วัดทุ่งศรีวิไล อุทยานประวัติศาสตร์ชีทวน

วัดทุ่งศรีวิไล บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนนั้นคืออุทยานของนางเจียงได ธิดาของเจ้าเมืองชีชวนในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านชีทวน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธวิเศษ พระชัยสิทธิ์ พระร่วงโรจนฤทธิ์ พระพุทธรูปเก่าแก่ที่เคารพศรัทธาของชาวอุบลราชธานี

วิหารวัดทุ่งศรีวิไล
วิหารวัดทุ่งศรีวิไล

ประวัติวัดทุ่งศรีวิไล บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติวัดทุ่งศรีวิไล บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ตามที่มีการบันทึกไว้ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 13 ตารางวา ตั้งอยู่กลางทุ่งนา มีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปศิลาแลง ปางนาคปรก ศิลปะสมัยขอม จํานวน 2 องค์ มีนามว่า พระพุทธวิเศษ และพระชัยสิทธิ์ และพระพุทธรูปยืน มีนามว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์

วัดทุ่งศรีวิไล ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2340 เดิมที่ดินที่ตั้งวัดนี้เป็นอุทยานของธิดาแห่งเจ้าเมืองชีชวน ชื่อว่า พระนางเจียงได บริเวณวัดมีใบเสมาหลายชั้นล้อมรอบอุโบสถ และวิหารหลังเก่าไปจนถึงกำแพงรอบวัด ทุกทิศตลอดทั้งสระน้ำใหญ่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งเป็นวัดอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์แห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรการได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2430 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร การบริหารและ การปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ ทราบนาม คือรูปที่ 1 พระญาท่านด้าน รูปที่ 2 ญาครูกัน รูปที่ 3 หลวงปู่หนู (พระครูคัมภีรวุฒาจารย์) รูปที่ 4 พระครูสุนทรสุตกิจ (มณี จิรธมฺโม ผ่องแผ้ว) เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีวิไล และรองเจ้าคณะอำเภอเขื่องใน

wat_tungsriwilai_13wat_tungsriwilai_21wat_tungsriwilai_20

ปัจจุบันวัดทุ่งศรีวิไลมีเนื้อที่ประมาณ 24 ไร่เศษ (ขยายเขตวัดเพิ่มเติม) เป็นสำนักอบรมปฏิบัติธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานีที่จัดให้มีการปฏิบัติธรรมอบรมจิตภาวนาแก่ข้าราชการ หน่วยงานและสถานศึกษาต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานีและใกล้เคียง

หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ วัดทุ่งศรีวิไล

หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกสร้างด้วยหินศิลาแลง หน้าตักกว้าง 55 เซนติเมตร สูง 90 เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ในยุคทวารวดี อายุ 1000 กว่าปี โดยมีหลวงพ่อพระพุทธชัยสิทธิ์ อยู่เบื้องขวา หลวงพ่อพระร่วงโรจนฤทธิ์ อยู่เบื้องซ้ายซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดทุ่งศรีวิไล บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ
หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ
เครื่องสักการะที่ผู้เลื่อมใสศรัทธานำมาถวายหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ
เครื่องสักการะที่ผู้เลื่อมใสศรัทธานำมาถวายหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ

สำหรับพุทธคุณของหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มากของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้รับการกล่าวขานมาก คือ หากท่านผู้ใดได้มากราบไหว้บูชาบนบานศาลกล่าวขอสิ่งใดมักจะประสบความสำเร็จโดยมีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ อดีตเจ้าเมืองอุบลราชธานี พร้อมกับหม่อมเจียงคำ (พระชายา) ได้เสด็จโดยทางแม่น้ำชีเยี่ยมประชาชนที่บ้านชีทวนและหมู่บ้านใกล้เคียง และได้นำดอกไม้ธูป เทียน ทอง ไปสักการบูชาและขอพระโอรสและพระธิดาไว้สืบสกุลจากหลวงพ่อพุทธวิเศษ จากนั้นไม่นานหม่อมเจียงคำก็ทรงมีพระครรภ์ พร้อมประสูติพระโอรสและพระธิดา 2 พระองค์ คือ หม่อมเจ้าอุปลีสาน และหม่อมเจ้ากมลีสาน ตามที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ได้บนบานเอาไว้

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ที่หลวงพ่อพุทธวิเศษช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยของมนุษย์ได้ โดยมีเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ที่หลวงพ่อพระพุทธวิเศษช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยตามส่วนใดของร่างกาย ก็ให้มาไหว้บนบานบอกกล่าวกับหลวงพ่อพระพุทธวิเศษแล้วนำแผ่นทองคำเปลวไปติดตามส่วนต่าง ๆ ขององค์พระ เช่น มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ก็ให้นำแผ่นทองคำไปปิดที่หน้าองค์ขององค์พระ อาการเจ็บป่วยก็จะหายไป

ประชาชนชาวบ้านชีทวน ชาวอำเภอเขื่องใน ชาวเมืองอุบลราชธานี และประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งที่ต่างประเทศ  ต่างก็เลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ พระพุทธชัยสิทธิ์ พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ได้พากันนำดอกไม้ธูปเทียนมาสักการะมิได้ขาด เพื่อขอพรให้ปกป้องคุ้มครองรักษา และให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาชีวิตครอบครัว พร้อมด้วยบุตร-ธิดา และญาติพี่น้องของตน ให้ประสบความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

พระชัยสิทธิ์ พระพุทธรูปศิลปะสมัยล้านช้าง อายุมากกว่า 700 ปี
พระชัยสิทธิ์ พระพุทธรูปศิลปะสมัยล้านช้าง อายุมากกว่า 700 ปี
พระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดทุ่งศรีวิไล
พระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลักแล้วลงรักปิดทอง สมัยล้านช้าง มีลักษณะแตกต่างจากพระร่วงที่อื่น ๆ คือ มีแขนแนบลำตัว เนื่องด้วยแกะตามความหนาของไม้ พระเกศสามารถถอดได้
ภาพเขียนพุทธประวัติและพระพุทธรูปวัดทุ่งศรีวิไล
ภาพเขียนพุทธประวัติและพระพุทธรูปที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาถวายวัดทุ่งศรีวิไล
พระพุทธรูปปางปรินิพพาน วัดทุ่งศรีวิไล
พระพุทธรูปปางปรินิพพาน เลียนแบบมาจากเมืองกุฉินารายณ์ ประเทศอินเดีย ที่มีลักษณะของผ้าจีวรที่คลุมทั้งไหล่ และไล่เป็นชั้น ๆ
ธาตุพระอัญญาท่านด้าน เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดทุ่งศรีวิไล
ธาตุพระอัญญาท่านด้าน เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดทุ่งศรีวิไล
รูปหล่อหลวงปู่หนู (พระครูคัมภีรวุฒาจารย์)  เจ้าอาวาสรูปที่ 3
รูปหล่อหลวงปู่หนู (พระครูคัมภีรวุฒาจารย์)  เจ้าอาวาส รูปที่ 3 ของวัดทุ่งศรีวิไล

พระครูคัมภีรวุฒาจารย์ เจ้าอาวาส รูปที่ 3 ของวัดทุ่งศรีวิไล 

หลวงปู่หนู (หลวงปู่หนู นามสกุลเดิม ดั่งดอนบม) เกิดที่บ้านผือ ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น บวชเป็นสามเณรที่วัดตาลเรียง ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ตอนอายุ 16 ปี เพื่อเรียนมูลกัจจายนะ จนกระทั่งอายุได้ 20 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดตาลเรียง จำพรรษาอยู่ที่วัดตาลเรียง 1 พรรษา หลังจากนั้นพรรษาที่ 2 ก็ได้ออกเดินทางเพื่อศึกษาเล่าเรียนมูลกัจจายนะและได้เดินธุดงค์มาเรื่อย ๆ จากจังหวัดขอนแก่น พร้อมกับพระคำผอง ผ่านมาทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร จนกระทั่งเดินทางมาถึงบ้านชีทวนตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี และไปปักกรดอยู่ที่บ้านหนองแคนที่เรียกกันว่า ดอนธาตุ แล้วจึงเข้ามาศึกษาเล่าเรียนมูลกัจจายนะที่วัดทุ่งศรีวิไล โดยมีพระอาจารย์ครูกัน (ญาครูกัน) เป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีวิไล อยู่ในตอนนั้น หลังจากเรียนมูลกัจจายนะสำเร็จแล้วก็ไม่ได้เดินทางไปที่ไหนอีก อยู่จำพรรษาที่วัดทุ่งศรีวิไลนับจากนั้นเป็นต้นมา และสอนหนังสือกัจจายนะให้กับลูกศิษย์ลูกหาอีกมากมายหลายพรรษา จนกระทั่งพระอาจารย์ครูกันลาสิกขา หลวงปู่หนูจึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดและทำหน้าที่สอนหนังสือตัวขอม ตัวธรรม และมูลกัจจายนะให้กับพระสงฆ์สามเณรที่มาขอเรียนศึกษากับท่าน

หลวงปู่หนู นับว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เก่งด้านมูลกัจจายนะมากและได้รับความเคารพเป็นอย่างสูง มีลูกศิษย์มากมายทั้งในตำบลชีทวน ต่างอำเภอ และต่างจังหวัด

ด้านงานคณะสงฆ์ การปกครอง ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีวิไล ต่อจากพระอาจารย์ครูกัน เป็นครูสอนนักธรรมปริยัติ ได้รับพระราชทานเป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนาม ที่ พระครูคัมภีรวุฒาจารย์ (หนู คัมภีโร) และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะตำบลชีทวน ปกครองคณะสงฆ์ชีทวนจนกระทั่งมรณภาพ ในปี พ.ศ. 2525 รวมอายุ 97 พรรษา 77 (ตามใบสุทธิ)

ตำนานเงินสามเกวียน อยู่ใต้ต้นมะพลับ วัดทุ่งศรีวิไล
ตำนาน “เงินสามเกวียน อยู่ใต้ต้นมะพลับ” เป็นเงินทองที่เหลือจากสร้างพระธาตุสวนตาลซึ่งจะนำมาเก็บไว้ที่นี่  ชาวบ้านนั้นมีศรัทธาจะไปสร้างพระธาตุพนมแต่ไปไม่ทันเพราะเขาสร้างเสร็จแล้วจึงพากันมาสร้างพระธาตุสวนตาลแทน

ตำนานบ้านชีทวน จากคำบอกเล่าของพระครูสุนทรสุตกิจ เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีวิไลและรองเจ้าคณะอำเภอเขื่องใน ตำนานนี้มีความสอดคล้องกับชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในท้องถิ่นนี้ และแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองชีทวนเมื่อ 300 กว่าปีมาแล้ว

บ้านชีทวน เป็นบ้านเก่าแก่ซึ่งเรียกกันว่า เมืองซีซวน คือ แม่น้ำชีที่มันไหลโค้งวนขึ้นมา หรืออีกนัยหนึ่งคือ เจ้าเมืองไปโอบอุ้มหัวเมืองเล็ก ๆ เข้ามารวมไว้ด้วยกันเพื่อปกครองและดูแลให้อยู่เย็นเป็นสุข

ตำนานเมืองชีทวน

ณ เมืองชีทวน เจ้าเมืองแห่งนี้มีลูกสาวชื่อนางเจียงได เป็นผู้มีรูปลักษณ์สวยงามจนเป็นที่เลื่องลือไปยังหัวเมืองต่าง ๆ เจ้าชายกาละหงส์ ลูกชายเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ได้มาพบนางเจียงได จึงถูกใจจนได้หมั้นหมายเอาไว้ ท้าวอินทะสะเกษ หรือท้าวบุญมา แห่งเมืองนครลำดวน ก็ได้ยินคำร่ำลือในความงามของนางเจียงได ก็ได้เดินทางข้ามแม่น้ำชีมาเพื่อมาพบนางเจียงไดขณะกำลังชมสวนที่อุทยานของนาง หรือปัจจุบันคือ บริเวณวัดทุ่งศรีวิไล เมื่อท้าวอินทะสะเกษได้พบนางเจียงไดแล้วก็ได้เกี้ยวพาราสี แต่นางเจียงไดไม่อาจรับไมตรีนั้นได้จึงบอกว่า มีคู่หมั้นแล้ว แต่ท้าวอินทะสะเกษก็ยังดื้อดึงเพราะนางเจียงไดแค่หมั้นหมายยังไม่ได้แต่งงานซะหน่อย จึงได้ฉุดนางเจียงไดขึ้นหลังม้าแล้วเดินทางไปยังเมืองของตน โดยได้ควบม้าข้ามทุ่งนา (บริเวณขัวน้อย) เรื่อยไปจนถึงบ้านท่าศาลา จึงได้พัก นางเจียงไดได้ไปนั่งโศกเศร้าอยู่ ตรงนั้น บริเวณนั้นจึงเรียกว่า ท่าโศก และได้โกหกท้าวอินทะสะเกษว่า ลืมเครื่องแต่งตัว ลืมสร้อยลืมแหวนอยากกลับไปเอา อีกทั้งก็คิดถึงบิดาด้วย แต่ท้าวอินทะสะเกษรู้ทันก็บอกไม่ให้กลับไปต้องเดินทางข้ามแม่น้ำชีไปที่เมืองนครลำดวนด้วยกัน พวกที่เดินทางมากับท้าวอินทะสะเกษมีทั้งคนเดิน ขี่ม้า มีการอุ้มการขี่หลังกันไป จึงเรียกบริเวณนั้นว่า บ้านเจี่ย (ภาษาอีสาน เจี่ย หรือ เกี่ย คือ การขึ้นขี่หลัง) ผ่านบ้านอ้น (ตำบลระทาย) และพักอยู่บริเวณนั้น ได้ทำการล่าสัตว์เพื่อมาทำอาหาร สัตว์ที่ล่าได้คือ ตัวอ้น จึงเรียกบริเวณนั้นว่า บ้านอ้น จากนั้นเดินทางต่อจนไปพักอยู่ใกล้กับหนองน้ำแห่งหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยสาหร่ายชนิดหนึ่ง ที่ชาวบ้านเรียกว่า เทา จนเป็นชื่อเรียกบ้านนั้นว่า บ้านหนองเทา พักบริเวณนี้ได้เต่ามาเป็นอาหาร และมีการเฉลิมฉลองกันที่ได้นางเจียงไดมา กุดที่อยู่บริเวณนั้น จึงเรียกว่า กุดสันดอน หรือ กุดกินดอง จากนั้นจึงได้เดินทางต่อไปจนถึงนครลำดวนขุขันธ์

ต่อมาเจ้าชายกาละหงส์แห่งเมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งยังไม่ทราบเรื่องว่านางเจียงไดถูกลักพาตัว ได้จัดขบวนขันหมากเพื่อจะมาแต่งงานกับนางเจียงได พอทราบแล้วจึงโกรธมากและตามไปชิงนางเจียงได ซึ่งขณะนั้นเองนางเจียงไดกำลังตั้งครรภ์อ่อน ๆ เจ้าชายกาละหงส์ไปท้าทายท้าวอินทะสะเกษที่บริเวณบ้านระทายในปัจจุบัน ท้าวอินทะสะเกษยกพลมาตั้งค่ายเพื่อต่อสู้ที่บ้านเมืองน้อย หรือ เมืองอินทะสะเกษ และเกิดการสู้รบกัน นานจนนางเจียงไดท้องแก่ก็ได้คลอดลูกที่ค่ายนี้ ลูกที่คลอดออกมามีหน้าตาเป็นคนแต่มีขนขึ้นตามตัวเต็มไปหมด จึงให้ชื่อว่า ท้าวบาลิง ท้าวอินทะสะเกษได้ให้โหรมาทำนายว่าทำไมท้าวบาลิงจึงได้เกิดมาเป็นแบบนี้  โหรผู้ที่ทำนายรับสินบนจากนางทางเขมรซึ่งไม่ชอบนางเจียงไดอยู่แล้ว จึงได้ทำนายให้ว่า เพราะนางเจียงไดเป็นกาลีบ้านกาลีเมือง เป็นต้นเหตุทำให้เกิดศึกสงครามผู้คนล้มตายมากมาย พอคลอดลูกมาจึงเหมือนลิง ท้าวอินทะสะเกษเชื่อตามที่โหรทำนาย จึงขับไล่นางเจียงไดออกจากค่ายให้ไปอยู่ในสวนกล้วย อีกตำนานหนึ่ง ก็ว่าท้าวอินทะสะเกษนี้ได้บังคับให้นางเจียงไดนำลูกไปลอยน้ำตรงท่าน้ำ (ปัจจุบันที่ท่าข้ามระหว่างกันทรารมย์มาบ้านระทาย บ้านเหม่า เรียกว่า ท่านางเหงา มีการสร้างสะพานข้ามและสร้างศาล เรียกว่า ศาลนางเหงา) แพลอยไปตามน้ำจนถึงนครจำปาศักดิ์

จากนั้นเมื่อนางเจียงไดได้ตายไป ท้าวอินทะสะเกษ ก็ไม่ได้กลับไปครองบ้านครองเมืองอีก เมืองซีซวนก็ล่มสลายไป ไม่มีเจ้าเมืองปกครองต่อ แต่ก็ยังมีลูก ๆ หลาน ๆ อาศัยอยู่ ซึ่งก็ยังได้ยินการเรียกชื่อที่ขึ้นต้นว่า ท้าวหรือ นาง กันอยู่ เช่น ญาแม่นางยาน ญาแม่คำเกิน

อุทยานของนางเจียงได ก็ถูกปล่อยร้างจนกลายเป็นป่าเป็นดง มีนกกระเรียน หรือนกเขียนมาอาศัยอยู่มากมาย มีคำกล่าวว่า “ทุ่งสามขา เนินนกเขียน เงินสามเกวียนอยู่ใต้ต้นมะพลับ” ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงการสร้างพระธาตุพนม

เมื่ออุทยานรกร้างกลายเป็นป่า ชาวบ้านก็มาหากินหรือหาของป่าจนได้มาพบเกศของพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา จึงได้ช่วยกันขุดจนพบว่าเป็นพระพุทธรูปซึ่งทำด้วยศิลาแลง หรือพุทธวิเศษในปัจจุบัน จึงพากันสร้างโรงเรือนเพื่อประดิษฐาน มีญาติโยมเข้ามากราบไหว้ หลวงพ่อสันนิษฐานว่า เมื่อท้าวอินทะสะเกษได้ออกบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้นางเจียงได คงสร้างสำนักสงฆ์ขึ้น ณ บริเวณนี้ และพระที่ขุดพบก็คล้ายคลึงกับพระศิลาแลงที่ประสาทสระกำแพงใหญ่ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศิลปะแบบขอม

ค่ำคืนหนึ่งเกิดไฟไหม้โรงเรือนที่ประดิษฐานพระพุทธวิเศษ ชาวบ้านที่อาศัยในหมู่บ้านไม่ทราบว่าเกิดเหตุจนกระทั่งตอนเช้า จึงมาสำรวจที่เกิดเหตุ พบว่า พระพุทธวิเศษนี้ถูกวางไว้นอกกองเพลิง ไม่ถูกไฟไหม้ ซึ่งเป็นเรื่องที่วิเศษมหัศจรรย์ใจ ชาวบ้านจึงเรียกว่า พระเจ้าวิเศษ และสร้างโรงเรือนสำหรับประดิษฐานขึ้นมาใหม่ ลูกหลาน ชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วย หรืออยากมีบุตรธิดา เมื่อมาบนบานหรือกราบไหว้ขอพรก็หายจากโรคภัยนั้นหรือได้บุตรธิดาตามที่ต้องการ ความศักดิ์สิทธิ์ถูกเลื่องลือไปจนถึงพระเนตรพระกรรณของกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ และหม่อมเจียงคำ ทรงทราบว่าหลวงพ่อวิเศษสามารถประทานบุตรธิดาให้ได้จึงได้มาขอบุตรธิดา และก็สำเร็จผลได้บุตรสองท่าน คือ หม่อมเจ้าอุปลีสาน ชุมพล และหม่อมเจ้ากมลีสาน ชุมพล

หลวงพ่อเล่าว่า หม่อมราชวงศ์พฤติศาล ชุมพล (บุตรหม่อมเจ้าอุปลีสาน) ผู้เป็นหลาน ได้มาทำบุญตามรอยย่าเจียงคำ ที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ได้เล่าให้ฟังว่า หม่อมพ่อของผมเป็นลูกของพระพุทธวิเศษ วัดทุ่งศรีวิไล วัดนี้อยู่ที่ไหน ผมอยากไปกราบท่าน จึงได้มีผู้พาท่านมากราบ

หลังจากนั้นไม่มีหลักฐานหรือการบอกเล่าว่าเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งหลวงปู่ญาท่านด้าน ซึ่งเป็นผู้สำเร็จอภิญญาได้ธุดงค์มาถึงบริเวณนี้ เห็นญาติโยมให้ความเคารพบูชาหลวงพ่อพุทธวิเศษ ท่านจึงมาจำพรรษาอยู่ที่นี่ และตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นจนเป็นวัดทุ่งศรีวิไลในปัจจุบัน

ธรรมมาสน์วัดทุ่งศรีวิไล
ธรรมมาสน์วัดทุ่งศรีวิไล

เพิ่มเติม : ธรรมาสน์วัดทุ่งศรีวิไล

ตู้พระคัมภีร์วัดทุ่งศรีวิไล
ตู้พระคัมภีร์วัดทุ่งศรีวิไล
โฮงฮด วัดทุ่งศรีวิไล
โฮงฮด วัดทุ่งศรีวิไล
พระเสี่ยงทาย ในวิหารวัดทุ่งศรีวิไล
พระเสี่ยงทาย ในวิหารวัดทุ่งศรีวิไล
โบราณวัตถุ วัดทุ่งศรีวิไล
โบราณวัตถุ วัดทุ่งศรีวิไล

ที่ตั้ง วัดทุ่งศรีวิไล

เลขที่ 109 บ้านชีทวน หมู่ 1 ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดทุ่งศรีวิไล

15.293424, 104.663537

บรรณานุกรม

ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน. (2553). พระอุปัชฌาย์หนู คัมภีโร วัดทุ่งศรีวิไลย ชีทวน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี, 8 มีนาคม 2560. http://www.ubonpra.com

พระครูสุนทรสุตกิจ. สัมภาษณ์, 15 ธันวาคม 2559

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 8 มีนาคม  2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง