุองค์ใหญ่ครอบพระธาตุองค์เล็กไว้ โดยมีฐานรูปสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 17 เมตร ส่วนยอดฉัตร 4 ชั้น ลงรักปิดทอง ที่ยอดฉัตรเป็นรูปดอกบัวตูม ทำด้วยทองคำหนัก 31 บาท ฐานตอนล่างสุดเป็นรูปมารยกฐานไว้ ถัดขึ้นไปเป็นรูปพระสงฆ์สาวกยืนในซุ้มด้านละ 8 องค์รวม 32 องค์ ถัดขึ้นไปเป็นภาพปูนปั้นเล่าเรื่องพระเจ้าสิบชาติสลักเป็นช่อง ๆ 1 ช่อง ต่อ 1 เรื่อง รวมทั้งหมด 10 ช่องและเหมือนกันทั้ง 4 ด้าน ถัดขึ้นไปอีกเป็นลายรัดประคตรูปเทพนั่งบนแท่นสลับกับลายกนก ถัดขึ้นไปอีกประดับลายปูนปั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้าในปางต่าง ๆ สูงจนถึงยอดเจดีย์ ที่มุมฐานทั้งสี่ที่อยู่ด้านล่างเป็นรูปครุฑแบก เหนือขึ้นมาเป็นนาค 7 เศียร

พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ พระธาตุหนองบัว
รายละเอียดรอบองค์พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์

ภายในองค์พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ หรือพระธาตุหนองบัว เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งบรรจุไว้ในสถูปลงรักปิดทองศิลปะอินเดียแบบปาละ คือ เป็นสถูปทรงสี่เหลี่ยมสลักลายเรื่องพระเจ้า 500 ชาติ อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเรียงเป็นแถวคั่นแถวด้วยลายกลีบบัว

พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ พระธาตุหนองบัว
ภายในองค์พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์

รอบองค์พระธาตุเป็นกำแพงแก้ว ซึ่งทั้ง 4 มุมของกำแพงแก้วประดิษฐานพระเจดีย์ธาตุขนาดเล็กอีก 4 องค์ เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยมประดับลายรูปเทพพนมและลายกนก ที่ฐานปั้นเป็นรูปเทวดาประทับนั่งในซุ้มภายในองค์ประธาตุมีประตูทางเข้า 4 ด้าน สร้างเสร็จในปี พ.ศ.​ 2512

พระธาตุเจดีย์พระศรีมหาโพธิ์ พระธาตุหนองบัว
เจดีย์ธาตุที่ตั้งอยู่ทั้ง 4 มุมขององค์พระธาตุเจดีย์พระศรีมหาโพธิ์

คำไหว้พระธาตุเจดีย์พระศรีมหาโพธิ์ หรือพระธาตุหนองบัว อุบลราชธานี

วันทามิ ภันเต เจติยัง สัพพัตถะฐาเน
สุปะติฏฐิตัง สารีริกกะธาตุ มหาโพธิง พุทธะรูปัง
สะกะลัง วะจะสา มะนะสา เจวะ
วันทาเมเต สะยะเน อาสะเน ฐาเน คะมะเน จาปิ สัพพะทา
อุกาสะ วันทามิ ภันเต สัพพัง อะปะราธัง
ขะมะถะเม ภันเต มะยา กะตัง ปุญญัง มัยหัง
ขะมะถะเม ภันเต มะยา กะตัง ปุญญัง มัยหัง
ทาตัพพัง สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

ด้านหลังของพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ มีอุโบสถศาลาซึ่งสร้างเลียนแบบรูปทรงมาจากปรินิพพานวิหารเมืองกุสินาราย รัฐอุตร ประเทศประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

อุโบสถศาลาวัดพระธาตุหนองบัว
อุโบสถศาลาวัดพระธาตุหนองบัว

อุโบสถศาลาวัดพระธาตุหนองบัว

อุโบสถศาลาที่วัดพระธาตุหนองบัวนี้ สร้างเป็นอาคารตรีมุข คือ มีหลังคายื่นออกไปเป็นสามด้าน หลังคารูปร่างโค้งมน มีระเบียงพาไลโดยรอบตกแต่งด้วยลวดลายวิจิตรงดงาม ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ซึ่งเป็นพระประธานในซุ้มตรีมุข เพดานโค้งด้านบนเขียนรูปเทวดาดั้นเมฆพนมมือบนพื้นสีแดง ตรงกลางเป็นรูปดาว ส่วนล่างเขียนจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติ ส่วนเสา พื้น และผนังบุหินแกรนิต

ด้านนอกของะอุโบสถศาลา วัดพระธาตุหนองบัว
ด้านนอกของะอุโบสถศาลา วัดพระธาตุหนองบัว
อุโบสถศาลา วัดพระธาตุหนองบัว
ด้านในอุโบสถศาลา วัดพระธาตุหนองบัว
ภาพจิตรกรรมบนเพดานของอุโบสถศาลา วัดพระธาตุหนองบัว
ภาพจิตรกรรมบนเพดานของอุโบสถศาลา วัดพระธาตุหนองบัว
ต้นเทียนพรรษาของวัดพระธาตุหนองบัว
รูปปั้นลอยตัวก่ออิฐถือปูนขบวนต้นเทียนพรรษาของวัดพระธาตุหนองบัว ตั้งอยู่ด้านหน้าทั้งสองข้างของอุโบสถศาลา วัดพระธาตุหนองบัว
พิพิธภัณฑ์พระครูกิตติ วัณโณบล วัดพระธาตุหนองบัว
พิพิธภัณฑ์พระครูกิตติ วัณโณบล วัดพระธาตุหนองบัว
หอระฆัง วัดพระธาตุหนองบัว
หอระฆัง วัดพระธาตุหนองบัว
ศาลากาญจนาภิเษก วัดพระธาตุหนองบัว
ศาลากาญจนาภิเษก วัดพระธาตุหนองบัว
ซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถศาลา วัดพระธาตุหนองบัว
ซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถศาลา วัดพระธาตุหนองบัว
วัดพระธาตุหนองบัว ศูนย์รวมจิตใจของชาวอุบลราชธานี
วัดพระธาตุหนองบัว ศูนย์รวมจิตใจของชาวอุบลราชธานี

ที่ตั้ง วัดพระธาตุหนองบัว

ถนนธรรมวิถี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดพระธาตุหนองบัว

15.263184, 104.839711

บรรณานุกรม

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple.

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2534). รายงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “วัดและประเพณีพื้นบ้าน”. อุบลราชธานี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.

www.At-bangkok.com. วัดพระธาตุหนองบัว, วันที่ 18 มกราคม 2558. http://at-bangkok.com/travel_ubonrachtani_watsrinuan.php.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง