ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดทุ่งศรีเมือง

ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้การทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ ก่อนนั้นเป็นชุมชนที่ทำทียนประเภทติดพิมพ์ส่งเข้าร่วมงานอย่างต่อเนื่องทุกปีและได้รับรางวัลมาโดยตลอด ต่อมาในปี 2557 ได้เปลี่ยนมาเป็นการทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก

การเตรียมแผ่นผึ้งในการทำเทียนพรรษาประเถทแกะสลักของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559
การเตรียมแผ่นผึ้งในการทำเทียนพรรษาประเถทแกะสลักของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559

วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี

วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สร้างสมัยปลายรัชกาลที่ 3 มีพระเจ้าใหญ่ศรีเมืองเป็นประธานในวิหารศรีเมือง ภายในวัดยังมีหอไตรกลางน้ำ ซึ่งเป็นหอไตรปิฎก เป็นศิลปะผสมระหว่างไทย-ลาว-พม่า สร้างด้วยไม้ตั้งอยู่กลางหนองน้ำ เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกหรือคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ปรัชญาพื้นบ้าน รวมถึงตำราต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่ทำด้วยใบลานและสมุดข่อย การเก็บไว้ในหอไตรเพื่อไม่ให้วัสดุเหล่านั้นแห้งกรอบและป้องกันการทำลายจากปลวกและแมลงต่าง ๆ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้จดทะเบียนหอไตรนี้เป็นโบราณสถานแล้ว นอกจากนั้นภายในวัดยังมีหอพระพุทธบาท เป็นศิลปะผสมระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์และกรุงเวียงจันทร์ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปองค์เงิน และภาพจิตกรรมฝาผนังที่เก่าแก่

องค์ประกอบเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559
องค์ประกอบเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559

เทียนพรรษาวัดทุ่งศรีเมือง

วัดทุ่งศรีเมือง ได้มีการทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์เข้าร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีอย่างต่อเนื่องทุกปีและได้รับรางวัลโดยตลอด โดยมีพระครูสมุห์สำลี ทิฏฺฐธมฺโม เป็นช่างทำเทียนและเป็นผู้กำกับ ดูแล และได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากชาวบ้านในชุมชน ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา ในจังหวัดอุบลราชธานีที่มีความประสงค์ในการทำเทียนพรรษาเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ทำกิจกรรมกับวัด จนกระทั่งในปี 2557 ทางวัดทุ่งศรีเมืองได้ปรับเปลี่ยนใหม่ โดยการส่งเทียนพรรษาประเภทแกะสลักเข้าร่วมงานแทน

เทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559

ในปี 2559 ทางวัดทุ่งศรีเมืองได้จัดทำเทียนพรรษาเพื่อร่วมสืบสานงานบุญประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีที่ยิ่งใหญ่ โดยการนำของพระครูสังฆรักษ์จันดี สุจนฺโท และคณะทำงานร่วมกับชุมชนได้ออกแบบและจัดทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ขึ้น โดยมีช่างวิเชียร ภาดี เป็นผู้ควบคุมงาน

องค์ประกอบของเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดทุ่งศรีเมืองนี้ ประกอบด้วย

ด้านหน้าเป็นพระนารายณ์ทรงสุบรรณ ซึ่งมีความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นนารายณ์อวตารลงมาปรับทุกข์ เปรียบดั่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณธรรมทุกประการ และปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ให้ร่มเย็นเป็นสุขจนมาถึงปัจจุบัน

องค์ประกอบเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559
องค์ประกอบเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559

ด้านข้างเป็นสัตว์หิมพานต์ นกฑัณทิมาถือธงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 70 ปี ถัดมาเป็นทศชาติชาดก ชาติที่ 3 ใน 10 ชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นสุวรรณสาม ต้องรับภาระเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอด วันหนึ่งกบิลยักษ์แผลงศรมาถูกได้รับบาดเจ็บแสนสาหัสแต่ก็ไม่โกรธ กลับแสดงเมตตาจิตต่อและเทศนาทศพิธราชธรรมให้กบิลยักษ์ฟัง ด้วยอำนาจแห่งเมตตาธรรมทำให้สุวรรณสามหายเจ็บปวดรอดชีวิตมาได้

องค์ประกอบเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559
องค์ประกอบเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559

ช่วงกลางฐานรองรับต้นเทียน ได้แกะสลักเป็นสัตว์ป่าหิมพานต์เป็นนาคอัสดร 5 หัว ซึ่งเป็นหัวนาค ตัวเป็นม้า มีเกล็ด โดยมีพระสยามเทวาธิราชเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และเป็นผู้ครองสวรรค์ชั้น 3 ยามา ยืนประทับอยู่บนหลังนาคอัสดง

ส่วนลำต้นเทียนแกะสลักเป็นรูปกบิลยักษ์ เจ้าเมืองพาราณสีจูงบิดามารดามาพบร่างสุวรรณสาม บิดามารดาจึงตั้งสัจจะอฐิษฐานอ้างคุณความดีของสุวรรณสามที่ได้ปรนนิบัติตน ขอให้พิษของศรหมดไป ซึ่งภายหลังสุวรรณสามก็ฟื้นคืนสติดั่งเดิม และบิดามารดาก็กลับมีจักษุดี ส่วนลายลำต้นประกอบไปด้วย ลายกระหนกสามตัว กระหนกเปลว กระหนกก้านขด เครือเถาและดอกไม้พรรณพฤกษาอันอ่อนหวานตระการตา

ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559
ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559

ส่วนด้านหลังเป็นชาติที่ 4 ของทศชาติชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเนมิราช เจ้าเมืองมิถิลา โปรดการบริจาคทานและรักษาพรหมจรรย์ ครั้งเมื่อเหล่าเทวดาเป็นมนุษย์เคยได้รับทานและฟังธรรมจากพระเจ้าเนมิราช เหล่าเทวดาต่าง ไปเฝ้าพระอินทร์ใครจะได้พบ พระอินทร์จึงได้ส่งมาตุลีเทพสารัตถีนำเวชยันตราราชรถมาเชิญพระเนมิราชเพื่อไปเข้าเฝ้า มาตุลีจึงได้นำชมเหล่าผู้ทำบาป ก็คือ นรก และผู้ทำดี ก็คือ สวรรค์ ส่วนด้านหลังสุดเป็นเทพกินรี 3 องค์ พนมดอกบัวเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวันเข้าพรรษา

การเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559
การเทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559

กลุ่มช่างทำเทียนพรรษาของวัดทุ่งศรีเมืองในปีนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างช่างท้องถิ่นและนักศึกษาคณะจิตรกรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน ทำให้ผลงานที่ออกมามีความสมดุล มีสัดส่วนที่สวยงาม และวิจิตรตระการตา จนได้รับ “รางวัลชนะเลิศ เทียนพรรษาประเภทแกะสลักขนาดใหญ่” ในงานประเพณีแห่งเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2559

ลวดลายการแกะสลักเทียนพรรษาของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559
ลวดลายการแกะสลักเทียนพรรษาของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559
ลวดลายการแกะสลักเทียนพรรษาของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559
ลวดลายการแกะสลักเทียนพรรษาของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559
การแกะสลักเทียนพรรษาของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559
การแกะสลักเทียนพรรษาของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559
การแกะสลักเทียนพรรษาของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559
การแกะสลักเทียนพรรษาของวัดทุ่งศรีเมือง ปี 2559

ที่ตั้ง ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดทุ่งศรีเมือง

วัดทุ่งศรีเมือง ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดทุ่งศรีเมือง

15.230755, 104.860130

บรรณานุกรม

คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมเยือนชุมชน ชมวิถีวัฒนธรรมในการตกแต่งต้นเทียน. (2559). แผนที่เส้นทางเยือนชุมชนคนทำเทียนอุบลราชธานี “เพลินหัตถศิลป์ถิ่นคนทำเทียน” ปี 2559 [แผ่นพับ].

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง