ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดแจ้ง

ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดแจ้ง อุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้การทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ เป็นอีกชุมชนที่ให้การสนับสนุนประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี จุดเด่นของเทียนพรรษาวัดแจ้ง คือ ลวดลายขนาดเล็กละเอียดและขี้ผึ้งที่มีสีเหลืองอ่อนจนเกือบขาวใส อันเกิดจากภูมิปัญญาและฝีมือการนวดขี้ผึ้งก่อนการพิมพ์ลายของช่างทำเทียนพรรษา

เทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ของวัดแจ้ง ปี 2559
เทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ของวัดแจ้ง ปี 2559

วัดแจ้ง อุบลราชธานี

วัดแจ้ง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีอุโบสถหรือสิมที่ได้รับการยกย่องว่ามีรูปทรงสวยงามและมีงานจำหลักไม้ที่มีฝีมือพื้นถิ่นอีสาน ราวบันไดปั้นเป็นรูปจระเข้หมอบ หน้าบันอุด ปีกนกและรวงผึ้งสลักไม้เป็นลายดอกบัวและกอบัวอย่างสวยงาม เคยได้รับเกียรติบัตรในงานนิทรรศการ สถาปนิก 30 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เทียนพรรษาของวัดแจ้ง

เทียนพรรษาของวัดแจ้งนั้นได้เกิดจากความร่วมมือทั้งแรงกายและแรงใจจากชุมชนวัดแจ้งอย่างแท้จริงที่ช่วยกันสืบสานประเพณีแห่เทียนพรรษามาโดยตลอด โดยการนำของพระครูสุตตจันทโสภณ หรือหลวงตาจันทร์  เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ที่ออกแบบลวดลายและลงมือแกะสลักลายลงบนหินสบู่เอง เพื่อใช้สำหรับพิมพ์ลายที่สวยงามอ่อนช้อย และความสามัคคีของช่างเทียนที่เป็นลูกหลานในชุมชนวัดแจ้งและที่เป็นลูกศิษย์ของพระครู เอกลักษณ์หรือจุดเด่นของต้นเทียนวัดแจ้ง คือ ลวดลายขนาดเล็กละเอียดและขี้ผึ้งที่มีสีเหลืองอ่อนจนเกือบจะเป็นสีขาวใสที่เกิดจากภูมิปัญญาและฝีมือการนวดขี้ผึ้งก่อนการพิมพ์ลาย แผ่นผึ้งที่พิมพ์ลายแล้วจะติดลงบนโครงสร้างที่ทาสีพื้นด้วยขี้ผึ้ง ซึ่งจะทำให้แผ่นผึ้งที่ติดลงไปแล้วมีสีที่กลมกลืนกันสวย ถ้าหากติดบนโครงสร้างที่ไม่ได้ทาด้วยขี้ผึ้งมาก่อนจะทำให้ได้ต้นเทียนสีไม่เนียนสวย

พระครูสุตตจันทโสภณ หรือหลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาสวัดแจ้ง
พระครูสุตตจันทโสภณ หรือหลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาสวัดแจ้ง

เทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ของวัดแจ้ง ปี 2559

ในปี 2559 วัดแจ้งได้จัดทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ โดยท่านเจ้าอาวาสได้มอบหมายให้ พระวีระศักดิ์ อาภัสสโร เป็นผู้ดำเนินการติดพิมพ์ต้นเทียน และมีช่างเกรียงไกร พันธ์พิพัฒน์ เป็นหัวหน้าช่างควบคุมการทำเทียน ต้นเทียนมีขนาดมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร ความสูงจากฐานถึงยอด 2.40 เมตร และมีฐานรองรับองค์ประกอบต้นเทียนทั้งหมดมีพื้นที่ 31 ตารางเมตร ประกอบด้วย

ตอนหน้า จัดทำเป็นตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐะกะเสด็จออกบวช ขนาบข้างด้วยฆฏิการพรหมนำผ้าสีย้อมน้ำฝาดและเครื่องอัฏฐบริขารต่าง ๆ มาถวายเจ้าชายสิทธัตถะหลังจากที่บวชแล้ว

ถัดมาเป็นพุทธประวัติตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะพร้อมด้วยสารถีได้พาเจ้าชายออกประพาสไปนอกพระราชวังและได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง 4 ประกอบด้วย คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ซึ่งเทพยดาได้นิมิตให้ทอดพระเนตรโดยเจ้าชายได้ทรงซักถามในสิ่งที่พบเห็นจากสารถีจนเจ้าชายเข้าใจและเกิดปัญญา แสวงหาหนทางการหลุดพ้นจากความทุกข์ต่าง ๆ ที่ทรงพบเห็น จึงทำให้เจ้าชายตัดสินพระทัยที่จะออกบวชแม้จะถูกทัดทานจากวสวัตตีมาร ในขณะออกมาพ้นจากเมืองก็ตาม

องค์ประกอบของเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ ของวัดแจ้ง ปี 2559
องค์ประกอบของเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ ของวัดแจ้ง ปี 2559
องค์ประกอบของเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ ของวัดแจ้ง ปี 2559
องค์ประกอบของเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ ของวัดแจ้ง ปี 2559
องค์ประกอบของเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ ของวัดแจ้ง ปี 2559
องค์ประกอบของเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ ของวัดแจ้ง ปี 2559

ตอนกลาง จัดทำเป็นต้นเทียนติดพิมพ์ขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบขึ้นจากกระจกใสย่อมุมไม้ 12 ตั้งอยู่บนฐานของเรือ ซึ่งจำลองเหตุการณ์เรื่องพระมหาชนก ตอนนางมณีเมขลากำลังจะมาช่วยพระมหาชนกขึ้นจากทะเล ซึ่งเป็นเทพธิดาผู้รักษามหาสมุทรซึ่งเรื่องนี้เป็นหลักธรรมในการปฏิบัติความเพียร ถัดมาเป็นตอนที่พุทธบริษัททั้ง 4 ประกอบด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกาช่วยกันเข็นกงล้อธรรมจักรเพื่อการขับเคลื่อนการเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์

วงล้อธรรมจักร เป็นวงล้อแห่งธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงหมุนเพื่อเผยแผ่พระธรรมที่ทรงตรัสรู้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนนำไปปฏิบัติให้พื้นทุกข์ โดยธรรมมะที่แสดง คือ ธรรมจักรกัปปวัติตนสูตร คือ การเดินทางสายกลางไม่ยึดติดในตัวในสังขารปรุงแต่ง ดี ชั่ว บุญ บาป ทุกข์ สุข อดีต-อนาคต เพื่อดำเนินการสู่การประจักษ์แจ้งด้วยอริยสัจ 4

ตอนกลางของเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ วัดแจ้ง ปี 2559
ตอนกลางของเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ วัดแจ้ง ปี 2559
ตอนกลางและต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ วัดแจ้ง ปี 2559
ตอนกลางและต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ วัดแจ้ง ปี 2559

ตอนหลัง เป็นพุทธประวัติตอนที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วโดยมีเหล่าทวยเทพ เทวดา มาน้อมสักการะสาธุการ และตอนหลังสุดเป็นตอนที่พระพุทธองค์ทรงประทับใต้ต้นโพธิ์หลังจากที่ตรัสรู้แล้วโดยได้เสด็จมาโปรดสัตว์ป่าหิมพานต์ต่าง ๆ

candle-watjang_12
ตอนท้ายของเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ วัดแจ้ง ปี 2559

ลายไทยที่นำมาพิมพ์ขี้ผึ้งติดประดับต้นเทียน ประกอบด้วย ลายประจำยาม ลากกนกใบเทศ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายกนกสามตัว  ลายดอกรัก ลายบัวรวม ลายกาบบัวปากปลิง กาบบัวดอกลอย ลายลูกประคำ ลายกระจังฟันปลา ลายกาบบัวคอเสา ลายบัวใบเทศ ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายเครือใบเทศ ลายเครือก้านขด ลายกนกแข้งสิงห์ ลายกนกเปลว ลายหางไหล ลายเครือเถา

รางวัลการทำเทียนพรรษาของชุมชนวัดแจ้ง 

  • ปี 2551 รางวัลชมเชย ต้นเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
  • ปี 2552 รางวัลชมเชยต้นเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
  • ปี 2553 รางวัลชนะเลิศ ต้นเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ขนาดเล็ก
  • ปี 2554 รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
  • ปี 2555 รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
  • ปี 2556 รางวัลชมเชย ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
  • ปี 2557 รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
  • ปี 2558 รางวัลชนะเลิศ ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
  • ปี 2559 รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
ความละเอียดอ่อนช้อยของลวดลายติดพิมพ์เทียนพรรษาวัดแจ้ง ปี 2559
ความละเอียดอ่อนช้อยของลวดลายติดพิมพ์เทียนพรรษาวัดแจ้ง ปี 2559
ลวดลายติดพิมพ์เทียนพรรษาวัดแจ้ง ปี 2559
ลวดลายติดพิมพ์เทียนพรรษาวัดแจ้ง ปี 2559
ลวดลายติดพิมพ์เทียนพรรษาวัดแจ้ง ปี 2559
ลวดลายติดพิมพ์เทียนพรรษาวัดแจ้ง ปี 2559
การพิมพ์แผ่นขี้ผึ้งในการทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ วัดแจ้ง ปี 2559
การพิมพ์แผ่นขี้ผึ้งในการทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ วัดแจ้ง ปี 2559
องค์ประกอบของเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ วัดแจ้ง ปี 2559
องค์ประกอบของเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ วัดแจ้ง ปี 2559
การติดพิมพ์เทียนพรรษา วัดแจ้ง ปี 2559
การติดพิมพ์เทียนพรรษา วัดแจ้ง ปี 2559

ที่ตั้ง ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดแจ้ง

วัดแจ้ง ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดแจ้ง

15.237056, 104.859487

บรรณานุกรม

ไกด์อุบล. ผลการประกวดต้นเทียนพรรษา งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี, 16 สิงหาคม 2559. www.guideubon.com

คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมเยือนชุมชน ชมวิถีวัฒนธรรมในการตกแต่งต้นเทียน. (2559). แผนที่เส้นทางเยือนชุมชนคนทำเทียนอุบลราชธานี “เพลินหัตถศิลป์ถิ่นคนทำเทียน” ปี 2559 [แผ่นพับ].

ชัยกฤต ศรีทานันท์. สัมภาษณ์, วันที่ 14 กรกฎาคม 2559.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง