วัดภูเขาแก้ว อุโบสถกระเบื้องเคลือบ

วัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี วัดที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ให้พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนตสีโล) มาพิจารณาสร้างวัดป่ากรรมฐานให้เป็นสถานที่บำเพ็ญบุญและเป็นศูนย์รวมปฏิบัติธรรมอบรมภาวนาจิตของชาวบ้านขึ้นที่อำเภอพิบูลมังสาหาร ภายในวัดมีความสวยงามโดดเด่นด้วยอุโบสถกระเบื้องเคลือบ

วัดภูเขาแก้ว-พิบูลมังสาหาร

ประวัติวัดภูเขาแก้ว

ปฐม นิคมานนท์ และภัทนา นิคมานนท์ (2560) กล่าวว่า วัดภูเขาแก้ว แต่เดิม คือ ป่าช้าภูดินที่ตั้งอยู่บนเนินสูงก่อนเข้าสู่ตัวอำเภอพิบูลมังสาหาร เมื่อปี พ.ศ. 2480 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ได้ให้พระอาจารย์เสาร์ กนตสีโล มาพิจารณาหาหนทางสร้างวัดป่ากรรมฐานขึ้นที่อำเภอพิบูลมังสาหาร เนื่องด้วยมีญาติพี่น้องของท่านได้อพยพมาจากบ้านแคน ดอนมดแดง มาปักหลักตั้งถิ่นฐานที่บ้านโพธิ์ตาก อำเภอพิบูลมังสาหาร เป็นจำนวนมาก ท่านอยากให้มีวัดกรรมฐาน เพื่อช่วยอบรมสั่งสอนทางธรรมให้ญาติโยมของ และเพื่อโปรดญาติโยมชาวบ้านทั้งหลายให้มีสถานที่บำเพ็ญบุญ และเป็นศูนย์รวมปฏิบัติธรรมอบรมภาวนาจิต จึงบัญชาให้พระอาจารย์เสงี่ยม และพระอาจารย์ดี ฉนฺโน มาตั้งสำนักปฏิบัติธรรมในสถานที่ดังกล่าว โดยสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ได้ให้ความสนับสนุน ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่นี้ว่า วัดป่า หรือวัดป่าภูเขาแก้ว หรือวัดภูเขาแก้วในปัจจุบัน

ข้อมูลอีกกระแสหนึ่งกล่าวว่า ขุนสิริสมานการ กับนายคำกาฬ เป็นผู้มานิมนต์พระอาจารย์เสาร์ กนตสีโล ท่านจึงได้ให้พระอาจารย์เสงี่ยม และพระอาจารย์ดี ฉนฺโน มาตั้งสำนักปฏิบัติธรรม ที่เนินป่าภูดิน นอกเมืองพิบูลมังสาหาร ซึ่งเล่ากันว่าเป็นที่อาถรรพ์ร้ายแรง เพียงคืนแรกที่ไปปักกลดอยู่ใต้ร่มไม้ พระอาจารย์ทั้งสองก็โดนลองดีเสียแล้ว

กล่าวกันต่อมาว่า พระอาจารย์ทั้งสองได้นำพาชาวบ้านญาติโยมละแวกนั้น ทำบุญทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติสมาธิภาวนา และทำบุญอุทิศแก่บรรพชนผู้ล่วงลับ เจ้าที่เจ้าทาง และเทพเทวดาอารักษ์ การสร้างวัดจึงดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน)ด้วย วัดจึงมีความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ

การบริหารและการปกครองวัดนั้นมีเจ้าอาวาส คือ รูปที่ 1 คือ พระอาจารย์ดี ฉนฺโน รูปที่ 2 หลวงพ่อเพชร และรูปที่ 3 หลวงพ่อโชติ อาภคฺโค (พระครูวิบูลธรรมภาณ) และเจ้าคณะอำเภอพิบูลมังสาหารฝ่ายธรรมยุติ

วัดภูเขาแก้ว-พิบูลมังสาหาร วัดภูเขาแก้ว-พิบูลมังสาหาร วัดภูเขาแก้ว-พิบูลมังสาหาร วัดภูเขาแก้ว-พิบูลมังสาหาร

อุโบสถกระเบื้องเคลือบ วัดภูเขาแก้ว

อุโบสถวัดภูเขาแก้ว มีความสวยงามโดดเด่น ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้งานแทนศาลาการเปรียญไม้ตะเคียน 2 ชั้น ที่พระอาจารย์ดี ฉนโน เป็นผู้สร้างไว้ ที่ได้ถูกวางเพลิงมอดไหม้ใน วันที่ 3  ธันวาคม พ.ศ.2516 เวลา 22.15 น. พระครูพิบูลธรรมภาณ (โชติ อาภคโค) จึงได้ออกแบบพระอุโบสถหลังใหม่ เป็นอุโบสถ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นศาลาการเปรียญใช้ในการนั่งกัมมัฏฐานชั้นบนเป็นอุโบสถ ตั้งอยู่ในเรือท้ายกริ่งเรียกว่า “พุทธนาวา” ตัวอุโบสถประดับด้วยกระเบื้องเคลือบทั้งหลัง เป็นรูปแบบศิลปะไทยหลังคาเป็นโครงสร้างไม่มีมุขลดหลั่นกันสี่ชั้นด้านหน้า และด้านหลังมุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ โดยมีคันทวยรองรับชายคาเป็นรูปนาคโดยรอบ ส่วนบริเวณกลางหลังคาตกแต่งเป็นยอดปราสาททอง หน้าบันจำหลักปูนปั้นลายก้านขดงดงามอ่อนช้อย กลมกลืนกับบัวเสา ที่ทำตามแบบศิลปะอินเดีย

ภายในพระอุโบสถจะตกแต่งด้วยภาพนูนสูง อยู่เหนือบานประตู และหน้าต่างขึ้นไปเป็นเรื่องราว และภาพจำลองเกี่ยวกับพระธาตุที่สำคัญของประเทศไทยพร้อมทั้งเล่าเรื่องราวประวัติของพระธาตุแต่ละองค์โดยสังเขป

วัดภูเขาแก้ว-พิบูลมังสาหาร

ที่ตั้ง วัดภูเข้าแก้ว

ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดภูเข้าแก้ว

15.241985, 105.227090

บรรณานุกรม

ปฐม นิคมานนท์ และภัทนา นิคมานนท์. (2560). พระครูวิเวกพุทธกิจ หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนตสีโล 22 พระปรมาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐาน, 18 กรกฎาคม 2560. http://www.dharma-gateway.com

Ruchaphum Yuktapreecha. (2554). วัดภูเขาแก้ว, 18 กรกฎาคม 2560. http://www.addsiam.com

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง