แกะเทียน สลักลาย การทำต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก

การแห่เทียนพรรษา เป็นประเพณีที่ชาวพุทธกระทำกันในวันเข้าพรรษา ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่พุุทธกาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชาแรกเริ่มเดิมทีชาวเมืองอุบลจะฟั่นเทียนยาวรอบศีรษะไปถวายพระเพื่อจุดบูชาจำพรรษา พร้อมกับหาน้ำมัน เครื่องไทยทานและผ้าอาบน้ำฝนไปถวายพระ

ในสมัยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็นผู้สำเร็จราชการที่เมืองอุบลราชธานี ได้มีการแห่บั้งไฟที่วัดกลาง แล้วมีการตีกันในขบวนแห่จนถึงแก่ความตาย เสด็จในกรมจึงให้เลิกการแห่บั้งไฟ และเปลี่ยนมาเป็นการแห่เทียนพรรษาแทน

การแห่เทียนในยุคแรกไม่ได้ใหญ่โตเช่นในปัจจุบัน เพียงแต่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคแล้วนำเทียนมาติดกับลำไม้ไผ่ ติดกระดาษเงินกระดาษทองเป็นลายฟันปลาติดปิดรอยต่อ เสร็จแล้วนำตันเทียนไปมัดติดกับปี๊บน้ำมันก๊าด ต่อมาจังหวัดได้ส่งเสริมให้งานเข้าพรรษาเป็นงานประเณีประจำปี ในขณะที่การทำต้นเทียนก็มีการพัฒนาการเป็นเทียนหลายประเภท ได้แก่ เทียนมัดรวมติดลาย เทียนติดพิมพ์ และเทียนแกะสลัก ตามลำดับ

การทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก

การทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำต้นเทียนในประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้วิธีการแกะสลักลวดลายต่าง ๆ ลงบนขี้ผึ้งที่หล่อเป็นต้นเทียนและหุ่นองค์ประกอบต่าง ๆ  ต้นเทียนประเภทแกะสลักนั้นเป็นรูปแบบประยุกต์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีต้นเทียนประเภทติดพิมพ์แล้ว

อุปกรณ์ทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก

อุปกรณ์แกะสลักต้นเทียน

  1. ขี้ผึ้งแท้ : เป็นขี้ผึ้งที่ได้มาจากรังผึ้ง สีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีความเหนียวไม่เปราะแตกง่าย ๆ เพราะมีแรงยึดเหนี่ยวกันสูง
  2. ขี้ผึ้งเทียม : หรือขี้ผึ้งวิทยาศาสตร์ มักทำเป็นรูปถ้วยเล็ก ๆ มีสีเหลืองสด เนื้อเปราะแตกง่าย ไม่มีกลิ่นหอม เป็นผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมหรือพาราฟิน
  3. ถังน้ำมัน : ใช้สำหรับต้มขี้ผึ้งในปริมาณมาก ๆ
  4. ปี๊บ : ใช้สำหรับต้มขี้ผึ้งในปริมาณที่ไม่มาก หรือบรรจุขี้ผึ้งเหลวที่ผ่านการกรองแล้ว เพื่อความสะดวกในการขนย้ายหรือเทในขั้นตอนการทำขี้ผึ้งแผ่น
  5. ผ้ากรอง : นิยมใช้ผ้าด้ายดิบหรือผ้ามุ้ง ช่วยกรองทำความสะอาดเอาเศษฝุ่นละอองที่ติดมากับขี้ผึ้งออก ทำให้ขี้ผึ้งสะอาดสีสวยเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน
  6. ถังบรรจุน้ำเปล่า : ใช้รองรับขี้ผึ้งเหลวที่เทกรองผ่านผ้ากรองแล้วลงไปในน้ำ เป็นขั้นตอนการทำความสะอาดขี้ผึ้ง เพื่อทำให้ขี้ผึ้งสีสวยเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ก่อนนำไปต้มหลอมเพื่อเทเป็นขี้ผึ้งแผ่นต่อไป
  7. เตาและถ่าน : เป็นแหล่งให้ความร้อนสำหรับต้มขี้ผึ้ง และใช้สำหรับเผาอุปกรณ์การแกะสลักต้นเทียน เช่น เหล็กทาบ เหล็กขูด เพื่อทำให้ขี้ผึ้งอ่อนตัว
  8. สิ่ว : ใช้สำหรับเจาะ เซาะขี้ผึ้งหรือต้นเทียนทำให้เกิดลวดลาย มีหลายรูปแบบ เช่น ปลายตัดตรง ปลายตัดโค้ง ปลายตัดเฉียง
  9. มีด : ใช้สำหรับตัด เจาะ ขีด หรือแกะสลักขี้ผึ้งหรือต้นเทียนให้เกิดลวดลาย มีหลายขนาด
  10. ตะขอเหล็ก : ใช้สำหรับเจาะ ขูด ขี้ผึ้งหรือต้นเทียน
  11. เหล็ดขูด : ใช้สำหรับขูดผิวขี้ผึ้งหรือต้นเทียนให้เรียบ
  12. เหล็กทาบ : ใช้สำหรับทำให้ขี้ผึ้งอ่อนตัว โดยจะนำเหล็กทาบไปเผาไฟให้ร้อนก่อน แล้วนำไปทาบกับขี้ผึ้ง ช่วยให้ขี้ผึ้งประสานติดกันเป็นเนื้อเดียว
  13. แปรง : ใช้สำหรับปัดฝุ่น หรือเศษขี้ผึ้งที่แกะสลักออกจากต้นเทียนหรือหุ่นองค์ประกอบ
  14. ไฟสปอร์ตไลท์ : ใช้สำหรับส่องสว่างและให้ความร้อนขณะแกะสลักขี้ผึ้งหรือต้นเทียน ความร้อนจะช่วยให้ขี้ผึ้งอ่อนตัว แกะสลักได้ง่ายขึ้น

ขั้นตอนและวิธีการทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก

วิธีการทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

:: การต้มขี้ผึ้ง ทำเทียนพรรษา

เริ่มจากการทุบหรือสับขี้ผึ้งแท้ให้มีขนาดเล็กนำไปต้มผสมกับขี้ผึ้งเทียมในปี๊บหรือถังน้ำมัน การต้มเทียนใช้อัตราส่วน ขี้ผึ้งแท้ 3 ส่วน : ข้ผึ้งเทียม 10 ส่วน การต้มเทียนสำหรับทำทำฐานหรือองค์ประกอบใช้อัตราส่วน ขี้ผึ้งแท้ 1 ส่วน : ขี้ผึ้งเทียม 3 ส่วน

:: การหล่อต้นเทียนพรรษา 

เป็นการเทขี้ผึ้งที่ต้มแล้วลงในแบบพิมพ์ หรือเบ้าหลอม หรือโฮง ที่ทำมาจากสังกะสีแผ่นเรียบโค้งงอ ให้ได้ขนาดและรูปร่างของต้นเทียนตามที่ต้องการ โดยปกติแล้วหล่อต้นเทียนเป็นรูปทรงกระบอก ความสูงขึ้นอยู่กับประเภทต้นเทียนที่ต้องการส่งเข้าประกวด มี 3 ขนาด ได้แก่

  • ขนาดใหญ่ ต้นเทียนต้องมีความสูงตั้งแต่ 2.50-3 เมตร เมื่อวัดจากฐานของต้นเทียนถึงยอดของต้นเทียน และต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร และวัดจากพื้นดินถึงยอดต้นเทียนสูงไม่เกินกว่า 5 เมตร
  • ขนาดกลาง ต้นเทียนต้องมีความสูงตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไปแต่ไม่เกิน 2.50 เมตร เมื่อวัดจากฐานของต้นเทียนถึงยอดของต้นเทียน และต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร และวัดจากพื้นดินถึงยอดต้นเทียนสูงไม่เกินกว่า 5 เมตร
  • ขนาดเล็ก ต้นเทียนต้องมีความสูงตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไปแต่ไม่เกิน 2.50 เมตร เมื่อวัดจากฐานของต้นเทียนถึงยอดของต้นเทียน และต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร และวัดจากพื้นดินถึงยอดต้นเทียนสูงไม่เกินกว่า 5 เมตร
:: การกลึงต้นเทียนพรรษา

เป็นวิธีการทำให้ต้นเทียนที่หล่อแล้วมีความกลมและเกลี้ยงขึ้น โดยใช้เพลาช่วยหมุนต้นเทียนและใช้เหล็กกลึง กลึงต้นเทียนให้เรียบ

:: การทำผึ้งแผ่นเทียนพรรษา

เป็นการหล่อหรือเทขี้ผึ้งให้เป็นแผ่น ๆ เพื่อใช้ตกแต่ง ซ่อมแซม หรือปิดส่วนต่าง ๆ ของต้นเทียนและติดที่หุ่นองค์ประกอบ เช่น ฐาน ลำต้น ยอด หรือองค์ประกอบ การทำผึ้งแผ่นจะเทขี้ผึ้งที่หลอมละลายแล้วลงในแบบพิมพ์สี่เหลี่ยม วัดขนาดความหนาของแผ่นผึ้งตามความต้องการ และปรับผิวหน้าให้อยู่ในระนาบเดียวกันทั้งแผ่น จากนั้นปล่อยให้ขี้ผึ้งเย็นและแข็งตัว จึงลอกแผ่นผึ้งออกจากแบบพิมพ์โดยใช้มีดช่วยในการเซาะหรืองัดออก จากนั้นจึงนำผึ้งแผ่นไปใช้งานต่อไป

:: การปั้นหุ่นองค์ประกอบเทียนพรรษา

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการปั้นหุ่น ประกอบด้วย  ใยมะพร้าว  เหล็ก  ปูนปลาสเตอร์  น้ำ  ถัง  และไม้อัด  โดยก่อนการปั้นหุ่นจะเริ่มต้นด้วยการเขียนแบบลงบนไม้อัด  สร้างโครงเหล็ก  แล้วมัดใยมะพร้าวลงบนโครงเหล็ก  จากนั้นผสมปูนปลาสเตอร์ ในสัดส่วน น้ำ 1 ส่วน ต่อปูนปลาสเตอร์  2 ส่วน  นำปูนปลาสเตอร์ไปหุ้มบนใยมะพร้าวให้ได้รูปร่างตามที่กำหนด เกลี่ยผิวปูนให้เรียบ  เมื่อปูนปลาสเตอร์แห้งก็จะนำขี้ผึ้งแผ่นเข้าติดบนตัวหุ่นและแกะสลักต่อไป

:: การออกแบบเทียนพรรษา

เป็นการร่างแบบหรือลวดลายลงบนกระดาษ หรือต้นเทียนก่อนทำการแกะสลัก เพื่อให้ได้ลวดลายที่ถูกต้อง สวยงามและสอดคล้องกลมกลืนกัน

:: การแกะสลักเทียนพรรษา

เป็นการใช้เครื่องมือต่าง ๆ แกะสลักลงบนต้นเทียนหรือส่วนประกอบ โดยใช้วิธีเซาะ เจาะ ขีด ขุด และขูด ให้เป็นรูปสามมิติ ที่มีความกว้าง ความยาว และความลึก ให้มีรูปร่างตามจินตนาการ หรือเหมือนของจริง

:: การตกแต่งเทียนพรรษา

เป็นการเก็บรายละเอียด ตรวจสอบหาความบกพร่องต่าง ๆ ของต้นเทียนและองค์ประกอบ เช่น ความละเอียด ความคมชัดของลาย ตลอดจนการทำความสะอาดต้นเทียน หากพบความบกพร่องจะต้องดำเนินการแก้ไขให้ต้นเทียนเรียบร้อยและมีความสมบูรณ์มากที่สุด

ที่ตั้ง : จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ : 15.230193, 104.857329

บรรณานุกรม

คณะกรรมการจัดทำหนังสือวิวัฒนาการประวัติประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี. เลิศล้ำเลอค่า เทียนพรรษาเมืองอุบล. อุบลราชธานี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2550.

ประดับ ก้อนแก้ว. เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี: ประวัติ การจัดทำและการประกวด. อุบลราชธานี : โรงเรียนอุบลวิทยาคม, 2531

พระครูสมุห์สำลี ทิฏฺฐธมฺโม. การพัฒนาหลักสูตรอบรมภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ จังหวัดอุบลราชธานี. เอกสารประกอบการอบรมการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีการแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อสืบสานตำนาน ประเพณีดั้งเดิม ระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2552 ณ ณ ห้องข้อมูลท้องถิ่น ชั้น 3 อาคารข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2552.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง