วัดใต้ยางขี้นก สิมอีสาน จิตรกรรมล้านช้าง

วัดใต้ยางขี้นก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีอุโบสถสิมที่ก่อสร้างตามแบบกรุงศรีสัตนาคนหุต (กรุงเวียงจันทน์) หรือจำปาศักดิ์ รูปแบบที่คล้ายคลึงกับสิมของวัดแจ้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ด้านนอกมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบล้านช้าง แม้ว่าสภาพปัจจุบันจะทรุดโทรมไปมาก แต่ก็ยังมีร่องรอยให้ศึกษาเรียนรู้ได้

ซุ้มประตูทางเข้า วัดใต้ยางขี้นก
ซุ้มประตูทางเข้า วัดใต้ยางขี้นก

ประวัติวัดใต้ยางขี้นก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

วัดใต้ยางขี้นกตามที่มีการบันทึกไว้เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 8 ไร่ 40 งาน อาคารเสนาสนะประกอบด้วยอุโบสถ กว้าง 6 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2530 ศาลาการเปรียญ กว้าง 13 เมตร ยาว 20 เมตร กุฏิสงฆ์จํานวน 3 หลัง เป็นอาคารไม้ 1 หลัง และครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 หลัง และศาลาบําเพ็ญกุศล จํานวน 1 หลัง ปูชนียวัตถุมีพระประธาน 1 องค์ พระพุทธรูปยืน 1 องค์ และพระพุทธรูปแกะสลักด้วยหิน จํานวน 10 องค์

อุโบสถ วัดใต้ยางขี้นก
อุโบสถ วัดใต้ยางขี้นก

วัดใต้ยางขี้นก ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2392 ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดใต้อัมพวัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2531 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ 1 พระหล้า รูปที่ 2 พระสา รูปที่ 3 พระจันทร์ รูปที่ 4 พระบัว รูปที่ 5 พระตา รูปที่ 6 พระบรรลือ รูปที่ 7 พระทองดี รูปที่ 8 พระพวง ญาณทีโป ตั้งแต่ พ.ศ. 2523-

จากการสืบถามประวัติจากผู้เฒ่าผู้แก่และสืบค้นมาได้ว่าชุมชนบ้านยางขี้นกนั้น เกิดขึ้นพร้อมกับเมืองอุบลราชธานี โดยไพร่พลลูกหลานพระวอพระตา ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ดงอู่ผึ้งและห้วยแจระแม ส่วนหนึ่งจะแตกออกมาอยู่ตามหมู่บ้าน ชุมชนต่าง ๆ และบ้านยางขี้นก เป็นชุมชนที่อพยพต่อมาจากบ้านลาก หนองบ่อ เดิมมาตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณตรงข้ามป่าช้า ต่อมาประมาณ 60-70 ปี เกิดโรคระบาดในหมู่บ้าน จึงได้อพยพมาตั้งบ้านเรือน และวัดยางขี้นกใต้ ณ หมู่บ้านปัจจุบัน ประมาณ พ.ศ.2392 ซึ่งวัดยางขี้นกใต้ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านมีสิมก่อสร้างตามแบบกรุงศรีสัตนาคนหุต (กรุงเวียงจันทน์) หรือจำปาศักดิ์ เป็นวัดที่ชาวบ้านยางขี้นกและบ้านใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือมากอีกวัดหนึ่ง

ที่มาของชื่อหมู่บ้านยางขี้นก

ณ บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านยางขี้นกนั้นมีต้นยางนาขนาดใหญ่ล้อมรอบ มีฝูงนกนานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก บริเวณใกล้ ๆ เป็นชายทุ่งมีแหล่งน้ำขังตลอดปี หนองสร้างถ่อ หนองดู่ นกมาอาศัยต้นยางแล้วขี้รดไว้เป็นจำนวนมาก ถือเป็นภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม และอุดมสมบูรณ์ มีต้นยาง มีนก มีขี้นก จึงตั้งชื่อว่า บ้านยางขี้นก เดิมมีตามแสง (กำนัน) หรือพ่อบ้านปกครอง ขึ้นกับอำเภอเขื่องใน เมื่อคราวปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ สมัยรัชกาลที่ 5 ในราว พ.ศ.2443 ได้กำหนดเป็นตำบลยางขี้นก โดยมีขุนสีหนาทเป็นกำนันคนแรก

สิม วัดใต้ยางขี้นก

สิมของวัดใต้ยางขี้นกหลังนี้มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐฉาบปูน มีมุขโล่งด้านหน้าเป็นเครื่องไม้ หลังคาทรงจั่ว เดิมมุงหลังคากระเบื้องดินขอ ดังจะเห็นหลักฐานที่ตกค้างบริเวณซุ้มหน้าต่าง รูปแบบของสิมมีลักษณะแบบอีสาน เมืองอุบลราชธานี โดยเฉพาะที่มีคล้ายคลึงกับสิม วัดแจ้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

สิมของวัดใต้ยางขี้นก
สิมของวัดใต้ยางขี้นก
ซุ้มประตูทางเข้าสิมของวัดใต้ยางขี้นก
ซุ้มประตูทางเข้าสิมของวัดใต้ยางขี้นก
คันทวยสิมวัดใต้ยางขี้นก
คันทวยสิมวัดใต้ยางขี้นก
ลวดลายปูนปั้นสิมวัดใต้ยางขี้นก
ลวดลายปูนปั้นสิมวัดใต้ยางขี้นก
คันทวยสิมวัดใต้ยางขี้นก
คันทวยสิมวัดใต้ยางขี้นก
รวงผึ้ง สิมวัดใต้ยางขี้นก
รวงผึ้ง สิมวัดใต้ยางขี้นก

สิมวัดยางขี้นกใต้นี้ มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องด้วยปรากฏงานไม้แกะสลักประดับงดงาม ไม่ว่าจะเป็นมุขด้านหน้า ซุ้มประตูหน้าต่างและคันทวย ทั้งมีการประดับตกแต่งด้วยกระจกเกรียบหลายสี และยังคงมีฮูปแต้มปรากฏอยู่ภายนอกสิม ตามแบบอย่างสิมอีสานที่ได้รับอิทธิพลจากเวียงจันทน์ ด้วยเส้นสายและสีสันที่ใช้น่าจะสร้างขึ้นในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งน่าจะได้ศึกษาเทียบเคียงได้กับฝีมือจิตรกรรมภายในสิมวัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ต่อไป โดยมีความแตกต่างคือ สิมวัดทุ่งศรีเมือง มีการเขียนฮูปแต้มภายในตามอย่างศิลปกรรมรัตนโกสินทร์ ส่วนสิมวัดยางขี้นก แม้รูปแบบอาคารจะได้รับอิทธิพลรัตนโกสินทร์ แต่การเขียนฮูปแต้มกลับเขียนภายนอกแบบล้านช้าง และที่สำคัญคือเป็นเรื่องราวในวิถีชีวิต มีภาพสัปดน แต่น่าเสียดายว่าภาพสัปดนเหล่านั้น เพิ่งถูกเจ้าอาวาสรูปก่อนลบไป เนื่องจากอาจไม่เข้าใจถึงปริศนาธรรมที่จิตรกรต้องการสื่อให้ผู้ชมทราบ

จิตรกรรมฝาผนังด้านนอกสิมวัดใต้ยางขี้นก
จิตรกรรมฝาผนังด้านนอกสิมวัดใต้ยางขี้นก

ภายในสิมวัดใต้ยางขี้นก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองบนฐานชุกชีแบบอีสาน มีพระไม้ทรงเครื่องปิดทองงดงามมาก และพระหินทรายแกะสลักอยู่บนฐานชุกชีด้านข้างด้วย

พระพุทธรูปในสิมวัดใต้ยางขี้นก
พระพุทธรูปในสิมวัดใต้ยางขี้นก

สิมวัดใต้ยางขี้นกหลังนี้ นับเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญของอำเภอเขื่องในและจังหวัดอุบลราชธานีได้ แต่เนื่องจากความชำรุดทรุดโทรม จึงควรได้รับการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์ให้กลับมาสวยงานทรงคุณค่าแก่ชุมชน จังหวัด และภูมิภาคต่อไป

ที่ตั้ง วัดใต้ยางขี้นก

บ้านยางขี้นก หมู่ 2 อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดใต้ยางขี้นก

15.434336, 104.5287750000

บรรณานุกรม

ธาดา สุทธิธรรม. (2553). รายงานผลการดำเนินโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์สิมและฮูปแต้มอีสาน กรณีวัดโนนศิลา บ้านสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นและวัดยางขี้นกใต้ บ้านยางขี้นก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ปีที่ 1: การซ่อมหลังคา การทำความสะอาดและบันทึกฮูปแต้ม. อุบลราชธานี: คณะศิลปะประยุกต์และการออกแบบ.

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 2 มีนาคม  2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง