บุญผะเหวด (พระเวส) ระเบียบพิธีบุญเดือนสี่ในฮีตสิบสองแบบดั้งเดิมอีสาน

บุญผะเหวด บุญพระเวส หรือบุญมหาชาติ บุญประจำเดือนสี่ตามฮีตสิบสองที่ชาวอีสานยังสืบสานเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่น มีระเบียบวิธีปฏิบัติแบบดั้งเดิมแตกต่างไปจากปัจจุบันอย่างไร

บุญผะเหวด มีความเกี่ยวข้องกับชาดกเรื่อง พระมหาเวสสันดร ชาดกที่แสดงบารมี 10 ประการของพระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงเพียรบำเพ็ญเพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในภาษาอีสานจะออกเสียง “พระเวส” เป็น “ผะเหวด” จึงเป็นชื่อเรียกบุญนี้ว่า “บุญผะเหวด” บ้างก็เรียก “บุญมหาชาติ” เพราะเป็นชาติกาลที่สำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้า

สวิง บุญเจิม (2539) กล่าวว่า ชาวอีสานมีความเชื่อที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสนว่า พระผู้จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต คือ พระศรีอริยเมตไตย์ ใครอยากจะพบเห็นท่านและร่วมในศาสนาของท่าน จะต้องไม่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าสมณชีพราหมณ์ ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน และจะต้องฟังเทศน์ผะเหวด หรือเทศน์พระเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ให้จบในหนึ่งวัน ถือว่าได้ผลานิสงส์มากแม้แต่น้ำมนต์ที่ตั้งไว้ในขณะเทศน์ก็จะนำมาประพรมเพื่อกันเสนียดจัญไรได้

การจัดงานบุญผะเหวด จะนิยมจัดในช่วงเดือน 3-4 หรือราวเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ใช้เวลาในการจัดงานราว 3 วัน หมู่บ้านหรือชุมชนใดจะจัดงานบุญนี้ก็จะมีการบอกกล่าวพี่น้อง หรือหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาช่วยและร่วมบุญกัน ทำให้เกิดสายสัมพันธ์และความสามัคคีกัน

พระอริยานุวัตร เขมจารี (2506) ได้รวบรวมระเบียบการจัดงานประเพณีทำบุญผะเหวดของภาคอีสานไว้ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

ก่อนถึงวันรวมบุญผะเหวด

1.กำหนดวันจัดงานบุญผะเหวด โดย ผู้นำชุมชน ผู้นำวัด ทายกทายิกาผู้เกี่ยวข้องจะมาประชุมหารือกันเพื่อกำหนดวันจัดงานบุญผะเหวดประจำชุมชนขึ้น ซึ่งจะนิยมทำกันในเดือน 3-4 ไม่จำกัดว่าเป็นวันขึ้นหรือวันแรม เอาความสะดวกเป็นสำคัญ ปัจจุบันจึงเห็นว่าจะมีการจัดงานบุญผะเหวดขึ้นในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์เป็นส่วนใหญ่

2.หนังสือชาดกเรื่องพระมหาเวสสันดรที่ถูกบันทึกลงในใบลานด้วยอักษรธรรม ซึ่งมีทั้งหมด 14 ผูก 13 กัณฑ์ จะถูกแบ่งและกำหนดพระสงฆ์สามเณรให้เป็นผู้เทศน์ในแต่ละกัณฑ์

3.ทำหนังสือบอกบุญ ฎีกานิมนต์พระจากวัดต่าง ๆ มาเทศน์และมาร่วมงาน พร้อมนำส่งหนังสือเทศน์กัณฑ์ต่าง ๆ ตามที่ได้ระบุไว้ไปยังพระสงฆ์สามเณรที่ถูกนิมนต์ให้มาเทศน์กัณฑ์นั้น ๆ ส่วนพระสงฆ์สามเณรของวัดที่จัดงาน รูปที่มีความชำนาญในการเทศน์ก็อาจจะถูกนิมนต์ให้มาเทศน์เฉพาะกัณฑ์พิเศษด้วยก็ได้ นอกจากนั้นแล้ว ก็จะมีการป่าวประกาศให้ชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันมาร่วมงานบุญด้วย

วันรวมบุญผะเหวด หรือวันโฮมบุญผะเหวด

1.จัดสถานที่เพื่อต้อนรับ โดยผู้นำชุมชน ชาวบ้าน พระสงฆ์สามเณรในวัดจะร่วมแรงร่วมใจช่วยกันจัดสถานที่ จัดเตรียมสิ่งของสำหรับร่วมในงานบุญและสำหรับต้อนรับผู้มาร่วมงานบุญ ประกอบด้วย

  • ทำธุงชัยหรือธุงหางยาวผู้ไว้กับปลายไม้ไผ่ ปักไว้ทั้ง 4 ทิศ ทำที่วางข้าวพันก้อนบูชาติดกับหลักธุง 8 อัน ฉัตรใหญ่ 8 อัน ฝังติดกับหลักธุง ฉัตรน้อย 8 อัน ตั้งไว้บริเวณรอบธรรมาสน์ ขันหมากเบ็ง 8 อัน ตั้งไว้ติดหลักธุงรอบบริเวณ ขันหมากเบ็ง 2 อัน ตั้งไว้ที่หออุปคุต ธุงช่อทำให้ได้จำนวนเท่ากับธุงชัย
  • ฝานต้นโสนให้เป็นริ้ว (ฝานดอกโน) เพื่อนำมาย้อมสีทำเป็นดอกไม้สีสันต่าง ๆ ใช้ประดับตกแต่งธรรมาสน์สำหรับให้พระสงฆ์สามเณรขึ้นไปนั่งเทศน์กัณฑ์ต่าง ๆ
  • ทำพวงมาลัยด้วยดอกสะแบง หมากหวาย หมากเดือย หมากลิ้นฟ้า ตัดกระดาษเป็นพวงมาลัย พวงมาลัยข้าวตอก แขวนห้อยย้อยในบริเวณศาลาการเปรียญ
บุญผะเหวด ฮีตเดือนสี่ ประเพณีอีสาน
พวงมาลัยสีสันต่างๆ ประดับตกแต่งศาลาการเปรียญ
  • รอบธรรมาสน์เทศน์ให้ตั้งโอ่งน้ำไว้ 4 โอ่ง สมมติเป็นสระ 4 สระ แต่ละสระมีจอก แหน บัวเผื่อน ใบบัวหลวง ปลา กุ้ง เหนี่ยว (ตัวอ่อนแมงปอ) ปู หอย ใส่ให้ครบทุกโอ่ง ทำตาข่ายล้อมให้ดี
  • ทำรูปสัตว์ต่าง ๆ แขวนไว้ในศาลาการเปรียญ เช่น รูปนกกระจิบ นกกระจาบ เสือ สิงห์ แรด ช้าง นกยูง นกเค้าแมว เต่า ปลา มังกร จรเข้ รวงผึ้ง รวงมิ้ม เป็นต้น
  • นำต้นกล้วย ต้นอ้อย ผูกมัดติดต้นเสาชั้นในให้ได้ 8 ทิศ ทะลายมะพร้าว ทะลายตาล เครือกล้วย ผูกแขวนห้อยไว้บนขื่อของศาลาการเปรียญ
  • ขึงแขวนผ้าผะเหวด หรือผ้าที่เขียนรูปเกี่ยวกับชาดกมหาเวสสันดร ไว้โดยรอบศาลาการเปรียญ เมื่อฟังเทศน์จะได้มองดูภาพ ทำให้เข้าใจและได้อรรถรสยิ่งขึ้น
บุญผะเหวด ฮีตเดือนสี่ ประเพณีอีสาน
ผ้าผะเหวด วัดบ้านโพนทราย ต.บ้านไทย อ.เขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
บุญผะเหวด ฮีตเดือนสี่ ประเพณีอีสาน
ผ้าผะเหวด ผ้าผะเหวด วัดบ้านโพนทราย ต.บ้านไทย อ.เขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
  • ในช่วงเย็นของวันรวม อาจจะหาดอกไม้จากป่า เช่น ดอกจาน ดอกงวงสุ่ม ดอกลำดวน ดอกคัดเค้า ดอกพยอม หรือดอกรัง มามัดติดไว้ตามเสาของศาลาการเปรียญ 
บุญผะเหวด ฮีตเดือนสี่ ประเพณีอีสาน
ตุงใยแมงมุม เครื่องแขวนประดับสถานที่จัดงานบุญผะเหวด
บุญผะเหวด ฮีตเดือนสี่ ประเพณีอีสาน
พวงดอกสะแบง

2.จัดหาเครื่องกิริยาบูชาผะเหวดให้ครบ เรียกว่า เครื่องฮ้อยเครื่องพัน (เครื่องร้อยเครื่องพัน) หรือเครื่องคุรุพัน ประกอบด้วย ธูป 1000 ดอก เทียน 1000 เล่ม ดอกบัวหลวง 1000 ดอก บัวอีแบ้(บัวเผื่อน) 1000 ดอก บัวทอง 1000 ดอก ดอกผักตบ 1000 ดอก ดอกกางของ(ดอกกาสลอง) 1000 ดอก เหมี่ยง 1000 ดอก หมากพลู 1000 คำ มวนยา 1000 มวน ข้าวตอกใส่กระทงน้อยใหญ่ 1000 กระทง ข้าวพันก้อน 1000 ก้อน ธุงกระดาษ 1000 อัน

บุญผะเหวด ฮีตเดือนสี่ ประเพณีอีสาน
ธุงกระดาษ หนึ่งในเครื่องกิริยาบูชาผะเหวด
บุญผะเหวด ฮีตเดือนสี่ ประเพณีอีสาน
ธูปพัน หนึ่งในเครื่องกิริยาบูชาผะเหวด
บุญผะเหวด ฮีตเดือนสี่ ประเพณีอีสาน
การเตรียมธูปหอมแบบโบราณ หนึ่งในเครื่องกิริยาบูชาผะเหวด

การทำธูปหอมและธูปพันแบบโบราณอีสาน

โบราณอีสานเชื่อว่าถ้าแต่งเครื่องกิริยาบูชามหาชาติไม่ถูกหรือไม่ครบมักเกิดอุบาทว์ต่าง ๆ เช่น เกิดความแห้งแล้ง หรือฟ้าผ่าแล้ง ไม่มีความสงบสุข จึงให้ความสำคัญกับในการจัดเตรียมเครื่องกิริยาบูชามหาชาตินี้มากและรักษาจารีตนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น

3. จัดทำหออุปคุต สวิง บุญเจิม (2539) กล่าวว่า โบราณอีสานมีความเชื่อว่า พระอุปคุตเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์มากรูปหนึ่ง เกิดสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ในการทำบุญใหญ่อะไรก็ตามมารที่เป็นคู่เวรของพระพุทธเจ้ามักจะมาขัดขวางเสมอ ไม่มีใครสามารถปราบได้ นอกจากท่านพระอุปคุตมหาเถระรูปนี้เท่านั้น ซึ่งท่านเป็นลูกของนางมัจฉา ท่านจึงมีวัดของท่านอยู่ที่สะดือทะเล ดังนั้น เวลาเชิญพระอุปคุต จึงนิยมไปเชิญในที่ที่มีน้ำ (สมมุติ) ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ หนองน้ำ สระน้ำ หรือบ่อน้ำก็ได้ บุญผะเหวดเป็นงานบุญใหญ่ เพื่อป้องกันเกิดเหตุร้ายจากพญามารดังกล่าวมากลั่นแกล้ง ท่านจึงให้อาราธนาพระอุปคุตมาคุ้มครองด้วย

การทำหอพระอุปคุต มีระเบียบประเพณีที่พึงปฏิบัติ ดังนี้

  • ยกเสาไม้ไผ่ 4 เสา สูงประมาณ 1 เมตร สานไม้ไผ่ลายขัดปิดล้อม 3 ด้าน จะมุงหลังคาหรือไม่ก็ได้ จัดหาต้นกล้วยต้นอ้อยผูกติดไว้กับเสา
  • การปลูกหออุปคุตนั้นให้ปลูกไว้ด้านทิศตะวันออกของศาลาการเปรียญ ห่างออกไปประมาณ 6-7 เมตร เพื่อให้สามารถแห่กัณฑ์เทศน์หรือกัณฑ์หลอนรอบศาลาการเปรียญได้ และให้ปลูกหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเสมอซึ่งจะทำให้หออุปคุตหันหน้าไปตรงกับศาลาการเปรียญพอดี
  • เตรียมเครื่องอัฐบริขาร ได้แก่ บาตร ไตรจีวร มีดโกน ร่ม รองเท้า ผ้ากรองน้ำ อาสนะ หมอนพิง ขันน้ำ หรือแก้วน้ำ ไว้ให้เรียบร้อย
  • การเชิญพระอุปคุตนั้น ก่อนเชิญให้เขียนคาถาพระอุปคุตลงใบลานหรือกระดาษ และวนำไปวางไว้ในหออุปคุต 1 แผ่น และเขียนอีก 8 แผ่น ไปผูกติดไว้ตามเสาหลักธุงทั้ง 8 ทิศทุกเสา 
  • การเชิญพระอุปคุตเข้าสู่หอนั้น นิยมเชิญในวันเริ่มงานหรือวันรวมบุญผะเหวด ประมาณบ่าย 3-4 โมง โดยธรรมเนียมเดิมนั้นจะแต่งขันธ์ 5 ขันธ์ 8 ไปเชิญพระอุปคุตที่ท่าน้ำ สระน้ำ บ่อน้ำ ห้วยหนอง คลองบึง ก่อนจะอาราธนาเชื้อเชิญให้พร้อมกันกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย ไหว้พระ ตั้งนโม 3 จบ ป่าวสัคเคชุมนุมเทวดา แล้วจึงกล่าวคำอาราธนาเชื้อเชิญ
  • แห่พระอุปคุตเข้าสู่หอนั้นให้ตีฆ้อง กลอง นำหน้าก่อนโดยแห่ทักษิณาวัตรรอบศาลาการเปรียญ จึงนิมนต์ขึ้นหอ โดยเอาขันธ์ 5 ขันธ์ 8 วางพร้อมถวายเครื่องอัฐบริขาร จัดภัตตาหารเช้า-เพล พร้อมน้ำ ข้าวต้ม ขนม ถวายจนตลอดงาน งานบุญก็จะสงบสุขดี
บุญผะเหวด ฮีตเดือนสี่ ประเพณีอีสาน
หอพระอุปคุต วัดปุญญานิวาส บ้านเป้า อ.ตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

4.การเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง จะเริ่มพิธีในเวลาประมาณ 15.00 น. ซึ่งอาจจะดำเนินการแบบเต็มรูปแบบหรือบางส่วนก็ได้ ดังนี้

  • สมมุติตัวละคร คือ เตรียมผู้ชาย 1 คน แสดงเป็นพระเวสสันดร และผู้หญิง 1 คน แสดงเป็นนางมัทรี ให้ทั้งสองคนแต่งกายเหมือนกษัตริย์สมัยก่อนและให้ไปรออยู่ที่ป่าตรงที่เคยไปเชิญพระเวสสันดรเข้าเมืองทุกปี
  • จัดเตรียมการเชิญ เช่น ขันเชิญ ซึ่งนิยมทำขันหมากเบ็ง 1 คู่ บางแห่งก็เอาขันธ์ 5 ขันธ์ 8 และเตรียมคนเชิญเป็นผู้ชาย 1 คน และผู้หญิง 1 คน ทั้งสองคนจะเป็นผู้เอาขันดอกไม้ไปเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง
  • จัดขบวนเชิญซึ่งประกอบด้วย 4 ขบวน คือ ขบวนเสนาช้าง เสนาม้า เสนารถ และเสนาทางเท้า ดังนี้ 
    • เสนาช้าง เป็นขบวนช้างซึ่งจะมีพระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี ชาลี และกัณหา ทรงนั่งออกไปเชิญพระเวสสันดรเป็นขบวนหน้า
    • เสนาม้า แต่งตัวเป็นทหารขี่ม้าเป็นองครักษ์ติดตามขบวนช้าง เป็นขบวนที่ 2
    • เสนารถ จะมีเกวียนหรือรถอย่างน้อย 2 คัน คันที่ 1 ให้พระสงฆ์นั่งเพื่อไปเชิญพระเวสสันดร คนที่ 2 ให้ผู้เชิญนั่ง พร้อมทั้งขันเชิญก็ให้อยู่บนรถคันนี้
    • เสนาเท้า เป็นขบวนแห่ของชาวบ้านผู้เดินเท้าถือราชวัตร ฉัตร ธง เดินกันเป็นแถว
    • ขบวนดนตรี เช่น กลอง ฉาบ พิณ ขลุ่ย แคน และขบวนฟ้อน หรือกลุ่มที่ชอบความสนุกสนาน ให้อยู่ในขบวนนี้ ซึ่งจะเป็นขบวนรั้งท้าย

การจัดขบวนเชิญนี้สามารถจัดแค่บางขบวนก็ได้ แต่ส่วนที่ขาดไม่ได้คือ พระเวสสันดร นางมัทรี และชาวเมืองที่ไปอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง 

เมื่อไปถึงที่พำนักของพระเวสสันดรแล้ว ให้ผู้เชิญชายหญิงเข้าไปเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีออกมานั่งยังที่เตรียมไว้ เริ่มพิธีเชิญ โดยผู้ชายจะนั่งคุกเข่ายกขันดอกไม้และกล่าวเชิญพระเวสสันดร เมื่อพระเวสสันดรตกลงกลับเข้าเมืองแต่ขอฟังฉักขัตติย์บั้นเชิญจากพระอาจารย์ก่อน จึงนิมนต์พระเทศน์ฉักขัตติย์บั้นเชิญ พอเทศน์จบ ผู้ถือขันเชิญจึงยกขันดอกไม้เข้าไปหาพระเวสสันดรและนางมัทรี ทั้งสองพระองค์รับขัน ผู้ไปแห่พระเวสสันดรก็สาธุการขึ้นพร้อมกัน 3 ครั้ง และลั่นฆ้องชัย 3 ครั้ง จากนั้นจัดขบวนกลับ โดยให้พระเวสสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี พระเจ้าสัญชัย และพระนางผุสดีนั่งรถคันเดียวกัน

บุญผะเหวด ฮีตเดือนสี่ ประเพณีอีสาน
“วันโฮมบุญ” ภาพเขียนสีอะคริลิก โดย เอนก พลโยธา

5.พิธีกรรมในตอนเย็นของวันรวมบุญ ผู้เข้าร่วมงานจะมารวมกันที่วัดเพื่อสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยและอาราธนาพระสงฆ์เทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน โดยพระสงฆ์ผู้เทศน์จะใช้ทำนองเทศน์มหาชาติธรรมวัตร จนเวลาประมาณ 18.00-19.00 น. จึงตั้งบาตรน้ำมนต์ โยงด้ายสายสิญจ์รอบศาลาการเปรียญ และนิมนต์พระเจริญพระปริตมงคลสวดชัยน้อยชัยใหญ่ จบแล้วจึงอาราธนาเทศน์ธรรมดา เทศน์พระโพธิสัตว์บั้นต้น อิติปิโส ฯลฯ เทศน์จบจึงจัดให้มีมหรสพตลอดคืนซึ่งหนุ่มสาวจะสนุกสนานกันมาก

บุญผะเหวด ฮีตเดือนสี่ ประเพณีอีสาน
ข้าวต้มมัด ของฝากของต้อนรับผู้ที่มาร่วมงานบุญ

วันงานบุญผะเหวด

วันงานบุญผะเหวด จะเริ่มงานกันตั้งแต่เช้ามืดเพื่อพระสงฆ์จะได้เทศน์จบทุกกัณฑ์ภายในหนึ่งวัน โดยเวลาประมาณ 04.00-05.00 น. ชาวบ้านผู้ร่วมงานจะพร้อมกันแห่ข้าวพันก้อนรอบศาลาการเปรียญ ขณะที่แห่นั้นจะตีฆ้องตีกลองเป็นจังหวะไปด้วย ข้าวพันก้อนที่ถือมาแห่จะถูกนำไปบูชาไว้ตามต้นเสาธงทั้ง 8 ทิศบ้าง บูชาที่หอพระอุปคุตบ้าง ถือขึ้นบนศาลาการเปรียญเพื่อบูชากัณฑ์เทศน์บ้าง

ข้าวพันก้อน ภาพจาก https://gotoloei.com/

การแห่ข้าวพันก้อนจะแห่กัน 3 รอบแล้วจึงขึ้นไปที่ศาลาการเปรียญ เพื่อกล่าวคำบูชาข้าวพันก้อน ป่าวสัคเคชุมนุมเทวดา อาราธนาสังกาศเพื่อให้พระเทศน์สังกาสโดยใช้ทำนองสีทันดร เทศน์จบให้กล่าวประกาศอัญเชิญเทวดาและหว่านข้าวตอกดอกไม้รับเหล่าเทวดา จึงกล่าวคำอาราธนาผะเหวด พระสงฆ์ผู้รับผิดชอบการเทศน์ในแต่ละกัณฑ์ก็จะขึ้นธรรมาสน์และเทศน์ไปทีละกัณฑ์ตามลำดับ เริ่มจากกัณฑ์ทศพรไปจนถึงกัณฑ์นครซึ่งเป็นกัณฑ์สุดท้าย

บุญผะเหวด ฮีตเดือนสี่ ประเพณีอีสาน
ธรรมาสน์วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ สำหรับพระสงฆ์ขึ้นนั่งเทศน์ผะเหวด

ทำนองเทศน์ผะเหวด

ทำนองการเทศน์ผะเหวดนั้นมีมาก แต่มีทำนองเก่าแก่ที่นิยมกัน 3 ทำนอง คือ

  • ทำนองกาเต้นก้อน
  • ทำนองลมพัดพร้าว หรือ พัดชายเขา
  • ทำนองช้างเทียมแม่

การฟังเทศน์ผะเหวด

ในขณะที่มีการเทศน์ผะเหวดจะมีแนวปฏิบัติต่าง ๆ ดังนี้

1.ในขณะที่ฟังเทศน์ผะเหวดจะต้องคอยจุดธูปเทียนประจำกัณฑ์เทศน์นั้น ๆ เพื่อบูชาคาถาเทศน์ ดังนี้

  • กัณฑ์ทศพร ธูป 19 ดอก เทียน 19 เล่ม เทียนง่าม 1 เล่ม
  • กัณฑ์หิมพานต์ ธูป 134 ดอก เทียน 134 เล่ม เทียนง่าม 2 เล่ม
  • กัณฑ์ทานกัณฑ์ ธูป 209 ดอก เทียน 209 เล่ม เทียนง่าม 3 เล่ม
  • กัณฑ์วนปเวส ธูป 57 ดอก เทียน 57 เล่ม เทียนง่าม 4 เล่ม
  • กัณฑ์ชูชก ธูป 79 ดอก เทียน 79 เล่ม เทียนง่าม 5 เล่ม
  • กัณฑ์จุลลพน ธูป 35 ดอก เทียน 35 เล่ม เทียนง่าม 6 เล่ม
  • กัณฑ์มหาพน ธูป 80 ดอก เทียน 80 เล่ม เทียนง่าม 7 เล่ม
  • กัณฑ์กุมาร ธูป 101 ดอก เทียน 101 เล่ม เทียนง่าม 8 เล่ม
  • กัณฑ์มัทรี ธูป 90 ดอก เทียน 90 เล่ม เทียนง่าม 9 เล่ม
  • กัณฑ์สักกะบรรพ ธูป 43 ดอก เทียน 43 เล่ม เทียนง่าม 10 เล่ม
  • กัณฑ์มหาราช ธูป 69 ดอก เทียน 69 เล่ม เทียนง่าม 11 เล่ม
  • กัณฑ์ฉขัตติ ธูป 36 ดอก เทียน 36 เล่ม เทียนง่าม 12 เล่ม
  • กัณฑ์นคร ธูป 49 ดอก เทียน 49 เล่ม เทียนง่าม 13 เล่ม

2.ให้ตั้งกระถางธูปใบใหญ่ 2 ใบ หม้อน้ำมนต์ใบใหญ่ 2 หม้อ ไว้ที่หน้าธรรมาสน์เทศน์ บนปากหม้อน้ำมนต์ให้ทำราวเทียนวางพาดกลาง เพื่อวางเทียน

3.เมื่อเริ่มเทศน์กัณฑ์ทศพร ก็ให้จุดธูปเทียนประจำกัณฑ์ทศพร ซึ่งประกอบด้วย ธูป 19 ดอก เทียน 19 เล่ม เทียนง่าม 1 เล่ม โดยให้จุดให้หมดในระหว่างการเทศน์กัณฑ์นั้น ๆ อย่าจุดปะปนกับกัณฑ์อื่น กัณฑ์ต่อมาก็ให้จุดธูปเทียนเท่ากับจำนวนที่กำหนดไว้ตามลำดับไป ฉะนั้นจะต้องเตรียมธูปเทียมให้เพียงพอสำหรับจุดในแต่ละกัณฑ์

4.การเทศน์แต่ละกัณฑ์อาจใช้พระผู้เทศน์มากกว่า 1 รูป เมื่อแต่ละรูปเทศน์จบจะมีการหว่านข้าวตอก ดอกไม้ ข้าวสาร ผู้จุดธูปเทียนและเทียนง่ามและผู้ที่หว่านข้าวตอก ดอกไม้ หรือข้าวสาร ต้องนั่งประจำจุดเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

6.น้ำมนต์ ด้าย หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในพิธีการเทศน์ผะเหวดแล้วถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ จะถูกแจกจ่ายให้ผู้ฟังเทศน์เพื่อนำไปบูชา รวมทั้งหนังสือใบลาน ก็นิยมนำไปป้องกันเสนียดจัญไรและอันตรายต่าง ๆ

บุญผะเหวด ฮีตเดือนสี่ ประเพณีอีสาน
“ฟังเทศน์ผะเหวด” ภาพเขียนสีอะคริลิก โดย เอนก พลโยธา

การถวายกัณฑ์เทศน์

ผู้ที่เป็นเจ้าของกัณฑ์เทศน์ มีแนวปฏิบัติ ดังนี้

1.นำเครื่องกัณฑ์เทศน์ไปที่วัดเพื่อถวายพระประจำกัณฑ์เทศน์ที่ได้จองไว้

2.ก่อนถวายเครื่องกัณฑ์ให้จุดธูปเทียนไหว้พระ และกล่าวคำถวาย ประเคน พระผู้รับเครื่องกัณฑ์จะกล่าวอนุโมทนาว่ายถา เจ้าของเครื่องกัณฑ์ก็จะกรวดน้ำ จนจบก็กราบเป็นอันเสร็จพิธี

3.กัณฑ์หลอน คือ เครื่องกัณฑ์ของผู้มีศรัทธานำมาถวายในวันฟังเทศน์ผะเหวดที่ไม่เจาะจงว่าจะถวายรูปใดรูปหนึ่ง ให้พระรูปที่กำลังเทศน์อยู่บนธรรมาสน์นั้นเป็นผู้รับประเคนกัณฑ์หลอน พระผู้รับกัณฑ์หลอนนั้นจะเรียกว่า “ถูกกัณฑ์หลอน” โยมผู้นำกัณฑ์หลอนมานั้น เรียกว่า “เจ้าของกัณฑ์หลอน”

บุญผะเหวด ฮีตเดือนสี่ ประเพณีอีสาน
“แห่กัณฑ์หลอน” ภาพเขียนสีอะคริลิก โดย กลุ่มอนุรักษ์ภาพเขียนไทย บ้านปลาขาว ต.ยาง อ.น้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

บรรณานุกรม

จรัส พยัคฆราชศักดิ์. (2534). อีสาน 2 อีสานปัญหา หมอยากลางบ้าน โหราจารย์พื้นเมือง. กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์.

พระมหาดีรัตน์ อุทยปุตฺโต, พระครูปริยัติคณานุรัก และเจ้าอธิการสุริยนต์ ทสฺสนีโย. (2561). “ประเพณีบุญผะเหวดกับอัตลักษณ์ด้านศีลธรรมของชาวอีสาน”. วารสาร มจร พุทธศาสตร์ปริทรรศน์, 2(3), หน้า 41-54

พระอริยานุวัตร เขมจารี. (2506). ระเบียบโบราณประเพณีทำบุญมหาชาติ ภาคอีสาน. กรุงเทพฯ: มนตรี

ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (2563). เครื่องฮ้อยเครื่องพัน ประกอบฮีตเดือนสี่ ประเพณีบุญผะเหวด. เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565, http://research.msu.ac.th/artculture/?p=2529

สวิง บุญเจิม. (2539). ตำรามรดกอีสาน. อุบลราชธานี : มรดกอีสาน

เอนก พลโยธา. (2563). “การสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม ชุดบุญผะเหวด”. วารสารช่อพยอม, 31(2), หน้า 76-94

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง