ของเล่น แนวเล่นอีสาน

การเล่นของเด็กอีสานในสมัยก่อนนั้นมีรูปแบบที่เรียบง่าย เด็ก ๆ จะนิยมออกมาเล่นด้วยกันที่ลานบ้าน ลานวัด มีการคิดสร้างสรรค์ของเล่นจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่มีในท้องถิ่น การเล่นต่าง ๆ ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง จากพ่อแม่สู่ลูกหลาน การเล่นนอกจากจะทำให้เกิดความเพลิดเพลินแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติ ช่วยสร้างความสามัคคีและความสัมพันธ์ในชุมชน ปัจจุบันมีคนให้ความสนใจเรื่องการละเล่นพื้นบ้านของเด็กไทยน้อยลงมาก นับวันองค์ความรู้เกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้านจะค่อย ๆ สูญหายไป เนื่องจากขาดการอนุรักษ์และพัฒนา 

การเล่นพื้นบ้านในปัจจุบันนั้นลดลงจนแทบจะสูญหายไปจากสังคมแล้ว ซึ่งกนกวรรณ ทองตำลึงและคณะ (2561) ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้การเล่นของเด็ก ๆ เปลี่ยนแปลงไป ประกอบด้วย

  1. การปรับเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมที่พ่อแม่พี่น้องอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ เป็นสังคมอุตสาหกรรมที่เป็นครอบครัวเดี่ยวครอบครัวขนาดเล็กมากขึ้น ทำให้เด็ก ๆ มีโอกาสได้รวมกลุ่มเล่นด้วยกันน้อยลง
  2. ลักษณะที่อยู่อาศัยในบ้านเดี่ยวที่มีรั้วรอบขอบชิด หรืออาศัยในตึกอาคาร ทำให้บริเวณพื้นที่เล่นถูกจำกัดลง พื้นที่หรือสนามเด็กเล่นเหมือนในอดีตก็ลดลง เช่น ลานวัด สนามกีฬา ลานบ้าน เด็ก ๆ  จึงไม่สะดวกหรือสนใจที่จะออกมาเล่นกลางแจ้ง 
  3. ผู้ปกครองมีความห่วงใยในความปลอดภัย หรือการเดินทาง จึงดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด อีกทั้งไม่ค่อยเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ในชุมชน ด้วยเกรงว่าจะถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี หรือกลัวว่าอาจจะได้รับอันตรายจากการละเล่นบางชนิด
  4. เด็ก ๆ สนใจการละเล่นที่ใช้วัสดุ อุปกรณ์ หรือของเล่นสำเร็จรูปมากกว่าของเล่นที่ต้องใช้เวลาในการประดิษฐ์คิดสร้างสรรค์ เนื่องด้วยว่าของเล่นนั้นซื้อหาได้ง่ายในท้องตลาดและมีกำลังซื้อ
  5. ผู้ปกครองตั้งเป้าหมายอยากให้ลูกหลานมีผลการเรียนที่ดี มีการสนับสนุนให้เด็กได้เรียนพิเศษ ทำให้เวลาในการเล่นลดลง เพราะสังคมในปัจจุบันมีการแข่งขันค่อนข้างสูง 
  6. ผู้ปกครองมักจะให้ลูกไปโรงเรียนตั้งแต่ 2-3 ขวบ ด้วยปัญหาไม่มีผู้ดูแล
  7. การสื่อสาร เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ไร้พรมแดน ทำให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เด็กสนใจมากกว่าที่จะออกไปเล่นรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ  เช่น เกมออนไลน์ เกมคอมพิวเตอร์ หรือหุ่นยนต์
  8. รูปแบบความบันเทิงแบบใหม่ที่กระจายและเผยแพร่ไปยังเด็ก ๆ อย่างรวดเร็ว ทั้งภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ วิดีโอ เป็นต้น ทำให้การละเล่นถูกละเลยและไม่น่าสนใจ

ลักษณะการเล่นของเด็กอีสาน

ศิริลักษณ์ เหมาะศรี ทัศนีย์ นาคุณทรง และประสพสุข ฤทธิเดช (2559) กล่าวว่า การเล่นของเด็กอีสานนั้นแสดงถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อาชีพ ความเชื่อ และภาษาของคนในท้องถิ่น ซึ่งลักษณะการเล่นของเด็กอีสานนั้น มีดังนี้

  1. เป็นการเล่นเพื่อความบันเทิงและสนุกสนาน
  2. เน้นการนำวัสดุที่มาอยู่ในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นของเล่นหรือเครื่องเล่น
  3. ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น คือ มีทั้งการเล่นเดี่ยว เล่นเป็นกลุ่ม เล่นเป็นฝ่าย และเป็นหมู่คณะ
  4. มีรูปแบบการเล่นที่เรียบง่าย มีกติกาการเล่นที่ไม่ซับซ้อน
  5. การเล่นแต่ละชนิดจะเล่นตามโอกาสที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้เล่น การเล่นบางชนิดต้องมีอุปกรณ์ประกอบ และสถานที่เหมาะสมกับการเล่นนั้น ๆ

ประโยชน์ของการเล่น

ศิริรัตน์ เพ็ชร์แสงศรี และนวรัตน์ สิทธิมงคลชัย (2566) กล่าวว่า การเล่นเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และสามารถนำไปสู่การค้นพบสิ่งใหม่ เกิดการเรียนรู้โดยไม่รู้ตัวและสามารถเป็นเครื่องมือที่ปรับสู่ภาวะสมดุลย์ทางอารมณ์ได้ และรมร แย้มประทุม (2559) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการเล่นนั้น จำแนกได้ ดังนี้

  1. พัฒนาการด้านร่างกาย การเล่นกลางแจ้งกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้สุขภาพแข็งแรง ป้องกันโรคเรื้อรัง กระตุ้นการเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน เข้าใจกฎกติกา การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย มีน้ำใจนักกีฬา
  2. พัฒนาการด้านสติปัญญา การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ความคิดสร้างสรรค์ การเล่นบทบาทสมมติกระตุ้นให้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เกิดความสามารถในการคิดสร้างสรรค์
  3. พัฒนาการด้านภาษา การเล่นสมมติ กระตุ้นให้เด็กพยายามเล่าเรื่อง ฝึกใช้ภาษาในการสื่อสาร ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน
  4. พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม การจินตนาการเป็นอีกคนหนึ่งทำให้เด็กฝึกติดจากมุมมองของคนอื่น เข้าใตความคิดและเห็นใจผู้อื่นได้ง่าย ฝึกการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกควบคุมอารมณ์ รู้จักบทบาทและหน้าที่ของตนเอง ส่งเสริมการมีวินัย

ประเภทของการเล่น

จรีลักษณ์ รัตนาพันธ์ (2555) ได้จำแนกรูปแบบการเล่นของเด็กไว้ ดังนี้

  1. การเล่นแบบสำรวจตรวจค้น เป็นการเล่นที่ส่งเสริมการรับรู้และประสบการณ์ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความสนใจ สงสัย และความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็นที่มีในตัวเด็ก 
  2. การเล่นแบบทดสอบ เป็นการเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการคิดอย่างมีเหตุผล การที่เด็กได้สำรวจและทดลองเพื่อทดสอบ ช่วยให้เด็กได้พัฒนาความคิดอย่างมีเหตุผล
  3. การเล่นแบบออกกำลังกาย เป็นการเล่นที่ส่งเสริมความพร้อมในการเรียนรู้ เป็นการเล่นในลักษณะของการออกกำลังกายช่วยพัฒนาการกล้ามเนื้อทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อต่าง ๆ
  4. การเล่นสมมติและการเล่นเลียนแบบ เป็นการเล่นที่ส่งเสริมการใช้ความคิดและจินตนาการ เป็นการกระตุ้นให้เด็กใช้ความคิดและจินตนาการของตนฝึกการคิดคำนึง การสร้างมโนภาพ ซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจเรื่องนามธรรมมากขึ้น รวมทั้งรู้จักปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ เช่น เล่นเฮือนน้อย
  5. การเล่นสร้าง เป็นการเล่นที่เด็กจะจำข้อมูลความรู้ทัศนคติต่าง ๆ จากประสบการณ์มาสัมพันธ์กันในรูปแบบใหม่ อันก่อให้เกิดความคิดและประสบการณ์ใหม่ ๆ ในด้านการสร้างสรรค์
  6. การเล่นแบบสัมผัสกระทำ เป็นการเล่นที่ส่งเสริมการสังเกต การคิดจำแนก การคิดเปรียบเทียบและการคิดหาความสัมพันธ์ เช่น การเล่นต่อตัว นำภาพมาต่อให้เป็นรูปภาพ เป็นต้น
  7. การเล่นที่ส่งเสริมทักษะทางภาษาและความจำ ทักษะทางภาษาของเด็ก เป็นดัชนีบ่งชี้ประการสำคัญ ประการหนึ่งของพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก
  8. การเล่นเกม เป็นการเล่นที่ส่งเสริมการคิดการตัดสินใจ เกมบางอย่างเด็กต้องอาศัยการออกกำลังกาย การเล่นจึงช่วยพัฒนาสติปัญญาของเด็ก

การเล่นของเด็กอีสาน

การเล่นของเด็กอีสาน ในวิถีชีวิตพื้นบ้านสมัยก่อนซึ่งอาจจะไม่พบเห็นแล้วในปัจจุบัน ที่พิมพ์มาศ ชะนูดหอม (ม.ป.ป.) ได้รวบรวมไว้ เพื่ออนุรักษ์และให้ศึกษาเรียนรู้ ประกอบด้วย 1) ปิดตาตีหม้อ 2) อีขีดอีเขียน 3)ม้าก้านกล้วย 4)ขาโถกเถก 5) เล่นเตย 6) แม่เจ้าเมือง 7) บักอี่ ตี่จับ 8) ไนบักแต้ 9) จ้ำจี้ 10) เต้นข่วมขา 11) กระโดดเชือก 12) หย่างกะโป๋ 13)ไม้แก้งขี้ช้าง 14) ขี่ม้าชิงเมือง 15) ว่าวสะนู 16) บักช้างน้อย 17) เสือข้ามห้วย 18) ไม้หึ่ง ไม้คลี 19) หมากข่าง 20) หมากโหล่งโข่ง 21) โม่งตาแตก 22) ลิงชิงหลัก 23) ดีดมะขามลงหลุม 24) วิ่งเปี้ยว 25) เล่นสะนู 26) เส็งม้า 27) แมงมุมขยุ้มหลังคา 28) เสือกินหมู 29) งัวตึ่งต่าง

บรรณานุกรม

กนกวรรณ ทองตำลึง อนุกูล พลศิริ และเหมือนแพร รัตนศิริ. (2561). การอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาการละเล่นพื้นบ้านของเด็กไทยภาคเหนือ. Veridian E-Journal, Silpakorn University ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ 11(1) มกราคม-เมษายน 2561. หน้า 1320-1336.

ปริวัตร ปาโส และพนิดา ชูเวช. (2565). ผลของโปรแกรมการละเล่นพื้นบ้านอีสานเพื่อนันทนาการที่มีต่อสมรรถภาพทางกายและระดับความเครียดของเยาวชน. วารสารบัณฑิตแสงโคมคำ 7(1) มกราคม-เมษายน 2565. หน้า 47-64.

พิมพ์มาศ ชนูดหอม. (ม.ป.ป.). การเล่นพื้นบ้านอีสาน. กรุงเทพฯ : กรมการศึกษานอกโรงเรียน

รมร แย้มประทุม. (2559). ความสำคัญของการเล่นต่อพัฒนาการในเด็ก. วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย 6(3). หน้า 275-281.

ศิริรัตน์ เพ็ชร์แสงสี และนวรัตน์ สิทธิมงคลชัย. (2562). การเรียนรู้ผ่านการเล่น Play-based learning.วารสารครุศาสตร์อุตสาหกรรม 18(3) กันยายน-ธันวาคม. หน้า 1-6.

ศิริลักษณ์ เหมาะศรี ทัศนีย์ นาคุณทรง และประสพสุข ฤทธิเดช. (2559). การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยด้วยการละเล่นพื้นบ้านไทย. วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) 10(1) มกราคม-เมษายน 2559. หน้า 101-109

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง