ศิลปะงานช่างสถาปัตยกรรมพื้นเมืองอุบล

หัวหน้าโครงการ : ติ๊ก แสนบุญ

art

อ.ติ๊ก แสนบุญ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเอกลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทยอีสานซึ่งมี กลุ่มสายสกุลช่างพื้นบ้าน เป็นกลุ่มใหญ่กระแสหลัก สามารถสรุปให้เห็นภาพรวมหรือการตีความงานช่างพื้นถิ่นในเชิงปรัชญา สามารถสรุปเป็นองค์รวมอันประกอบองค์คุณ 3 ประการ คือ

1.มีลักษณะที่สื่อความเรียบง่าย ซึ่งสื่อสารผ่านการแสดงออกทางด้านรูปทรงอาคาร หรือประโยชน์ใช้สอยแห่งที่ว่างในการใช้งาน ที่มีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ซึ่งสอดคล้องไปกับเหตุปัจจัยด้านอื่น ๆ เช่น วิถีชีวิต สภาพสังคม วัฒนธรรมแบบอย่างชาวบ้าน

2.มีอิสระซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์ซึ่งสามารถสร้างความหลากหลาย โดยไม่มีกรอบกฎเกณฑ์แห่งจารีตฉันทลักษณ์ในเชิงช่างอย่างช่างหลวง

3.มีความเป็นสัจจะนิยมในด้านการใช้วัสดุตกแต่ง โดยมีการ เลือกใช้อย่างเหมาะสมถูกต้องตามกาลเทศะแห่งฐานานุรูปและฐานานุศักดิ์ โดยมีความพอเพียง แสดงออกผ่านการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า คุ้มประโยชน์

โดยความแตกต่างของช่างราษฎร์หรือช่างชาวบ้านอีสาน ซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ กับช่างหลวงแห่งราชสำนักล้านช้าง โดยในแง่ความพร้อมด้านฝีมือ แน่นอนว่าย่อมเป็นรองกว่าช่างหลวง ซึ่งสั่งสมประสบการณ์มาเนิ่นนานกว่าดังนั้นจึงพบว่า การประดิษฐ์ตกแต่งในองค์ประกอบลวดลายต่าง ๆ จึงยอมมีน้อยกว่า ช่างหลวงทางฝั่งซ้ายตามฐานานุรูปและฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรม

art3

ดังนั้น งานช่างของอีสานจึงดูยิ่งใหญ่อลังการน้อยกว่าด้วยอยู่ในวิถีแห่งวัฒนธรรมชาวบ้าน แต่ถึงอย่างไรก็ตามช่างพื้นถิ่นภาคอีสานก็ได้ค้นพบเอกลักษณ์ใหม่เฉพาะตนขึ้นโดยมีสถานการณ์ที่บีบบังคับจึงนับได้ว่า งามเพราะความพอดี เป็นสังกัปอันนำไปสู่ความเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น อย่างสิมในภาคอีสานจะมีขนาดไม่ใหญ่โต โดยมากนิยมทำพอสำหรับจุพระภิกษุสงฆ์ได้เพียง 21 รูป มีทั้งสิมโปร่ง และสิมทึบ ส่วนในแถบฝั่งซ้าย (สปป.ลาว) นิยมสร้างขนาดใหญ่เป็นอาคารเดียวรวมเรียกเป็นพระวิหาร (อาฮาม) โดยวัดต่าง ๆ เหล่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีสิมทุกวัด ดังเช่น วิหารวัดป่าฝาง (ตีนพูสี) แขวงหลวงพระบาง วิหารวัดเชียงทอง แขวงหลวงพระบาง วิหารวัดองค์ตื้อ แขวงนครเวียงจันทน์ ส่วนสิมในภาคอีสานทางฝั่งขวานั้นมีรูปเปรียบเทียบดังนี้ สิมโปร่งวัดกลางโคกค้อ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ สิมวัดพระเหลาเทพนิมิต อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี

 

รายละเอียดเพิ่มเติม : ศิลปะงานช่างสถาปัตยกรรมพื้นเมืองอุบล รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2558