วัดใหม่ทองสวาง อุโบสถศิลป์ไทยญวน

วัดใหม่ทองสวาง หรือ วัดก่อใน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีอุโบสถงานสถาปัตยกรรมของฝีมือช่างหล้า จันทรวิจิตร ช่างทำเทียนพรรษาเมืองอุบลผู้มีฝีมือด้านศิลปกรรมไทย และช่างนา เวียงสมศรี ช่างสกุลญวน เป็นอุโบสถที่ผสมผสานศิลปกรรมไทยและญวน

อุโบสถ วัดใหม่ทองสวาง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
อุโบสถ วัดใหม่ทองสวาง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติวัดใหม่ทองสวาง

วัดใหม่ทองสวาง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 35 ไร่ อาณาเขต ทิศเหนือ จดบ้านก่อใน หมู่ 7 ทิศใต้ จดบ้านน้ำคํา หมู่ 6 ทิศตะวันออก จดบ้านน้ำคำ หมู่ 6 ทิศตะวันตกดบ้านก่อใน หมู่ 7 มีที่ธรณีสงฆ์ จํานวน 2 แปลง เนื้อที่ 14 ไร่ 90 ตารางวา อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 7 เมตร ยาว 17 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2500 ศาลาการเปรียญ กว้าง 12 เมตร ยาว 17 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2484 กุฏิสงฆ์ จํานวน 7 หลัง เป็นอาคารไม้ 4 หลังครึ่งตึก ครึ่งไม้ 3 หลัง และศาลาบําเพ็ญกุศล จํานวน 1 หลัง เป็นอาคาร ครึ่งตึกครึ่งไม้ ปูชนียวัตถุมี พระพุทธรูป สร้างด้วยทองสําริด ปางสมาธิ จํานวน 2 องค์ และเจดีย์ 1 องค์

ศาลาการเปรียญวัดใหม่ทองสวาง
ศาลาการเปรียญวัดใหม่ทองสวาง
หอระฆังวัดใหม่ทองสวาง
หอระฆังวัดใหม่ทองสวาง
ปูชนียสถานในวัดใหม่ทองสวาง
ปูชนียสถานในวัดใหม่ทองสวาง
พระพุทธรูปในวัดใหม่ทองสวาง
พระพุทธรูปในวัดใหม่ทองสวาง

ประวัติวัดใหม่ทองสวาง ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2478 เดิมชื่อว่า วัดก่อใน ตั้งอยู่ท้ายหมู่บ้าน แต่เนื่องจากเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมวัดเป็นประจํา เจ้าอาวาสและชาวบ้านได้ตกลงย้ายวัดไปตั้งในที่แห่งใหม่ซึ่งมี คุณพ่อทอง กัญญาบัตร ได้บริจาคที่ดินให้สร้างวัด จํานวน 35 ไร่และตั้งชื่อว่า “วัดใหม่ทองสวาง” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2484 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ ทราบนาม คือ รูปที่ 1 พระครูวิรุฬสุตการ พ.ศ. 2484-2515 ท่านเป็นพระเกจิชื่อดังสมัยสงครามอินโดจีน และยังเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของพระโพธิญาณเถร หรือหลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี นอกจากนั้นแล้วท่านยังเป็นพระนักปกครอง ศิษย์ผู้น้องของพระครูวิโรจน์รัตโนบล และเป็นศิษย์เอกพระครูกมลวิสุทธิ์ รูปที่ 2 พระครูอุดมธรรมกิจ ตั้งแต่ พ.ศ. 2514  มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมเปิดสอน เมื่อ พ.ศ. 2493 และศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เปิดสอน เมื่อ พ.ศ. 2527

อุโบสถวัดใหม่ทองสวาง
อุโบสถวัดใหม่ทองสวาง
ซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถวัดใหม่ทองสวาง
ซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถวัดใหม่ทองสวาง
บันไดทางขึ้นอุโบสถวัดใหม่ทองสวาง
บันไดทางขึ้นอุโบสถวัดใหม่ทองสวาง
บันไดทางขึ้นอุโบสถวัดใหม่ทองสวาง
บันไดทางขึ้นอุโบสถวัดใหม่ทองสวาง
ซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถวัดใหม่ทองสวาง
ซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถวัดใหม่ทองสวาง
ซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถวัดใหม่ทองสวาง
ซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถวัดใหม่ทองสวาง
มุมฐานอุโบสถวัดใหม่ทองสวาง
มุมฐานอุโบสถวัดใหม่ทองสวาง
ฐานอุโบสถวัดใหม่ทองสวาง
ฐานอุโบสถวัดใหม่ทองสวาง

พระครูอุดมธรรมกิจ หรือ หลวงปู่ขุน อนุตตโร

วัดใหม่ทองสว่าง มีพระเกจิอาจารย์ที่สืบทอดสายวิปัสสนากรรมฐานรูปปัจจุบัน คือ “พระครูอุดมธรรมกิจ” หรือ “หลวงปู่ขุน อนุตตโร” เป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย เปี่ยมด้วยคุณธรรม เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ชื่อเสียงของท่านเป็นที่รับรู้กันทั่ว มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย ปฏิปทางดงามเป็นที่เลื่อมใสของผู้ได้พบเห็น เป็นร่มโพธิ์ทองของบรรดาพุทธศาสนิกชน จนได้รับสมญานามว่า “เทพเจ้าแห่งวารินชำราบ”

พระครูอุดมธรรมกิจ หรือ หลวงปู่ขุน อนุตตโร
พระครูอุดมธรรมกิจ หรือ หลวงปู่ขุน อนุตตโร

พระครูอุดมธรรมกิจเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ และเจ้าอาวาสวัดใหม่ทองสว่าง หลวงปู่ขุนเดิมมีชื่อว่า ขุน ถือกำเนิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 ปีมะแม เป็นคนบ้านดอนโด่ ตำบลนาคาย อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรในตระกูลผู้มีฐานะทางครอบครัวดี ไม่ลำบากเดือดร้อน ปู่ย่าตายายมีที่ไร่ที่นามากมาย เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ชอบตามคุณยายไปวัดอยู่เป็นประจำ จนเป็นที่รักใคร่ของญาท่านจอม พระอาจารย์ใหญ่สำนักเรียนมูลกัจจายน์ ครั้นเมื่อเรียนจบชั้นบังคับประถม 4 จึงบรรพชา เมื่ออายุได้ 17 ปี มีอาจารย์แก้ว หลวงลุงของญาท่านสวน ฉันทโร เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากบวชแล้วอยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัย มีญาท่านสวน ฉันทโร เป็นพระพี่เลี้ยงอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้เดินทางกลับไปบ้านจิกเทิง ทุกปีต่อมาหลวงปู่ขุนถือเป็นข้อวัตรปฏิบัติต่ออาจารย์ คือ ในฤดูเข้าพรรษาต้องไปทำสามีจิกรรม-ทำวัตรหลวงปู่ญาท่านสวนทุกปี จนกระทั่งหลวงปู่ญาท่านสวนมรณภาพ แม้ทุกวันนี้ท่านยังแวะเวียนไปกราบสรีระท่านอยู่เมื่อเดินทางผ่านไปปฏิบัติศาสนกิจแถบนั้น

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดใหม่ทองสว่าง อำเภอวารินชำราบ มีพระครูกมลวิสุทธิ์ เจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “อนุตตโร” แปลว่า ผู้ยอดเยี่ยมไม่มีใครเสมอ ภายหลังอุปสมบทแล้วเจ้าอาวาสวัดใหม่ทองสว่างได้เอ่ยปากขอจากพ่อแม่และญาติพี่น้องที่เดินทางมาด้วยกันว่า จะขอให้อยู่จำพรรษาที่วัดใหม่ทองสว่าง เพื่อศึกษาเรียนหนังสือและคอยเป็นพระอุปัฏฐากนับแต่นั้นมา

พระครูวิรุฬสุตการ มองเห็นแววจึงได้ถ่ายทอดความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเทศนาโวหารและการปกครองให้จนเป็นที่โดดเด่นในวงการคณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานีสมัยนั้น และรับแต่งตั้งเป็นพระใบฎีกาในฐานานุกรมของเจ้าคุณพระปริยัติโกศล (ถวัลย์ อาจารสุโภ)ครั้นเมื่อพระครูวิรุฬสุตการได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบและย้ายไปอยู่วัดวารินทราราม จึงให้พระใบฎีกาขุนอยู่สืบทอดเป็นเจ้าอาวาสรักษาวัดสืบมาจนปัจจุบัน

หลวงปู่ขุนเรียนวิชาหนุนดวง-ค้ำดวงจนสำเร็จ จากหลวงปู่พระครูวิรุฬสุตการ ซึ่งเป็นวิชาเอกที่สืบทอดกันมาจากสายสมเด็จลุน แห่งเมืองจำปาสัก และยังมีความเกี่ยวข้องกับหลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง

เมื่อครั้งที่หลวงปู่ชามาสร้างวัดหนองป่าพง ท่านได้นำพาญาติโยมไปร่วมปฏิบัติธรรมอยู่เป็นประจำ หลวงปู่ขุนเห็นความสงบเยือกเย็นแห่งธรรม ทำให้มุ่งมั่นปฏิบัติกัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้น และยิ่งได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่ชาอยู่เป็นประจำด้วย ยิ่งทำให้หลวงปู่ขุนมีความรู้ในกัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้น

หลวงปู่ขุนเล่าว่า “การเรียนกัมมัฏฐานเป็นวิธีฝึกจิตให้เกิดสมาธิ เมื่อมีสมาธิก็เกิดปัญญา และมองได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนไม่เที่ยง มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย สรุปคือ ไม่มีอะไรเลย เพื่อให้ปลงและหลุดพ้น” ตลอดระยะเวลาที่หลวงปู่ขุนอยู่ที่วัดใหม่ทองสว่าง ด้วยความเป็นพระผู้ใหญ่ที่มีพรรษาสูง ได้รับความเคารพจากพระลูกวัดทั่วไป ท่านจัดระเบียบการปกครองวัด งานศึกษาสงเคราะห์ และการเผยแผ่พระพุทธศา

ด้านการศึกษา ท่านให้การสนับสนุนโรงเรียนทุกโรงเรียนที่อยู่ในเขตปกครอง รวมทั้งได้จัดตั้งกองทุนเอาไว้ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้มีโอกาสได้รับการศึกษา รวมทั้งพระภิกษุ-สามเณร ที่ขาดแคลน

หลวงปู่ขุนมุ่งมั่นศึกษาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ มีปฏิปทาที่มั่นคง สงเคราะห์ญาติโยมที่เดือดร้อนมาโดยตลอด เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีสัจบารมีแน่วแน่มั่นคง ปฏิบัติเกื้อกูลต่อพุทธศาสนิกชนที่มากราบนมัสการอย่างสม่ำเสมอกัน กอปรกับเป็นพระเกจิอาจารย์เข้มขลัง ทำให้เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าจากสาธุชนทั้งใกล้ ไกล หลั่งไหลมากราบนมัสการ เพื่อความเป็นสิริมงคลมิขาดสาย

ท่านได้รับกิจนิมนต์นั่งปรกปลุกเสกพระเครื่องและเครื่องรางของขลังตามวัดต่าง ๆ เป็นประจำ ด้วยความเมตตาของท่านที่คอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากอย่างเต็มที่ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง จนชื่อเสียงของหลวงปู่โด่งดังขจรขจายไปทั่วทุกทิศ ทำให้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ที่เข้ามากราบฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่ขุนได้ปฏิบัติงานศาสนกิจด้วยดี ได้อบรมสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุ สามเณรและศิษย์วัดในการปกครอง อบรมสั่งสอนศีลธรรมจริยธรรมแก่พุทธบริษัทอย่างสม่ำเสมอ บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นพระสงฆ์สุปฏิปันโนที่น่ากราบไหว้อีกรูป

img_4457

ที่ตั้ง วัดใหม่ทองสวาง

เลขที่ 60 บ้านก่อใน ถนนกันทรลักษ์ หมู่ที่ 7 ตําบลแสนสุข อําเภอวารินชําราบ จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดใหม่ทองสวาง

15.156648, 104.851703

บรรณานุกรม

ร้านอิทธิปาฏิหาริย์พระเครื่อง. ประวัติหลวงปู่ขุน อนุตตโร วัดใหม่ทองสวาง จ.อุบลราชธานี พระเกจิวารินชำราบ, 29 สิงหาคม 2559. http://www.itti-patihan.com/

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 5 สิงหาคม 2559. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง