การศึกษาและรวบรวมข้อมูลอุตสาหกรรมชุมชนภูมิปัญญาชาวบ้าน

หัวหน้าโครงการ : ศักดิ์ชาย สิกขา

รายงานนี้ได้นำเสนอข้อมูล แหล่งภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทั้งที่กำลังพัฒนาและพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมแล้วมารวบรวมและศึกษาเพื่อการเผยแพร่ ประกอบการแสวงหาความรู้ของผู้สนใจ ซึ่งเป็นข้อมูลของจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ มุกดาหาร อำนาจเจริญ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และร้อยเอ็ด

ไก่ย่างไม้มะดัน

chicken-grill3

ไก่ย่างไม้มะดันห้วยทับทัน มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 เดิมมีการย่างไก่ขายประมาณ 4-5 เจ้า ไม่เป็นที่แพร่หลาย โดยส่วนมากแล้วย่างเสร็จจะนำมาใส่ตะกร้าขึ้นไปขายบนรถไฟ เนื่องจากอำเภอมีสถานีรถไฟผ่าน ต่อมาได้มีการตัดถนนทางหลวงหมายเลข 226 ผ่าน ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรไปยังจังหวัดสุรินทร์ถึงกรุงเทพฯ จึงได้มีการขยับขยายมาขายริมถนนทางหลวงหมายเลข 226 โดยทำเป็นแผงลอยบ้าง เป็นร้านค้าเล็ก ๆ บ้าง จนปัจจุบันมีร้านไก่ย่างมากกว่า 40 ร้าน เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เนื่องจากมีที่เดียวที่ใช้ไม้มะดันเป็นที่ปิ้งไก่ ซึ่งไม้ชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีกลิ่นหอม ออกรสเปรี้ยว เนื้อเหนียว ทนความร้อนได้ดี และเมื่อนำมาเป็นไม้คีบไก่จะเพิ่มรสชาติไก่ย่างให้มีความหอมอร่อยยิ่งขึ้น

chicken-grill2

ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของห้วยทับทัน ไม่อาจลอกเลียนแบบได้ คือ มีรสชาติอร่อย แห้งพอดี ไม่แฉะ เยิ้มด้วยน้ำมัน ส่วนที่เหนือกว่านั้นคือ การนำไม้มะดันซึ่งเป็นไม้ขึ้นตามธรรมชาติบริเวณแนวริมห้วยทับทันมาเหลาเป็นไม้ย่างไก่ ทำให้มีรสชาติเปรี้ยวพอเหมาะกับสูตรเครื่องปรุง ทำให้มีรสชาติอร่อยไม่เหมือนใคร

ไก่ที่นำมาปรุง จะเป็นไก่พันธุ์พื้นเมืองหรือไก่สามสายเลือด อายุ 70-72 วัน น้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 1-1.3 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ย 45 บาทต่อกิโลกรัม ทำเป็นไก่ย่างได้ 4 ไม้ แยกเป็นอก 2 ไม้ น่อง 2 ไม้ ขายไม้ละ 20 บาท การชำแหละได้จะทำเป็นวัน เพื่อให้มีคุณภาพ (สดใหม่) หมักเครื่องปรุงตามสูตรดั้งเดิม จากนั้นนำไม้มะดันที่เตรียมไว้มาเสียบย่างโดยใช้ไฟแรงปานกลาง ก็จะได้ไก่ย่างไม้มะดันที่สุดอร่อย

รายละเอียดเพิ่มเติมการศึกษาและรวบรวมข้อมูลอุตสาหกรรมชุมชนภูมิปัญญาชาวบ้าน รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2545