ดินอุบลฯ ปลูกพืชอะไรดี

พื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี พบชุดดินคงที่มีลักษณะเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายมากที่สุด พืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมในการปลูกได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน พืชเศรษฐกิจที่ควรส่งเสริมให้ปลูกมากขึ้น ได้แก่ ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี หอมแดง พริกขี้หนู และพืชสมุนไพร เช่น กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก เป็นต้น

จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า แอ่งโคราช (Korat basin) โดยสูงจากน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 68 เมตร หรือ 227 ฟุต มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านทั้งแม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำโขงภูมิประเทศทางตอนใต้ของจังหวัดมีเทือกเขาพนมดงรักกั้นอาณาเขตระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว และกัมพูชา 

แผนที่ภูมิประเทศอุบลราชธานี
แผนที่ภูมิประเทศของจังหวัดอุบลราชธานี ภาพจาก www.mitrearth.org

ชุดดินของจังหวัดอุบลราชธานี

สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี (2565) ให้ข้อมูลว่า ชุดดินของจังหวัดอุบลราชธานี พบมากที่สุดคือ ชุดดินคง ซึ่งมีลักษณะเนื้อดินร่วนปนทราย ส่วนดินล่างเป็นดินร่วนปนดินเหนียว หรือดินร่วมเหนียวปนทราย สีน้ำตาล หรือสีแดงปนเหลือง ที่เกิดจากการสลายตัวผุพังของหินเนื้อหยาบ พบบริเวณพื้นที่ดอนที่เป็นลูกคลื่นลอนลาด กับลอนชันของลานตำพักลำน้ำระดับกลางถึงสูง  เป็นดินลึก มีการระบายน้ำดี ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกกว่า 2 เมตร ตลอดทั้งปี มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำถึงปานกลาง ดินมีความเป็นกรดเล็กน้อยถึงปานกลาง

รองลงมาคือ ชุดดินจักราช เป็นดินพื้นที่ดอนเป็นลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อยถึงเนินเขา เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินพวกตะกอนลำน้ำ หรือการสลายตัวผุพังอยู่กับที่ หรือสลายตัวผุพังอยู่กับที่แล้วถูกเคลื่อนย้ายมาทับถมของวัสดุเนื้อหยาบ ดินร่วนปนทราย ลึกมาก การระบายน้ำดี สีน้ำตาลปนแดง แดงปนเหลือง หรือสีแดง มีความเป็นกรดจัดมากถึงกรดจัด

ลักษณะของดินในจังหวัดอุบลราชธานี

กัญชร บุญญวัฒนา (2553) ได้แบ่งลักษณะของดินในจังหวัดอุบลราชธานีเป็น 5 กลุ่มใหญ่ คือ

1.กลุ่มดินไร่ มีลักษณะเป็นดินร่วนถึงดินปนทราย พบในที่ราบและที่ดอน มีการระบายน้ำดีมีความอุดม สมบูรณ์ปานกลางถึงต่ำ ครอบคลุมพื้นที่ดินร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด กระจายอยู่ทั่วไป แยกตามคุณสมบัติของดินได้ 4 กลุ่มย่อย ได้แก่

  • กลุ่มดินไร่ทั่วไป มีพื้นที่เพียงเล็กน้อย ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเขมราฐ อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอโขงเจียม อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอบุณฑริก อำเภอน้ำยืน อำเภอเมือง และอำเภอเขื่องใน
  • กลุ่มดินไร่ตื้น ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอตาลสุม
  • กลุ่มดินไร่ดี อยู่ในพื้นที่อำเภอน้ำยืน อำเภอน้ำขุ่น และอำเภอทุ่งศรีอุดม
  • กลุ่มดินไร่ทราย อยู่ในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ อำเภอบุณฑริก อำเภอน้ำยืน และอำเภสำโรง

2.กลุ่มดินคละ ครอบคลุมพื้นที่ดินร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ดังนี้

  • กลุ่มดินไร่ทั่วไปคละกับดินทางทั่วไป อยู่ในพื้นที่อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอตระการพืชผล อำเภอตาลสุม อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอเดชอุดม อำเภอวารินชำราบ อำเภอเมือง และอำเภอสำโรง
  • กลุ่มดินไร่คละกับดินนาทั่วไป อยู่ในพื้นที่อำเภอกุดข้าวปุ้นและอำเภอเขมราฐ
  • กลุ่มดินไร่ตื้นคละกับดินนาตื้น อยู่ในพื้นที่อำเภอเดชอุดม และอำเภอน้ำยืน

3.กลุ่มดินนา มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงต่ำ มีการระบายน้ำไม่ค่อยดี ใช้ประโยชน์ในการทำนา มีพื้นที่ร้อยละ 15 ของพื้นที่ทั้งหมด แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ดังนี้

  • กลุ่มดินนาทั่วไป อยู่ในพื้นที่อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอน้ำยืน และอำเภอสำโรง
  • กลุ่มดินนาดี อยู่ในพื้นที่อำเภอเขื่องใน อำเภอเมือง อำเภอวารินชำราบ และอำเภอตาลสุม
  • กลุ่มดินนาตื้น อยู่ในพื้นที่อำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอเดชอุดม
พื้นที่ทำนาจังหวัดอุบลราชธานี
พื้นที่ปลูกข้าวนาปีของจังหวัดอุบลราชธานี

4. กลุ่มพื้นที่สูงและภูเขา พบในบริเวณที่มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาหรือ เทือกเขาซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีความลาดชันมากกว่า 35% มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมสำหรับนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 15 ของพื้นที่จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ทางทิศเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแนวยาวไปทางทิศใต้ของจังหวัดและเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา 

ภูมิประเทศอำเภอน้ำยืน อุบลราชธานี
ภูมิประเทศและแนวเทือกเขาบริเวณอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

5.กลุ่มดินเค็ม จะครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ดังนี้

  • ดินเค็มน้อย คิดเป็นร้อยละ 15 ของพื้นที่นาในจังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอเขื่องใน อำเภอม่วงสามสิบ และอำเภอตระการพืชผล
  • ดินเค็มปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 0.40 ของพื้นที่นาในจังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในพื้นที่อำเภอเขื่องในและอำเภอม่วงสามสิบ
  • ดินเค็มจัด คิดเป็นร้อยละ 2 ของพื้นที่นาในจังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในพื้นที่อำเภอเขื่องในและอำเภอม่วงสามสิบ
แผนที่ความอุดมสมบูรณ์ของดินในจังหวัดอุบลราชธานี
แผนที่ความอุดมสมบูรณ์ของดินจังหวัดอุบลราชธานี โดย กรมสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน กรมพัฒนาที่ดิน ภาพจาก https://www.ldd.go.th/WEB_SoilfertilityMap/ubn.html

ปัญหาการใช้ที่ดินในจังหวัดอุบลราชธานี

สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี. (2565) ได้วิเคราะห์ปัญหาการใช้ที่ดินในจังหวัดอุบลราชธานีไว้ว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกันทั้งพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำ พื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง พื้นที่ลูกคลื่นลาดชัน และพื้นที่เทือกเขาสูง ทำใ้ห้เกิดปัญหาการนำที่ดินไปใช้ที่หลากหลาย ได้แก่

  1. การนำดินไปใช้ไม่เหมาะสม เช่น การนำเอาที่ดินที่เหมาะกับการทำเกษตรกรรมไปใช้สร้างแหล่งชุมชนหรือแหล่งอุตสาหกรรม การนำที่ดินที่เหมาะกับการปลูกพืชไร่ไปทำนา 
  2. ปัญหาน้ำท่วมในบริเวณที่ราบสูง ริมลำน้ำในช่วงที่ฝนตกติดต่อกับเวลานาน หรือเกิดน้ำท่วมฉับพลันจากการไหลบ่าจากลำน้ำต่าง ๆ 
  3. ปัญหาขาดแคลนน้ำ บริเวณที่ดอนที่มีสภาพเป็นลอนคลื่น มีความลาดชัน เนื้อดินค่อนข้างเป็นทราย 
  4. ปัญหาที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเนื้อดินค่อนข้างหยาบและเป็นทราย มีอินทรีย์วัตถุน้อย บางพื้นที่ดินอัดตัวแน่นมาก มีการชะล้างและการกัดกร่อนของหน้าดิน 
  5. ปัญหาเกี่ยวกับดินตื้น แม้จะมีเนื้อที่จำนวนมากแต่ดินที่เหมาะกับการทำกสิกรรมอย่างถาวรมีน้อย ไม่คุ้มค่ากับการปรับปรุงและบำรุงรักษา จึงทำให้ดินทีความอุดมสมบูรณืต่ำไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของรากพืช และทำให้ผลผลิตต่ำ
  6. ปัญหาดินเค็มและการแพร่กระจายของดินเค็ม เนื่องจากมีชั้นดินมหาสารคามซึ่งมีหินเกลือ (Rock salt) มีการสลายตัวของหินดินดานและหินทราย shale และ shamdstone ที่มีเกลือเป็นองค์ประกอบและสามารถละลายน้ำได้ดี จึงถูกพัดพามาจากที่สูงไปสะสมตามที่ลุ่มต่ำและซึมสู่ผิวดิน มีการแพร่กระจายของเกลืออย่างรวดเร็ว
  7. ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการที่ดิน เช่น การใช้ปุ๋ยในอัตราและชนิดที่ไม่เหมาะสมกับคุณสมบัติของดิน การใช้พันธุ์พืชที่ไม่เหมาะสมกับคุณสมบัติของดิน หรือปลูกพืชที่ทำให้ดินเสื่อมโทรมเร็ว เช่น มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัว เป็นต้น
แผนที่น้ำท่วมอุบลราชธานี ปี 2562
แผนที่สภาพน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2565 ภาพจาก www.mitrearth.org

พืชเศรษฐกิจที่เหมาะกับจังหวัดอุบลราชธานี

พืชเศรษฐกิจที่สำคัญพิจารณาจากพืชที่มีพื้นที่ปลูกมากและมีมูลค่าการส่งออกหรือแปรรูปตามประกาศพืชเศรษฐกิจ 13 ชนิดพืชของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมพัฒนาที่ดินได้กำหนดระดับความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกรายจังหวัด โดยวิเคราะห์จากสภาพพื้นที่ ลักษณะของดิน ปริมาณน้ำฝน แหล่งนำ้ชลประทาน ร่วมกับการจัดการพื้นที่และลักษณะรายพืช โดยแบ่งระดับความเหมาะสม เป็น 4 ระดับ ได้แก่

  • ระดับที่ 1 เป็นพื้นที่ความเหมาะสมสูง (S1) การปลูกพืชให้ผลตอบแทนสูง
  • ระดับที่ 2 เป็นพื้นที่ความเหมาะสมปานกลาง (S2) การปลูกพืชให้ผลตอบแทนสูง แต่พบข้อจํากัด บางประการซึ่งสามารถบริหารจัดการได้
  • ระดับที่ 3 เป็นพื้นที่ความเหมาะสมเล็กน้อย (S3) มีข้อจํากัดบางประการของดินและน้ํา ส่งผลให้ การผลิตพืชให้ผลตอบแทนต่ำ การใช้พื้นที่ต้องใช้ต้นทุนสูงในการจัดการ และมีความเสี่ยงจากน้ําท่วม และขาดน้ํา
  • ระดับที่ 4 เป็นพื้นที่ไม่เหมาะสม (N)

ผลการวิเคราะห์ของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2564) พบว่า ในปี 2564 จังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่พืชเศรษฐกิจที่ปลูกมาก 4 ลำดับแรก ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน

แนวทางการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจของจังหวัดอุบลราชธานี

ข้าว อุบลราชธานี
ข้าว พืชเศรษฐกิจที่ปลูกมากที่สุดในจังหวัดอุบลราชธานี

ข้าว

พื้นที่ปลูกข้าวที่มีความเหมาะสมสูงและปัจจุบันยังปลูกข้าวอยู่ มีเนื้อที่ 173,602 ไร่ กระจายตัวมากอยู่ในอำเภอเขื่องใน อำเภอเมือง และอำเภอวารินชำราบ ควรเสนอแผนการใช้ที่ดินเพื่อสงวนให้เป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของจังหวัด และมีการบริหารจัดการน้ำชลประทาน การจัดการดิน ปุ๋ย พันธุ์ข้าว มีการรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ พัฒนาต่อยอดครบวงจรด้านการตลาดในและต่างประเทศ การแปรรูป แหล่งทุน มีภาครัฐสนับสนุนการทำมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ และ GAP 

พื้นที่ปลูกข้าวที่มีความเหมาะสมปานกลาง (S2) และปัจจุบันยังปลูกข้าวอยู่ มีเนื้อที่ 1,499,151 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอเดชอุดม อำเภอบุณฑริก และอำเภอพิบูลมังสาหาร เป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่มีข้อจำกัดไม่มากนัก เกษตรกรยังคงปลูกข้าวควรสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ และการทำเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรแม่นยำหรือเกษตรทฤษฎีใหม่

พื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่มีความเหมาะสม (S3 และ N) และปัจจุบันเกษตรกรยังคงใช้ที่ดินปลูกข้าวอยู่ควรสนับสนุนการปรับโครงสร้างที่ดิน ปรับปรุงบำรุงดิน สนับสนุนแหล่งน้ำ ให้เกษตรกรเลือกปลูกพืชชนิดใหม่ที่มีความเหมาะสม และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า หรือใช้พื้นที่ผลิตอาหารเพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือเข้า โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) เป็นต้น

พื้นที่ที่มีศักยภาพหรือมีความเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว แต่ปัจจุบันเกษตรกรใช้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา ควรส่งเสริมให้ทำการเกษตรแบบผสมผสานหรือทดแทน

ยางพารา 

พื้นที่ปลูกยางพาราที่มีความเหมาะสมสูง (S1) และปัจจุบันยังปลูกยางพาราอยู่ มีเนื้อที่ 45,806 ไร่ ปลูกมากในเขตอำเภอน้ำยืน อำเภอบุณฑริก และอำเภอเดชอุดม ควรให้มีการเสนอแผนการใช้ที่ดินเพื่อสงวนให้เป็นแหล่งปลูกยางพาราคุณภาพดีที่สำคัญของจังหวัด ควรมีการจัดการที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการปลูกยางพาราให้ได้คุณภาพ เน้นการพัฒนาการตลาดในพื้นที่ เช่น จัดตั้งจุดรับซื้อ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางมีความเข้มแข็ง มีการบริหารงานแบบมืออาชีพและสามารถถ่ายทอดกิจการให้กับคนรุ่นใหม่

พื้นที่ปลูกยางพาราที่มีความเหมาะสมปานกลาง (S2) และปัจจุบันยังปลูกยางพาราอยู่ มีเนื้อที่ 382,762 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอบุณฑริก อำเภอเดชอุดม และอำเภอสิรินธร เกษตรกรยังคงปลูกยางพาราได้ผลดี ควรสนับสนุนให้มีเพิ่มผลผลิตยางพารา พัฒนาตลาดและช่องทางจัดจำหน่ายให้มากขึ้น

พื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่มีความเหมาะสม (S3 และ N) และปัจจุบันเกษตรกรยังคงใช้ที่ดินปลูกยางพาราอยู่ ควรส่งเสริมให้มีการโค่นยางพารา ที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปี และหาพืชอื่นทดแทน เช่น ปลูกไม้ผล มะพร้าว ไผ่หวาน มันสำปะหลัง แตงโม พืชไร่ และพืชผักต่าง ๆ ทดแทน หรือปลูกพืชชนิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

พื้นที่ที่มีศักยภาพหรือมีความเหมาะสมสำหรับการปลูกยางพารา แต่ปัจจุบันเกษตรกร ไม่ได้ใช้พื้นที่ปลูกยางพารา พบว่าเกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น ข้าว มันสำปะหลัง เป็นต้น พื้นที่ที่มี ศักยภาพ หรือมีความเหมาะสมสำหรับการปลูกยางพารา แต่เกษตรกร หันมาปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ไม้ผล ไม้ยืนต้นอื่น ๆ ควรเน้นให้เกษตรกรปลูกพืชดังกล่าวต่อไป และควรสร้างความตระหนักให้เกษตรกร เน้นการทำการเกษตรแบบผสมผสาน หรือการเข้าร่วมโครงการเกษตร ทฤษฎีใหม่ หรือ วนเกษตร เพื่อทำให้เกษตรกรสามารถใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่ามากที่สุดต่อไป

มันสำปะหลัง

พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังที่มีความเหมาะสมสูง (S1) และปัจจุบันยังปลูกมันสำปะหลัง อยู่มีเนื้อที่ 312 ไร่ มีพื้นที่ปลูกมากในเขตอำเภอม่วงสามสิบ อำเภอตระการพืชผล และอำเภอเขื่องใน ควรเน้นให้เกษตรกรเน้นเพิ่มผลผลิตแต่ลดต้นทุนผลผลิต ส่งเสริมเกษตรกรแปรรูปมันสำปะหลังเบื้องต้นเพื่อเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมให้เกษตรกรเป็น Smart farmer

พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังที่มีความเหมาะสมปานกลาง (S2) และปัจจุบันยังปลูกมัน สำปะหลังอยู่ มีเนื้อที่ 24,706 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอเขื่องใน อำเภอน้ำยืน และอำเภอ ม่วงสามสิบ เกษตรกรยังคงปลูกมันสำปะหลังได้ผลดี ควรพัฒนาคุณภาพดินให้มากขึ้น

พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ไม่มีความเหมาะสม (S3 และ N) และปัจจุบัน เกษตรกรยังคงใช้ที่ดินปลูกมันสำปะหลังอยู่ ควรส่งเสริมให้ลดต้นทุนการผลิต หรือปลูกพืชชนิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า หรือใช้พื้นที่ผลิตอาหารเพื่อบริโภคในครัวเรือน

พื้นที่ที่มีศักยภาพหรือมีความเหมาะสมสำหรับการปลูกมันสำปะหลัง พื้นที่ที่มีศักยภาพ หรือมีความเหมาะสมสำหรับการปลูกมันสำปะหลังแต่เกษตรกร หันมาปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น ข้าว ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ไม้ผล ไม้ยืนต้น หรือพืชไร่อื่น ๆ ควรสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรในการบริหาร จัดการพื้นที่ และการปรับปรุงบำรุงดินไม่ให้เสื่อมโทรม 

มันสำปะหลัง อุบลราชธานี
มันสำปะหลัง พืชเศรษฐกิจของจังหวัดอุบลราชธานี

ปาล์มน้ำมัน

พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่มีความเหมาะสมสูง (S1) และปัจจุบันยังปลูกปาล์มน้ำมันอยู่ มีเนื้อที่ 1,149 ไร่ มีพื้นที่ปลูกมากในเขตอำเภอนาจะหลวย และอำเภอน้ำยืน และอำเภอบุณฑริก ควรให้มีการเสนอแผนการใช้ที่ดินเพื่อสงวนให้เป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่สำคัญของจังหวัด ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำ การจัดการดินและปุ๋ยตามมาตรฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาให้เกษตรกรเพาะปลูกตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)

พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่มีความเหมาะสมปานกลาง (S2)และปัจจุบันยังปลูกปาล์มน้ำมัน อยู่มีเนื้อที่ 5,917 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอนาจะหลวย อำเภอน้ำยืน และอำเภอเดชอุดม ควรสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำและทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยเฉพาะในช่วงที่ปาล์มน้ำมันอายุน้อยยังไม่ให้ผลผลิต หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นต้น 

พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ไม่มีความเหมาะสม (S3 และ N) และปัจจุบัน เกษตรกรยังคงใช้ที่ดินปลูกปาล์มน้ำมันอยู่ ควรแนะนำให้เกษตรกรเลือกปลูกพืชชนิดใหม่ที่มีความเหมาะสม ลงทุนน้อยกว่าและให้ผลตอบแทนที่ดี ส่งเสริมสินค้าเกษตร ชนิดอื่น ๆ ที่สามารถปลูก/เลี้ยง หรืออยู่ร่วมกันได้ในสวนปาล์มน้ำมัน

พื้นที่ที่มีศักยภาพหรือมีความเหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน แต่ปัจจุบันเกษตรกรไม่ได้ใช้พื้นที่ปลูก โดยหันมาปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เช่น ข้าว ยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ต้องพิจารณาต้นทุนการผลิตและราคาผลผลิตร่วมด้วย

ปาล์มน้ำมัน อุบลราชธานี
ปาล์มน้ำมัน พืชเศรษฐกิจของจังหวัดอุบลราชธานี

พืชเศรษฐกิจอนาคตไกลของจังหวัดอุบลราชธานี

1. ข้าวหอมมะลิจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการรับรองข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานีได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค เป็นที่ต้องการของโรงสีและ พ่อค้าข้าวทั้งตลาดภายใน และต่างประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เป็นต้น

ข้าวหอมมะลิ อุบลราชธานี
ข้าวหอมมะลิ พืชเศรษฐกิจอนาคตไกลของอุบลราชธานี

2.หอมแดง สามารถปลูกได้ตลอดปี พืชที่ประเทศไทยมีการส่งออกสูง ตลาดรับซื้อ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ตะวันออกกลาง นอกจากนี้ยังมีประเทศในกลุ่มยุโรป ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน อังกฤษ เป็นต้น จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้มีการส่งเสริการปลูกหอมแดงมากขึ้น 

หอมแดง อุบลราชธานี
หอมแดง เครื่องปรุงสารพัดเมนู พืชเศรษฐกิจที่น่าปลูก

3.พริกขี้หนู เป็นพืชผักสมุนไพรที่มีสรรพคุณและประโยชน์ทางยา เป็นเครื่องเทศที่นำมาประกอบปรุงอาหารเมนูต่าง ๆ ได้หลายเมนูโดยในจังหวัดอุบลราชธานีมีการส่งเสริม และปลูกกันอย่างแพร่หลาย

พริกขี้หนู
พริกขี้หนู พืชเศรษฐกิจที่ควรส่งเสริมให้ปลูกในอุบลราชธานี

4.พืชสมุนไพร เป็นเรื่องหนึ่งที่ได้รับความสนใจที่นำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การแพทย์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง ตามนโยบายที่ให้การสนับสนุนแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่ศักยภาพที่สามารถส่งเสริมให้ปลูกพืช สมุนไพรได้หลายชนิด เช่น กระชายดำ ขมิ้นชัน ใบบัวบก เป็นต้น 

  • กระชายดำ จังหวัดอุบลราชธานีมีศักยภาพในการปลูกกระชายดำที่ ระดับความเหมาะสมสูง (S1) ประมาณ 363,602 ไร่ กระจายอยู่ในอำเภอเดชอุดม อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอเขื่องใน อำเภอบุณฑริก อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอสารินชำราบ อำเภอสิรินธร อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอเขมราฐ อำเภอน้ำยืน อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอนาจะหลวย อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอสำโรง อำเภอกุดข้าวปุ้น อำเภอตาลสุม อำเภอทุ่งศรีอุดม อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอ น้ำขุ่น อำเภอนาเยีย อำเภอโขงเจียม อำเภอนาตาล อำเภอเหล่าเสือโก้ก และอำเภอดอนมดแดง
  • ขมิ้นชัน เป็นพืชปลูกง่าย เกษตรกรสามารถปลูกขมิ้นชันแซมในสวนเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ และมีรายได้ระหว่างรอการเติบโตของยางพาราหรือปาล์มน้ำมัน โดยพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่ศักยภาพในการปลูกขมิ้นชันที่ระดับความเหมาะสมสูง (S1) ประมาณ 364,805 ไร่ กระจายอยู่ในอำเภอเดชอุดม อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอเขื่องใน อำเภอบุณฑริก อำเภอ ม่วงสามสิบ อำเภอสารินชำราบ อำเภอสิรินธร อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอเขมราฐ อำเภอน้ำยืน อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอนาจะหลวย อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอสำโรง อำเภอกุดข้าวปุ้น อำเภอตาลสุม อำเภอทุ่งศรีอุดม อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอน้ำขุ่น อำเภอนาเยีย อำเภอโขงเจียม อำเภอนาตาล อำเภอเหล่าเสือโก้ก และอำเภอดอนมดแดง
ขมิ้นชัน
ขมิ้นช้น พืชสมุนไพร พืชเศรษฐกิจที่ควรปลูกที่อุบลราชธานี
  • บัวบก จังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่ศักยภาพในการปลูกบัวบกที่ระดับความเหมาะสมสูง (S1) ประมาณ 83,123 ไร่ กระจายอยู่ในอำเภอเดชอุดม อำเภอตระการพืชผล อำเภอเขื่องใน อำเภอ บุณฑริก อำเภอสิรินธร อำเภอน้ำยืน อำเภอนาจะหลวย อำเภอสำโรง อำเภอทุ่งศรีอุดม อำเภอน้ำขุ่น และ อำเภอโขงเจียม 
บัวบก อุบลราชธานี
บัวบก พืชสมุนไพรและพืชเศรษฐกิจที่ควรส่งเสริม

บรรณานุกรม

กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.(2566). แผนที่ความอุดมสมบูรณ์ของดิน จังหวัดอุบลราชธานี. เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.ldd.go.th/WEB_SoilfertilityMap/ubn.html

กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2564). แนวทางการส่งเสริมการเกษตรที่เหมาะสมตามฐานข้อมูลแผนที่เกษตรเชิงรุก Agri-Map จังหวัดอุบลราชธานี. เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.ldd.go.th/Agri-Map/Data/NE/ubn.pdf

กัญชร บุญญวัฒนา. (2553). รายงานสภาพการใช้ที่ดิน และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2553. เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566, http://e-library.ldd.go.th/library/flip/bib7487f/bib7487f.html#p=31

สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี. (2565).  ทรัพยากรดินในจังหวัดอุบลราชธานี. เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565, http://www.iqservice.net/ubon/km/2.pdf

สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี. (2566). ความเหมาะสมของดินสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจของจังหวัดอุบลราชธานี (Zoning), เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566, http://www.iqservice.net/ubon/km/3.pdf

สำรักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี. (2565). ข้อมูลทั่วไปและข้อมูลด้านการเกษตรที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี. เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.opsmoac.go.th/ubonratchathani-dwl-files-442891791082

 

 

 

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง