ประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีในความทรงจำ

ประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นงานบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของอุบลราชธานีมาอย่างยาวนาน จังหวัดอุบลราชธานีและหลายภาคส่วนได้ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำเทียนพรรษาตลอดทั้งเดือนก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา อาทิ การเยือนชุมชนทำเทียนพรรษา การแสดงและการแห่เทียนพรรษา โดยมีพัฒนาและสร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่ออนุรักษ์งานประเพณีอันดีงามนี้ไว้ เพื่อสร้างบุญกุศล สืบสานศิลปวัฒนธรรม และสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดอุบลราชธานี

งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีในความทรงจำ

นายประดับ ก้อนแก้ว ศิลปินช่างทำเทียนผู้สั่งสมองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการทำเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี มากว่า 60 ปี ได้รวบรวมและเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นและเผยแพร่ไว้ในเอกสารประกอบการอบรมในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสืบสานตำนานประเพณีดั้งเดิม ที่จัดโดยสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดังนี้

ก่อนพุทธศตวรรษที่ 24

ในช่วงบุญเดือนแปด หรือบุญเข้าพรรษา ชาวบ้านชาวคุ้มเมืองอุบลราชธานีแต่ละบ้านจะทำเทียนพรรษาไปถวายพระสงฆ์ โดยจะฝั้นขี้ผึ้งให้เป็นเทียนเล่มเล็ก ๆ ขนาดความยาวเท่าคืบ เท่าศอก เท่ารอบศีรษะ หรือเทียนเวียนหัว (ภาษาอีสานเรียกว่า ค่าคืบ ค่าศอก ค่าคิง)

ต่อมาได้มีการจัดทำเทียนพรรษาแบบรวมกลุ่ม โดยแต่ละบ้านที่อยู่ในชุมชนหรือในคุ้มจะนำเทียนมารวมกันก่อน แล้วจึงนำไปถวายพระสงฆ์ที่วัดร่วมกัน โดยเทียนเล่มสั้นก็จะทำเป็นเทียนพุ่ม หรือพุ่มเทียนตั้งวางบนพานหรือขันเพื่อให้เกิดความสวยงาม เทียนเล่มยาวหรือขนาดเท่าตัวก็จะนำมามัดรวมกันเข้าเป็นรูปทรงกลมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง ผูกติดไว้กับโครงไม้เพื่อป้องกันเทียนหัก การรวมเทียนพรรษาเป็นกลุ่มนี้แสดงถึงความสามัคคีในหมู่คณะ

ช่วงพุทธศตวรรษที่ 24

ปี พ.ศ.2444 กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ผู้มาปกครองหัวเมืองมณฑลอีสานและประทับที่เมืองอุบลราชธานี ได้ดำริให้มีการแห่ขบวนเทียนพรรษารอบเมืองเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2444

ปี พ.ศ.2470 ได้มีการคิดริเริ่มหล่อเทียนพรรษาด้วยการทำเป็นรางไม้หรือโฮงไม้ขึ้นเป็นครั้งแรก

ปี พ.ศ.2480 มีการทำต้นเทียนพรรษาเพื่อการประกวดครั้งแรก ซึ่งมีเพียง 4 ต้น ซึ่งนายประดับ ก้อนแก้ว เคยเห็นว่า มีลักษณะเป็นต้นเทียนพรรษาที่ทำเป็นลายดอก ติดตามลำต้น เป็นลายขนาดโต และติดห่าง ๆ กัน

ปี พ.ศ.2494 นายชอบ ชัยประภา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี สนับสนุนให้การแห่เทียนพรรษาเป็นงานประจำปีของจังหวัดอุบลราชธานี

ปี พ.ศ.2495 มีการนำรถยนต์มาใช้ในการตั้งต้นเทียนพรรษาแทนเกวียน และมีการรื้อฟืนการประกวดเทียนพรรษาแบบมัดรวม ติดพิมพ์

ปี พ.ศ.2498 นายประดับ ก้อนแก้ว ได้ริเริ่มการทำต้นเทียนพรรษาโดยจัดทำรูปสัตว์มาเป็นองค์ประกอบของต้นเทียนพรรษา ซึ่งเป็นรูปสัตว์ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา คือ พญานาค โดยจัดวางพญานาค 4 ตัว ติดไว้ที่ฐานต้นเทียนทั้ง 4 ด้าน พร้อมนำลวดลายมาติดที่ตัวพญานาคให้เหมือนของจริง ถือว่าเป็นคนแรกที่ทำองค์ประกอบต้นเทียนพรรษาขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้มีเพียงต้นเทียนต้นเดียวเท่านั้น ทำให้ในปีนั้น นายประดับ ก้อนแก้ว ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดต้นเทียนพรรษา ได้รับรางวัลข้าวสาร 1 กระสอบ น้ำมันก๊าด 1 ปี๊บ เงิน 100 บาท

ต้นเทียนพรรษา ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ต้นเทียนพรรษา ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ต้นเทียนพรรษา ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ต้นเทียนพรรษา ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ช่วงพุทธศตวรรษที่ 25

ปี พ.ศ.2500 นายประดับ ก้อนแก้ว ยังคงทำพญานาคเป็นองค์ประกอบของต้นเทียนพรรษา แต่มีขนาดใหญ่ชูหัวชูตัวโอบล้อมฐานต้นเทียน โดยการปั้นด้วยปูนปลาสเตอร์ ในปีนนี้มีครูสวนและครูสงวน คูณผล มาช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำ คือ สีตราสตางค์สีเขียว สีเหลือง และผลไม้ต่าง ๆ เพื่อนำมาแกะสลักทำเป็นเกล็ดของพญานาค ทำเป็นแม่พิมพ์สำหรับทำดอกผึ้ง (ดอกขี้ผึ้ง) เช่น ฟักทอง มะละกอ มันเทศ

การทำเกล็ดพญานาค จะใช้ขี้ผึ้งหลอมให้ละลายด้วยความร้อนผสมกับสีเขียว จากนั้นนำผลไม้ที่แกะสลักเป็นรูปเกล็ดพญานาคหรือแม่พิมพ์เสียบด้วยไม้ ใช้มือจับก้านเสียบแล้วจุ่มลงในขี้ผึ้งให้ติดกับแม่พิมพ์ แล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็น เพื่อให้ขี้ผึ้งหลุดออกจากแม่พิมพ์เป็นดอก ๆ เรียกว่า ดอกผึ้ง ซึ่งจะทำไว้จำนวนมากพอสำหรับติดบนลำตัวของพญานาค

ต้นเทียนพรรษาที่ทำขึ้นในปีนั้นเป็นของคุ้มวัดมหาวนาราม ที่สร้างความฮือฮาให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก

ปี พ.ศ. 2502 เริ่มมีการทำเทียนพรรษาแบบแกะสลักขึ้น โดยนายคำหมา แสงงาม ช่างปูนและช่างไม้ที่เคยทำลวดลายประตู หน้าต่าง ซุ้มประตูให้กับวัด ได้ดัดแปลงนำลวดลายกนกมาแกะสลักลงบนต้นเทียนพรรษาแทนการติดดอก เป็นการทำต้นเทียนพรรษาให้แก่คุ้มบ้านวัดกุกเป่ง อำเภอวารินชำราบ

ปี พ.ศ.2503 มีการแยกประเภทการประกวดต้นเทียนพรรษาออกเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทแกะสลัก ติดพิมพ์ และเทียนโบราณแบบมัดรวม

ปี พ.ศ.2510 ไม่มีการจัดงานแห่เทียนพรรษา ไม่มีการประกวดต้นเทียนพรรษา ด้วยเพราะมีคณะชาวพุทธสมาคมจังหวัดอุบลราชธานี ค้ดค้านว่าเป็นเรื่องงมงาย สิ้นเปลือง และเสียเวลา

ปี พ.ศ.2511 มีการจัดงานแห่เทียนพรรษาขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้มีกำลังศรัทธาในการสร้างมากขึ้น ทำให้มีการทำต้นเทียนพรรษาที่มีขนาดใหญ่และสูงขึ้นกว่า 2 เมตร ด้วยความเชื่อว่าจะจุดได้สว่างและทนทานขึ้น เมื่อทำการประกวดต้นเทียนพรรษาเสร็จแล้ว คุ้มวัดจะนำต้นเทียนพรรษาไปถวายที่วัด แต่เนื่องจากมีขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าประตูวัดได้ พระสงฆ์จึงรับแต่เครื่องไทยทาน

ปี พ.ศ.2512 เทศบาลเมืองอุบลราชธานีได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานีในการจัดงานแห่เทียนพรรษา ทางจังหวัดได้สั่งการให้นำต้นเทียนพรรษาทุกต้นไปประกวดที่ศาลาประชุมจังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้ว) ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกติดกับศาลหลักเมือง

ปี พ.ศ.2516 ย้ายสถานที่ตั้งขบวนทียนพรรษาไปจัดที่ทุ่งศรีเมืองซึ่งมีลานสนามที่กว้างขวาง เนื่องจากมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาชมจำนวนมาก เป็นการจัดงานร่วมกันระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับเทศบาลเมืองอุบลราชธานี

เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2519
เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2519 เอื้อเฟื้อภาพโดย อ.ปัญญา แพงเหล่า

ปี พ.ศ.2520 องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนให้การจัดงานแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีเป็นงานระดับชาติ ซึ่งขณะนั้นนานประมูล จันทร์จำนง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ท่านมีแนวคิดที่จะรับซื้อต้นเทียนทั้ง 2 ประเภทที่ชนะเลิศเก็บไว้เพื่อแสดงให้คนได้ดูทั้งปี แต่แนวคิดนี้ไม่สามารถดำเนินการได้

ในปีนี้เป็นปีที่ต้นเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ว่ามีความยิ่งใหญ่ สวยงามตระการตา มีการจัดงานแห่เทียนพรรษาถึง 3 วัน 3 คืน มีการประชาสัมพันธ์อย่างครึกโครม ทำให้ประชาชนทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลมาชมงานอย่างหนาแน่น และปีนี้ก็มีต้นเทียนส่งเข้าร่วมประกวดมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ จำนวน 12 ต้น และเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก จำนวน 4 ต้น ต้นเทียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทติดพิมพ์ เป็นผลงานของนายประดับ ก้อนแก้ว และประเภทแกะสลักเป็นผลงานของนายอุส่าห์ จันทรวิจิตร

เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2520
เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2520 เอื้อเฟื้อภาพโดย อ.ปัญญา แพงเหล่า
เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2524
เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2524 เอื้อเฟื้อภาพโดย อ.ปัญญา แพงเหล่า

ปี พ.ศ.2529 เริ่มมีสถานีโทรทัฒน์เข้าการถ่ายทำงานแห่เทียนพรรษา ช่างทำเทียนแต่ละวัดมีความกระตือรือร้นในการทำเทียนพรรษาเพราะมีรางวัลเพิ่มขึ้น ช่างทำเทียนพรรษาที่โด่งดังในช่วงเวลานั้น ได้แก่

  • นายประดับ ก้อนแก้ว ช่างทำเทียนติดพิมพ์ วัดมหาวนาราม
  • นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร ช่างทำเทียนแกะสลัก
  • นายสมัย จันทรวิจิตร ช่างทำเทียนแกะสลัก
  • จ.ส.อ.สงวน สุพรรณ ช่างทำเทียนติดพิมพ์ วัดสารพัฒนึก
  • อาจารย์เทอด บุญรัตน์พันธ์ ช่างทำเทียนติดพิมพ์ วัดแจ้ง
  • พระมหาบุญจันทร์ กิตตโสภโณ ช่างทำเทียนติดพิมพ์ วัดแจ้ง
  • นายมนัส สุขสาย ช่างทำเทียนติดพิมพ์ วัดสุปัฏนาราม
  • นายแก้ว อาจหาญ ช่างทำเทียนติดพิมพ์ วัดทุ่งศรีเมือง
  • นายประยุทธ เหล็กกล้า ช่างทำเทียนแกะสลัก วัดกลาง
  • นายอารีย์ สินสวัสดิ์ ช่างทำเทียนติดพิมพ์ วัดมหาวนาราม
  • นายคำหมา แสงงาม ช่างทำเทียนแกะสลัก วัดกุดเป่ง
  • นายวิรัช ศรีทานันท์ ช่างทำเทียนติดพิมพ์ วัดมหาวนาราม
  • นายสมพงษ์ อินทร์โสม ช่างทำเทียนติดพิมพ์ วัดทุ่งศรีเมือง

ปี พ.ศ.2530 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษา จึงได้มีการจัดทำเทียนพรรษาเพื่อเทิดพระเกียรติแก่พระองค์ท่าน

เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2532
เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2532 เอื้อเฟื้อภาพโดย อ.ปัญญา แพงเหล่า
เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2534
เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2534 เอื้อเฟื้อภาพโดย อ.ปัญญา แพงเหล่า

ปี พ.ศ.2535 มีการจัดงานแห่เทียนพรรษา 5 วัน 5 คืน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองอุบลราชธานี 200 ปี แบ่งเป็น

  • วันที่ 1 งานสมโภชเทียนพระราชทาน
  • วันที่ 2 จัดงานพาแลง
  • วันที่ 3 วันรวมเทียนพรรษาเพื่อประกวด
  • วันที่ 4 วันแห่เทียนพรรษา
  • วันที่ 5 นำเทียนที่ชนะเลิศมาแสดงให้ประชาชนได้ชมอีกครั้งในบริเวณทุ่งศรีเมือง

ปี 2539 จัดงานแห่เทียนพรรษา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติ 50 ปี กาญจนาภิเษก

เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2539
เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2539 เอื้อเฟื้อภาพโดย อ.ปัญญา แพงเหล่า

ปี พ.ศ.2541 ยกเลิกการประกวดขบวนแห่เทียนพรรษา

ปี 2542 เป็นปีที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เข้ามาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการจัดงานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นประเพณีประจำจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ประเพณีนี้มีความยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงโด่งดังไปอย่างกว้างขวาง และมีแนวคิดในการตั้งชื่องานให้สอดคล้องกับรูปแบบการจัดงานในแต่ละปี เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์แก่นักท่องเที่ยว โดยในปีนี้มีชื่องานว่า “งานแห่เทียนพรรษา เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชา” เนื่องจากเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และเป็นที่มาของเทียนเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณของทุ่งศรีเมือง” ปีนี้มีการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นจำนวน 10 วัน เป็นครั้งแรก

ปี 2543 ชื่องาน “หลอมบุญบูชา ถวายไท้นวมินทร์” มีความหมายถึง การหล่อเทียนพรรษาของชาวอุบลฯ เป็นการบำเพ็ญกุศลร่วมกัน การหล่อหลอมจิตศรัทธาให้เป็นหนึ่งเดียว เปรียบประดุจการหลอมบุญบูชา เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์พระมหากษัตริย์ เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองปีกาญจนาราชาภิเษก 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

ปีนี้มีการแบ่งประเภทเทียนพรรษาที่ส่งเข้าประกวดเป็นประเภทขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ทั้งเทียนพรรษาประเภทแกะสลักและติดพิมพ์ โดยนายประดับ ก้อนแก้ว เป็นผู้เสนอแนวคิด และมีนายบำเพ็ญ ณ อุบล นายสุวิชช คูณผล นายอุส่าห์ จันทรวิจิตร และนายสมคิด สอนอาจ เป็นผู้ร่วมอภิปราย

ปี 2544 ชื่องาน “งามล้ำเทียนพรรษา ภูมิปัญญาชาวอุบลฯ” เนื่องจากเทียนพรรษาได้วิวัฒนาการไปจากภูมิปัญญาดั้งเดิมอย่างมาก จึงได้มีการหันกลับมาทบทวนการจัดงานแห่เทียนพรรษาแบบดั้งเดิมตามภูมิปัญญาของชาวอุบลราชธานี

ปี 2545 ชื่องาน “โรจน์เรือง เมืองศิลป์” เป็นคำย่อมาจากคำว่า อุบลเมืองนักปราชญ์ รุ่งโรจน์ศาสตร์ เรืองรองศิลป์ถิ่นไทยดี ปีนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เลือกงานแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีเป็นหนึ่งในโครงการเที่ยวทั่วไทย ที่มีงานและกิจกรรมที่โดดเด่นที่สุดของประเทศในเดือนกรกฎาคม

ปี 2546 ชื่องาน “สืบศาสตร์ สานศิลป์” เนื่องจากงานประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นการสืบทอดศาสนาและสืบสานงานศิลปะ ดังคำกล่าวที่ว่า “เทียนพรรษา คือ ภูมิศิลปะแห่งศรัทธา” เพื่อความกระชับ จึงใช้ชื่อว่า “สืบศาสน์ สานศิลป์” แต่โดยเหตุที่มีผู้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า คำว่า “ศาสตร์” มีความหมายกว้างกว่า ชื่องานจึงเป็น “สืบศาสตร์ สานศิลป์”

ปี 2547 ชื่องาน “ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา เทิดไท้ 72 พรรษา มหาราชินี” เนื่องจากเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเป็นพระแม่-แม่พระของแผ่นดิน”

เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2547
เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2547 เอื้อเฟื้อภาพโดย อ.ปัญญา แพงเหล่า

ปี 2548 ชื่องาน “น้อมรำลึก 50 ปี พระบารมีแผ่คุ้มเกล้าฯ ชาวอุบลฯ” เนื่องจากเมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จเยือนอุบลราชธานีเป็นครั้งแรก ยังความปลาบปลื้มปิติแก่ชาวอุบลฯ เป็นล้นพ้น เพราะตั้งแต่สร้างบ้านเมืองมาเกือบ 200 ปี ยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จเยี่ยม หรือทรงใกล้ชิดกับราษฎรอย่างไม่ถือพระองค์เช่นนี้ ชาวอุบลฯ ทุกหมู่เหล่า ต่างพร้อมน้อมรำลึกด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเหล้าล้นกระหม่อม พระบารมีแผ่คุ้มเกล้าฯ ชาวอุบลฯ ปิติล้นพ้น ตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่ผ่านมาและตลอดไป”

ปี 2549 ชื่องาน “60 ปี พระบารมีแผ่ไพศาล งามตระการเทียนพรรษา เทิดราชัน” มีแนวคิดในการจัดงานเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี”

ปี 2550 ชื่องาน “ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม เลิศล้ำเทียนพรรษา ปวงประชาพอเพียง” เนื่องจากเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่  5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรปวงชนชาวไทย และการน้อมนำแนวพระราชดำรัสมาใช้ดำรงชีวิต”

ปี 2551 ชื่องาน “เมืองอุบลบุญล้นล้ำ บุญธรรม บุญทาน สืบสานตำนานเทียน” เนื่องจากอุบลราชธานี มีสมญานามว่า “เมืองแห่งดอกบัวงาม” ซึ่งดอกบัวเป็นพฤกษชาติที่มีคติธรรมทางพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง อุบลราชธานีจึงมีวัฒนธรรมประเพณี ทำบุญทุก ๆ เดือน คือการยึดถือฮีตสิบสองคองสิบสี่ ประเพณีแต่ละอย่างในฮีตสิบสองล้วนมีชื่อขึ้นต้นว่าบุญ หมายถึง ประเพณีที่มุ่งการทำบุญเป็นสำคัญ อุบลราชธานีจึงมีบุญล้นล้ำ ทั้งบุญธรรม บุญทาน อีกทั้ง งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีมาแต่โบราณ โดยเริ่มจากในสมัยแรก ๆ เป็นเทียนเวียนหัว มัดรวมติดลาย วิวัฒนาการมาจนเป็น หลอมเทียน หลอมใจ หลอมบุญ สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของชื่องานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ปี 2551

ปี 2552 ชื่องาน “ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม บุญล้ำเทียนพรรษา ประชาพอเพียง” เนื่องจากอุบลราชธานีเป็น “อู่อารยวัฒนธรรม อุดมอริยทรัพย์ อริยสงฆ์ รุ่งโรจน์ศาสตร์ เรืองรองศิลป์ ถิ่นไทยดี” ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม จึงเป็นความรุ่งเรือง สว่างไสว อุดมสมบูรณ์ ในธรรมที่สำคัญยิ่ง 3 ประการ คือ พุทธธรรม อารยธรรม และธรรมชาติ ประกอบกับ การทำบุญเข้าพรรษาที่อุบลราชธานี มีชื่อเสียงมานานนับร้อยปี จึงเป็นที่รวมทำบุญเข้าพรรษาของประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก ท่านที่มาทำบุญเดือนแปดที่เมืองอุบลฯ จึงเป็นการบำเพ็ญกุศล ได้รับ “บุญล้ำเทียนพรรษา” โดยทั่วหน้ากัน พร้อมกันนี้ยังได้เสนอเน้นคำขวัญ ประชาพอเพียง ซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ประชาชนพลเมือง จะมีความพอเพียงได้ ก็ด้วยคุณธรรมความพอเพียงตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทำชีวิตให้อยู่ดีมีสุข ไม่มีความฟุ้งเฟ้อ ทะเยอทะยาน ยินดีในสิ่งที่ได้ พอใจในสิ่งที่มี จึงเป็นที่มาของชื่องานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ปี 2552″

ปี 2553 ชื่องาน “ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ภูมิปัญญาชาวอุบลฯ” เนื่องจากเมืองอุบลราชธานี มี “ธรรม” 3 ประการ คือ พุทธธรรม กล่าวคือ ชาวอุบลฯ มีความฝักใฝ่ในธรรม อารยธรรม คือ อุดมด้วยอารยทรัพย์ อารยสงฆ์ และธรรมชาติ ตามถิ่นที่ตั้งเมืองอุบล คือ ดงอู่ผึ้ง จึงเป็นความรุ่งเรือง หรือ “ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม” และที่ตั้งเมืองของจังหวัดอุบลราชธานี คือ ดงอู่ผึ้ง ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการทำเทียนพรรษา รวงผึ้งอุดมสมบูรณ์มาก สำนักพระราชวังได้นำขี้ผึ้งจากจังหวัดอุบลฯ ไปเพื่อทำเทียนพระราชทาน ประกอบกับ อุบลราชธานีมีสกุลช่างทุกสาขาวิชาช่างศิลปะ จึงสามารถรังสรรค์เทียนพรรษา ออกมาได้อย่างวิจิตรบรรจงตามจินตนาการ งามล้ำเทียนพรรษา และเนื่องจากประเพณีแห่เทียนพรรษาเกิดจากภูมิปัญญาชาวอุบลฯ เป็น “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” สืบสานเป็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ก่อให้เกิด “ภูมิพลังเมือง” สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ประชาคมเป็นปึกแผ่นมั่นคง แก้ไขปัญหาสำคัญของชาติได้ในการร่วมเป็น “ภูมิพลังแผ่นดิน”

ปี 2554 ชื่องาน “ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ภูมิปัญญาชาวอุบลฯ” เป็นก่ีใช้ชื่องานต่อเนื่องจากงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ปี 2553 โดยปีนี้จะมีความพิเศษกว่าทุกปี คือ มีการจัดทำต้นเทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติ เป็นการนำเทียนประเภทแกะสลักและติดพิมพ์ มารวบรวมในต้นเทียนเดียวกัน โดยฝีมือช่างเทียนระดับอาจารย์ 9 ท่าน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา และเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวจังหวัดอุบลราชธานี

ปี 2555 ชื่องาน “111 ปี ลือเลื่อง ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ภูมิปัญญาชาวอุบล” มีแนวคิดเพื่อรำลึกในโอกาสครบรอบ 111 ปี นับจากที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ปกครองหัวเมืองมณฑลอีสานได้ดำริให้มีการแห่ขบวนเทียนพรรษารอบเมืองเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2444

ปีนี้จังหวัดอุบลราชธานีได้จัดให้มีพิธีอัญเชิญเทียนพระราชทานและผ้าอาบน้ำฝนพระราชทางทางชลมารค

ปี 2556 ชื่องาน “ย้อนตำนาน 112 ปี สืบฮีตวิถีชาวอุบล ยลพุทธศิลป์ถิ่นไทยดี” มีแนวคิดเพื่อย้อนตำนาน 112 ปี นับจากที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ปกครองหัวเมืองมณฑลอีสานได้ดำริให้มีการแห่ขบวนเทียนพรรษารอบเมืองเป็นครั้งแรกแทนการแห่บุญบั้งไฟ เมื่อ พ.ศ.2444 อุบลราชธานีมีวัฒนธรรม ประเพณี วิถีที่แสดงออกมาซึ่งความสามัคคีของชาติพันธุ์ที่หลากหลายกระจายทั่วทุก 25 อำเภอ เป็นประเพณีแห่เทียนพรรษาที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน เป็นการ “สืบฮีตวิถีชาวอุบล” โด่งดังไปทั่วโลก และงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ได้สะท้อนความงามแห่งศิลป์ที่ทรงคุณค่า หลอมรวมกับวิถีชีวิตชุมชนเพื่อเชิดชูพระพุทธศาสนา ยึดมั่นในธรรม ทำให้ชีวิตอยู่ดีมีสุข สงบร่มเย็น และพอเพียงเป็นแก่นแท้แห่งถิ่นไทยดี

ความโดดเด่นของงานประเพณีแห่เทียนพรรษาปีนี้ คือ วัดเมืองเดช อำเภอเดชอุดมได้สร้างสรรค์ขบวนเทียนพรรษาที่ตกแต่งด้วยเทียนหอมเข้าร่วมงาน ซึ่งเทียนหอมนี้เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของอำเภอเดชอุดม ทำให้ขบวนเทียนพรรษามีสีสันสวยงามแปลกตาและแตกต่างจากทุกขบวน และเป็นเทียนพรรษาที่มีกลิ่นหอมหนึ่งเดียวของโลก

และวัดศรีประดู่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบต้นเทียนพรรษารูปทรงแปดเหลี่ยมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตนเองมากว่า 40 ปี เป็นรูปทรงกลม และการนำเสนอรูปด้านหน้าขบวนจากรูปสัตว์หิมพานต์ เช่น พญาครุฑ พญาหงส์ ช้างสามเศียร มาเป็นรูปสัตว์ในขุมนรกที่กำลังถูกทรมานจากยมบาล

ปี 2557 ชื่องาน “113 ปี งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี 2557 และเฉลิมฉลอง 222 ปี อุบลราชธานี” แนวคิดเพื่อย้อนตำนาน 113 ปี นับจากที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ปกครองหัวเมืองมณฑลอีสานได้ดำริให้มีการแห่ขบวนเทียนพรรษารอบเมืองเป็นครั้งแรกแทนการแห่บุญบั้งไฟ เมื่อ พ.ศ.2444 และเป็นวาระที่เมืองอุบลราชธานี ครบรอบ 222 ปี แห่งการสถาปนาเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาลัยประเทศราช เมื่อ พ.ศ.2335

ปี 2558 ชื่องาน “งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี ประจำปี 2558”

ปี 2559 ชื่องาน “งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี ประจำปี 2559”

เทียนพรรษาทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เทียนพรรษาทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย องค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด ปี 2559

ปี 2560 ชื่องาน “งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี ประจำปี 2560”

ปี 2561 ชื่องาน “ฮีตศรัทธา ราชธานีแห่งเทียน” มีแนวคิดเพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานี

ปี 2562 ชื่องาน “118 ปี เทียนพรรษา เทิดราชาขวัญแผ่นดิน” แนวคิดเพื่อย้อนตำนาน 118 ปี นับจากที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ปกครองหัวเมืองมณฑลอีสานได้ดำริให้มีการแห่ขบวนเทียนพรรษารอบเมืองเป็นครั้งแรกแทนการแห่บุญบั้งไฟ เมื่อ พ.ศ.2444 เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย และจังหวัดอุบลราชธานี และเพื่อหล่อหลอม รวมจิตใจ ในการรู้รักสามัคคี ของชาวจังหวัดอุบลราชธานี และประการสำคัญ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิรา-ลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

ปี 2563 ชื่องาน “อนุรักษ์เทียนพรรษา มุทิตาหลวงปู่มั่น” แนวคิดเพื่อเป็นการแสดงมุทิตาจิตเนื่องในโอกาสที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งมีชาติกำเนิดเป็นชาวอุบลราชธานี ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ

เทียนพรรษาประเภทแกะสลัก วัดไชยมงคล ปี 2559
เทียนพรรษาประเภทแกะสลัก วัดไชยมงคล ปี 2559

ปี 2564 ชื่องาน “ยลเทียนพรรษา มรดกล้ำค่า เมืองดอกบัว” โดยมีแนวคิดเพื่อสืบทอดประเพณีถวายเทียนพรรษาเป็นพุทธบูชาให้อยู่คู่เมืองอุบลฯ สืบไป งานจัดขึ้น ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัส Covid-19 จึงจัดงานในรูปแบบออนไลน์ ผ่านสถานีโทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

ปี 2565 ชื่องาน “121 ปี ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรมงามล้ำเทียนพรรษา” มีการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาแบบเต็มรูปแบบ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 โดยเว้นระยะห่าง ลดความแออัด อย่างเคร่งครัด

กิจกรรมในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี

งานประเพณีเทียนพรรษาที่จัดขึ้นโดยจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวประจำปีนั้น จะเริ่มขึ้นราว 1 เดือนก่อนถึงวันเข้าพรรษา หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 โดยภาพรวมแล้วกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในช่วงงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จะประกอบด้วย

  • กิจกรรมเยือนชุมชนคนทำเทียน เป็นกิจกรรมที่จะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าไปเยี่ยมชมการทำเทียนพรรษาของคุ้มวัดต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์และประเภทแกะสลัก เป็นชุมชนหรือคุ้มวัดที่จะนำขบวนเทียนพรรษาเข้าร่วมในงานประเพณีอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในอำเภอเมืองและอำเภอวารินชำราบ เช่น ชุมชนคนทำเทียนพรรษาวัดทุ่งศรีเมือง วัดมหาวนาราม วัดบูรพาราม วัดศรีประดู่ วัดพลแพน วัดแจ้ง วัดพระธาตุหนองบัว วัดศรีอุบลรัตนาราม วัดไชยมงคล วัดผาสุการาม
ชุมชนทำเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี
ชุมชนทำเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี
  • การประกวดสาวงามเทียนพรรษาและงานพาแลง เป็นกิจกรรมที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาจากการที่เมื่อก่อนคุ้มวัดต่าง ๆ จะนำเด็กสาวในชุมชนมานั่งเป็นนางฟ้าประจำต้นเทียนในขบวนแห่เทียนพรรษา ภายหลังได้มีแนวคิดมอบหมายภาระหน้าที่การประชาสัมพันธ์งานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีให้แก่นางงามประจำต้นเทียนด้วย จึงได้จัดการประกวดสาวงามเทียนพรรษาขึ้น พร้อมทั้งจัดงานเลี้ยงพาแลง เพื่อรับรองแขกผู้มีเกียรติและนักท่องเที่ยว กิจกรรมนี้มักจะจัดในช่วงก่อนวันเข้าพรรษา 2 วัน
นางฟ้าประจำต้นเทียนพรรษา
นางฟ้าประจำต้นเทียนพรรษา เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณสาทิส หาญสกุล
นางฟ้าประจำต้นเทียนพรรษา
นางฟ้าประจำต้นเทียนพรรษา เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณสาทิส หาญสกุล
นางฟ้าประจำเทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี
นางฟ้าประจำเทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี
  • กิจกรรมเยี่ยมชมบ้านคำปุน อำเภอวารินชำราบ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองที่เป็นภูมิปัญญาของชาวอุบลราชธานีโดยแท้ โดยได้เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมขั้นตอนวิธีการทอผ้าไหมพื้นเมือง อุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการทอผ้าพื้นเมือง ชมความงดงามของผ้าทอพื้นเมืองลวดลายต่าง ๆ ที่หาชมได้ยาก โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้จาก นางคำปุน ศรีใส ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์-ถักทอ พ.ศ.2537 ศิลปินแห่งชาติ (หัตศิลป์-ถักทอ) ประจำปี 2561 และนายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ.2544 ผู้คิดค้นและออกแบบผ้าลายกาบบัว ผ้าเอกลักษณ์จังหวัดอุบลราชธานี และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานิื่น ๆ เช่น การฟ้องกลองตุ้ม งานดอกไม้ การทำเทียนพรรษาแบบโบราณ กิจกรรมนี้จะจัดเพียง 3 วัน คือ ก่อนวันอาสาฬหบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา เป็นกิจกรรมที่อยู่คู่กับงานประเพณีแห่พรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีมากว่า 21 ปี ในปี 2562 และตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป การเข้าชมบ้านคำปุนสามารถเข้าชมได้ที่พิพิธภัณฑ์คำปุน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.
กิจกรรมเยือนบ้านคำปุน
กิจกรรมเยือนบ้านคำปุน

  • การแสดงเทียนพรรษารอบทุ่งศรีเมือง เป็นกิจกรรมที่คุ้มวัดต่าง ๆ จะนำเทียนพรรษาที่เข้าร่วมในงานประเพณีมาจัดแสดงไว้ที่บริเวณโดยรอบของทุ่งศรีเมือง โดยเทียนพรรษาที่จัดทำอย่างเสร็จสมบูรณ์จะถูกตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้และไฟอย่างสวยงามพร้อมอวดสายตาแก่นักท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด ทั้งเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประเภทติดพิมพ์ และเทียนโบราณ กิจกรรมนี้จะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากจะจัดขึ้นในช่วงเย็นของวันอาสาฬหบูชา คำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวและช่างภาพที่ต้องการถ่ายภาพของเทียนพรรษาอย่างสวยงามโดยไม่ติดภาพผู้คน ควรจะมาชมเทียนพรรษาในช่วงเช้ามืดของวันเข้าพรรษา
เทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ที่ตั้งแสดงโดยรอบทุ่งศรีเมือง
เทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ที่ตั้งแสดงโดยรอบทุ่งศรีเมือง
เทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ที่ตั้งแสดงโดยรอบทุ่งศรีเมือง
เทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ที่ตั้งแสดงโดยรอบทุ่งศรีเมือง
  • กิจกรรมแห่เทียนเข้าพรรษา เป็นกิจกรรมที่คุ้มวัดต่าง ๆ จะนำเทียนพรรษาที่ตั้งไว้โดยรอบของทุ่งศรีเมืองเข้าร่วมขบวนแห่ ซึ่งจะเคลื่อนขบวนแห่จากบริเวณหน้าวัดศรีอุบลรัตนารามไปตามถนนอุปราช ในขบวนแห่จะมีขบวนฟ้อนรำและขบวนแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานที่แต่ละวัดได้สร้างสรรค์ขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถเข้านั่งชมได้ที่อัฒจันทร์ที่จัดไว้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย กิจกรรมนี้จะจัดในช่วงเช้าของวันเข้าพรรษาเป็นต้นไป ทั้งนี้บางปีมีการจัดขบวนแห่เทียนพรรษาในช่วงกลางคืนด้วย
ขบวนแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี
ขบวนแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณสาทิส หาญสกุล
ขบวนแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี
ขบวนแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณสาทิส หาญสกุล
ขบวนแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี
ขบวนแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณสาทิส หาญสกุล
ขบวนแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี
ขบวนแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี
ขบวนแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี
ขบวนแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี
ขบวนแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี
ขบวนแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี
ขบวนแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ภาคกลางคืน
ขบวนแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ภาคกลางคืน
  • กิจกรรมประติมากรรมเทียนนานาชาติ เป็นกิจกรรมเพื่อต่อยอดภาพลักษณ์ของงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีออกสู่สากลและร่วมสมัย กิจกรรมนี้มีการจัดขึ้นทั้งหมด 10 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549-2559 ทั้งนี้ในระหว่างนี้มีการงดจัดงาน 1 ครั้ง ในปี 2556
ประติมากรรมเทียนนานาชาติ
ประติมากรรมเทียนนานาชาติ
ประติมากรรมเทียนนานาชาติ
ประติมากรรมเทียนนานาชาติ
  • การประกวดเทียนพรรษา เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสร้างคุณค่า สร้างขวัญและกำลังใจให้กับช่างทำเทียนพรรษาและคุ้มวัดที่นำเทียนพรรษาเข้าร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี โดยจะมีการแบ่งประเภทการประกวดเป็น เทียนพรรษาประเภทแกะสลักและเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และเทียนโบราณ ขนาดเล็กและขนาดใหญ่
เทียนพรรษาแบบโบราณ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ปี 2559
เทียนพรรษาแบบโบราณ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ปี 2559

ที่ตั้ง ประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี

จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ ประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี

15.230193, 104.857329

บรรณานุกรม

ไกด์อุบล. (2563). งานประเพณีแห่เทียนพรรษา. เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563, https://www.guideubon.com/2.0/candlefestival/

คณะกรรมการจัดทำหนังสือ วิวัฒนาการประวัติประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี. (2550). เลิศล้ำเลอค่า เทียนพรรษาเมืองอุบล. อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

ประดับ ก้อนแก้ว. (2531). เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี : ประวัติการจัดทำและการประกวด. อุบลราชธานี: โรงเรียนอุบลวิทยาคม.

สุชาติ สุวรรณวงค์. (2556). ฮีตวิถีชาวอุบล คนทำเทียน. มหาสารคาม:  สาขาวัฒนธรรมศาสตร์ คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง