วิทยาลัยอุบลราชธานี : การสำรวจพื้นที่เพื่อตั้งวิทยาเขตใหม่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วงปีพุทธศักราช 2519

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีประวัติความเป็นมาค่อนข้างยาวนาน มีความพยายามในการจัดตั้ง ตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2484 ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแต่งตั้งคณะทำงานมีหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ซึ่งคณะทำงานชุดนั้นได้เลือกจังหวัดอุบลราชธานีเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาในปลายปี พุทธศักราช 2484 โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดอุบลราชธานีจึงล้มเลิกไป

ภาพจาก pinterest.com

เมื่อสงครามสงบ พุทธศักราช 2487 เริ่มการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2505 ในครั้งนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เลือกจังหวัดขอนแก่น ดังนั้นมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งแรกจึงอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น

ในปี พุทธศักราช 2512 เริ่มพิจารณาการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นขณะนั้น คือ ศาสตราจารย์พิมล กลกิจ มีการมาสำรวจพื้นที่ บริเวณทุ่งเดิ่น (ทุ่งเดิ่นเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ อยู่ในเขตพื้นที่ 7 หมู่บ้าน คือ บ้านก่อ บ้าบก บ้านไม้ค้าง บ้านธาตุ บ้านเดิ่น บ้านดอนกลาง และบ้านหนองสองห้อง ตำบลธาตุ และตำบลแสนสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี) เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ก่อนจะถึงเขตมหาวิทยาลัยอุบลราชธธานีในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 4 กิโลเมตร

ในปี พุทธศักราช 2519 ในขณะนั้นมี นายแพทย์กวี ทังสุบุตร  เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มาชี้แจงคณะกรรมการจังหวัดอุบลราชธานี และได้มาดูพื้นที่จัดตั้งวิทยาลัย 3 แห่ง คือ

แห่งแรก คือ ทุ่งเดิ่น พบว่าทางเข้าออกไม่ค่อยสะดวก ในหน้าฝนน้ำท่วม

แห่งที่สอง คือ พื้นที่บ้านศรีไค  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในปัจจุบัน ขณะนั้น ถนนที่ออกมาจากอำเภอวารินชำราบเป็นถนนลูกรัง ไฟฟ้ายังมาไม่ถึง สภาพเป็นป่าทั้งหมด

แห่งที่สาม เป็นพื้นที่จากอำเภอเขื่องในมาติดต่อ คือ อยู่ลำเซบายข้ามสะพานไปจากจังหวัดอุบลราชธานีไปถึงอีกฝั่งด้านขวามือตรงข้ามกับทางเข้าหมู่บ้านท่าวารี ยาวตามแนวถนนไป 2 กิโลเมตร แล้วลึกเข้าไปประมาณกิโลเมตรกว่า ๆ ซึ่งแห่งที่สามนี้ น่าพอใจ เพราะ มีลักษณะเป็นเนิน ลำเซบายมีน้ำตลอดปี  มีถนนลาดยางแล้วและมีไฟฟ้า แต่อาจจะไกลจากตัวจังหวัดอุบลราชธานี คือ ประมาณ 21-22 กิโลเมตร จึงคิดว่าที่ลำเซบายน่าจะเริ่มจัดตั้งได้เลย แต่มีเหตุให้ต้องยุติ  เนื่องจากมีภารกิจหลายอย่างภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ต้องดำเนินการแก้ไข จึงต้องยุติเรื่องการจัดตั้งวิทยาลัยอุบลราชธานีไว้ก่อน

อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี อธิการบดีมหาวิทยลัยอุบลราชธานี.ประวัติการสร้างสานมหาวิทยาลัยอุบลราชานี.(2537). น.10-30