ติดดอก พิมพ์ลาย การทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์

การทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ เป็นรูปแบบที่ประยุกต์มาจากต้นเทียนมัดรวมติดลาย เป็นหนึ่งในรูปแบบของต้นเทียนที่ชาวอุบลราชธานีร่วมกันจัดทำขึ้นในประเพณีแห่เทียนพรรษาหรือบุญเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี

การทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์

การทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ในระยะแรกเกิดจากการแกะสลักต้นกล้วย มะละกอ ฟัก ไม้ต้นฝรั่ง ทำเป็นแม่พิมพ์สำหรับชุบขี้ผึ้งที่ต้มให้ละลาย และถอดแบบออกเป็นลวดลายไทยแบบง่าย ๆ เช่น ลายประจำยาม กระจังตาอ้อย บัวคว่ำ บัวหงาย นำไปประดับติดพิมพ์ลงบนต้นเทียน ต่อมามีการสร้างสรรค์ทำฐานต้นเทียนประดับด้วยรูปปั้นสัตว์และลายฉลุ ซึ่งเป็นต้นแบบของการทำองค์ประกอบต้นเทียนพรรษาในปัจจุบัน

อุปกรณ์ทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์

อุปกรณ์การทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์

  1. ขี้ผึ้งแท้ เป็นขี้ผึ้งที่ได้มาจากรังผึ้งแท้ นำมาสับเป็นก้อนเล็ก ๆ เพื่อให้ละลายเร็วขึ้น การทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์จะใช้ขี้ผึ้งแท้เป็นส่วนใหญ่ เพราะมีความเหนียวไม่แตกเปราะง่ายขณะพิมพ์เป็นดอกผึ้งหรือติดบนต้นเทียนและหุ่นองค์ประกอบ
  2. หม้อต้มหรือปี๊บ ใช้สำหรับต้มหลอมขี้ผึ้งให้เหลว โดยในขณะต้มจะผสมน้ำลงไปเล็กน้อย น้ำจะเป็นตัวช่วยดึงฝุ่นละอองที่ติดมากับผึ้งทำให้ขี้ผึ้งสะอาดขึ้น ในระหว่างการต้มขี้ผึ้งต้องหมั่นคนหรือกวน ป้องกันการไหม้
  3. เตาถ่าน เป็นแหล่งความร้อนสำหรับต้มขี้ผึ้งให้หลอมละลาย
  4. ผ้ากรอง ใช้สำหรับกรองขี้ผึ้งที่หลอมละลายแล้วให้สะอาด
  5. ชามหรือกะลังมังขนาดเล็ก ใช้สำหรับบรรจุขี้ผึ้งเหลวที่ผ่านการกรองแล้ว โดยก่อนกรองขี้ผึ้งลงจะรองน้ำไว้ในชามเล็กน้อย เศษฝุ่นละอองจะตกลงไปอยู่ในชั้นน้ำ ทำให้ขี้ผึ้งสะอาดยิ่งขึ้น
  6. น้ำสบู่หรือน้ำผสมผงซักฟอก ใช้สำหรับทาบนแม่พิมพ์ก่อนพิมพ์ขี้ผึ้งลงไป ทำให้การลอกแผ่นผึ้งหรือดอกผึ้งออกจากแม่พิมพ์ทำได้ง่ายขึ้น
  7. แบบพิมพ์หรือหินแม่พิมพ์ สำหรับทำดอกผึ้งหรือดอกลาย นิยมแกะสลักมาจากหินสบู่ หินอ่อน หรือหินลับมีด โดยเซาะให้เป็นร่องเกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ
  8. ขวดแก้วทรงกลม ใช้สำหรับกดและคลึงขี้ผึ้งให้ลงไปที่แบบพิมพ์ ช่วยทำให้ขี้ผึ้งแทรกซึมลงทุกเส้นสายและรายละเอียดของแบบพิมพ์ ลวดลายมีความคมชัด และผิวหน้าของดอกผึ้งมีความราบเรียบ
  9. แผ่นกระจก ใช้สำหรับรองแผ่นผึ้งที่พิมพ์ลายแล้ว เพื่อตัดแผ่นผึ้งส่วนเกินออกจากดอกผึ้งตามลวดลายที่กำหนด
  10. มีดและเหล็กตัด ใช้สำหรับตัดลายผึ้งแผ่นที่พิมพ์ลายแล้ว ให้ได้ดอกผึ้งตามขนาดและลวดลายที่ต้องการ และช่วยในการติดดอกผึ้งลงบนต้นเทียนหรือหุ่นองค์ประกอบ ตัดส่วนเกินออกให้ดอกหรือลวดลายมีความสมบูรณ์ที่สุด เหล็กตัดส่วนใหญ่จะดัดแปลงโดยนำซี่จักรยานมาตัดให้ยาวขนาดพอดีมือและเจียรให้ปลายข้างหนึ่งแหลมคม

ขั้นตอนและวิธีการทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์

ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

:: การออกแบบเทียนพรรษา

โดยการร่างแบบที่จะจัดทำลงบนกระดาษ แล้วนำดอกผึ้งไปติดตามโครงสร้างของต้นเทียน ช่างเทียนจะเป็นผู้กำหนดว่าดอกผึ้งลายใดจะใช้กับส่วนใดของต้นเทียน

:: การต้มขี้ผึ้ง ทำเทียนพรรษา

นำขี้ผึ้งแท้มาสับเป็นก้อนเล็ก ๆ ต้มในชามขนาดใหญ่หรือปี๊บ ใส่น้ำลงไปเล็กน้อยเพื่อป้องกันการไหม้และทำให้ขี้ผึ้งสะอาดขึ้น ระหว่างต้มหมั่นคนเพื่อให้เทียนละลายเร็ว เมื่อละลายดีแล้วยกลง ใช้กระบวยกรองขี้ผึ้งลงในชามขนาดเล็กโดยใส่น้ำเล็กน้อย เศษฝุ่นละอองที่ปะปนจะตกตะกอนลงในน้ำ ทิ้งให้ขี้ผึ้งแข็งตัวพอหมาด ๆ จึงนำไปพิมพ์ดอกผึ้ง

:: การหล่อต้นเทียนพรรษา

การหล่อลำต้นและยอดของต้นเทียนจะใช้สังกะสีแผ่นเรียบทำเป็นแม่พิมพ์ขึ้นรูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างและความยาวตามต้องการ นำเหล็กมาทำแกนกลาง จากนั้นเทแบบด้วยขี้ผึ้งที่ต้มละลายแล้วลงในแบบพิมพ์จนเต็มปล่อยทิ้งไว้จนเย็น จะต้องใช้เวลาประมาณ 5-8 วัน แล้วแต่สภาพอากาศ จึงจะแกะแบบพิมพ์ออก

:: การกลึงต้นเทียนพรรษา

การกลึงต้นเทียนให้ได้ดีเป็นหน้าที่ของช่างกลึงเหล็กหรือไม้ เป็นขั้นตอนที่จะทำให้ต้นเทียนกลมเกลี้ยง เมื่อกลึงเสร็จแล้วขนาดของต้นเทียนติดพิมพ์จะต้องเล็กกว่าที่ต้องการเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะต้องมีการติดพิมพ์ดอกผึ้งเพิ่มเข้าไปอีก

:: การพิมพ์ดอกผึ้ง เทียนพรรษา

จะเริ่มจากนำแม่พิมพ์แช่น้ำให้อิ่มตัว ใช้ช้อนขูดผิวหน้าขี้ผึ้งที่กรองทิ้งไว้ให้แข็งตัว ขูดมาใช้ขนาดเท่าไข่ไก่แล้วนวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน วักน้ำสบู่หรือน้ำละลายผงซักฟอกหยอดลงในแบบพิมพ์และลูบที่ขวดแก้ว นำขี้ผึ้งที่นวดแล้ววางและกดลงในร่องลายของแบบพิมพ์ แล้วใช้ขวดกดและคลึงขึ้ผึ้งให้แทรกเข้าไปทุกเส้นลายของแบบพิมพ์ คลึงขวดไปมาจนผิวหน้าของขี้ผึ้งแบนราบ จึงแกะแผ่นผึ้งออกมาวางรวมกันในถาด ทำไปทีละแผ่นจนได้จำนวนตามที่ต้องการ

:: การตัดลายดอกผึ้ง

นำแผ่นผึ้งที่พิมพ์ลายไว้แล้วไปวางบนแผ่นกระจก ใช้เหล็กตัดหรือมีดตัดลายโค้งงอตามแบบ ขณะตัดควรจุ่มปลายเหล็กตัดด้วยน้ำมันพืชเล็กน้อย จะทำให้ตัดได้ง่ายขึ้น เศษของขี้ผึ้งที่ตัดออกจะเก็บไว้เพื่อนำไปหลอมละลายใหม่เพื่อใช้ทำแผ่นผึ้งสำหรับงานซ่อมแซมต่อไป แยกดอกผึ้งลายต่าง ๆ ไว้คนละถาด เพื่อให้ง่ายและสะดวกในการหยิบไปใช้

:: การติดดอกผึ้ง

เป็นการนำดอกผึ้งที่ตัดเรียบร้อยแล้วไปติดตามฐาน ลำต้น ยอดของต้นเทียนและหุ่นองค์ประกอบต่าง ๆ ของต้นเทียน ตามการออกแบบของช่างเทียน การติดดอกผึ้งจะต้องอาศัยความชำนาญของช่างเทียน เพื่อให้ลวดลายมีความต่อเนื่อง มีจังหวะที่สวยงามลงตัว

ที่ตั้ง : จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ : 15.230193, 104.857329

บรรณานุกรม

คณะกรรมการจัดทำหนังสือวิวัฒนาการประวัติประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี. เลิศล้ำเลอค่า เทียนพรรษาเมืองอุบล. อุบลราชธานี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2550.

ประดับ ก้อนแก้ว. เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี: ประวัติ การจัดทำและการประกวด. อุบลราชธานี : โรงเรียนอุบลวิทยาคม, 2531

พระครูสมุห์สำลี ทิฏฺฐธมฺโม. การพัฒนาหลักสูตรอบรมภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ จังหวัดอุบลราชธานี. เอกสารประกอบการอบรมการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีการแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อสืบสานตำนาน ประเพณีดั้งเดิม ระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2552 ณ ณ ห้องข้อมูลท้องถิ่น ชั้น 3 อาคารข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2552.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง