ขัวน้อย สะพานวัฒนธรรม บ้านชีทวน

ขัวน้อย หรือสะพานน้อย ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี สะพานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสต์ท้องถิ่นของบ้านชีทวนกว่า 100 ปี ทอดยาวไปในทุ่งนาเชื่อมระหว่างบ้านชีทวนไปยังวัดศรีธาตุ  จากสะพานเส้นทางการสัญจรของผู้คนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่รอให้ผู้คนไปสัมผัส โดยเฉพาะในช่วงประเพณีตักบาตรเทโว วันออกพรรษา

ขัวน้อย บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
ขัวน้อย บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ความเป็นมาของขัวน้อย บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ขัวน้อยบ้านชีทวน หรือสะพานข้ามทุ่งนาบ้านชีทวน มีความเป็นมาคือ เส้นทางดังกล่าวเป็นเนินเดินหรือ คันนา มีไว้สำหรับ ให้ผู้คนสัญจรไปมา กล่าวคือ ให้ทั้งพระและผู้คนสัญจรไปมา และจากการสืบค้นประวัติ มีการแบกโลงศพ ผ่านเส้นทางนี้เพื่อไปทำพิธีทางศาสนา ที่ป่าช้าหัวหนองจอก ปัจจุบันถ้าเรามองไปจะมีเมรุตรงนั้นเลย จากการที่มีผู้คนสัญจรไปมาระหว่าง วัดบ้านหนองแคน (วัดศรีธาตุเจริญสุข) หมู่บ้านหนองแคน ซึ่งตอนนั้น มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าบ้านหนองแคน เป็นชุมชนของข้าทาสที่มาคอยรับใช้เจ้านาย ในบ้านชีทวน ซึ่งบ้านชีทวน สมัยก่อนเป็นเมือง ๆ หนึ่ง ชื่อว่า เมืองซีซ้วน โดยผู้คน ชาวบ้าน พระสงฆ์ก็อาศัยเส้นทางนี้สัญจรไป แต่เนื่องจากว่าเส้นทางดังกล่าว เป็นเนินตม มีกองขี้ควายเยอะ จนถูกเรียกว่า หนองขี้โผ่ (ขี้โผ่ หมายถึง ขี้โคลนที่มีควายมาขี้ทับถมกันเป็นจำนวนมาก และเป็นเวลานาน) ปัจจุบันบริเวณนั้นถ้าเป็นช่วงหน้าฝนก็จะไม่สามารถเดินไม่ได้เลย และมีกลิ่นขี้ควายอยู่ สาเหตุนี้เองเวลาที่ผู้คนเดินไปเดินมาก็ลำบากยิ่ง จึงได้มีการก่อสร้างสะพานไม้ขึ้น สะพานไม้สมัยนั้นทำจาก ไม้ที่สร้างเรือกระแซงที่ชำรุด ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก นำแผ่นไม้ จากโครงเรือกระแซงเก่ามาต่อกันเป็นสะพาน แต่เนื่องจากมีไม้ไม่เพียงพอที่จะสร้างถึงวัดศรีธาตุ จึงสร้างสิ้นสุดเพียงที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ หลังจากก่อสร้างเป็นสะพานไม้แล้ว ก็มีผู้คนสัญจรไปมามากขึ้น ทั้งพระที่เดินทางมาบิณฑบาตในหมู่บ้านชีทวน และพระที่เดินทางไปเรียนโรงเรียนปริยัติธรรมที่วัดศรีธาตุ บ้านหนองแคน ตลอดจนชาวบ้านที่มีใช้เป็นทางสัญจรดำเนินวิถีชีวิตในกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมทั้งการแบกศพไปเผาหรือฝัง

ขัวน้อย บ้านชีทวน ช่วงเดือนธันวาคม หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว
ขัวน้อย บ้านชีทวน ช่วงเดือนธันวาคม หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว

kuanoi_bridge3

จากการสืบค้นข้อมูลไม่มีใครทราบเลยว่า สะพานไม้จากไม้เรือกระแซงนั้น สร้างเมื่อปีใด แต่คาดกว่า ไม่ต่ำกว่า 100 ปีมาแล้ว ขัวน้อยก็ถูกใช้ในการสัญจรไปมา และชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จนกระทั้งเมื่อปี พ.ศ. 2535 พระครูสุนทรสุตกิจ เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีวิไล พร้อมชาวบ้านที่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ได้รวบรวมเงิน มาในรูปแบบผ้าป่าสามัคคี เพื่อมาก่อสร้างสะพานขัวน้อยให้เป็นคอนกรีต ซึ่งในการก่อสร้าง มีความยากลำบากมาก เพราะชาวบ้านที่มีที่ดินอยู่โดยรอบขัวไม่ให้ความร่วมมือในการสร้างสะพาน เพราะกลัวจะรุกล้ำที่ดินของตน แม้กระทั่งสถานที่วางกองหิน กองทรายในการก่อสร้างก็หาที่วางลำบากยิ่ง ช่างก่อสร้างก็มีความยากลำบากในการทำงาน จึงใช้เวลาก่อสร้างนานราว 3 เดือน จึงแล้วเสร็จ  โดยยังยึดแนวขัวน้อยเดิมไว้เป็นหลักในการก่อสร้างเพื่อไม่ให้รุกล้ำพื้นที่นาอย่างที่ชาวบ้านกลัว

kuanoi_bridge4

ขัวน้อยก็ยังเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านใช้ในการเดินทางไปมาระหว่างหมู่บ้าน เดินทางไปมากับทุ่งนา และมีวิถีชีวิตมากมาย แต่ไม่มีพระเดินมาบิณฑบาตและไม่มีการแบกศพข้ามไปแล้ว สืบเนื่องจากมีการสร้างถนนเพื่อให้เดินทางสะดวกขึ้น ปัจจุบันขัวน้อยได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางนิเวศวัฒนธรรมของบ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อยามที่ทุ่งนากลายเป็นสีเขียว หรือสีเหลืองทอง บริเวณขัวน้อยนั้นงดงามมาก จึงเป็นจุดดึงดูดใจให้ผู้คนเข้าไปถ่ายภาพ และมีชื่อเสียงมากขึ้น จึงได้มีการจัดงานตักบาตรเทโว ให้เป็นกิจกรรมประจำปี ซึ่งภาพที่ออกมานั้นสวยงามยิ่งนัก

ที่ตั้ง ขัวน้อย

บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ ขัวน้อย

15.287959, 104.660387000

บรรณานุกรม

วรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริม.(2558). นิเวศวัฒนธรรมแห่งขัวพัฒนาการเส้นทางเทียวของผู้คนในท้องถิ่น, 2 มีนาคม 2560. https://www.facebook.com/eiddy101/posts/10205413124863382

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง