Abstract | ความเป็นมา: โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนทางระบบต่าง ๆ รวมถึงสุขภาพช่องปาก เช่น โรคปริทันต์ ในพื้นที่ชนบทของประเทศไทย การศึกษาความชุกของโรคปริทันต์ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ยังมีน้อย แม้จะมีความสำคัญในการจัดการภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับเบาหวาน
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคปริทันต์ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
วิธีการวิจัย: การศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวาง (Analytical cross-sectional study)ดำเนินการในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 360 ราย ที่รับบริการสุขภาพในเขตอำเภอกาบเชิงจังหวัดสุรินทร์ ระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ข้อมูลถูกรวบรวมโดยใช้แบบสอบถามและการประเมินสุขภาพช่องปาก การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ใช้สถิติ Multivariable logistic regression นำเสนอด้วย Adjusted OR และ 95% CI
ผลการวิจัย: ความชุกของโรคปริทันต์ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 80.3 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญสำหรับการเกิดโรคปริทันต์ ได้แก่ อายุ 60 ปีขึ้นไป (ORadi = 2.27, 95% Cl: 1.34-3.86) การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี (HbA1C 27%) (ORadi = 2.86, 95% Cl: 1.43-5.71) และจำนวนฟันผุที่เพิ่มขึ้นทุก 1 ซี่ (ORadi = 1.92, 95% Cl: 1.29-2.89) ในขณะเดียวกัน การมีคู่สบฟันแท้เพิ่มขึ้นทุก 1 คู่ ช่วยลดโอกาสเกิดโรคปริทันต์ได้ร้อยละ 40 (ORadj = 0.60, 95% Cl: 0.48-0.75) ปัจจัยอื่น ๆ เช่น รายได้ การศึกษา หรือการใช้ฟันเทียม ไม่พบความสัมพันธ์
สรุป: โรคปริทันต์มีความชุกสูงในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในชนบทของไทย โดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และสุขภาพฟันเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้อง การบูรณาการการจัดการสุขภาพช่องปากเข้ากับการดูแลโรคเบาหวานเป็นสิ่งสำคัญในการปรับปรุงผลลัพธ์ของผู้ป่วยในชนบทโรคปริทันต์เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่พบในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้มีโรคเบาหวานมีการเกิดโรคปริทันต์ในระดับที่หลากหลายในแต่ละประเทศ ขนาดและความรุนแรงของโรคปริทันต์อาจมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ไม่ดี อย่างไรก็ตามความชุกของโรคปริทันต์ในผู้ป่วยโรคเบาหวานในชนบทไทย และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคปริทันต์ยังมีรายงานน้อย
|