วัดเกษมสำราญ ชมงานไม้แกะสลักบนอุโบสถงาม

วัดเกษมสําราญ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ตามประวัติของเมืองเกษมสีมา วัดนี้เคยมีพระผู้นำระดับสูง (สังฆราช) จากนครเวียงจันทน์มาพำนัก ภายในวัดมีสิ่งที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน คือ พระพุทธนิมิต พระพุทธรูปปางมารวิชัยซึ่งเป็นพระประธาน รอยพระพุทธบาท ประดิษฐานในอุโบสถที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2487 ก่อด้วยอิฐถือปูน โครงสร้างหลังคามุงด้วยไม้ ช่อฟ้า ใบระกา โหง่ว แกะลวดลายด้วยไม้ตะเคียนอย่างสวยงาม และมีพิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา แหล่งเรียนศิลปวัฒนธรรม และรู้วิถีชีวิตของคนอีสาน รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้และโบราณวัตถุต่าง ๆ

wat_kasemsamran_1

ประวัติวัดเกษมสีมา อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติวัดเกษมสําราญ ตามที่มีการบันทึกไว้ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2291 เดิมมีชื่อว่า วัดศรีโพธิ์ชัย และได้เปลี่ยนเป็นวัดเกษมสําราญเมื่อ ปี พ.ศ. 2484 เหตุที่เปลี่ยนเพราะมีชื่อซ้ำกับวัดบ้านขุหลุ ซึ่งเป็นวัดของเจ้าคณะอําเภอตระการพืชผล ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ไทยใหม่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี  พ.ศ.2399 เขตวิสุงคามสีมา  กว้าง 15 เมตร  ยาว 30 เมตร

วัดเกษมสำราญมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตามประวัติเมืองเกษมสีมา พบว่าวัดแห่งนี้เคยมีพระผู้นำระดับสูง (สังฆราช) จากนครเวียงจันทน์มาพำนักอยู่วัดแห่งนี้  ประกอบกับหมู่บ้านแห่งนี้เคยมีฐานะเป็นเมืองเกษมสีมา ระหว่างปี พ.ศ. 2425-2452 ต่อมาเมืองเกษมสีมารวมกันกับเมืองอุตรูปลนิคม เรียกชื่อใหม่ว่า อำเภออุดรอุบล มีการปรับปรุงการปกครองจนถึงปี พ.ศ. 2455 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6  พระยาวิเศษสิงหนาท  เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลอุบลราชธานีได้เปลี่ยนอำเภออุดรอุบลกลับคืนมาเป็นอำเภอเกษมสีมาอีกครั้งหนึ่ง วัดเกษมสําราญเป็นที่ตั้งของสํานักศาสนศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 และเป็นสํานักงานเจ้าคณะตําบลเกษมเขต 1 ภายในวัดมีสิ่งที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน คือ พระพุทธนิมิต ซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถ

ลําดับเจ้าอาวาส วัดเกษมสำราญ

  1. ญาท่านทุม ดํารงตําแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2291-2320
  2. ญาท่านพรม ดํารงตําแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2321-2332
  3. ญาครูสม ดํารงตําแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2333-2351
  4. ชายอด ดํารงตําแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2352-2370
  5. ชาดม ดํารงตําแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2371-2393
  6. ญาครูพันธ์ ดํารงตําแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2394-2430
  7. พระชัยสุริยงค์ ดํารงตําแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2431-2445
  8. พระเครือ ดํารงตําแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2446-2450
  9. พระสมชาย ดํารงตําแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2451-2459
  10. พระปัด ดํารงตําแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2460-2468
  11. พระอุปัชฌาย์หัน ดํารงตําแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2469-2486
  12. พระวัน ดํารงตําแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2487-2488
  13. เจ้าอธิการสิงห์ ดํารงตําแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2489
  14. พระครูนันทปัญญาจารย์ (พ่อท่านพร) ดํารงตําแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2489-2539
  15. พระครูเกษมธรรมานุวัตร (บุญชู) ดํารงตําแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2539-

วัดเกษมสำราญ ได้รับคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2552 จาก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ซึ่งวัดที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับงบประมาณเพื่อนำไปพัฒนาวัดแห่งละ 1 แสนบาท

อุโบสถ วัดเกษมสำราญ
อุโบสถวัดเกษมสำราญ ขนาด 6 เมตร × 12 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2487 ก่อด้วยอิฐถือปูน โครงสร้างหลังคามุงด้วยไม้ ช่อฟ้า ใบระกา โหง่ว แกะลวดลายด้วยไม้ตะเคียน  ปี  พ.ศ. 2519  ได้เปลี่ยนหลังคาใหม่เป็นสังกะสีจนถึงปัจจุบัน

wat_kasemsamran_5 wat_kasemsamran_2 wat_kasemsamran_8

พระพุทธนิมิต ในอุโบสถวัดเกษมสำราญ
พระพุทธนิมิต ในอุโบสถวัดเกษมสำราญ
รอยพระพุทธบาท ในอุโบสถวัดเกษมสำราญ
รอยพระพุทธบาท ในอุโบสถวัดเกษมสำราญ
พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา
พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา แหล่งเรียนศิลปวัฒนธรรม และรู้วิถีชีวิตของคนอีสาน รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้และโบราณวัตถุต่าง ๆ ไว้มากมาย
สะพานกาญจนาภิเษก 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539 วัดเกษมสำราญ
สะพานกาญจนาภิเษก 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539 วัดเกษมสำราญ

ที่ตั้ง วัดเกษมสำราญ

เลขที่ 80 บ้านเกษม หมู่ที่ 9 ตําบลเกษม อําเภอตระการพืชผล จังหวดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดเกษมสำราญ

15.686223, 105.042833

เอกสารอ้างอิง

ไกด์อุบล. (2552). วัดเกษมสำราญ จ.อุบล ด้รับเลือกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น, 12 มีนาคม 2560. http://guideubon.com/news/view.php?t=115&s_id=1330&d_id=1330

วัดเกษมสำราญ, วันที่ 12 มีนาคม 2560. http://www.watkasemsamran.com

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551).  ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 12 มีนาคม  2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple

หมื่นกรรณ พันตา. (2554). พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา, 12 มีนาคม 2560. www.guideubon.com

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง