วัดธาตุสวนตาล

วัดธาตุสวนตาล อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีสถูปเจดีย์ลักษณะเหมือนกับธาตุพนม มีเรือโบราณหรือเรือเจ้าแม่หงส์ทองที่ขุดพบในลำน้ำชี พระธรรมเทโวเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริด ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยศิลปะแบบลาวเป็นพระคู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง ปีใดที่ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลชาวบ้านจะนิมนต์องค์พระลงไปแห่รอบ ๆ หมู่บ้าน เพื่อให้ฝนตกและให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ จนเกิดประเพณีแห่พระธรรมเทโว ขึ้นทุกปี

อุโบสถวัดธาตุสวนตาล
อุโบสถวัดธาตุสวนตาล

ประวัติวัดธาตุสวนตาล อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติวัดธาตุสวนตาล อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ตามที่มีการบันทึกไว้ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 16 ไร่ อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถกว้าง 9.30 เมตร ยาว 21.30 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2518 ศาลาการเปรียญ กว้าง 13.50 เมตร ยาว 30 เมตร เป็นอาคารไม้ เพดานมีภาพจิตรกรรมที่สวยงาม และกุฏิสงฆ์ จํานวน 3 หลัง เป็นอาคารไม้ 1 หลังและครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 หลัง

วัดธาตุสวนตาล ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2207 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2518 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 34.50 เมตร ยาว 59.60 เมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาส คือ รูปที่ 1 พระใบฎีกาขุนราม ญาณธโร รูปที่ 2 พระครูเกษมบุญญาภิราม

ศาลาการเปรียญวัดธาตุสวนตาล
ศาลาการเปรียญวัดธาตุสวนตาล
พระประธานบนศาลาการเปรียญวัดธาตุสวนตาล
ภายในศาลาการเปรียญวัดธาตุสวนตาล
พระประธานบนศาลาการเปรียญวัดธาตุสวนตาล
พระประธานบนศาลาการเปรียญวัดธาตุสวนตาล

พระธาตุสวนตาล วัดธาตุสวนตาล

พระธาตุสวนตาล เป็นสถูปหรือเจดีย์ประธานของวัดธาตุสวนตาล ก่อด้วยอิฐเผาแกะสลักปูนปั้นเป็นลวดลายซุ้มเรือนแก้วทั้งสี่ด้าน ฉาบด้วยพระทาย (พระทาย คือ การนำหินมาบดหรือตำให้ละเอียดผสมกับน้ำอ้อย ยางบง หนังควายแห้งเผาไฟแล้วตำ ผสมกันในหลุมดินแล้วตำให้ละเอียดเนื้อเดียวกัน จะมีคุณภาพหรือความเหนียวคล้ายกับปูนซีเมนต์) เป็นรูปทรงเลียนแบบพระธาตุพนม ทรงสี่เหลี่ยม ฐานกว้าง 9×9 เมตร สูง 18 เมตร จากการเล่าของท่านเจ้าคุณพระนิโรธรักขิต ได้กล่าวถึงความเป็นมาขององค์พระธาตุสวนตาลนี้ไว้ว่าพระธาตุนี้สร้างขึ้นในยุคสมัยสร้างพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ลักษณะสัณฐานเหมือนกับธาตุพนม

ประวัติการก่อสร้างพระธาตุสวนตาล ภายหลังจากพระครูโพนเสม็ดได้พาผู้คนออกจากอำนาจรัฐหลวงพระบางและเวียงจันทน์ กระจายไปตามลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี เมื่อประมาณ พ.ศ.2233 พระครูโพนเสม็ดได้ก่อตั้งครจำปาสักขึ้น และได้ไปรับเจ้าหน่อกษัตริย์ ราชบุตรของกษัตริย์องค์ก่อนแห่งนครเวียงจันทร์มาครองนคร โดยมีอาณาเขตครอบคลุม “ยางสามต้น อ้นสามขวย หลักทอดยอดยาง” มี 8 เมือง ดังนั้น ประเทศลาวเมื่อประมาณ พ.ศ.2256 จึงมี 3 ก๊ก 3 นคร

ประมาณ พ.ศ.2236 ซึ่งตรงกับช่วงปลายของรัฐสมัยพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยานั้น พระครูโพนเสม็ดได้ป่าวชวนเจ้าเมืองเล็กเมืองน้อย ทั้งตามฝั่งแม่น้ำโขงใต้นครเวียงจันทน์ และตามลุ่มน้ำย่อยอื่น ๆ รวมทั้งลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี ให้ไปร่วมบูรณะพระธาตุพนมขึ้นมาใหม่ จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2245 ระหว่างการบูรณะพระธาตุพนมอยู่นั้นเหล่าเจ้าเมืองตามลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชีและเมืองตามถิ่นขอมหลายเมืองไปร่วมไม่ทัน จึงได้ร่วมกันสร้างพระธาตุเทียมรูปองค์พระธาตุพนมขึ้นที่วัดท่าแขก(วัดพระธาตุสวนตาล) ซึ่งน่าจะก่อสร้างระหว่าง พ.ศ.2245-2255

เมื่อเวลาผ่านไปพระธาตุได้ผุกร่อนทรุดโทรมและพังทลายลงเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2518 เวลา 09.30 น. ตรงกับวันอาสาฬหบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8

พระธาตุสวนตาลองค์ปัจจุบันนี้มีรูปทรงเหมือนพระธาตุองค์เดิมทุกประการ ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กครอบส่วนที่เหลือของพระธาตุองค์เดิมมีขนาดฐานกว้าง 14×14 เมตร สูง 28.90 เมตร เริ่มปฏิสังขรณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539 ทำพิธียกฉัตรเมื่อวันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ.2541 ปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 สิ้นเงิน 5,950,000 บาท (ห้าล้านเก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)

การปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุแล้วเสร็จตรงกับปีมหามงคลเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 แห่งราชจักรีวงศ์ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ประทานพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุให้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2543 เวลา 08.00 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกียว อุปเสโณ) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เป็นประธานประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนยอดพระธาตุ เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2543 เวลา 15.19 น. ตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 พลเอกวิษณุ ธานี เป็นผู้นำและประสานงานในการปฏิสังขรณ์

พระธาตุสวนตาล วัดพระธาตุสวนตาล
พระธาตุสวนตาล วัดพระธาตุสวนตาล

เรือโบราณ เรือเจ้าแม่หงส์ทอง วัดธาตุสวนตาล

เรือโบราณ หรือเรือเจ้าแม่หงส์ทอง ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในวัดธาตุสวนตาล เป็นเรือขุดขนาดใหญ่ ได้ค้นพบในช่วงเดือนพฤษภาคม 2537 ในลำน้ำชี เนื่องจากปริมาณน้ำในลำน้ำชีแห้งขอดลงมากชาวบ้านจึงพบเรือลำนี้ที่หาดทรายวังไหลน้อย ห่างจากบ้านชีทวนประมาณ 5-6 กิโลเมตร ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2537 (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 6) พระภิกษุสามเณรโดยการนำของพรปลัดอู๊ด เตชธมโม เจ้าคณะตำบลชีทวน กับพระบุญมี อสสโว รองเจ้าคณะตำบล รองเจ้าอาวาสวัดธาตุสวนตาล พร้อมทั้งชาวบ้านได้เดินทางไปขุดเอาเรือขึ้นแต่ไม่สามารถนำขึ้นมาได้ เพราะเครื่องมือไม่เพียงพอ

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 (ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6) พระภิกษุสามเณรและชาวบ้านได้ไปขุดเอาเรือขึ้นอีก จนถึงเวลา 15.00 น. จึงขุดเรือขึ้นมาได้ จึงลากเอาเรือไปไว้ที่หาดทราย ขณะทำการกู้เรือโดยมีพระภิกษุสามเณรรวมไปถึงชาวบ้านจำนวนมากที่ไปร่วมพิธีนั้น ได้เกิดเหตุมหัศจรรย์มีพายุฝนฟ้าคะนองจนทุกคนได้วิ่งหลบฝนกันอย่างวุ่นวาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีเค้าว่าฝนจะตกเลยแม้แต่นิดเดียว ระดับน้ำในลำชีสูงขึ้นจนถึงเรือที่เก็บไว้

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2537 พระภิกษุสามเณรโดยการนำของพระครูสุนทรสุตกิจ รองเจ้าคณะอำเภอเขื่องใน พร้อมด้วยชาวบ้าน 200 คน นำโดยคุณจินตนา จาตุรันตานนท์ ได้ทำพิธีบวงสรวงแล้วจึงช่วยกันลากเรือขึ้นมาตามลำชี และนำเรือขึ้นมาเป็นไว้ที่วัดธาตุสวนตาล เนื่องจากสภาพเรือที่ขุดได้ยังไม่สมบูรณ์จึงได้ช่วยกันซ่อมแซมใช้เวลาในการดำเนินการซ่อมแซม 17 วัน จึงแล้วเสร็จ แล้วนำมาเก็บไว้ที่โรงเรือนปัจจุบัน หลังจากได้เรือมาแล้วก็มีฝนตกตลอดมาไม่เว้นวันจนถึงวันที่ซ่อมแซมเสร็จฝนจึงหยุดตก

เรือลำนี้มีชื่อว่า เจ้าแม่หงส์ทอง ตั้งตามนิมิตหมายของคุณแม่จินตนา จาตุรันตานนท์ เป็นเรือขุดขนาดใหญ่โดยได้ใช้ไม้ไม้ตะเคียนหินขนาดใหญ่เพียงท่อนเดียว มีความยาว 24 เมตร กว้าง 2.70 เมตร คาดว่าเรือลำนี้มีอายุประมาณ 300 ปี และคงเป็นเรือของคนสมัยก่อนที่ใช้ขนอ้อยไปขาย เพราะบ้านชีทวนในอดีตเป็นแหล่งปลูกอ้อยแหล่งใหญ่ในเขตลุ่มแม่น้ำชีตอนล่าง เรืออาจจม หรือไม่ก็ปล่อยทิ้งไว้จนถูกดินโคลนกลบฝังในที่สุด

เจ้าแม่หงส์ทอง เรือโบราณ ณ วัดธาตุสวนตาล
เจ้าแม่หงส์ทอง เรือโบราณ ณ วัดธาตุสวนตาล
เจ้าแม่หงส์ทอง เรือโบราณ ณ วัดธาตุสวนตาล
เจ้าแม่หงส์ทอง เรือโบราณ ณ วัดธาตุสวนตาล

พระธรรมเทโว วัดธาตุสวนตาล

พระธรรมเทโวเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดขนาดหน้าตักกว้าง 42 เซนติเมตร สูง 76 เซนติเมตร ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัยศิลปะแบบลาว จารึกเป็นภาษาพื้นเมืองที่ส่วนฐานรวม 3 บรรทัด ซึ่งหลวงปู่ขุนราม ญาณธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดธาตุสวนตาลได้อ่านคำจารึกที่มีอยู่ใต้ฐานพระพุทธรูปซึ่งได้ความว่า “สังกาศราชาได้ 144 ตัวปีเต้ายี่ เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ วันอาทิตย์ พระมหาธรรมเทโวเจ้ามีใจใสศรัทธาสร้างพระพุทธรูปองค์นี้มีทองสองหมื่นเจ้าขนานคำมะลุนเป็นผู้รจนา” จากตัวเลขศักราชดังกล่าว ถ้าจะตีความตามแบบที่คุณวัชรินทร์ พุ่มพงษ์แพทย์ ซึ่งได้ตีความในจารึกแผ่นลานทองแดงเกี่ยวกับปีที่บูรณะซ่อมแซมพระธาตุพนมแล้ว พระธรรมเทโวก็ต้องสร้างในวันอาทิตย์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีขาล พ.ศ. 2325 (หรือราว 224 ปี) ซึ่งเป็นช่วงก่อนตั้งกรุงเทพมหานครเพียงไม่กี่เดือน

จากการตีความในคำจารึกใต้ฐานพระธรรมเทโวดังกล่าวนั้น พอที่จะเชื่อได้ว่าพระธรรมเทโวที่วัดธาตุสวนตาลนี้สร้างขึ้นโดยอุปราชธรรมเทโว เมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อวันอาทิตย์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีขาล พ.ศ. 2325 (หรือราว 224 ปี) ส่วนที่ว่าได้มาประดิษฐานที่บ้านชีทวนเมื่อใดนั้น ก็น่าจะราวปี 2352 อันเป็นปีที่ชาวบ้านชีทวนได้เดินทางไปหาวัสดุในการใช้ซ่อมแซมพระธาตุสวนตาล และได้มีการพระธาตุที่นครจำปาศักดิ์จริงตามคำบอกเล่า และได้พระธรรมเทโวมาเป็นรางวัลและประดิษฐานอยู่ที่วัดธาตุสวนตาลจนในปัจจุบัน ซึ่งพระธรรมเทโว หรือชาวบ้านเรียกว่า พระเทโว ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง ปีใดที่ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลชาวบ้านจะนิมนต์องค์พระลงไปแห่รอบ ๆ หมู่บ้าน เพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาลและให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ จนเกิดประเพณีแห่พระธรรมเทโว ขึ้นทุกปี

พระธรรมเทโว วัดธาตุสวนตาล
พระธรรมเทโว วัดธาตุสวนตาล

สัตตภัณฑ์เชิงเทียน วัดธาตุสวนตาล

สัตตภัณฑ์เชิงเทียน วัดธาตุสวนตาล มีลักษณะเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทอง บางตอนประดับด้วยกระจกสี มีรางเล็กสำหรับปักเทียนอยู่บริเวณตอนบน เป็นงานไม้แกะสลักฝีมือชาวบ้านที่งดงามมากชิ้นหนึ่ง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 24 อยู่ในศาลาการเปรียญวัดธาตุสวนตาล บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

สัตตภัณฑ์เชิงเทียน วัดธาตุสวนตาล
สัตตภัณฑ์เชิงเทียน วัดธาตุสวนตาล

ข้อมูลเพิ่มเติม : ฮาวไต้เทียน (เชิงเทียน) วัดพระธาตุสวนตาล ที่อุบลราชธานี ภูมิปัญญาช่างโบราณ

ที่ตั้ง วัดธาตุสวนตาล

บ้านชีทวน หมู่ 3 ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดธาตุสวนตาล

15.286400, 104.663523000

บรรณานุกรม

กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น. (2554). วัดธาตุสวนตาล, 23 มีนาคม 2560. http://info.dla.go.th/public/travel.do?cmd=goDetail&id=503829&random=1479985064089

ไกด์อุบล. (2548). เยือนชุมชนวัฒนธรรม แหล่งโบราณคดีล้ำค่า ประวัติศาสตร์ 3,000 ปี บ้านชีทวน, 8 มีนาคม 2560. http://guideubon.com/news/view.php?t=18&s_id=51&d_id=51&page=5&start=1

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). พระธาตุสวนตาล, 8 มีนาคม 2560. http://www.m-culture.in.th/album/158064

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). เรือโบราณวัดธาตุสวนตาล, 8 มีนาคม  2560. http://www.m-culture.in.th/album/158100

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). สัตตภัณฑ์เชิงเทียน, 8 มีนาคม  2560 http://www.m-culture.in.th/album/158065

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 8 มีนาคม  2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง