หนังประโมทัย หนังบักตื้อ หนังตะลุงอีสาน

หนังประโมทัย หนังปะโมทัย หนังบักตื้อ หนังบักป่องบักแก้ว แม้จะมีชื่อเรียกที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่นั่นคือ ศิลปะการแสดงของท้องถิ่นอีสานที่ผสมผสานระหว่างหนังตะลุงและหมอลำเข้าด้วยกัน กล่าวคือ มีตัวหนังเชิดเล่นเงาเหมือนหนังตะลุงและนำเสนอเรื่องราวการแสดงแบบหมอลำ ซึ่งศิลปะการแสดงหนังประโมทัยนี้ได้รับอิทธิพลจากการติดต่อทางวัฒนธรรมระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้านทั้งจากภาคใต้ที่เป็นต้นกำเนิดของหนังตะลุงในประเทศไทยและภาคกลางที่ได้รับการถ่ายทอดมาอีกที มีการผสมผสานปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างลงตัวจนเกิดเป็นหนังประโมทัยขึ้นและเป็นที่ยอมรับของคนในท้องถิ่นอีสาน

เมื่อก่อนนั้นหนังประโมทัยเป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องที่นิยมเล่น คือ รามเกียรติ์ แต่ปัจจุบันแทบจะหาดูไม่ได้เลย

หนังประโมทัย ศิลปะการแสดงที่กำลังเลือนหาย
หนังประโมทัย ศิลปะการแสดงที่กำลังเลือนหาย

 การแสดงหนังประโมทัย

ในการแสดงหนังประโมทัยจะประกอบด้วย ผู้เชิด ตัวหนัง โรงและจอหนัง บทพากย์ บทเจรจา ดนตรีประกอบ ตลอดจนแสงเสียงที่ใช้ในการแสดง ในหนึ่งคณะจะใช้บุคลากรในการแสดงประมาณ 5-10 คน แบ่งเป็น คนเชิด 2-3 คน คนพากย์และเจรจา 1-2 คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย และนักดนตรี 3-4 คนหรือตามจำนวนเครื่องดนตรี คนเชิดและคนพากย์อาจจะเป็นคนเดียวกัน บางคนเป็นหมอลำเพราะการแสดงบางเรื่องต้องใช้ลีลาการร้องแบบหมอลำหรือบางคนก็เป็นพระนักเทศน์มาก่อน กล่าวคือคนพากย์คนเจรจาจะต้องเป็นผู้มีความสามารถในการใช้เสียง มีความรู้รอบตัว  มีลีลา และไหวพริบที่ดีเพื่อดำเนินการแสดงให้สนุกสนานและทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ

หนังประโมทัย หนังบักตื้อ หนังตะลุงอีสาน
หนังประโมทัย หนังบักตื้อ หนังตะลุงอีสาน

หนังประโมทัยจะนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์เหมือนกับหนังตะลุง โดยอาจจะหยิบยกมาเล่นบางบทบางตอน มีบางคณะได้นำวรรณกรรมหรือนิทานพื้นบ้านอีสานมาทำการแสดงด้วย เช่น สังข์ศิลป์ชัย จำปาสี่ต้น การะเกด ฯลฯ

การเชิดหนังประโมทัย
การเชิดหนังประโมทัย

ตัวหนังประโมทัย

ตัวหนังประโมทัย จะมีลักษณะเป็นตัวละครรูปลอยตัวที่มีฉลุลวดลายลงบนหนัง ซึ่งนิยมใช้หนังลูกวัวหรือลูกควาย ที่บางและโปร่งแสง ขนาดความสูงของตัวหนังประมาณ 1-2 ฟุต มีการเจาะรูร้อยเชือกที่ข้อมือและข้อศอกแล้วใช้เชือกร้อยผูกไว้ที่มือของตัวหนังผูกเข้ากับไม้เล็ก ๆ เพื่อให้แขนและมือขยับเคลื่อนไหวไปมาได้ ตัวตลกมักจะทำให้แขนเคลื่อนไหวได้ทั้งสองข้าง ส่วนปากก็ใช้เชือกผูกไว้ที่คาง ให้สามารถชักขยับขึ้นลงได้เหมือนกำลังพูด ตัวหนังทุกตัวจะมีไม้ยาววางพาดตัวหนังเป็นแกนกลางสำหรับพยุงตัวหนัง เป็นที่จับ และใช้เสียบปักกับต้นกล้วยขณะทำการแสดง

ตัวหนังประโมทัย
ตัวหนังประโมทัย
ตัวตลกในหนังประโมทัย
ตัวตลกในหนังประโมทัย

ตัวหนังประโมทัย ส่วนหัวจะเป็นภาพใบหน้าด้านข้าง ส่วนลำตัวจะมองเห็นแขนขาครบทั้งสองข้าง ยกเว้นตัวนางมักจะทำเป็นภาพหน้าตรง โดยฉลุบริเวณหน้าให้มองเห็นเป็นสีขาวในเวลาฉายออก เรียกหนังตัวนางว่า “หนังหน้าแขวะ”

ตัวหนังประโมทัยตัวนาง หรือ หนังหน้าแขวะ
ตัวหนังประโมทัยตัวนาง หรือ หนังหน้าแขวะ

โรงและจอหนังประโมทัย

โรงหนังประโมทัยส่วนใหญ่จะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม นักแสดง คนเชิด และนักดนตรีทั้งหมดจะอยู่ในโรงนี้ ด้านหน้าของโรงหนังเป็นจอสีขาวตัดขอบโดยรอบด้วยสีดำหรือสีน้ำเงินที่สูงจากพื้นประมาณ 1-1.5 เมตร ยาวประมาณ 3-4 เมตร กว้าง 1.5 เมตร ด้านข้างของโรงหนังจะกั้นทึบทั้งสองด้าน ภายในโรงหนังจะมีต้นกล้วยวางชิดกับจอสำหรับเสียบตัวหนังที่กำลังแสดงและวางต้นกล้วยไว้ที่ด้านข้างทั้งสองด้วยสำหรับเสียบตัวหนังที่พักหรือรอการแสดง

ภายในโรงหนังประโมทัย
ภายในโรงหนังประโมทัย

แหล่งกำเนิดแสงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดเงาของตัวหนังไปปรากฏที่จอ จะทำการติดตั้งหลอดไฟฟ้าให้อยู่ตรงกลางระหว่างจอหนังกับผู้พากย์และอยู่เหนือศีรษะของผู้พากย์เพียงหลอดเดียวเพื่อไม่ให้เกิดภาพซ้อน

บทพากย์ บทเจรจาหนังประโมทัย

การพากย์และการเจรจาในการแสดงหนังประโมทัยจะมีทั้งการใช้ภาษาไทยกลางและภาษาอีสาน ประกอบกับการร้องหมอลำก็มี ตามแต่การสร้างสรรค์ของแต่ละคณะเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินสนุกสนาน บทพากย์และบทเจรจาจะเป็นบทกลอนที่ได้รับการฝึกฝนและจดจำมาจากครูหรือจากหนังสือที่มีผู้แต่งไว้ มีบางครั้งที่เป็นกลอนสดและกลอนลำชนิดต่าง ๆ โดยทำนองการพากย์ที่พบเห็นได้นั้นแบ่งเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ  คือการพากย์ทำนองร้องหนังตะลุง มักใช้กับตัวแสดงหลักในเรื่องรามเกียรติ์ และการพากย์ทำนองแบบหมอลำ ซึ่งเป็นทำนองที่มีความครึกครื้นสนุกสนานมักใช้กับตัวตลก เช่น ปลัดตื้อ บักป่อง บักแก้ว ซึ่งบทตลกนั้นมีความสำคัญเกือบจะเทียบเท่าตัวเอก เป็นตัวสร้างสีสันทำให้การดูหนังตะลุงมีความสนุกสนานยิ่งขึ้นจนเป็นที่จดจำและเป็นที่มาให้คนในท้องถิ่นอีสานเรียกหนังประโมทัยว่า หนังบักตื้อ หนังบักป่องบักแก้ว

คนพากย์ และคนเชิดหนังที่อยู่ภายในโรงหนังประโมทัย
คนพากย์ และคนเชิดหนังที่อยู่ภายในโรงหนังประโมทัย

ดนตรีประกอบการแสดงหนังประโมทัย

ดนตรีประกอบการแสดงหนังประโมทัย จะพบเห็นได้ 3 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 มีระนาดเอกเป็นหลักของวง ประกอบกับกลอง ฉิ่ง ฉาบ รูปแบบที่ 2 การใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน เช่น พิณ  แคน ซอ กลอง ฉิ่ง ฉาบ รูปแบบที่ 3 การใช้ผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากล เช่น กีตาร์ไฟฟ้า กลองชุด อิเล็กโทน ทั้งนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของเครื่องดนตรีไปเพื่อสร้างความน่าสนใจและเพิ่มความสนุกสนานมากขึ้น

เครื่องดนตรีประกอบการแสดงหนังประโมทัย
เครื่องดนตรีประกอบการแสดงหนังประโมทัย
การเล่นดนตรีประกอบการแสดงภายในโรงหนังประโมทัย
การเล่นดนตรีประกอบการแสดงภายในโรงหนังประโมทัย
การนำเครื่องดนตรีสากลมาเล่นประกอบการแสดงหนังประโมทัย
การนำเครื่องดนตรีสากลมาเล่นประกอบการแสดงหนังประโมทัย

ขั้นตอนการแสดงหนังประโมทัย

หนังประโมทัยมีขั้นตอนหรือแบบแผนการแสดงตามลำดับ ดังนี้

1.การเตรียมความพร้อม เป็นการจัดวางอุปกรณ์ของการแสดงต่าง ๆ เช่น เครื่องดนตรี หีบหนัง และปักตัวหนังกับต้นกล้วย เพื่อเตรียมพร้อมการแสดง

2.การไหว้ครู หัวหน้าคณะจะนำไหว้ครู และยกคายกับรูปฤาษี เพื่ออัญเชิญเทวดาให้มาช่วยคุ้มครอง และดลบันดาลให้การแสดงในคืนนั้นประสบความสำเร็จเป็นที่นิยมชมชอบ คายหรือเครื่องไหว้ครู ประกอบด้วย ขันธ์ 5 เงิน สุรา แป้ง น้ำมัน หวี กระจกเงา หมาก บุหรี่ เป็นต้น เมื่อไหว้หรือยกครูเสร็จแล้ว จะรินเหล้าแจกลูกวงดื่มอย่างทั่วถึง เมื่อเริ่มการแสดงจะต้องไหว้ครูในจอหรือไหว้ครูในการแสดงอีกครั้ง โดยการออกรูปฤาษี และออกรูปตัวแสดงทั้งหมด

การออกรูปตัวแสดงทั้งหมดในการแสดงหนังประโมทัย
การออกรูปตัวแสดงทั้งหมดในการแสดงหนังประโมทัย

3.การโหมโรง ผู้เชิดและนักดนตรีจะแยกย้ายประจำตำแหน่ง นักดนตรีจะเริ่มบรรเลงเพลงโหมโรม

4.การประกาศบอกเรื่อง เมื่อบรรเลงเพลงโหมโรงจบ หัวหน้าคณะหรือพิธีกรประจำคณะหนังประโมทัย จะประกาศบอกเรื่องและตอนที่จะแสดงในคืนนั้น ๆ ซึ่งมีทั้งใช้ภาษากลางและภาษาอีสาน

5.การออกรูป จะมีการออกรูปฤาษี รูปปลัดตื้อ รูปเต้นโชว์หรือชกมวย และออกรูปตัวแสดงทั้งหมดเป็นเบื้องต้น

การออกรูปฤาษี ในการแสดงหนังประโมทัย
การออกรูปฤาษี ในการแสดงหนังประโมทัย

เมื่อออกรูปฤาษีแล้วจะมีการร้องบทพากย์ฤาษี ซึ่งเป็นการไหว้ครูบาอาจารย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และขอเชิญคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้มาช่วยให้การแสดงดำเนินไปด้วยดี คารวะผู้ชม และขออภัยต่อผู้ชมหากมีการผิดพลาดระหว่างการแสดง จากนั้นจะมีการแสดงเบิกโรง โดยการออกตัวตลก รูปเต้นโชว์ หรือการชกมวย

6.การเชิด การเชิดหนังประโมทัยนั้น ผู้เชิดจะยืนเชิด เมื่อผู้เชิดจับตัวหนังตัวใดก็จะมีการพากย์และเจรจาตัวนั้นไปด้วยซึ่งคนพากย์และคนเชิดอาจจะเป็นคนละคน หรือคนเดียวกันก็ได้

ตัวหนังที่เป็นตัวพระ ตัวนาง ยักษ์ ลิง ซึ่งปากขยับไม่ได้ ก็จะใช้การเคลื่อนไหวมือข้างหนึ่งประกอบคำพูด ถ้าเป็นตัวตลกซึ่งขยับปากได้ เพราะมียางยืดบังคับอยู่ จะใช้นิ้วกระตุกดึงเชือกให้ปากขยับตรงกับคำพูด ซึ่งผู้เชิดจะต้องมีความชำนาญมาก การเชิดจะต้องทำตัวหนังเหมือนมีชีวิต บางทีผู้เชิดจะออกหน้าตาท่าทางหรือเต้นตามไปด้วย

การเชิดหนังประโมทัย
การเชิดหนังประโมทัย

7.การดำเนินเรื่อง หลังจากการแสดงเบิกโรง ก็จะเป็นการดำเนินแสดงไปตามเนื้อเรื่องจนจบการแสดง

การดำเนินเรื่องหนังประโมทัย
การดำเนินเรื่องหนังประโมทัย

8.การจบ เมื่อจะจบการแสดง จะมีขนบสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำกันแทบทุกคณะ โดยเฉพาะใน จ.ร้อยเอ็ด คือ ใช้ตัวตลกตัวใดตัวหนึ่งออกมาบอกเลิกการแสดง แต่ละคณะก็จะมีวิธีการแตกต่างกันไป

หนังประโมทัยกับความเชื่อ

การแสดงหนังประโมทัยมีความเชื่อในเรื่องต่าง ๆ น้อยมาก เมื่อเทียบกับความเชื่อของหนังตะลุงภาคใต้  ดังพอจะพบเห็นได้บ้าง เช่น

  • การทำรูปหนังรูปศักดิ์สิทธิ์ หนังประโมทัยไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างรูปศักดิ์สิทธิ์เพื่อป้องกันเสนียดจัญไร แต่ก็จะมีการเคารพนับถือรูปฤาษีเพียงรูปเดียวเท่านั้น โดยถือรูปฤาษีเป็นรูปครู บางคณะในระหว่างเข้าพรรษาจะนำรูปฤาษีขึ้นไปไว้บนหิ้งบูชา และไม่นำรูปฤาษีไปแสดงที่ไหนในระหว่างเข้าพรรษา ซึ่งอาจจะเป็นอิทธิพลของประเพณีทางพุทธศาสนาในช่วงเข้าพรรษา
  • การจัดเก็บรูปหนังเข้าแผงเก็บรูป นิยมเก็บรูปตัวตลกไว้ข้างล่าง ชั้นต่อมาเป็นรูปกาก ต่อมาคือรูปยักษ์ รูปลิง และมนุษย์ ส่วนรูปฤาษีจัดไว้ข้างบนสุด เพราะถือเป็นรูปครู

ตัวหนังประโมทัย โรงเรียนบ้านหนองแวง (โสวรรณีวิทยาคม)

หนังประโมทัยหนังประโมทัยหนังประโมทัยหนังประโมทัยหนังประโมทัย หนังประโมทัย หนังประโมทัย หนังประโมทัย หนังประโมทัย หนังประโมทัย หนังประโมทัย หนังประโมทัย หนังประโมทัย หนังประโมทัย หนังประโมทัย หนังประโมทัยหนังประโมทัยหนังประโมทัย หนังประโมทัยหนังประโมทัยหนังประโมทัยหนังประโมทัยหนังประโมทัยหนังประโมทัยหนังประโมทัย หนังประโมทัยหนังประโมทัย หนังประโมทัยหนังประโมทัย หนังประโมทัย หนังประโมทัย หนังประโมทัย หนังประโมทัยหนังประโมทัย

บรรณานุกรม

ชุมเดช  เดชภิมล.  2531. การศึกษาเรื่องหนังประโมทัยในจังหวัดร้อยเอ็ด. ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.

นภดล ทิพยรัตน์. หนังตะลุงสู่หนังประโมทัย :การแพร่กระจายและการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรม. รูสมิแล. 20(1). 32-37.

มานิตย์ สนับบุญ. หนังตะลุงอีสาน มนต์เมืองน้ำดำของดีที่รอวันจางหาย. โพสต์ทูเดย์. 24 กรกฎาคม

  1. A.2.

รชนี  กรกระหวัด.  2542. เชิดหนังแลกพริกแลกข้าว หนังตะลุงอิสานบ้านสระแก้ว. วัฒนธรรมไทย.36 (12): 15-18.

รัถพร ซังธาดา. 2526. หนังปะโมทัย: หนังตะลุงภาคอีสาน. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการโครงการส่งเสริมหนังสือตามแนวพระราชดำริ.

ลักขณา จินดาวงษ์. ยกครูคาย หนังประโมทัยบ้านแต้. เมืองโบราณ. 28(4 ).

สุริยา  สมุทคุปติ์ และคณะ.  2535. หนังประโมทัยของอีสาน การแพร่กระจายและการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในหมู่บ้านอีสาน. ขอนแก่น :ขอนแก่นการพิมพ์.

หนังประโมทัยมหรสพเล่นเงาของอีสาน.  ศิลปวัฒนธรรม. 17 (10). 136-138.

 

 

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง