เส้นสายลายเทียน เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี

ประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี มีความงดงามและยิ่งใหญ่ ลวดลายที่ผสมผสานและสร้างสรรค์ขึ้นจากฝีมือการถ่ายทอดงานศิลปะของช่างเทียนทำต้นเทียนพรรษาทั้งเทียนพรรษาประเภทแกะสลักและเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ จากลวดลายง่าย ๆ ที่เลียนแบบธรรมชาติ มาเป็นลวดลายที่วิจิตรซับซ้อนจนเกิดเป็นความสวยงามที่ลงตัว ที่ยังคงอนุรักษ์ และสืบสานไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้จนถึงปัจจุบัน

ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี

จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานที่ได้รับอิทธิพลความเชื่อเรื่องอานิสงส์ของการถวายขี้ผึ้งและการถวายแสงสว่างเป็นทาน ผนวกกับมีความเชื่อและประเพณีปฏิบัติตามฮีตสิบสองในงานบุญเดือนแปดหรือบุญเข้าพรรษามาอย่างยาวนาน เริ่มจากการนำเทียนเวียนหัวของแต่ละคนไปถวายพระที่วัด มาเป็นการถวายเทียนมัดรวมที่พันรอบให้สวยงามด้วยกระดาษจังโก้ จนช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 24 ที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ขณะทรงเป็นข้าหลวงมณฑลลาวกาว ทรงว่าราชการที่เมืองอุบลราชธานี จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนคือขนาดของต้นเทียนที่จะนำไปถวายวัดให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และเริ่มมีการประกวดต้นเทียนและขบวนแห่เทียนพรรษา จนเกิดเป็นวิวัฒนาการของการทำต้นเทียนและขบวนแห่เทียนขึ้นมาเป็นลำดับ ซึ่งคาดว่าเทียนแบบติดพิมพ์น่าจะเกิดขึ้นมาก่อนเทียนแบบแกะสลัก

candle-festival-Ubon-31
เทียนพรรษาอุบลราชธานี ประเภทแกะสลัก

ลวดลายติดพิมพ์ในระยะแรกเกิดจากการแกะสลักต้นกล้วย มะละกอ ฟัก ไม้ต้นฝรั่ง ทำเป็นแม่พิมพ์สำหรับชุบขี้ผึ้งที่ต้มให้ละลาย และถอดแบบออกเป็นลวดลายไทยแบบง่าย ๆ เช่น ลายประจำยาม กระจังตาอ้อย บัวคว่ำ บัวหงาย นำไปประดับติดพิมพ์ลงบนต้นเทียน ต่อมามีการสร้างสรรค์ทำฐานต้นเทียนประดับด้วยรูปปั้นสัตว์และลายฉลุ ซึ่งเป็นต้นแบบของการทำองค์ประกอบต้นเทียนพรรษาในปัจจุบัน และต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีก็มีความยิ่งใหญ่และสวยงามตระการตาขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งปี 2500 จึงเริ่มมีการนำวิธีการแกะสลักมาใช้ในการสลักต้นเทียนขึ้น โดยช่างเทียนที่มีความชำนาญเกี่ยวกับการแกะสลักไม้และออกแบบลวดลายโบสถ์วิหารของวัด สร้างปรากฏการณ์การทำต้นเทียนอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นคู่กับการทำต้นเทียนแบบติดพิมพ์

การจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นที่รู้จักและแพร่หลายจนมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเที่ยวชมจำนวนมาก ในปี 2520 ได้รับการส่งเสริมจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้งานแห่เทียนพรรษาเป็นงานประเพณีที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานีจวบจนปัจจุบัน

candle-festival-Ubon-32
เทียนพรรษาอุบลราชธานี ประเภทติดพิมพ์

รูปแบบเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี

รูปแบบของต้นเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบันนั้น มี 3 ประเภท คือ เทียนพรรษาประเภทแกะสลัก เทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ และเทียนพรรษาแบบโบราณ ซึ่งต้นเทียนพรรษาแต่ละประเภทนั้น ประกอบด้วย “ต้นเทียนและองค์ประกอบของต้นเทียน” หรือรวมเรียกว่า ขบวนเทียนพรรษา เทียนพรรษาแต่ละขบวนจะมีต้นเทียนเพียงต้นเดียวตั้งอยู่ส่วนกลางและห้อมล้อมด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ตั้งอยู่บนรถลากเพื่อความพร้อมในการเคลื่อนที่ไปแสดงยังจุดต่าง ๆ

ลวดลายเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก

เทียนพรรษาประเภทแกะสลัก จะมีการสลักลวดลายลงบนต้นเทียนอย่างสวยงามอ่อนช้อยที่สุด ด้วยลวดลายไทยประกอบภาพที่ต่อเชื่อมกันอย่างลงตัว เป็นจุดที่ช่างทำเทียนพรรษาจะได้แสดงฝีมือและความสามารถมากที่สุด ลวดลายไทยที่ใช้ เช่น กระหนกเปลวเถาเครือ กระหนกก้านขด นกคาบ นาคขบ ลายกระหนกสามตัว ลายกนกเปลวก้านแย่ง ลายดอกพุดตาน ลายดอกบัว ลายเครื่องยอดบัวกลุ่ม ลายดอกไม้พรรณพฤกษา เป็นต้น

 เทียนพรรษา-อุบลราชธานี เทียนพรรษา-อุบลราชธานี

ลวดลายเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์

เทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ จะนิยมทำเป็นทรงกระบอก และทรงแปดเหลี่ยม แล้วติดลวดลายด้วยขี้ผึ้งแผ่นพิมพ์ลายอย่างสวยงาม ความยากของการทำต้นเทียนประเภทนี้คือการต่อลาย โดยนำขี้ผึ้งแผ่นพิมพ์ลายชิ้นเล็ก ๆ มาเรียงร้อยลงบนต้นเทียนอย่างสวยงาม การดำเนินงานจึงต้องมีการวางแผนและออกแบบลวดลายที่จะใช้ก่อน ช่างที่ติดลายจะต้องมีความชำนาญและฝีมือประณีต จึงจะต่อเชื่อมลวดลายได้อย่างสวยงามและลงตัว ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์มักจะทาสีพื้นหลังด้วยสีเหลืองส้ม สีแดง หรือสีเขียว สีใดสีหนึ่งก่อน เมื่อติดแผ่นผึ้งลงไปแล้วจะทำให้เห็นลวดลายของแผ่นผึ้งสีเหลืองอ่อนได้อย่างชัดเจน ลวดลายที่นิยมพิมพ์ลายติดต้นเทียน ได้แก่ กระจังตั้ง กระจังรวน กระจังใบเทศ กระหนกใบเทศ พุ่มข้าวบิณฑ์ กระหนกสามตัว ฟันปลา เกลียวกระหนก ก้านแย่ง กระหนกเปลว รักร้อย เทพพนม ประจำยาม ประจำยามก้านแย่ง นาคคาบ ช่อต่อเปลว กรวยเชิง กาบบัวเล็ก กาบบัวใหญ่ ลูกแก้ว ก้ามปู ใบเทศร้อยรัก หน้ากระดาน เป็นต้น ลวดลายส่วนใหญ่ช่างเทียนจะมีการประยุกต์ดัดแปลงอยู่เสมอเพื่อให้ได้ลวดลายที่มีความสวยงามอ่อนช้อย

เทียนพรรษา-อุบลราชธานี เทียนพรรษา-อุบลราชธานี

ลวดลายเทียนพรรษาแบบโบราณ

เทียนพรรษาแบบโบราณ จะนิยมทำเป็นต้นเทียนมัดรวม โดยนำเทียนเล่มเล็ก ๆ มามัดรวมกัน เพื่ออนุรักษ์รูปแบบต้นเทียนดั้งเดิมไว้

องค์ประกอบของเทียนพรรษา

องค์ประกอบของต้นเทียน จะเป็นสิ่งที่ใช้ประดับตกแต่งต้นเทียนเพื่อส่งเสริมให้ต้นเทียนมีความสง่างาม และเป็นสิ่งบอกเล่าเรื่องราวและสื่อความหมายให้ผู้ชมได้รับรู้ โดยส่วนใหญ่จะทำเป็นหุ่นขี้ผึ้งที่มีรูปร่างและรูปทรงต่าง ๆ เช่น มนุษย์ เทวดา นางฟ้า พญาครุฑ พญาหงส์ พญานาค ช้าง ม้า ต้นไม้ ดอกไม้ เรือ ทำการแกะสลักหรือติดพิมพ์ลวดลายให้สวยงาม องค์ประกอบต้นเทียนส่วนใหญ่จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ทศชาติชาดก เช่น พระเวสสันดร พระเตมีย์  โดยหยิบยกมาเป็นบางช่วงบางตอน ถ้าเป็นขบวนต้นเทียนขนาดใหญ่อาจจะแบ่งเรื่องราวออกเป็นส่วน ๆ เช่น ส่วนหน้านำเสนอพุทธประวัติ ส่วนกลางนำเสนอต้นเทียน ส่วนหลังนำเสนอเรื่องพระเวสสันดรกัณฑ์มัทรี  การวางองค์ประกอบของต้นเทียน ต้องมีการวางแผนและออกแบบเป็นอย่างดี จึงจะทำให้ขบวนต้นเทียนนั้นมีความสวยงาม โดดเด่น มีความสมดุลและสอดคล้องกันไปทั้งขบวน

ลวดลายเทียนพรรษา แบ่งตามแบบศิลปะไทย 4 หมวด

ขบวนต้นเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีนั้น ถือเป็นงานประติมากรรมศิลปะไทย ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอขบวนเทียนพรรษาที่ประกอบไปด้วยศิลปะไทย 4 หมวดหลัก ได้แก่

1.กระหนก จะปรากฏเป็นลวดลายของต้นเทียนที่เกิดจากการแกะสลักและติดพิมพ์ กระหนกจะช่วยทำให้ขบวนเทียนพรรษามีความสวยงามอ่อนช้อย กระหนกที่นิยมใช้ คือ กระหนกสามตัว กระหนกใบเทศ กระหนกเปลว กระหนกเทศหางโต นอกจากลายของต้นเทียนแล้วยังจะเห็นกระหนกได้ตามลายประดับยอดเศียรของพระพุทธรูป เครื่องแต่งกาย อวัยวะต่าง ๆ เช่น หงอน หาง ครีบ ปีก ของหุ่นสัตว์ที่เป็นหุ่นองค์ประกอบของต้นเทียน

เทียนพรรษา-อุบลราชธานี เทียนพรรษา-อุบลราชธานี เทียนพรรษา-อุบลราชธานี

นอกจากกระหนกแล้วยังการนำลวดลายที่สร้างสรรค์จากสิ่งที่ได้พบเห็นตามธรรมชาติมาใช้ตกแต่งด้วย เช่น ตาอ้อย ก้ามปู รวงข้าว เปลวไฟ ใบไม้ ดอกไม้ เถาวัลย์ เป็นต้น

ช่างทำเทียนจะต้องมีความสามารถความชำนาญสูงมากจึงจะผูกเชื่อมและเรียงร้อยลวดลายต่าง ๆ ให้สัมพันธ์กันจนเกิดเป็นลวดลายที่สวยงาม

2.นารี คือ การสลักหรือพิมพ์ภาพมนุษย์หรือคน ภาพเทวดา หรือภาพนางฟ้า ลงบนต้นเทียนหรือการสร้างหุ่นองค์ประกอบ ซึ่งจะมีทั้งตัวพระ (ผู้ชาย) และตัวนาง (ผู้หญิง) ความแตกต่างระหว่างตัวพระและตัวนางจะอยู่ที่รูปทรงร่างกาย เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ลักษณะท่าทาง หรืออาวุธ ที่บ่งบอกฐานะ ตำแหน่ง และความสำคัญของหุ่นประกอบแต่อัน ลักษณะท่าทางมาจากการแสดงนาฏศิลป์ และท่าทางโดยทั่วไป เช่น ท่านอน ท่าพนมมือ ท่ายืน ท่าเดิน ท่านั่ง เป็นต้น นารีที่ปรากฏในลวดลายหรือสร้างเป็นหุ่นองค์ประกอบของต้นเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีนั้น ส่วนใหญ่คือ บุคคลในพุทธประวัติตอนต่าง ๆ เช่น เจ้าชายสิทธัตถะ พระนางพิมพา ราหุล พระนางสิริมหามายา ตัวละครจากวรรณกรรมทศชาติชาดก เช่น พระเวสสันดร นางมัทรี กันหา ชาลี ชูชก เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเวสสันดร จะพบเห็นได้บ่อยครั้งเนื่องจากเป็นวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเพณีตามฮีตสิบสองหรืองานบุญเดือนสี่ของชาวอีสานที่ถือปฏิบัติกันมาช้านาน

เทียนพรรษา-อุบลราชธานีเทียนพรรษา-อุบลราชธานีเทียนพรรษา-อุบลราชธานีเทียนพรรษา-อุบลราชธานี เทียนพรรษา-อุบลราชธานี

3.กระบี่ คือ การสลักหรือพิมพ์ภาพอมนุษย์ เช่น วานร ยักษ์ ลงบนต้นเทียนหรือการสร้างหุ่นองค์ประกอบของต้นเทียน ส่วนใหญ่มาจากเรื่องรามเกียรติ์ เช่น หนุมาน ทศกัณฑ์ ลักษณะของกระบี่จะเน้นที่ใบหน้าที่บ่งบอกอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ตาเบิกโพรง ปากแสยะ ตาหรี่ ปากเม้ม หรือตาพองโต บางตนมีลักษณะเค้าโครงเหมือนมนุษย์ เช่น ใบหู หรือ ปาก บางตนติดอาวุธ เช่น ดาบ กระบี่

เทียนพรรษา-อุบลราชธานี เทียนพรรษา-อุบลราชธานี

4.คชะ คือ การสลักหรือพิมพ์ลวดลายของสัตว์สามัญลงบนต้นเทียนหรือสร้างเป็นหุ่นองค์ประกอบ เช่น ช้าง ม้า นก ปลา สัตว์ประดิษฐ์หรือสัตว์ในจินตนาการ เช่น ส่วนบนเป็นยักษ์ส่วนล่างเป็นช้าง หรือส่วนบนเป็นมนุษย์ส่วนล่างเป็นสิงห์ ตามแต่จินตนาการของช่างเทียนแต่ละคนจะสร้างสรรค์ขึ้นมา รวมทั้งสัตว์ในป่าหิมพานต์ เช่น ราชสีห์ กินนร กินรี หงส์ ครุฑ หรือพญานาค คชะหลายตนนิยมสร้างเป็นองค์ประกอบด้านหน้าของขบวนต้นเทียนเพื่อทำให้ขบวนต้นเทียนมีความโดดเด่น ยิ่งใหญ่อลังการ มีพลังอำนาจ เช่น พญาครุฑ พญานาค พญาหงส์ กินนร กินรี บ้างก็นำมาเป็นฐานด้านข้างล้อมรอบขบวนเทียน เช่น พญานาค บนลำตัวของคชะนั้นจะมีการสลักและติดพิมพ์ลวดลายให้สวยงามวิจิตร เช่น เครื่องทรง เครื่องประดับ เกล็ด ปีก หาง โดยใช้ลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายกระหนก ลายกระจัง

เทียนพรรษา-อุบลราชธานีเทียนพรรษา-อุบลราชธานี เทียนพรรษา-อุบลราชธานี เทียนพรรษา-อุบลราชธานีเทียนพรรษา-อุบลราชธานีเทียนพรรษา-อุบลราชธานี เทียนพรรษา-อุบลราชธานี

จะเห็นว่า กว่าจะได้ยลความงดงามของขบวนต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีนั้นในแต่ละปีนั้น ต้องอาศัยความสามารถและความเชี่ยวชาญของช่างทำเทียนเป็นอย่างสูง ตั้งแต่การวางแผนการดำเนินงาน การออกแบบให้มีความหมายและมีความสวยงาม ตลอดจนการลงมือแกะสลักและติดพิมพ์อย่างประณีต การดำเนินการจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายหลายหน่วยงาน ทั้งนี้ก็เพื่ออนุรักษ์และสืบสานศิลปะประเพณีและวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

ลวดลายเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ประจำยาม-เทียนพรรษา-อุบลราชธานีนาคคาบ-เทียนพรรษา-อุบลราชธานีประจำยามก้ามปู-เทียนพรรษา-อุบลราชธานีภู่ระย้า-เทียนพรรษา-อุบลราชธานีกระจังตั้งเล็ก-เทียนพรรษา-อุบลราชธานี กระจังรวน-เทียนพรรษา-อุบลราชธานี ผีเสื้อใหญ่-เทียนพรรษา-อุบลราชธานี ผีเสื้อเล็ก-เทียนพรรษา-อุบลราชธานี นาคคายบัว-เทียนพรรษา-อุบลราชธานี กระจังตั้งใหญ่-เทียนพรรษา-อุบลราชธานี ก้านแยงใหญ่-เทียนพรรษา-อุบลราชธานี ช่อต่อใบเทศ-เทียนพรรษา-อุบลราชธานี ช่อหน้าสิงห์-เทียนพรรษา-อุบลราชธานี ช่อกลาง-เทียนพรรษา-อุบลราชธานี ก้านขดกลาง--เทียนพรรษา-อุบลราชธานีฟันปลา-เทียนพรรษา-อุบลราชธานี กรวยเชิง-เทียนพรรษา-อุบลราชธานี

ที่ตั้ง : จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ : 15.230193, 104.857329

บรรณานุกรม : 

บุณยสฤษธิ์ เอนกสุข. (2550). ประวัติความเป็นมาของเทียนพรรษาเมืองอุบล ใน เลิศล้ำเลอค่า เทียนพรรษาเมืองอุบล. อุบลราชธานี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ประทับใจ สิกขา, ศกุนตลา เกตวงศา และขนิษฐา ทุมมากรณ์. (2550). มูนมังเทียนพรรษา ใน เลิศล้ำเลอค่า เทียนพรรษาเมืองอุบล. อุบลราชธานี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง