การทำธูปหอมและธูปพันแบบโบราณอีสาน ภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านเป้า

การทำธูปหอมและธูปพันแบบโบราณของชาวบ้านเป้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในการนำไม้หอมในท้องถิ่นมมาทำเป็นธูปสำหรับจุดถวายเป็นพุทธบูชา และเป็นเครื่องถวายผะเหวดในงานบุญมหาชาติหรือบูญเดือนสี่ตามฮีตสิบสอง ไม้หอมที่ใช้ ได้แก่ เนียมหอม เนียมแม่ฮ้าง เนียมสร้อย ตังตุ่น ยางบง เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวบ้านเป้าพยายามอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่

ชาวบ้านเป้าผู้อนุรักษ์และสืบสานการทำธูปและประทีปโบราณ
ชาวบ้านเป้าผู้อนุรักษ์และสืบสานการทำธูปและประทีปโบราณ

ความเป็นมาของการทำธูปหอมและธูปพันแบบโบราณของชาวบ้านเป้า 

ณ บ้านเป้า ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้านแห่งนี้ยังคงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญา และประเพณีของท้องถิ่นไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะประเพณีตามฮีตสิบสองที่ยึดถือและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ตลอดจนการยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น โดยการนำของพระครูไพโรจน์บุญญากร เจ้าอาวาสวัดปุญญานิวาส ผู้ที่มีความสนใจและอนุรักษ์มรดกอันล้ำค่านี้ไว้ให้คงอยู่แก่ลูกหลานต่อไป

ธูปและประทีปแบบโบราณของชาวบ้านเป้า
ธูปและประทีปแบบโบราณของชาวบ้านเป้า

การทำธูปหอมและธูปพัน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านเป้าสืบสานกันมานานกว่า 100 ปี และชาวบ้านยังคงมีความพยายามที่จะอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่ ลักษณะของธูปหอมและธูปพันหรือประทีป จะมีความแตกต่างกันตามวิธีการทำ คือ ธูปหอม จะใช้ก้านธูปคลุกกับเครื่องหอมและกลิ้งให้ติดกับก้าน ส่วนธูปพันหรือประทีป จะใช้เครื่องหอมโรยลงบนกระดาษแล้วม้วนเก็บเครื่องหอม แล้วใช้เส้นไหมพันธูปให้เป็นแท่ง ลักษณะการใช้งานไม่แตกต่างกัน และทั้งธูปหอมและธูปพันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมประเพณีซึ่งจะนิยมทำกันเพื่อใช้งานต่าง ๆ ได้แก่

1.ใช้เป็นเครื่องผะเหวด เพื่อบูชาคาถาพันคู่กับข้าวพันก้อน ในงานบุญเดือนสี่ หรือบุญผะเหวด ตามประเพณีฮีตสิบสองของคนอีสาน ดังคำพูดติดปากว่า “ธูปพำพันดวง บัวหลวงพอฮ้อย ข้าวพันก้อนพอพัน” โดยชาวบ้านจะช่วยกันทำธูปหอมหรือธูปพันหลังคาเรือนละ 40-50 อัน จากนั้นจะนำมารวมกันที่วัดให้ได้ราว 1000 อัน หรือให้ได้มากที่สุด บ้างก็จะมีการระดมพลกันทำที่วัด สร้างความสามัคคีในชุมชน

คาถาพัน หมายถึง คาถาภาษาบาลีจำนวน 1000 คาถา การเทศน์คาถาพันในบุญผะเหวดก็คือการเทศน์มหาชาติที่เป็นภาษาบาลีล้วน ๆ จำนวน 1000 พระคาถา ซึ่งเท่ากับจำนวนคาถาทั้งหมดในเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์

อานิสงส์คาถาพัน

เมื่อครั้งพระมาลัยรับดอกอุบลจากบุรุษเข็ญใจแล้ว ได้นำขึ้นบูชาพระจุฬามณีเจดียสถานในดาวดึงสเทวโลก และมีโอกาสสนทนากับพระศรีอริยเมตไตรย์ พระองค์ได้ตรัสแก่พระเถรเจ้าว่า

 “ขอพระคุณเจ้าได้บอกแก่มนุษย์ทั้งหลายว่า ผู้ใดใคร่พบปะพระศรีอาริย์เจ้า ผู้นั้นพึงงดเว้นอนันตริยกรรม 5 ประการ มี ฆ่ามารดา บิดา เป็นต้น และพึงอุตสาหะหมั่นก่อสร้างกองการกุศล มีให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และสดับรับฟังพระธรรมเทศนามหาเวสสันดรชาดก อันประกอบด้วยคาถาพันหนึ่ง การทำสักการบูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้ต่าง ๆ และดอกไม้ธูปเทียนอย่างละพัน ตั้งใจฟังให้จบในวันเดียวครบบริบูรณ์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ดังนี้แล้ว จะได้พบ พระศรีอาริย์พุทธเจ้าในอนาคตโดยแท้ หากดับขันธ์แล้ว ก็จะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์เสวยทิพยสมบัติอันมโหฬาร ครั้งถึงพุทธกาล พระศรีอาริย์พุทธเจ้า เทพบุตร เทพธิดาเหล่านั้น ก็จะได้จุติลงไปเกิดเป็นมนุษย์ ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนา ก็จักได้บรรลุมรรคผล มีพระโสดาปัตติผล เป็นต้น เป็นพระอริยะบุคคลในพระพุทธศาสนา”

2.ใช้จุดเป็นพุทธบูชาในช่วงเข้าพรรษา โดยชาวบ้านจะเตรียมการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ทำธูปก่อนเข้าพรรษา 1 เดือน เช่น การเก็บเนียมแม่ฮ้าง เนียมสร้อย นำมานึ่งและตากให้แห้ง ขูดเปลือกตังตุ่น การถากยางบง เป็นต้น ซึ่งจะจัดหาให้ได้มากที่สุดเพื่อให้เพียงพอสำหรับการทำธูปที่จะนำไปใช้งานในช่วงเข้าพรรษาเนื่องด้วยช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงหน้าฝน การจัดเตรียมวัสดุให้แห้งอาจจะไม่สะดวกนัก อีก 15 วันต่อมาจะมีการตีกลองรวมพลหรือบอกกล่าวต่อ ๆ กัน ให้มาช่วยกันทำธูปที่วัด ทำให้ชาวบ้านได้พบปะพูดคุยและสร้างความสามัคคีให้กับชุมชน

3.ใช้จุดบูชาคู่กับมารข้าวในวันออกพรรษา ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ข้าวในนากำลังตั้งท้อง ชาวบ้านจะเรียกว่า ข้าวมาร ในช่วงวันออกพรรษาก็จะจุดธูปเทียนคู่กับมารข้าวเพื่อบูชาพระแม่โพสพและรับขวัญข้าวตั้งท้อง อธิษฐานขอให้ข้าวในนาออกรวงสมบูรณ์และได้ผลผลิตดี และจุดไต้ประทีปเพื่อบูชาพระแม่คงคา ในประเพณีไหลเรือไฟไต้ประทีป หรือการลอยกระทงตามประเพณีอีสาน

พืชที่ใช้ในการทำธูปหอมและธูปพัน

พืชที่ใช้ในการทำธูปหอมปละธูปพัน ส่วนใหญ่จะเป็นพืชที่ให้กลิ่นหอมสามารถหาได้ในท้องถิ่น ได้แก่

1. เนียมหอม

ชื่ออื่น : อ้มหอม, อ้มเนียม, เนียมอ้ม, เนียมข้าวเม่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Strobilanthes nivea Bremek.

ชื่อวงศ์ : ACANTHACEAE

เนียมหอม ลำต้นเป็นไม้ที่มีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมถึงค่อนข้างกลมและเป็นข้อปล้อง เป็นพืชชอบร่มรำไร ชื้นแต่ไม่แฉะ ใบเนียมหอม มีลักษณะเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กลับ มีขนสากทั่วไป ปลายใยหยักขอดเป็นติ่งสั้นหรือเว้าแหว่งเป็นริ้ว รูปใบแตกต่างกันมากจากค่อนข้างแหลมจนถึงกลมกว้าง ใบหนาสดหักง่าย ยาวประมาณ 1.5-11.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-9.5 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 0.75-7.5 เซนติเมตร ใบจะมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย ดอกเนียมหอม ออกเป็นช่อยาว 14-39 เซนติเมตร กลีบสีม่วงอ่อนหรือสีขาว ช่อดอกอออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ เกสรเพศผู้มีจำนวนมากและล้อมรอบรังไข่ ผลเนียมหอม ผลกลมหรือลักษณะเหมือนรูปไข่กลับ ผิวของผลมีขนทั่วไป เมื่อแก่สีเหลือง ออกดอกติดผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน

ต้นเนียม
ต้นเนียม

2. เล็บครุฑ

ชื่ออื่น : เล็บครุฑ, ครุฑเท้าเต่, ครุฑทอดมัน, ครุฑใบเทศ, ครุฑผักชี, เล็บครุฑใบฝอย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyscias fruticosa (L.) Harms

ชื่อวงศ์ : ARALIACEAE

เล็บครุฑ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงราว 2 เมตร ลักษณะต้นเป็นข้อ ลำต้นอ่อนมีสีเขียวอ่อนแกมน้ำตาลอ่อน เมื่อลำต้นแก่เต็มที่ก็จะเปลี่ยนกลายเป็นสีน้ำตาลอ่อน ลำต้นจะมีรอยแผลของกาบใบ ใบเล็บครุฑ เป็นใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกัน ขอบใบหยักย่อยละเอียด ปลายใบเรียวแหลม ดอกเล็บครุฑ ช่อดอกแยกแขนง มีแกนกลางช่อยาว 60 เซนติมเตร ขนาดเล็ก ช่อดอกย่อยออกเป็นช่อซี่ร่ม กลีบดอก 5 กลีบ เกสรตัวผู้ 5 อัน ผลเล็บครุฑ ผลรูปเกือบกลม มีเนื้อผล

เล็บครุฑหรือเนียมสร้อย
เล็บครุฑหรือเนียมสร้อย

3. ชะลูดช่อสั้น

ชื่ออื่น : ตังตุ่น, ตังตุ่นขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alyxia schlechteri H. Lev.

ชื่อวงศ์ : Apocynaceae

ชะลูดช่อสั้น หรือตังตุ่น เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาเนื้อแข็งขนาดเล็ก มีน้ำยางขาว สูงได้ถึง 4 เมตร เปลือกต้นและกิ่งก้านสีเทา มีรูอากาศมาก กิ่งอ่อนมีขนละเอียด กิ่งแก่เกลี้ยง ใบชะลูดช่อสั้น เป็นใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบข้อ ใบหนาแน่นช่วงบนของกิ่ง รูปวงรีแกมขอบขนาน รูปใบหอกกลับ หรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเป็นคลื่น ผิวใบเรียบเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างหนาเหนียว บริเวณท้องใบมองเห็นเส้นใบข้างไม่ชัดเจน ก้านใบยาว 2-4 มิลลิเมตร เกลี้ยงหรือมีขนนุ่ม ดอกชะลูดช่อสั้น เป็นช่อกระจุก ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยหลายดอก ขนาดเล็ก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว โคนหลอดสีเหลืองแกมส้ม มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปวงรีแคบ สีเขียวอมเหลือง ที่ส่วนปลายกลีบมีขนประปราย ผลชะลูดช่อสั้น ผลสดรูปขอบขนาน คอดเป็นข้อ ๆ ตามเมล็ด  2-3 ข้อ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ มี 1-3 เมล็ด พบตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่งป่าละเมาะ ออกดอกและติดผลช่วงเดือน มีนาคมถึงกรกฎาคม

ชะลูดช่อสั้น หรือตังตุ่น
ชะลูดช่อสั้น หรือตังตุ่น

4. ยางบง

ชื่ออื่น : บงปง มง หมี ยางบง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Persea kurzii

ชื่อวงศ์ : Lauraceae

ยางบง เป็นไม้ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ความสูงประมาณ 10 – 15 เมตร มีเรือนยอดเป็นพุ่มกว้างเปลือกค่อนข้างหนาสีเทาแก่ เปลือกในมีสีขาวและสีแดง ใบยางบง เป็นใบเดี่ยว ขึ้นเวียนสลับตามกิ่ง ทรงรี โคนสอบ ปลายใบแหลม มีเส้นแขนงใบ 7-11 คู่ บางเส้นมีเส้นแยกออกด้วย เนื้อใบหนา แสดงลักษณะอุ้มน้ำมาก ดอกยางบง ออกเป็นช่อตามซอกใบ และปลายกิ่ง ดอกจะมีขนาดเล็กสีเหลือง ผลยางบง มีรูปทรงกลมขนาดเล็ก คล้ายผลหว้า เมื่อสุกจะสีดำ มีเยื่อหุ้ม ด้านในมีเมล็ดเดี่ยว กลมเล็กคล้ายผลหว้า มีเยื่อหุ้มผล เมล็ดมีเมล็ดเดี่ยว เปลือกเมล็ดเมื่อแก่ล่อนได้ ผิวในมีน้ำมันเล็กน้อย พบขึ้นอยู่ในป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรังเป็นไม้ที่ไม่ผลัดใบ มีมากในบางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะในแถบที่มีฝนตกชุกมาก ๆ แถบจังหวัดมุกดาหาร นครพนม อุบลราชธานี และบางท้องที่ในภาคเหนือ

ยางบงสด
ยางบงสด
ยางบงแห้ง
ยางบงแห้ง

5. ปอเต่าไห้

ชื่ออื่น : เต่าไห้ พญาไม้ผุ พันไฉน พันไสน ปอตับเต่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Enkleia siamensis (Kurz) Nevling

ชื่อวงศ์ : Thymelaeaceae

ปอเต่าไห้ เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยตั้งตรง หรือไม้เถาเนื้อแข็ง สูง 2-5 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลเข้ม เหนียว มีมือเกาะออกตรงข้าม กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง มีขนประปราย ใบปอเต่าไห้ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม พบบ้างที่เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี พบบ้างที่เป็นรูปกลม ปลายแหลมหรือมน มักมีติ่งหนามเล็ก ๆ โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเกลี้ยง มีขนสีเทาสั้นนุ่มตามร่องเส้นใบด้านล่างและที่เส้นแขนงใบประปรายถึงหนาแน่น เส้นแขนงใบชัดเจนทั้งสองด้าน ก้านใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกปอเต่าไห้ เป็นแบบช่อซี่ร่ม ออกที่ปลายกิ่ง สีเขียวหรือสีเหลือง ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ใบประดับเป็นเยื่อบางสีครีมแกมเขียวอ่อน รูปรี ปลายและโคนมน มีขนทั้งสองด้านติดทน กลีบดอก 5 กลีบ รูปลิ้น อวบน้ำ ปลายเป็นแฉกลึก 2 แฉก รูปขอบขนาน ผลปอเต่าไห้ ผลสดเป็นรูปไข่ คล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ผลมีสีเขียว ปลายแหลม เกลี้ยงหรือมีขนละเอียด มีก้านผลยาว มักพบร่องรอยของกลีบเลี้ยงที่โคนผล มีใบประดับ 2 ใบ สีน้ำตาลอ่อน เมล็ดปอเต่าไห้ เป็นรูปไข่ พบทั่วไปตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ออกดอกและติดผลระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน

หัวปอเต่าไห้
หัวปอเต่าไห้

วัสดุอุปกรณ์ในการทำธูปหอมและธูปพัน

1.ไม้ไผ่สำหรับทำก้านธูปหอม นิยมใช้ไม้ไผ่รวกไม่แก่มาก ขนาดความยาวประมาณ 2 คืบ หรือ 1 ฟุต เหลาให้เป็นท่อนกลม ๆ และเหลาเอาส่วนติวหรือเปลือกไม้ไผ่ออกเพราะส่วนนี้จะไม่ติดไฟ

ไม้ไผ่เหลาทำเป็นก้านธูปหอม
ไม้ไผ่เหลาทำเป็นก้านธูปหอม

2.ภาชนะทรงกระบอก สำหรับแช่น้ำยางบง อาจจะใช้กระบอกไม้ไผ่ ขวดพลาสติก หรือแก้วทรงสูง

กระบอกไม้ไผ่ใช้แช่ยางบง
กระบอกไม้ไผ่ใช้แช่ยางบง

3. ถาด ใช้สำหรับบรรจุเครื่องหอม

ถาดสำหรับผสมเครื่องผสม
ถาดสำหรับผสมเครื่องผสม

4. กระดานแผ่นเรียบ หรือก้นถาด สำหรับกลิ้งเครื่องหอมให้ติดกับก้านธูป

5. มีด ใช้สำหรับเหลาไม้ไผ่สำหรับทำก้านธูป และใช้ขูดเปลือกตังตุ่น

6. เส้นไหม ใช้สำหรับพันก้านธูปพัน

เส้นไหม ใช้สำหรับพันก้านธูปพัน
เส้นไหม ใช้สำหรับพันก้านธูปพัน

6. ตะแกรง สำหรับร่อนเครื่องหอม

การร่อนเครื่องหอมด้วยตะแกรง
การร่อนเครื่องหอมด้วยตะแกรง

7. แม่แบบ สำหรับทำกระดาษหรือเจี้ยจากปอเต่าไห้ โดยจะนำไม้มาทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยม ขึงด้วยผ้าขาวบางให้ตึง ก่อนจะเทเยื่อไม้ลงไปให้นำทรายมาขัดตาผ้าที่ขึงไว้ให้ทั่ว เพื่อไม่ให้เยื่อไม้ที่เทลงไปในแม่แบบไหลทะลุออกจากผ้า

แม่แบบสำหรับทำกระดาษจากปอเต่าไห้
แม่แบบสำหรับทำกระดาษจากปอเต่าไห้

ขั้นตอนการเตรียมเครื่องหอมสำหรับทำธูปหอมและธูปพัน

1. การเตรียมเนียมหอม ชาวบ้านจะเรียกพืชชนิดนี้ว่า เนียมแม่ฮ้าง จะเก็บต้นสด นำมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำ จากนั้นนำไปนึ่งให้สุก แล้วจึงนำไปตากแดดให้แห้งกรอบ ทดสอบโดยการใช้มือกำแล้วเนียมละเอียดคามือ จึงนำมาตำด้วยครกเพื่อป่นให้ละเอียด ถ้าต้องการความละเอียดมากให้ร่อนด้วยตะแกรง

2. การเตรียมเล็บครุฑ ชาวบ้านจะเรียกพืชชนิดนี้ว่า เนียมสร้อย จะเก็บเอาเฉพาะใบ นำมาทำความสะอาด นึ่ง ตากแห้ง และป่นให้ละเอียดเช่นเดียวกับเนียมแม่ฮ้าง

เนียมทั้งสองชนิด สามารถใช้ได้ทั้งแบบสดและแบบนึ่ง แต่การนึ่งให้สุกก่อนจะช่วยทำให้กลิ่นหอมคงอยู่ได้นานยิ่งขึ้น

เนียมแม่ฮ้าง และเนียมสร้อย ชื่อตามที่ชาวบ้านใช้เรียก
เนียมแม่ฮ้าง และเนียมสร้อย ชื่อตามที่ชาวบ้านใช้เรียก

3. การเตรียมชะลูดช่อสั้น หรือ ตังตุ่น ตัดกิ่งตังตุ่นขนาดพอประมาณ ใช้มีดขูดเอาเฉพาะเปลือก นำไปตากแห้ง แล้วนำมาป่น จากนั้นร่อนเอาผงละเอียด

การขูดเปลือกชะลูดช่อสั้นหรือตังตุ่น
การขูดเปลือกชะลูดช่อสั้นหรือตังตุ่น เพื่อนำมาทำเครื่องหอม

4. ยางบง จะใช้มีดถากเอาเปลือกสดจากต้น จากนั้นนำมาแช่น้ำ เพื่อให้เป็นกาวเหนียว บรรจุในภาชนะทรงกระบอกสูง นอกจากนั้นแล้วเปลือกสดที่ได้ให้นำไปตากให้แห้ง จากนั้นนำมาป่นให้ละเอียด ใช้เป็นส่วนผสมในการทำธูป ทำให้เครื่องหอมยึดติดกันได้ดียิ่งขึ้น

ขั้นตอนการทำธูปหอม

1.นำเครื่องหอมต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ ได้แก่ เนียมแม่ฮ้าง เนียมสร้อย ตังตุ่น ผงยางบง นำมาผสมและคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน อัตราส่วน คือ 2:1:1:1 ตามลำดับ

toop14

2.นำเปลือกต้นบงมาแช่น้ำเพื่อทำกาว นิยมบรรจุไว้ในกระบอกไม้ไผ่ หรือขวดน้ำ เพื่อให้สามารถจุ่มก้านธูปลงไปแล้วได้เครื่องหอมที่ติดบนก้านธูปตามความยาวที่ต้องการ หรือประมาณ 15-20 เซนติเมตร

3.นำก้านธูปไปจุ่มในกาวยางบง แล้วนำมากลิ้งหรือคลุกกับเครื่องหอมที่ผสมไว้แล้ว เครื่องหอมก็จะติดบนก้านธูป

การกลิ้งก้านธูปให้ติดกับเครื่องหอม
การกลิ้งก้านธูปให้ติดกับเครื่องหอม

4. นำมากลิ้งบนไม้กระดานแผ่นเรียบ หรือก้นภาชนะพื้นเรียบ เช่น ถาด ชาม โดยใช้ฝ่ามือกดและกลิ้งก้านธูปไปมาให้ผงเครื่องหอมติดกับก้านธูปอย่างสม่ำเสมอและติดกันแน่นขึ้น

การกลิ้งก้านธูปบนวัสดุเรียบเพื่อกลึงให้กลมและติดแน่นกับก้านธูป
การกลิ้งก้านธูปบนวัสดุเรียบเพื่อกลึงให้กลมและติดแน่นกับก้านธูป

5. นำก้านธูปอันเดิมนั้นไปจุ่มยางบงอีกครั้ง คลุกเครื่องหอม และกลิ้งด้วยมือซ้ำไปมาอีก 2-3 รอบ จนได้ขนาดธูปที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร หรือขนาดตามที่ต้องการ

6. นำไปตากให้แห้ง จึงนำมาใช้งาน

การตากธูปหอมให้แห้ง
การตากธูปหอมให้แห้ง เพื่อจะได้จุดไฟติด

การทำธูปพันหรือประทีป

1.เครื่องหอมต่าง ๆ ที่ใช้จะเหมือนกันกับการทำธูป ยกเว้นยางบงอาจจะไม่ใช้ก็ได้ ผสมและคลุกเคล้าให้เข้ากันดี ถ้าต้องการความหอมมากยิ่งขึ้นให้เพิ่มปริมาณเนียมแม่ฮ้างให้มากขึ้นได้

เครื่องหอมสำหรับทำธูปพัน
เครื่องหอมสำหรับทำธูปพัน

2. ตัดกระดาษขนาดความกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ปัจจุบันนิยมใช้กระดาษทิชชู ซึ่งหาได้ง่าย แทนการใช้กระดาษหรือเจี้ยที่ทำจากปอเต่าไห้

3.นำกระดาษมาวางบนพื้นเรียบ วางก้านธูปไว้ที่ริมกระดาษ แล้วตักเครื่องหอมโรยลงบนก้านธูป เกลี่ยให้สม่ำเสมอกัน

การโรยเครื่องหอมและวางก้านธูปลงบนกระดาษ
การโรยเครื่องหอมและวางก้านธูปลงบนกระดาษ

4. พันกระดาษเข้ากับก้านธูปให้แน่น

5. นำเส้นไหมมาพันทับกระดาษเพื่อให้แน่นติดกับก้านธูปยิ่งขึ้น โดยพันเป็นเกลียวลงให้สุดกระดาษแล้วพันทบขึ้นไปอีกรอบ มัดปลายให้แน่น เส้นไหมจะติดไฟง่าย เมื่อจุดไฟแล้วก็จะไหม้ม้วนกอดเข้ากับก้านธูปพัน ทำให้ธูปพันค่อย ๆ ไหม้จนหมด กระดาษไม่รุ่ยออกจากก้านธูป เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำธูปพัน

การพันธูปด้วยเส้นไหม
การพันธูปด้วยเส้นไหม
ธูปพันหรือประทีป
ธูปพันหรือประทีป

การทำกระดาษหรือเจี้ย สำหรับทำธูปพัน

1.นำหัวปอเต่าไห้ซึ่งอยู่ใต้ดิน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นหัวสีขาวห่อหุ้มด้วยเปลือกสีน้ำตาล นำมาแกะเปลือกออก จะได้ส่วนเนื้อสีขาว นำมาสับและตำให้ละเอียด

หัวปอเต่าไห้และลำไม้ไผ่รวกอ่อน
หัวปอเต่าไห้และลำไม้ไผ่รวกอ่อน

2.นำลำไม้ไผ่รวกที่มีความสูงประมาณ 2 เมตร เลือกลำที่เกิดกลางกอ ตัดเอาเฉพาะส่วนตรงกลางหรือส่วนที่มีผิวเปลือกเป็นสีขาว นำมาสับและตำผสมกับหัวปอเต่าไห้ อัตราส่วนปอเต่าไห้ต่อเยื่อไผ่ 3:1 เยื่อไผ่จะช่วยประสานให้เยื่อปอเต่าไห้ติดกันเป็นแผ่น

โขลกปอเต่าไห้และไม้ไผ่รวกเข้าด้วยกัน
โขลกปอเต่าไห้และไม้ไผ่รวกเข้าด้วยกัน

3.นำไปคั้นกับน้ำเพื่อกรองเอากากออก จะได้เยื่อไม้ที่มีความละเอียดสม่ำเสมอ

การคั้นและกรอกเอาเยื่อไปทำกระดาษ
การคั้นและกรอกเอาเยื่อไปทำกระดาษ

4. นำไปต้มให้สุกด้วยไฟอ่อนประมาณ 30 นาทีจนเกิดความเหนียวหนืด ส่วนผสมรวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน

การต้มเยื่อกระดาษ
การต้มเยื่อกระดาษ

5.นำไปเทลงบนแม่แบบ เกลี่ยให้สม่ำเสมอทั่วกันทั้งแผ่น

การแทเยื่อกระดาษลงบนแม่แบบ
การแทเยื่อกระดาษลงบนแม่แบบ

6.ตากแดดให้แห้ง ลอกออกจากแม่แบบ แล้วจึงนำไปใช้ทำธูปพัน กระดาษหรือเจี้ยที่ทำจากปอเต่าไห้นั้นเมื่อจุดไฟแล้วจะให้กลิ่นหอมเมื่อผสมกับกลิ่นของตังตุ่นแล้วจะยิ่งเพิ่มความหอมให้กับธูปพันมากขึ้น

ที่ตั้ง บ้านเป้า

วัดปุญญานิวาส ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ บ้านเป้า

15.683819, 104.952787

บรรณานุกรม

พระครูไพโรจน์บุญญากร. สัมภาษณ์, 18 พฤษภาคม 2560

พระสุวัฒธนธีรกุล กตปุญโญ. สัมภาษณ์, 18 พฤษภาคม 2560

มูลนิธิห้องสมุดดนตรีรัชกาลที่ 9. คาถาพัน, 28 สิงหาคม 2560. http://www.kingramamusic.org/mahachart/m_page/14.html

ศูนย์วิจัยและพัฒนาสง่า สรรพศรี องค์การสวนพฤกษศาสตร์. (2554). ฐานข้อมูลพรรณไม้, 28 สิงหาคม 2560. http://www.qsbg.org

สมุนไพรดอทคอม. (2559). เนียมหอม, 28 สิงหาคม 2560.  https://www.samunpri.com

สมุนไพรดอทคอม. (2559). เล็บครุฑ, 28 สิงหาคม 2560. https://www.samunpri.com

สุดารัตน์ หอมหวล. (2553). ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 28 สิงหาคม 2560. http://www.phargarden.com

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง