ม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์ม เรียนรู้เกษตรอินทรีย์

ม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์ม อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นสวนที่ปลูกผักผลไม้ปลอดสารพิษ โดยการริเริ่มของ ดร.จำลอง พรมสวัสดิ์ ผู้บริหารและประธาน ท่านมีแนวคิดที่จะสร้างวิสาหกิจในชุมชนขึ้นและทำให้ชาวบ้านมีอาหารปลอดสารพิษสำหรับบริโภคและจำหน่าย นอกจากนี้แล้ว ม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์มแห่งนี้ยังเป็นเป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงเกษตรอินทรีย์อีกด้วย

ม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์ม
ม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์ม
บรรยากาศภายในม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์ม
บรรยากาศภายในม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์ม

ความเป็นมาของม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม

ความเป็นมาของม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์มนั้น เริ่มต้นจากการปลูกข้าวแบบปลอดสารพิษบนเนื้อที่ 40 ไร่ เป็นเวลากว่า 2 ปี แต่ก็ประสบกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพดิน แหล่งน้ำ และแมลงศัตรูพืช ทำให้ได้ผลผลิตข้าวออกมาน้อย แต่ด้วยความพยายามและไม่ย่อท้อจึงได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ รวมทั้งศึกษาการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในยามหน้าแล้ง

เมื่อถึงฤดูกาลปลูกข้าว จึงได้ทำการปลูกข้าวพร้อมกับเลี้ยงปลาในนาข้าวไปด้วย เป็นการสร้างระบบนิเวศใหม่เพื่อช่วยให้ข้าวสามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี คือ ปลาจะช่วยกำจัดวัชพืช ศัตรูของต้นข้าว หนอนและตัวอ่อนแมลงที่หล่นลงไปในนาข้าวจะเป็นอาหารของปลา ปลาช่วยพรวนดิน และมูลที่ปลาขับถ่ายออกมาก็เป็นปุ๋ยอย่างดี และในปีนั้นทำให้ได้ผลผลิตข้าวที่ได้จึงมีมากพอสำหรับจำหน่ายทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวกล้องงอก

เมื่อผลผลิตข้าวได้ผลดี ทำให้เกิดการเรียนรู้และรู้จักสภาพแวดล้อม ฤดูกาล ภูมิอากาศ ภาวะการขาดแคลนน้ำ และสภาพดินของพื้นที่มากขึ้น จึงพยายามคัดเลือกพืชที่เหมาะสมกับเงื่อนไขต่าง ๆ มาปลูกหลังฤดูกาลทำนา รวมทั้งศึกษาความต้องการของตลาดควบคู่ไปด้วย ในปี พ.ศ. 2559 จึงตัดสินใจเลือกปลูก “เมล่อน” ในระบบปิด โดยเริ่มต้นปลูกในโรงเรือน 15 โรงเรือน ด้วยวิธีการปลูกที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 4 อุบลราชธานี คอยชี้แนะให้คำแนะนำในทุกขั้นตอนการผลิตอย่างใกล้ชิด

เมล่อน ผลลิตจากม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์ม
เมล่อน ผลลิตจากม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์ม

นายประสิทธิ์ ใจอุ่น ผู้ดูแลฟาร์มเล่าให้ฟังว่า ขณะนี้มีโรงเรือนสำหรับปลูกได้ปลูกเมล่อนและแตงโมไร้เมล็ดประมาณ 30 โรงเรือน เป็นโรงเรือนแบบปิดที่สามารถควบคุมการผลิตได้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนต้น  ความหนาแน่น การให้ปุ๋ย การให้น้ำ การป้องกันเชื้อโรคและแมลงศัตรูพืช โรงเรือนจะมุงด้วยพลาสติกและมีมุ้งรอบด้าน

โรงเรือนปลูกผลไม้ในระบบปิดของม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์ม
โรงเรือนปลูกผลไม้ในระบบปิดของม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์ม

ใน 1 โรงเรือนสามารถปลูกได้  440 ต้น โดยคาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 400 ผล พันธุ์เมล่อนที่ปลูกได้แก่ พันธุ์คิโมจิ พันธุ์บิวตี้ พันธุ์ร็อคกี้ พันธุ์กาเลีย เมล็ดพันธุ์นี้นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น การปลูกจะใช้เวลาประมาณ 70-75 วัน จึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ใน 1 ปี จะสามารถปลูกได้ 3 ครั้ง แต่ละครั้งจะพักดินไว้ 1 เดือน จึงจะปลูกใหม่ โดยจะวางแผนและทำตารางการปลูกไว้เพื่อให้มีผลผลิตออกจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี

ป้ายบอกข้อมูลแต่ละโรงเรือน
ป้ายบอกข้อมูลแต่ละโรงเรือน

การให้น้ำจะเป็นระบบน้ำหยด ระยะแรก ให้น้ำวันละ 3 ครั้ง (เช้า เที่ยง เย็น) เมื่อมีอายุได้ 14 วัน จะลดการให้น้ำลงเป็นวันละ 2 ครั้ง (เช้าและเย็น) อายุ 25 วัน จะทำการผสมเกสร เนื่องจากปลูกในโรงเรือนจะไม่มีแมลงมาช่วยผสมเกสรและทำให้ติดผลได้ดีขึ้น โดยนำเกสรตัวผู้ไปจิ้มหรือเขี่ยเกสรใส่ดอกตัวเมีย เวลาผสมเกสรจะนิยมทำกันในตอนเช้า หรือสาย ๆ  ถ้ามีหมอกหรือน้ำค้างเยอะจะผสมได้ไม่ดี เกสรตัวผู้ 1 ดอก สามารถผสมกับดอกเกสรตัวเมียได้ 3 ดอก แต่ถ้ามีดอกตัวผู้เยอะก็จะผสมแบบหนึ่งต่อหนึ่ง เพื่อความมั่นใจว่าติดผลแน่นอน

การผสมเกสรให้เมล่อนที่ปลูกในโรงเรือน
การผสมเกสรให้เมล่อนที่ปลูกในโรงเรือน

เมื่อติดผลแล้วจะตรวจดูผลที่ออกมา ถ้าไม่สมบูรณ์ก็จะเด็ดทิ้ง และเพื่อให้ผลใหญ่และมีคุณภาพ ใน 1 ต้น จะให้ออกลูก 1 ผล เมื่ออายุได้ 60-65 วัน จะงดให้น้ำให้ปุ๋ย เพื่อรอเก็บผล และอายุประมาณ 70-75 วันก็เก็บเกี่ยวผลได้

เมล่อนอายุต่าง ๆ ที่ปลูกในโรงเรือน
เมล่อนอายุต่าง ๆ ที่ปลูกในโรงเรือน

นอกจากเมล่อนแล้ว ม่วงสามสิบก็จะปลูกแตงโมไร้เมล็ดพันธุ์แฮปปี้ไร้เมล็ด ด้วย โดยในโรงเรือนจะปลูกแตงโมที่มีเมล็ดไว้ 1 แถว เพื่อนำเกสรตัวผู้ของพันธุ์ที่มีเมล็ดนี้ไปผสมกับเกสรตัวเมียของพันธุ์ไร้เมล็ด ก็จะออกลูกมาเป็นแตงโมที่ไร้เมล็ด เมื่อเจริญเติบโตขึ้นจะทำค้างให้เลื้อยขึ้น เมื่อออกลูกแล้วจะนำใส่ถุงหรือตาข่ายเพื่อช่วยพยุงลูกไว้ให้โตตามแนวดิ่ง

การใช้ตาข่ายช่วยพยุงแตงโมที่ปลูกให้เจริญเติบโตในแนวดิ่ง
การใช้ตาข่ายช่วยพยุงแตงโมที่ปลูกให้เจริญเติบโตในแนวดิ่ง

ในการปลูกเมล่อนและแตงโมไร้เมล็ดพันธุ์ที่อ่อนต่อโรค เช่น เมลอนพันธุ์โกลเด้น การ์เลีย และบิ้วตี้  140 สิ่งที่ต้องระมัดระวังของการปลูกเมล่อนและแตงโมไร้เมล็ดคือ การติดเชื้อไวรัส ซึ่งจะทำให้ยอดไม่งอก ถ้าต้นยังมีขนาดเล็กจะห้ามเข้าโรงเรือนเด็ดขาด และหากต้องการไล่แมลงก็จะใช้สารสกัดจากชีวภาพเท่านั้น

เมล่อนและแตงโมของม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์ม
เมล่อนและแตงโมของม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์ม

ปัจจุบัน เมล่อนและแตงโมไร้เมล็ดของม่วงสามสิบออร์แกนิคฟาร์มได้รับการรับรองมาตรฐาน ระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAPพืช) จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว รหัส Q กษ 03-9001-37433096342 ยืนยันว่าเป็นผลไม้ที่ดีและปลอดภัย

GAP พืชของม่วงสามสิบ ออกแกนิกส์ฟาร์ม
ใบรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAPพืช) ของม่วงสามสิบ ออกแกนิกส์ฟาร์ม

ม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์มยังได้มีการทดลอง ปรับปรุงขั้นตอนวิธีการต่าง ๆ ในการปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น เช่น การทดลองปลูกในถุง เพื่อแก้ปัญหาการเสื่อมโทรมของดินไม่ต้องพักดินก่อนปลูกใหม่ในแต่ละรอบ และเพื่อดูว่าจะสามารถต้านทานโรคได้ดีขึ้นไหม และในอนาคตยังมีแผนที่จะปลูกมะเขือเทศราชินีอีกด้วย

ม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์ม มีเกษตรกรจากหลาย ๆ ที่เข้าไปเยี่ยมชม และศึกษาดูงานอยู่เสมอ ถือว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงเกษตรอินทรีย์ที่แรกของภาคอีสานตอนใต้เลยทีเดียว ม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30 – 17.30 น.

ประสิทธิ์ ใจอุ่น ผู้ดูแลฟาร์ม
ประสิทธิ์ ใจอุ่น ผู้ดูแลฟาร์ม

ที่ตั้ง ม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์ม 

เลขที่ 9 หมู่ 12 ตำบลม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 061-1275633

Facebook : ม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม

E-mail : muangsamsibfarm@gmail.com

พิกัดภูมิศาสตร์ ม่วงสามสิบ ออแกนิกส์ฟาร์ม

15.534000, 104.709459000

บรรณานุกรม

ประสิทธิ์ ใจอุ่น. สัมภาษณ์, 19 มกราคม 2560.

ม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม, 15 มีนาคม 2560. https://th-th.facebook.com/muangsamsipmelon

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง