แก่งสะพือ งูใหญ่กลางลำน้ำมูล

แก่งสะพือ เกาะแก่งหินที่สวยงามกลางลำน้ำมูล บริเวณอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี พบเห็นได้ชัดเจนเมื่อน้ำลดในฤดูร้อน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวอุบลราชธานี และเป็นจุดที่จะได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีเป็นครั้งแรกและได้เสด็จพระราชดำเนินมาชมความสวยงามที่แก่งสะพือด้วย

แก่งสะพือ-แม่น้ำมูล

แก่งสะพือ ซำพือ งูใหญ่กลางลำน้ำมูล

แก่งสะพือ มาจากคำว่า “ซำพือ” (ภาษาส่วย หรือ กูย) แปลว่า งูใหญ่ ตามลักษณะของแก่ง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร แก่งสะพือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติตามสภาพภูมิศาสตร์ซึ่งมีชื่อเสียงมานานคู่กับจังหวัดอุบลราชธานี แม่น้ำมูลบริเวณแก่งสะพือมีความกว้างถึง 1 กิโลเมตร ในฤดูแล้งสามารถเดินข้ามไปมาระหว่างสองฝั่งได้ โดยลัดเลาะไปตามโขดหิน และเดินลุยน้ำเป็นบางตอน

ในลำน้ำมูลกลางแก่งสะพือมีเทวรูปหินในท่าประทับนั่งทรงจักรทางหัตถ์ขวา และดอกบัวทางหัตถ์ซ้าย ชาวบ้านเรียกว่า “พระพือ” หรือ “หินพระนารายณ์” ค้นพบที่ร่องน้ำกลางแก่งสะพือ เชื่อกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรเคารพบูชา หนุ่มสาวชาวอำเภอพิบูลมังสาหารและใกล้เคียง สมัยก่อนมักจะชวนกันลงไปสาบานรักต่อพระพักตร์ของเทวรูปนี้เพื่อขอพรให้ความรักสมปรารถนา ต่อมา พ.ศ.2506 จึงถูกเคลื่อนย้ายขึ้นบนบก ปัจจุบันประดิษฐานในโบสถ์วัดสระแก้ว

แก่งสะพือ-แม่น้ำมูลแก่งสะพือ-แม่น้ำมูล

ความงดงามของแก่งสะพือเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประพันธ์เพลงจินตนาการตามธรรมชาติให้นักร้องผู้มีชื่อเสียง เช่น ทูล ทองใจ ขับร้องมาแล้ว ปัจจุบันแก่งสะพือได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลทำให้น้ำท่วมแก่ง จึงได้เกิดข้อตกลงร่วมกันคือ เมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นให้ทางเขื่อนปากมูลปล่อยน้ำออกเพื่อลดระดับน้ำลงจนสามารถชมเกาะแก่งได้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวแก่งสะพือ คือ เดือนมกราคม-พฤษภาคม ชาวอุบลราชธานีนิยมไปเที่ยวชมแก่งสะพือกันอย่างคึกคักในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปัจจุบันมีบริการให้เช่าเรือท่องเที่ยว สำหรับล่องชมลำน้ำมูลไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับแก่งสะพืออีกด้วย

นอกจากการเที่ยวชมแก่งสะพือเพื่อพักผ่อนหย่อนใจแล้ว ภายในบริเวณแก่งสะพือยังมีร้านค้าต่าง ๆ ที่ขายสินค้าพื้นเมืองแก่นักท่องเที่ยว สินค้าขึ้นชื่อ อาทิ กล้วยทอดหรือกล้วยเบรกแตกทอดใหม่ ๆ ทุกวัน มีความกรอบ หวานหอม กินแล้วจะติดใจจนหยุดไม่ได้ หนังกบแห้ง ปลาแห้ง ปลาย่าง เป็นต้น

แก่งสะพือ-แม่น้ำมูล แก่งสะพือ-แม่น้ำมูลแก่งสะพือ-แม่น้ำมูล แก่งสะพือ-แม่น้ำมูล

ในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ แก่งสะพือ

ในปี พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีเป็นครั้งแรก โดยในการเสด็จฯ ครั้งนี้ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในอำเภอพิบูลมังสาหาร ทอดพระเนตรแก่งสะพือ และเสวยพระกระยาหารกลางวัน ในวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2498 เวลา 14.30 น. ก่อนที่จะเสด็จฯ กลับสู่ที่ประทับกองพลที่ 6 เสวยสุธารส ประทับแรมที่กองพลที่ 6 และในวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2498 กองทัพอากาศได้จัดเครื่องบินดาโกต้า และเฮลิคอปเตอร์ถวายเพื่อเสด็จฯ ทอดพระเนตรภูมิประเทศตามพระราชอัธยาศัย และเสด็จฯ แก่งสะพืออีกครั้ง

ปัจจุบันยังมีแผ่นจารึกพระปรมาภิไธยประดิษฐานบนแผ่นหินขนาดใหญ่รูปทรงแปลก ณ ริมแก่งสะพือฝั่งขวา ตั้งไว้เพื่อให้พสกนิกรได้ชื่นชมและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์มาตราบเท่าทุกวันนี้

หินพระปรมาภิไธยนี้ เดิมเป็นหินทรายที่นำมาจากวัดสระแก้ว มีขนาดความกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 120 เซนติเมตร หนา 25 เซนติเมตร เป็นหินทรายสีน้ำตาล ชาวบ้านคุมวัดสระแก้วนำมาขัดเกลาตกต่างจนเรียบงาม จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 แรกทีเดียวเป็นรอยชอล์กสีขาว ต่อมาจึงได้นำไปแกะสลักตามรอยเดิม เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2508 และได้จัดสร้างแท่นหินที่ประดิษฐานขึ้นบริเวณริมแม่น้ำมูลใกล้บันไดคอนกรีตลงสู่แก่งสะพือ โดยประกอบพิธี พ.ศ.2510 และแล้วเสร็จในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2510 ชาวอำเภอพิบูลมังสาหาร ได้จัดงานเฉลิมฉลองเป็นเวลา 5 วัน 5 คืน ซึ่งถือเป็นงานยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของชาวอุบลราชธานี

แก่งสะพือ-แม่น้ำมูลแก่งสะพือ-แม่น้ำมูล

ศาลพละงุม สร้างขึ้นโดยชนกลุ่มลาวอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งจึงได้ตั้งศาลขึ้นเคารพกราบไหว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ระหว่างฝั่งแม่น้ำมูลกับสระแก้ว ซึ่งเปรียบเสมือนศาลหลักเมืองของชาวพิบูลมังสาหาร ศาลพละงุมแต่ก่อนเป็นเรือนไม้ขึงด้วยผ้าแดง ภายหลังได้ถูกรื้อและสร้างใหม่เป็นรูปทรงแบบจีน และยังเป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวเมืองเหมือนเดิม

ที่ตั้ง แก่งสะพือ 

เทศบาลตำบลพิบูลมังสาหาร ตำบลพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ แก่งสะพือ

15.245815, 105.243675

บรรณานุกรม

มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2540). รอยเสด็จ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พุทธศักราช 2498. กรุงเทพฯ : หอรัตนชัยการพิมพ์.

สมนึก พานิชกิจ. (2542). สะพือ, แก่ง. ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่มที่ 13.กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง